xs
xsm
sm
md
lg

สายสีแดงต้องไม่ขาดทุน “ศักดิ์สยาม” สั่ง รฟท.เช็กรายได้-รายจ่ายจริงคำนวณค่าโดยสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ศักดิ์สยาม” สั่ง รฟท.เช็กรายได้-รายจ่ายสายสีแดงที่เกิดจริง ก.ย.นี้ก่อนประกาศตารางราคา ยันไม่ปรับกรอบ 12-42 บาท รฟท.กุมขมับโควิด-ล็อกดาวน์ทำผู้โดยสารหลุดเป้า บอร์ดเคาะยกเลิกประมูลแปลง A บางซื่อ เร่งทบทวนแผนพัฒนา 9 แปลงใหม่

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา รฟท.ได้ถอนวาระการพิจารณาอนุมัติอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงรังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชันออกไปก่อน เนื่องจาก รฟท.ต้องการพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขที่เกี่ยวข้องให้รอบด้าน รวมถึงหารือกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อกำหนดโครงสร้างค่าโดยสารที่เหมาะสมที่สุด โดยยังคงกรอบอัตราเริ่มต้นที่ 12 สูงสุด 42 บาท ไว้เช่นเดิม

“แม้จะมีกรอบราคาเริ่มต้นและสูงสุดแล้ว แต่ยังต้องกำหนดรายละเอียดโครงสร้างค่าโดยสารที่จะคิดตามจำนวนสถานีที่ใช้เดินทางอีก ซึ่งตอนนี้ยังมีเวลาพิจารณา เนื่องจากมีกำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ และเก็บค่าโดยสาร คือช่วงเดือน พ.ย. 2564” ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าว

สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่ออย่างไม่เป็นทางการ (Sofe Opening) ในวันที่ 2 ส.ค. 2564 ยังเป็นไปตามกำหนด โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานพิธีเปิดผ่านระบบออนไลน์ภายใต้มาตรการสาธารณสุข

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กรอบอัตราค่าโดยสารรถไฟสายสีแดงสรุปแล้วว่าจะเริ่มต้น 12 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่จะมีการพิจารณาเกณฑ์รายละเอียดอัตราในการเดินทางต่อ กม. ซึ่งเดิมจะเริ่มต้นที่ 12 บาท บวกเพิ่ม กม.ละ 2 บาท ต่อมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ปรับลดลงเป็น กม.ละ 1 บาท เนื่องจากรถไฟสายสีแดงเป็นโครงการที่รัฐลงทุนทั้งหมด

รมว.คมนาคมให้ รฟท.รอเก็บข้อมูลตัวเลขค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในเดือน ก.ย.เพื่อนำมาวิเคราะห์ต้นทุน ซึ่งคาดว่าเดือน ก.ย.จะเป็นช่วงที่มีการคลายล็อกดาวน์การเดินทางแล้ว โดย รมว.คมนาคมได้มอบหมายให้ นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หารือร่วมกับ รฟท.และกรมรางฯ โดยมีนโยบายให้บริหารจัดการรถไฟสายสีแดงมีรายได้ที่เพียงพอต่อรายจ่ายเพื่อไม่ให้ขาดทุน และเป็นภาระงบประมาณ

รฟท.คาดการณ์รายได้ว่าจะมาจากค่าโดยสารและจากพื้นที่เชิงพาณิชย์ราว 1,000 ล้านบาท/ปี ส่วนค่าใช้จ่ายเบื้องต้นมีประมาณ 1,000 ล้านบาท/ปี เช่น ค่าจ้างบริษัท รฟฟท.จำกัด บริหารการเดินรถประมาณ 377 ล้านบาท ค่าไฟ ประมาณ 300 ล้านบาท ค่ารักษาความปลอดภัย รักษาความสะอาดประมาณ 277 ล้านบาท เป็นต้น

โดยค่าไฟหลักๆ จะอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ แต่เนื่องจากมีการเปิดใช้สำหรับการฉีดวัคซีนมาตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจะทำหนังสือถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อพิจารณายกเว้นค่าไฟช่วงที่มีการเปิดใช้สถานีสำหรับฉีดวัคซีนด้วย

ในส่วนรายได้นั้น ตัวแปรหลักมาจากปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งมีการเปรียบเทียบในหลายกรณี โดยเบื้องต้นหากมีผู้โดยสารเฉลี่ย 80,000 คน/วันตามผลการศึกษาก็ยังขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงโรคโควิดยังแพร่ระบาดรุนแรง ปริมาณผู้โดยสารจะไม่เป็นไปตามคาดหมายแน่นอน ดังนั้นจึงต้องวิเคราะห์ตัวเลขกันใหม่อีกครั้งเพื่อหาจุดคุ้มทุนในการบริหารโครงการให้ได้

อย่างไรก็ตาม การเปิดรถไฟสายสีแดงช่วงเดือน ส.ค.-พ.ย. 2564 โดยไม่มีการเก็บค่าโดยสารนั้น มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมทดลองใช้บริการฟรี และยังจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการเดินทางไปฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่ออีกด้วย

@ยกเลิกประมูลแปลง A บางซื่อ เร่งทบทวนแผนพัฒนา 9 แปลงใหม่

นายนิรุฒกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท.ได้เห็นชอบให้ยกเลิกโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ แปลง A พื้นที่ 32 ไร่ มูลค่าลงทุน 11,721 ล้านบาทหลังจากมีการเปิดประมูล 2 ครั้งตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 แล้วไม่มีเอกชนยื่นประมูล โดยให้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก รฟท.ทบทวนผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีกลางบางซื่อทั้ง 9 แปลง เนื้อที่ 2,325 ไร่ ในภาพรวมใหม่ ซึ่งอาจต้องมีการปรับแนวคิดและรูปแบบการพัฒนาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์

“บอร์ด รฟท.ยกเลิกโครงการเป็นไปตามขั้นตอนเพื่อให้จบขั้นตอน จากนี้จะศึกษาทบทวน และทำโครงการใหม่ โดยอาจจะเป็นการประมูลร่วมกันหลายแปลง และปรับรูปแบบแนวคิดการพัฒนาในแต่ละแปลงใหม่ด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น