xs
xsm
sm
md
lg

ดราม่า! รถไฟมือ 2 ญี่ปุ่นส่งให้ไทย คนเคยนั่งระบุ นี่คือ “ของดีราคาถูก” ไม่ใช่เศษเหล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


คนเคยนั่งรถไฟญี่ปุ่นรุ่นนี้ระบุ เป็น “ของดีราคาถูก” ไม่ใช่เศษเหล็ก
คนเคยนั่งรถไฟมือ 2 รุ่น KiHa 183 ที่ญี่ปุ่นบริจาคให้ไทย มองต่างมุม ระบุนี่คือของดีราคาถูก คุ้มค่าต่อการได้มา เพราะยังสภาพดีให้บริการได้ ไม่ใช่เศษเหล็ก ไม่ใช่ขยะ อย่างที่มีการปั่นดราม่ากันในโลกโซเชียล

หลังมีข่าว ญี่ปุ่นบริจาครถไฟมือ 2 อายุ 40 ปี จำนวน 17 คัน ให้ไทยฟรี ที่ถือเป็นอีกหนึ่ง ทอล์ค ออฟเดอะ ทาวน์ ในโลกโซเชียล

สำหรับรถไฟมือ 2 ที่ญี่ปุ่นบริจาคให้ประเทศไทย เป็นรถดีเซลราง (DMU) รุ่น KiHa 183 (คีฮา 183) ของบริษัทรถไฟฮอกไกโด (JR Hokkaido) ในภูมิภาคฮอกไกโด ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีคนไทยหลายคนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นเคยนั่งรถไฟขบวนนี้ท่องเที่ยวไปตามเมืองต่าง ๆ

รถไฟมือ 2 รุ่น KiHa 183 ที่ญี่ปุ่นบริจาคให้ไทย 17 คัน (ภาพจาก : locomotive.fandom.com)
รถไฟรุ่นนี้นำมาให้บริการครั้งแรกในปี 2524 ภายในเป็นห้องโดยสารปรับอากาศ ปัจจุบันถูกปลดระวางและจอดทิ้งไว้ ซึ่งถึงแม้จะบริจาคให้ไทย แต่เราต้องออกค่าขนส่งและบำรุงรักษาเอง

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ประกาศผลจัดซื้อจัดจ้าง เคาะราคาค่าขนย้ายรถไฟมือสองดังกล่าว เป็นจำนวนเงิน 42.5 ล้านบาท (เป็นราคารวมค่าใช้จ่าย ภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดแล้ว ตามสัญญาเลขที่ : พด.025/2564) ซึ่งทาง ร.ฟ.ท.ได้เลือกบริษัท ดอยโกร โพรเจค (ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการ

หลังข่าวคราวนี้แพร่หลายในโลกออนไลน์ ได้กลายเป็น ทอล์ค ออฟเดอะ ทาวน์ เกิดดราม่าขึ้นในโลกโซเชียล โดยหลายสื่อ หลายเพจ รวมถึงชาวเน็ตหลายคนต่างปั่นโจมตีว่า เป็นการนำเศษเหล็ก เป็นการนำขยะมาทิ้งเมืองไทย เป็นของเหลือใช้ที่ไทยจะนำเข้ามาทำไม เพราะไม่คุ้มค่า คุ้มราคา หรือไม่ก็ประชดบอกว่าไทยเรานำมาเพื่อจะแยกส่วนเป็นเศษเหล็กชั่งกิโลขาย

รถไฟมือ 2 รุ่น KiHa 183 ที่ญี่ปุ่นบริจาคให้ไทย 17 คัน
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ ได้มีผู้เห็นต่างเป็นจำนวนไม่น้อย โดยหนึ่งในนั้นก็คือ เพจ Thailand Transportation ซึ่งได้ออกมาโพสต์ว่าตัวเองเพิ่งเคยนั่งรถไฟรุ่นนี้เมื่อปี พ.ศ. 2559 ซึ่งยังคงเป็นรถไฟที่มีสภาพดี แต่การที่ญี่ปุ่นบริจาคให้ไทยนั้นเพราะเขามีรุ่นใหม่มาแทนที่ ดังนั้นการที่ไทยได้รถไฟมือ 2 รุ่นนี้มาแบบฟรี ๆ โดยเสียเฉพาะค่าขนย้าย ถือเป็นของดีราคาถูกมาก หากการเทียบกับการซื้อมือ 1 ที่ต้องจ่ายสูงถึง 510-560 ล้านบาท (17 คัน)

