xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งใช้ยิ่งได้” สะสมยอดช้อป รับ e-Voucher สูงสุด 7 พัน แต่ไม่รู้ใช้ได้ที่ไหน-ทุนค้าปลีกเงียบหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สรุปย่อโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เปิดลงทะเบียนจันทร์นี้ (21 มิ.ย.) มีแค่ 4 ล้านสิทธิ สะสมยอดซื้อ ก.ค.- ก.ย. 3 เดือน วันละไม่เกิน 5,000 รับเงินคืนเป็น e-Voucher ในแอป “เป๋าตัง” ใช้ได้ถึงสิ้นปี ยอดช้อปไม่ถึง 40,000 รับ 10% ส่วนเกินถึง 60,000 รับเพิ่มเป็น 15% สูงสุด 7,000 บาท ตลอดโครงการ พบตัวเลขร้านค้าเข้าร่วมแค่หลักหมื่น กลุ่มทุนค้าปลีกเงียบหาย ทั้งที่มีเวลาให้ประชาชนเปลี่ยนใจได้ 1 สัปดาห์เท่านั้น

รายงาน

จากกรณีที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ดำเนิน โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เพื่อกระตุ้นการบริโภค ผู้มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ล้านสิทธิ วงเงิน 28,000 ล้านบาท

จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไปเวลา 06.00-22.00 น. ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 สามารถเปลี่ยนแปลงโครงการได้ไม่เกินวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เวลา 22.00 น.

มีคำถามตามมาว่า รูปแบบโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เป็นอย่างไร ใช้ได้ตามร้านค้าไหน และจะได้รับเงินคืนอย่างไร?

เริ่มต้น ต้องอธิบายก่อนว่า โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ รูปแบบจะแตกต่างจากโครงการช้อปดีมีคืน เพราะไม่ใช่สะสมยอดซื้อ โดยการรวบรวมใบกำกับภาษีเต็มรูป เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีในปีหน้าเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา

แต่เป็นการให้ประชาชนสะสมยอดใช้จ่าย เพื่อนำมาแลกเป็นเงินคืน (Cashback) ในรูปแบบ e-Voucher ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” คล้ายกับโปรโมชันเครดิตเงินคืน (Cashback) สำหรับบัตรเครดิต ที่จะได้เป็นวงเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิต


รูปแบบก็คือ นำเงินในบัญชีธนาคาร เติมลงใน G-Wallet ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้วนำไปใช้จ่ายตามร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งเป็นร้านค้าบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มียอดขายมากกว่า 1,800,000 บาทต่อปี

ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ร้านนวดสปา ทำเล็บ ทำผม และสินค้าทั่วไป ที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้ใช้จ่ายเพื่อคำนวณเป็น e-Voucher ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ถึง 30 ก.ย. 2564

สำหรับสินค้าที่ไม่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล (ลอตเตอรี) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ บัตรกำนัล บัตรเงินสด (Gift Voucher) หรือสินค้าบริการอื่นๆ ที่เป็นการชำระล่วงหน้า

โดยใน 1 วัน สามารถสะสมยอดใช้จ่ายได้สูงสุด 5,000 บาทต่อวัน ส่วนเกินจะถูกตัดออก เช่น ซื้อกระเป๋าสตรีใบละ 6,400 บาท ระบบจะนำมาคำนวณยอดซื้อเฉพาะ 5,000 บาท อีก 1,400 บาท ถูกตัดออก ไม่มีการเก็บไว้คำนวณอีก


ยอดใช้จ่ายสะสมตั้งแต่ 1-40,000 บาท จะได้รับเงินคืนในรูปแบบ e-Voucher 10% สูงสุด 4,000 บาท แต่ถ้ายอดใช้จ่ายสะสมตั้งแต่ 40,001-60,000 บาท จะได้รับเงินคืนในรูปแบบ e-Voucher 15% สูงสุด 3,000 บาท

การนับยอดใช้จ่ายสะสม จะนับยอดทั้งโครงการ ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2564 ถึง 30 ก.ย. 2564 แต่จะคำนวณเป็น e-Voucher แบบเดือนต่อเดือน แล้วจะได้รับ e-Voucher ตามจำนวนยอดซื้อในเดือนนั้นๆ ทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไป เช่น

