xs
xsm
sm
md
lg

“โกฐจุฬาลัมพา” สมุนไพรน่าจับตา ต้านโควิดได้ในงานวิจัยขั้นต้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


โกฐจุฬาลัมพา (ภาพจาก maison-artemisia.org)
กระแสการเลือกใช้ยาสมุนไพรเพื่อช่วยต้านโควิด-19 มีข่าวออกมาให้เห็นกันเรื่อยๆ จากยาฟ้าทะลายโจร มาจนถึงกระชาย และล่าสุดกับ “โกฐจุฬาลัมพา” ที่ล่าสุดนี้มีข่าวออกมาว่า มีการวิจัยในขั้นต้นว่าสมุนไพรชนิดนี้ช่วยต้านโควิด-19 ได้

โดยทางเพจ BIOTHAI (มูลนิธิชีววิถี) ได้ออกให้ข้อมูลว่า มีคณะนักวิจัยจาก Columbia University และ University of Washington สหรัฐอเมริกา ได้วิจัยพบว่า “โกฐจุฬาลัมพา” สามารถต้านเชื้อโควิดได้ในห้องปฏิบัติการ ผลวิจัยดังกล่าว พบว่าสารสกัดโดยน้ำร้อนของสมุนไพรนี้มีฤทธิ์ยับยั้งโควิดได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของนักวิจัยในจีน และการส่งเสริมโดยประธานาธิบดีแห่งมาดากัสการ์

โกฐจุฬาลัมพา (ภาพจาก lesnewsdunet.com)
สารสกัดรวมของโกฐจุฬาลัมพา (โดยมีตัวอย่างหนึ่งเป็นใบแห้งมีอายุการเก็บมานานกว่า 10 ปี) มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อโควิด ซึ่งรวมทั้งสายพันธุ์แอฟริกา และอังกฤษ โดยนักวิจัยเชื่อว่าสารที่มีบทบาทสำคัญในการยับยั้งไวรัสมรณะนี้นอกจากสาร artemisinin และองค์ประกอบแล้วน่าจะมาจากการทำงานของสารอื่นๆ ในโกฐจุฬาลัมพาด้วย

ในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้เดิม ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้สมุนไพรโกฐจุฬาลัมพาในหลายตำรับ ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม ซึ่งมีปรากฏในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ที่มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้าร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ อีกในตำรับ

โกฐจุฬาลัมพา (ภาพจาก gobotany.nativeplanttrust.org)
โดยมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน และแก้ลมจุกแน่นในท้อง และในยาแก้ไข้ก็มีปรากฏในตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” และตำรับ “ยาแก้ไข้ห้าราก” ที่มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ อีกในตำรับ โดยมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู

ทั้งนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับโกฐจุฬาลัมพาช่วยต้านโควิด-19 ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในห้องปฏิบัติการ การจะเลือกใช้โกฐจุฬาลัมพา เป็นยาสมุนไพรช่วยต้านโควิดจึงต้องตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ และติดตามผลการทดลองทั้งในไทยและต่างประเทศ

ในเบื้องต้น ทาง BIOTHAI แนะนำข้อควรระวังไว้ว่า ต้นโกฐจุฬาลัมพามีทั้งพันธุ์ดอกสีขาวและดอกสีแดง มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ดอกสีเหลือง ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia princeps Pamp ด้วย แต่พันธุ์นี้จะมีพิษ ถ้าใช้เกินขนาดก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

การใช้ยา ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ควรใช้ตามคำแนะนำของหมอพื้นบ้าน และแพทย์แผนไทย เพราะอาจส่งผลกระทบต่อตับไต หญิงตั้งครรภ์ หรือไข้เลือดออก

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline
กำลังโหลดความคิดเห็น