xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! CNN รายงาน “ไทย” กลายเป็น 1 ใน 5 ประเทศทั่วโลกที่เปิดประเทศและประกาศนโยบาย “อยู่ร่วมกับโควิด-19”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพประกอบเพื่อความบันเทิงเท่านั้น สร้างสรรค์โดย MGRออนไลน์
เอเจนซีส์ - หลังจากที่วิกฤตโควิด-19 พ่นพิษนานร่วม 18 เดือนทำให้หลายชาติตัดสินใจใช้นโยบายอยู่ร่วมโควิด-19 และเปิดประเทศ พบ “ไทย” กลายเป็น 1 ใน 5 ประเทศทั่วโลกที่ใช้นโยบายนี้ถึงแม้จะยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน

CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานวันนี้ (16 ก.ย.) ว่า มีหลายประเทศในโลกเริ่มหันมาใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโควิด-19 หลังจากต้องปิดประเทศ สั่งล็อกดาวน์จนทำให้มีผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ การตัดสินใจอยู่ร่วมโควิด-19 นอกจากนี้ มาจากอัตราการได้รับวัคซีนป้องกันของประชาชนในประเทศมีสูงขึ้น สื่อสหรัฐฯ ชี้

(1)เดนมาร์ก
เป็นชาติในยุโรปที่ประกาศว่ามาตรการป้องกันต่างๆ ได้สิ้นสุดลงโดยรัฐบาลโคเปนเฮเกนยกเลิกมาตรการจำกัดทางโควิด-19 ที่เหลือทั้งหมดในวันที่ 10 ก.ย ที่ผ่านมา กล่าวว่า “โควิด-19 ไม่ใช่โรคที่เป็นภัยคุกคามต่อสังคมแดนโคนมอีกต่อไป”

และในเวลานี้ชาวเดนมาร์กสามารถเข้าไปใช้บริการในไนต์คลับได้โดยไม่ต้องแสดงบัตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือการโดยสารระบบขนส่งสาธารณได้อย่างสะดวกใจโดยที่ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยให้อึดอัด และสามารถเข้าร่วมงานที่มีคนจำนวนมากโดยไม่มีข้อจำกัดเป็นการกลับคืนชีวิตปกติสุขเหมือนสมัยก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาดทั่วโลก

CNN ชี้ว่า รัฐบาลเดนมาร์กมั่นใจถึงการอยู่ร่วมกับโควิด-19 เนื่องมาจากอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประชากรแดนโคนมมีสูง โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ย พบว่า กว่า 74% ของประชากรเดนมาร์กได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส อ้างอิงตัวเลขจากเว็บไซต์ ourworldindata.org

ด้านรัฐมนตรีสาธารณสุขเดนมาร์ก Magnus Heunicke ทวีตในวันพุธ (15) ระบุว่า การระบาดยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม เขาเตือนประชาชนว่าอย่างชะล่าใจเพราะเดนมาร์กยังไม่พ้นจากวิกฤตโควิด-19 และเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลแดนโคนมเห็นสัญญาณการกลับมาของวิกฤตจะไม่ลังเลที่จะจัดการ

(2)สิงคโปร์
ถือเป็นหนึ่งในชาติที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูงที่สุดในโลกแต่ทว่ายังคงประสบปัญหาจากไวรัสกลายพันธุ์เดลตา ที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ของนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ใช้นโยบายแข็งกร้าว “โควิดเป็น 0” ก่อนที่จะเปลี่ยนทิศทางและมีประชาชนแดนลอดช่องจำนวน 81% ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส

ซึ่งนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศนโยบายการอยู่ร่วมกับโควิด-19 เป็นความพยายามเพื่อควบคุมการระบาดด้วยการแจกวัคซีนโควิด-19 และจับตาการรักษาพยาบาลมากกว่าการจำกัดการใช้ชีวิตของประชาชน

“ข่าวร้ายคือโควิด-19 อาจจะไม่มีวันหายไป แต่ข่าวดีก็คือเราสามารถใช้ชีวิตตามปกติอยู่ร่วมกับโควิด-19 ระหว่างพวกเราได้” เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านโควิด-19 ของสิงคโปร์เขียนผ่านบทบรรณาธิการในเวลานั้น

ตั้งแต่สิงหาคมเป็นต้นมา เจ้าหน้าที่สิงคโปร์เริ่มปลดล็อกมาตรการบางอย่าง อนุญาตให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบโดสสามารถนั่งทานอาหารในภัตตาคารและรวมกลุ่มสังสรรค์ได้สูงสุดถึง 5 คน เพิ่มจาก 2 คนก่อนหน้า

