xs
xsm
sm
md
lg

“คราฟท์เบียร์ไทย” ดังไกลระดับโลก!! แต่กฎหมายไม่เอื้อ ต้องไปเกิดเมืองนอก?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



คราฟท์เบียร์ไทยคว้ารางวัลระดับโลก แต่กลับไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากในประเทศ กูรูชี้ “เปิดเสรีต้มเบียร์” จะดึงนักดื่ม-สร้างรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล ด้าน “กลุ่มนิยมเบียร์ทำมือ” งง ทำไมตั้ง “สมาคมเบียร์” ไม่ได้ หรือกฎหมายเอื้อนายทุน!?




ได้รางวัลใหญ่ ต้องไปไกลถึงเมืองนอก?


“1 เหรียญทอง” “1 เหรียญเงิน” และ “3 เหรียญทองแดง” จาก “Asia Beer Championship 2021”

[หลากรางวัลระดับโลก “คราฟท์เบียร์ไทย” คว้าชัยมาครอง]
คือผลงาน “คราฟท์เบียร์สัญชาติไทย” หรือเบียร์ทางเลือกใหม่ ที่ทำจากฝีมือคนไทย ที่ล่าสุด ไปคว้ารางวัลระดับอินเตอร์ไกลถึงประเทศสิงคโปร์ แต่ตลกร้ายที่คอเบียร์แทบไม่มีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติ หรือได้เห็นวางขายในประเทศตัวเองเลย

ที่สำคัญ นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “นักผลิตเบียร์” ไปคว้ารางวัลใหญ่มาได้ เพราะเคยกวาดเหรียญทองบนเวทีระดับโลกอย่าง “World Beer Awards” ที่ประเทศอังกฤษ มาแล้วก็มี




แต่ด้วยข้อกฎหมายที่จำกัดสิทธิเอาไว้ ทำให้คนไทยไม่สามารถ “ผลิตคราฟท์เบียร์” ในบ้านเกิดตัวเองได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ “กาน-กาญจน์ เสาวพุทธสุเวช” เจ้าของแบรนด์ “SPACECRAFT” หนึ่งในเจ้าของรางวัลคราฟท์เบียร์ระดับโลกอีกกว่า 6 รางวัล ช่วยสะท้อนให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ต่อให้ทั่วโลกจะชื่นชมแค่ไหน แต่ในไทยกลับดูไร้ค่า

[กาน-กาญจน์ เสาวพุทธสุเวช ]
เพราะบ้านเรายังไม่สามารถต้มเบียร์ได้อย่างอิสระ ทำให้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา กานต้องไปทำธุรกิจที่ประเทศเวียดนาม จนทำให้เจ้าตัวมองอย่างปลงตกไปแล้วว่า เป็นเรื่องปกติที่จะจ้างโรงงานในประเทศอื่นผลิต และง่ายกว่าการที่จะต่อสู้เพื่อแก้ไขข้อกฎหมายในไทย

“ถามว่า ประสบความสำเร็จไหม ผมว่าเป็นการให้กำลังใจตัวเอง เพราะรางวัลเหล่านี้แทบจะไม่ได้สื่อสารให้นักดื่มรู้ เพราะมีกฎหมายที่ห้ามโฆษณา

อุตสาหกรรมเบียร์ ที่ช่วงแรกเริ่มมาจากการไปจ้างผลิตที่อื่นก่อน ฟังดูยาก แต่กลายเป็นว่าช่วยให้ไม่ต้องไปหาเงินก้อนใหญ่ เพื่อมาลงทุนสร้างโรงผลิตเอง และจำนวนการผลิต ถ้าไปหาโรงผลิตที่ขนาดเหมาะสมกับเรา มันจะดีและง่ายกว่า เพราะ contract brewery มีขนาดให้เลือกเยอะมาก ตั้งแต่ 1,000 กว่าลิตร 5,000 กว่าลิตรต่อครั้งก็มี”

[หนังสือตอบกลับ การขอจัดตั้ง “สมาคมคราฟท์เบียร์”]
เมื่อถามว่า ถ้ามีการ “เปิดเสรีต้มเบียร์” แล้วผลักให้สินค้าผสมแอลกอฮอล์ชนิดนี้ กลายเป็น “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” จะเป็นทางออกที่น่าสนใจแค่ไหน?