ยอดใช้จ่ายตั้งแต่ 1-31 ก.ค. 2564 จะได้รับ e-Voucher วันที่ 7 ส.ค. 2564

ยอดใช้จ่ายตั้งแต่ 1-31 ส.ค. 2564 จะได้รับ e-Voucher วันที่ 7 ก.ย. 2564

ยอดใช้จ่ายตั้งแต่ 1-30 ก.ย. 2564 จะได้รับ e-Voucher วันที่ 7 ต.ค. 2564


เท่ากับว่า ในระยะเวลา 3 เดือน ถ้าใช้จ่ายสะสมเกิน 40,001 บาทในเดือนไหน จากเดิมจะได้รับเงินคืนเป็น e-Voucher 10% จะเพิ่มขึ้นเป็น 15% จนกว่ายอดใช้จ่ายสูงสุด 60,000 บาท

e-Voucher ที่ได้รับ จะอยู่ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถนำไปใช้จ่ายตามร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เท่านั้น ไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ และใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 เท่านั้น

ถามว่า ความแตกต่างระหว่างโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ กับโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เป็นอย่างไร?

โครงการคนละครึ่ง รัฐบาลจะให้วงเงิน 2 รอบ คือ วันที่ 1 ก.ค. ถึง 30 ก.ย. 2564 จำนวน 1,500 บาท และวันที่ 1 ต.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2564 จำนวน 1,500 บาท รวมสูงสุด 3,000 บาท ตลอดโครงการ สามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564

แม้ประชาชนจะต้องเติมเงิน และใช้จ่ายผ่าน G-Wallet เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ รัฐบาลจะสนับสนุนวงเงินค่าซื้อสินค้าและบริการทันที 50% สูงสุด 150 บาทต่อวัน ส่วนที่เหลือประชาชนจะต้องชำระผ่าน G-Wallet

แต่สิทธิคนละครึ่งใช้ได้เฉพาะร้านค้าบุคคลธรรมดาเท่านั้น ส่วนมากจะเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านธงฟ้า สินค้าโอทอป และสินค้าทั่วไป ถ้าเป็นร้านนิติบุคคล หรือร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นไม่เข้าร่วมโครงการ กลุ่มเป้าหมายจึงแตกต่างกัน

แต่โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ จะเป็นการสะสมยอดซื้อเพื่อรับเงินคืนในรูปแบบ e-Voucher แม้จะได้รับสูงสุด 7,000 บาทตลอดโครงการ แต่การใช้จ่ายวันหนึ่ง นำยอดใช้จ่ายมาคำนวณเพื่อรับเงินคืน e-Voucher ได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อวันเท่านั้น


อีกคำถามหนึ่งที่ยังคาใจ ก็คือ ถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะใช้ได้ที่ไหน?

ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มีร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีเพียงแค่ 24,671 รายเท่านั้น และพยายามเชิญชวนให้สมัครเข้าร่วมโครงการ

ขณะที่กลุ่มค้าปลีกและกลุ่มทุนต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ กลุ่มซีพี กลุ่มบีเจซี กลุ่มสยามพิวรรธน์ และสารพัดกลุ่มทุน รวมถึงร้านค้าชั้นนำ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ถึงขณะนี้ (17 มิ.ย.) ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวออกมา

วันจันทร์ที่จะถึงนี้ (21 มิ.ย.) จะเปิดให้ลงทะเบียนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งอาจจะมีผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เปลี่ยนใจเข้าร่วมโครงการได้ถึงวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 22.00 น. เท่านั้น

แต่ในเมื่อไม่มีร้านค้านิติบุคคล หรือบุคคลที่จดทะเบียน VAT รายไหนประกาศตัวเข้าร่วมโครงการ ก็ไม่มีแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการขึ้นมาได้ ในระยะเวลาที่จำกัดเพียงแค่ 1 สัปดาห์ ก็อาจจะเสียโอกาสที่จะได้รับจากลูกค้ากลุ่มนี้ไป

ท้ายที่สุดโครงการนี้ ที่มุ่งหวังเจาะกลุ่มผู้มีเงินออม และกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ซึ่งจากการสำรวจมีมากถึง 6 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นเงิน 268,000 ล้านบาท ก็อาจจะต้องฝันสลายไปตามระเบียบ
กำลังโหลดความคิดเห็น