สำหรับรายละเอียดที่เพจ Thailand Transportation โพสต์ถึงเรื่องรถไฟมือ 2 ที่ญี่ปุ่น บริจาคให้ไทย มีดังนี้


หลายๆคอมเมนท์ในเพจต่างๆ รวมถึงเพจสื่อหลัก (ที่ได้รับความนิยมในโลกออนไลน์) บอกว่ารถไฟดีเซลราง17คัน ที่การรถไฟฯ ได้รับบริจาคมาจากJR Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น และกำลังเปิดซองประมูลหาผู้ขนส่ง ลงเรือมาไทย มูลค่า 42 ล้านบาท นั้นเป็นของบริจาค เป็นเศษเหล็ก เป็นของทิ้ง

เลยอยากอธิบายในฐานะที่แอดมิน เคยนั่งรถไฟขบวนนี้..

มันคือเศษเหล็กตรงไหนครับ!! ก่อนที่มันจะส่งมาไทยมันคือยังวิ่งให้บริการอยู่ แต่ที่ต้องปลดระวาง เนื่องจากมีขบวนรถดีเซลรางรุ่นใหม่ๆ มาทดแทน

อย่าลืมญี่ปุ่นเขาเป็นเจ้าเทคโนโลยีรถไฟ,รถไฟความเร็วสูง การที่เขาจะสร้างรถไฟดีเซลรางใหม่ๆ มาสักรุ่น เพื่อให้เกิดกระบวนการจ้างงาน คนในประเทศเขามีงานทำ เขาก็ต้องทำครับ ส่วนของเก่าจะทำลายก็มีค่าใช่จ่ายสูงพอๆกับค่าขนส่งมาไทยนี้แหละ เขาจึงส่งต่อให้ไทย มาใช้

ในภาพคือผมถ่ายเอง ก่อนจะนั่งในขบวนรถนี้ (เมื่อ เม.ย.2559) ที่สถานีAsahikawa กำลังจะทำขบวนรถด่วนจาก Asahikawa ไป Sapporo (ระยะทางประมาณ140 km.)โดยวิ่งมาจากต้นทางคือสถานี Abashiri มีระยะทางรวมไปถึง Sapporo รวม300 กว่าkm. (ไม่มีเสียกลางทาง ถึงSapporo ตรงเวลาเป๊ะๆ)

สภาพภายใน ทั้งตัวเบาะ เก้าอี้ที่นั่ง ห้องน้ำ ยังดูดี (เบาะสวยกว่ารถดีเซลรางแดวูของไทยมาก) มาตรฐานการดูแล-บำรุงรักษาของญี่ปุ่น ก็อยู่ในระดับที่ดีกว่าไทย

หลังจากนั้นประมาณ1 ปีก็หยุดให้บริการ จนลากมาจอดที่ท่าเรือ รอขนส่งมาไทย ผ่านไป4 ปี ก็ได้รับงบฯให้ค่าขนย้ายตามข่าวนั้นมา

ส่วนที่เห็นเป็นคราบสนิม มันก็ต้องมีบ้างจากการตากแดด ตากฝน มาถึงไทยปรับปรุงอีกเล็ก ก็นำออกให้บริการได้

ของดีราคาถูกแบบนี้ ค่าขนย้าย42ล.คือถูกมาก ถ้าซื้อใหม่ในจำนวนเท่านี้ มือ1 มีงบไม่ต่ำกว่าคันล่ะ30-40 ล้าน (คูณ17คัน=510-560 ล้านบาท) ประหยัดได้เป็นร้อยๆล้านบาท ไม่ดีเหรอครับ

บางครั้งเราต้องมองในเชิงวิศวกรรมหรือเชิงช่างบ้างก็ได้ อย่ามองทุกเรื่องเป็นการเมืองเลยครับ!!







กำลังโหลดความคิดเห็น