ทางการจีนออกแถลงการณ์รัวๆ โจมตีตลาด NFT แม้บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ในประเทศและทั่วโลก ตลอดจนถึงนักลงทุนรายย่อยและเศรษฐีมากมายกำลังคลั่งไคล้สิ่งนี้ก็ตาม ย้ำดูก็รู้ว่า มีฟองสบู่ขนาดใหญ่ในการทำธุรกรรม NFT ขณะที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่หวังเก็งกำไรมากกว่าชื่นชมคุณค่าทางศิลปะ
ซีเคียวริตี้ส์ ไทมส์ สำนักข่าวที่ทำหน้าที่กระบอกเสียงให้หนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นเจ้าแรกที่รายงานข่าวนี้ ตามด้วยเซาธ์ มอร์นิ่ง ไชน่า โพสต์ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของอาลีบาบาที่มีฐานอยู่ในฮ่องกง
ตามข่าวนั้น รัฐบาลจีนบอกว่า ดูก็รู้ว่า มีฟองสบู่ขนาดใหญ่ในการทำธุรกรรม NFT (Non-Fungible Token - สินทรัพย์ดิจิตอลที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำได้) และยังว่า ผู้ซื้อ NFT ส่วนใหญ่ซื้อเพราะหวังผลทางการเงินจากมูลค่าสินทรัพย์เหล่านี้มากกว่าชื่นชมคุณค่าทางศิลปะ
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวของเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ วิจารณ์ว่า ถ้าความกระตือรือร้นในตลาดเหือดหาย มูลค่าของ NFT แปลกประหลาดมากมายหลายชิ้นก็จะดิ่งฮวบไปด้วย
ต้นปีนี้ ทางการจีนลุยกวาดล้างเหมืองขุดคริปโตครั้งใหญ่เพื่อถอนรากถอนโคนกิจกรรมที่ไม่เป็นที่โปรดปรานนี้ให้หมดไปจากประเทศ
นอกจากนั้น การซื้อขาย NFT ในจีนยังถูกจำกัด เช่น ซื้อขายได้ด้วยเงินหยวนเท่านั้น และไม่สามารถนำ NFT ไปขายต่อเนื่องจากเข้าข่ายละเมิดกฎหมายการเงินของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นขณะที่กระแสคลั่งไคล้ NFT กำลังแรงจัดทั่วโลก บริษัทขนาดใหญ่มากมายต่างลงเล่นในตลาดนี้ และชิโน โกลบัล แคปิตอลเชื่อว่า ตลาด NFT ที่โตเร็วมากอยู่ในจีน โดยขณะนี้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์, อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง, ไบต์แดนซ์, วิชวล ไชน่า กรุ๊ป และเน็ตอีส ต่างระดมออกแผนการริเริ่มเพื่อวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับ NFT และลงเล่นในตลาดนี้อย่างจริงจัง
ตัวอย่างเช่น เดือนที่แล้ว เทนเซ็นต์เปิดตัวแพลตฟอร์มเทรด NFT ที่รันบนเครือข่ายซีซินของบริษัท โดยจะเป็นชุด NFT บนแพลตฟอร์มสตรีมเพลงคิวคิว มิวสิก
ทางด้านอาลีบาบาโดยแอนต์ กรุ๊ป บริษัทฟินเทคในเครือ เปิดขายภาพ NFT บนแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ เถาเป่า รวมทั้งบนวอลเล็ต อาลีเพย์ เมื่อไม่นานมานี้
บริษัทตะวันตกและมหาเศรษฐีมากมายต่างให้ความสนใจ NFT เช่นเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ วีซ่า ผู้ให้บริการบัตรเครดิตชื่อดัง ทุ่มเงินเกือบ 150,000 ดอลลาร์ ซื้อคริปโตพังค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานอวตารดิจิตอลนับพันรายการบน NFT โดยจ่ายด้วยเหรียญอีเธอเรียม
นอกจากนั้นยังได้แรงเชียร์จากนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการทางลัดในการทำกำไร รวมทั้งเศรษฐีที่ซื้อสินทรัพย์ดิจิตอลเพราะมองว่า เป็นสินค้าหรูประเภทหนึ่ง
ตลาด NFT ถูกคาดหมายว่า จะโตได้อีก ขณะที่แพลตฟอร์มทั่วโลกพยายามใช้ประโยชน์จากการแยกส่วน NFT ที่ได้รับความนิยมเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ
อาร์เธอร์ เฮเยส อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารบิตเม็กซ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ตลาด NFT อาจช่วยปรับปรุงคุณภาพอุตสาหกรรมศิลปะด้วยการลดต้นทุนการทำธุรกรรม ตัดคนกลางออกไป และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกว้างขึ้น
เฮเยสสำทับว่า คนมากมายกระโจนเข้าใส่สินทรัพย์เหล่านี้เพื่อยกระดับสถานะทางสังคม และเข้าถึง “ชุมชนเอ็กซ์คลูซีฟ” ที่เข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของ NFT เท่านั้น แม้การปฏิวัติ NFT ดูเหมือนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และแม้ผู้คนยังเถียงกันไม่จบว่า ตลาดนี้เป็นฟองสบู่ หรืออนาคตสำหรับการสร้างและเผยแพร่คอนเทนต์ของวงการบันเทิง เกม ภาพยนตร์ หรือสื่ออื่นๆ ก็ตาม