เพราะตอนนี้ประเทศไทยก็เป็นประเทศเน้นขายการท่องเที่ยว ถึงกับ “เปิดประเทศ” ต้อนรับนักท่องโลกอยู่แล้ว ถ้าสามารถใช้จุดนี้เป็นจุดขาย ที่จะดึงนักดื่มให้เข้าถึงเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นได้ คงจะน่าสนใจไม่น้อย แต่ผู้บริหารประเทศกลับไม่ทำ
ส่วนคำตอบของนักผลิตเบียร์มือรางวัลระดับโลกรายนี้ มองว่า ถ้าทำได้จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้มาก และจะสร้างเม็ดเงินมหาศาลได้อย่างแน่นอน


“ประเทศเราชอบมองว่า เป็นสิ่งไม่ดี แต่หารู้ไม่ว่าแอลกอฮอล์กับวัฒนธรรมของมนุษย์ อยู่คู่กันมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีแล้ว การที่ในชุมชนในหมู่บ้านหนึ่งมีเบียร์เป็นของตัวเอง แล้วยิ่งใส่สิ่งที่มีอยู่ท้องถิ่นจะทำให้เกิดความแตกต่าง มันจะเป็นสินค้าดีๆ ที่ทำให้ต่างประเทศอยากจะมาเยี่ยมชมแน่นอน และจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล

อย่างประเทศญี่ปุ่น แต่ละเมืองเขาจะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง แล้วแต่ละที่ก็ใส่เอกลักษณ์หรือผลไม้ประจำถิ่นเข้าไป มันเป็นการดึงนักท่องเที่ยวได้ และเป็นการกระจายนักท่องเที่ยวให้เข้าไปถึงในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศได้ด้วย

หรืออย่างในซีรีส์เกาหลีเอง ก็มีที่แทรกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ถ้าไทยลุกขึ้นมาทำตรงนี้ได้ จะทำให้คนต่างชาติเริ่มซึมซับและรับรู้ในวัฒนธรรมของบ้านเมืองเราได้ง่ายขึ้นไปอีก”


แต่เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ที่ภูมิปัญญาไทยตรงนี้ยังทำให้ถูกกฎหมายไม่ได้ ซึ่งเจ้าของคราฟท์เบียร์รายนี้ มองว่า อาจจะต้องอาศัยเวลามากกว่านี้ ในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อแก้กฎหมายในประเทศเรา

“เราน่าจะอยู่ในช่วงกำลังเปลี่ยน เพราะว่าก่อนที่อเมริกาจะยอมให้แก้กฎหมาย ที่ให้คนผลิตคราฟท์เบียร์ได้ ต้องใช้เวลาหลาย 10 ปีเหมือนกัน เพียงแต่ว่าต้องทำให้ถูกวิธี ชี้ให้เห็นประโยชน์มากกว่าโทษ

ประเทศเราห่วงว่าจะมีแอลกอฮอล์เยอะ เด็กอายุน้อยจะเข้าถึงเครื่องดื่มมากเกินไป ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐทำตอนนี้ยังไม่แก้ปัญหาตรงนี้ ประเทศอื่นเขาใช้การให้ความรู้มากกว่าการห้าม เช่น เด็กอายุไม่ถึง ไม่ควรดื่มเพราะอะไร แต่วิธีการที่ไทยทำตอนนี้ไม่ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ”




ไม่คิดถึงเจ้าเล็ก เขียนกฎหมายเอื้อนายทุนใหญ่!?


จุดที่น่าเศร้าของสถานการณ์ทุกวันนี้ คือ ไม่ใช่แค่ผลิตเบียร์ในบ้านเกิดไม่ได้ เพราะขนาดจะตั้ง “สมาคมคราฟท์เบียร์” ขึ้น ยังทำไม่ได้เลย ล่าสุด ทางแฟนเพจ “สมาคมคราฟท์เบียร์” ทนไม่ไหว ถึงกับลุกขึ้นมาโพสต์ ชวนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมจึงทำให้เป็นรูปเป็นร่างไม่ได้ ในเมื่อสมาคมผู้ผลิตไวน์ผลไม้และสุราพื้นบ้านไทยยังก่อตั้งได้เลย

ทีมงานจึงได้ติดต่อไปยัง “บะหมี่-ประภาวี เหมทัศน์” หนึ่งในตัวแทนจากแฟนเพจ “สมาคมคราฟท์เบียร์” ให้ช่วยเปิดใจถึงความเคลื่อนไหวที่พยายามกันมาโดยตลอด เพื่อขอแก้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่กลับยังไม่มีหน่วยงานกลางช่วยติดตามดำเนินเรื่องให้

[บะหมี่-ประภาวี เหมทัศน์]
จึงมีการรวมกลุ่มคุยกันว่า จะตั้งสมาคมคราฟท์เบียร์ขึ้น เพื่อช่วยผลักดันอุตสาหกรรมเบียร์ และให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนเกี่ยวกับคุณและโทษของเครื่องดื่มชนิดนี้