เจ้าหน้าที่ต่อต้านโควิด-19 ของสิงคโปร์กล่าวว่า จะใช้ความพยายามจำกัดการระบาดด้วยการตามหาผู้ที่เคยสัมผัสผู้ติดเชื้อ คลัสเตอร์ และบังคับการตรวจหาเชื้อเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูง

(3)ไทย
ถึงแม้ไทยจะมีความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน แต่รัฐบาลไทยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเดินหน้าที่จะเปิดประเทศ

โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กล่าวว่ามีแผนการจะเปิดกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนในเดือนตุลาคมที่จะถึง เพื่อหวังที่จะฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศถึงแม้การติดเชื้อโควิด-19 ยังคงสูง

CNN รายงานว่า อัตราความสำเร็จของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทยยังตามหลังเพื่อนบ้าน พบว่ามีแค่ 18% ของประชากรไทยที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส อ้างอิงจากตัวเลขเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ของเว็บไซต์ ourworldindata.org และมีจำนวน 21% ที่ได้รับแค่เข็มแรก

ภายใต้นโยบาย กรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสและผ่านการตรวจของรัฐบาลจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ หัวหิน พัทยา และเชียงใหม่ ในเดือนตุลาคมนี้ อ้างอิงจากรอยเตอร์

(4)สาธารณรัฐแอฟริกาใต้
รัฐบาลเคปทาวน์เริ่มต้นผ่อนคลายมาตรการจำกัดทางโควิด-19 เนื่องมาจากมีอัตราการติดเชื้อต่ำลงภายในประเทศ

ท่ามกลางมาตรการทั้งหลายด้านโควิด-19 พบว่าได้มีการปรับเวลาเคอร์ฟิวกลางคืนลดลงมาอยู่ที่ 23.00-04.00 น.แทน และยังเพิ่มจำนวนคนของการรวมตัวมาอยู่ที่ 250 คนสูงสุดสำหรับภายในอาคาร และจำนวน 500 คนสูงสุดที่นอกอาคาร และยังลดข้อจำกัดการขายเครื่องดื่มสุราอีกด้วย

การผ่อนคลายมาตรการทางโควิด-19 เหล่านี้ถูกประกาศขึ้นในวันทิตย์ (12) โดยประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ซีริล รามาโฟซา ที่ชี้ว่าแอฟริกาใต้ผ่านวิกฤตโควิด-19 มาได้เป็นส่วนใหญ่แล้วหลังจากใช้มาตรการอย่างเข้มงวด เป็นต้นว่า การใช้มาตรการระยะห่างทางสังคม และห้ามการรวมตัวของสาธารณะเว้นไว้แต่การเข้าร่วมงานศพในเวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังต่ำ

รามาโฟซา ชี้ว่า การระบาดจากไวรัสเดลตาในประเทศยังคงไม่จบลงพร้อมกระตุ้นให้ประชาชนแอฟริกาใต้เร่งออกไปรับวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับทำตามข้อจำกัดต่างๆ เพื่อทำให้แอฟริกาใต้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง

(5) ชิลี
ชิลีได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศถึงความสำเร็จของโครงการแจกวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ อ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุขชิลีพบว่า เกือบ 87% ของผู้มีสิทธิได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส

และที่ผ่านมา รัฐบาลเซบาสเตียน พิเนรา ได้เริ่มแจกวัคซีนเข็มกระตุ้นซึ่งเป็นเข็มที่ 3 ให้ประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดส ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชิลีในวันพฤหัสบดี (9) ได้อนุมัติให้สามารถใช้วัคซีนซิโนแวคของจีนกับเด็กอายุ 6 ปีหรือสูงกว่า โดยการเริ่มต้นให้ภูมิคุ้มกันแก่เด็กเริ่มมาตั้งแต่วันจันทร์ (13)

แต่ถึงแม้ว่าชิลียังคงประสบปัญหาจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ในวันพุธ (15) พบว่ารัฐบาลชิลีประกาศความเคลื่อนไหวในการกลับมาเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งบังเอิญเป็นช่วงเวลาของฤดูร้อนในทวีปอเมริกาใต้พอดี

ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่ไม่มีถิ่นพำนักถาวรจะสามารถเดินทางเข้ามาได้หากว่าพวกเขาผ่านคุณสมบัติและข้อกำหนดที่วางไว้ของรัฐบาลชิลีและทำการกักตัวเป็นเวลา 5 วันหลังเดินทางเข้าประเทศ

“เป็นความจริงที่ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าชิลี ถือเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับการพลิกฟื้นของการท่องเที่ยวในประเทศ” ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวชิลี โฮเซ ลูอิส อูเรียอาเต (José Luis Uriarte) กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น