โดยความพยายามขอจัดตั้งสมาคม มีมาตั้งแต่ พ.ย. 63 ซึ่งกรมการปกครองต้องส่งหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วย นั่นคือ กรมควบคุมโรค จึงทำให้ขั้นตอนล่าช้า รวมถึงปัญหาเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ออกเมื่อปี 57 สุดท้ายจึงถูกตีกลับโดยให้เหตุผลว่า “ไม่ผ่านวัตถุประสงค์”


“ช่วงโควิดขายของไม่ได้ หลายๆ ร้าน ก็ต้องโพสต์ออนไลน์ว่ามีการขายอยู่ แล้วกรมควบคุมโรคก็ส่งหมายเรียกจับคน หาว่ามีการโฆษณาทางออนไลน์ และสมาคมเราก็รวมตัวกัน โดยมีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งเพื่อต่อสู้แก้ไขกฎหมาย และช่วยเหลือคนที่โดนไล่จับ

แต่กรมควบคุมโรคก็ตีจดหมายกลับมาว่า มีหลายคนในสมาคมทำผิดกฎหมาย อีกอย่างคือ วัตถุประสงค์ของสมาคม จะทำให้การเข้าถึงคราฟท์เบียร์กว้างมากขึ้น และเลิกเข้าใจผิดเรื่องเป็นภัยต่อสุขภาพ จนไม่สามารถอนุญาตได้ ซึ่งส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วย เพราะยังมีหลายสมาคมที่เกี่ยวกับเหล้าเบียร์ที่ได้รับการอนุญาต”

ส่วนอีกนัยสำคัญที่อยากจะชี้ให้คอแอลกอฮอล์และคนในสังคมได้ตระหนัก ก็คือ ประเด็นเรื่องกฎหมาย “การผูกขาดทางการตลาด” ของสินค้าชนิดนี้ โดยเห็นได้ชัดว่ามีการเขียนกฎหมายที่เอื้อนายทุนใหญ่มาตั้งแต่ต้น

“เขาเขียนกฎหมายมาตั้งแต่แรกเพื่อเอื้อนายทุนอยู่แล้ว หมายถึงว่า มีคนใหญ่คนโต ที่อยากตั้งโรงเบียร์ในประเทศ แต่ไม่มีกฎหมายให้เขาทำ เลยต้องเขียนกฎหมายขึ้นมา เพื่อให้เขาสามารถทำได้ ทั้งกฎเรื่องทุนจดทะเบียนหลัก 10 ล้าน ที่ไม่ได้คิดเผื่อเจ้าเล็กตั้งแต่แรก




แต่มันผ่านมาหลาย 10 ปีแล้ว สิ่งที่ควรเกิดขึ้น คือ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายปรับปรุงเพื่อให้รายเล็กๆ ที่จะเข้ามาในตลาดสามารถทำได้ แต่ปัญหาคือ ทางหน่วยงานไม่ยอมปรับ เลยเกิดคำถามว่าที่เป็นแบบนี้เพราะอื้อนายทุนอยู่ หรือเจ้าใหญ่ไม่อยากให้เปลี่ยนหรือเปล่า”

สุดท้ายตัวแทนเพจสมาคมคราฟท์เบียร์ มองว่า การที่จะตั้งสมาคมนี้ขึ้นไม่ได้ คิดว่า จะเป็นโทษต่อสังคมอย่างที่หน่วยงานหวั่นใจ แต่จะสามารถช่วยสื่อสารถึงข้อเท็จจริง ทั้งแง่บวกและแง่ลบ แล้วให้ผู้บริโภคทั้งหลายไปตัดสินใจเลือกเอง ไม่ใช่การเลือกทางออก “ห้ามดื่ม-ห้ามกิน” ไปเลย


แม้จะยังไม่รู้ว่า ต้องต่อสู้เพื่อผลักดันเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปนานแค่ไหน แต่กูรูแห่งวงการคราฟท์เบียร์ไทย ก็ยังยืนหยัดจะทำต่อไป พร้อมส่งเสียงเตือนไปยังภาครัฐด้วยว่า ถ้าไม่เปิดโอกาสตรงจุดนี้ให้ อาจต้องสูญเสียผู้ประกอบการมือดี ให้ไปทำรายได้ในประเทศอื่น รวมถึงโอกาสที่จะผันรายได้เข้าประเทศไปอีกมหาศาลเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา ปี 2560 ระบุไว้ว่า การขออนุญาตจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ต้องมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจํานวนหุ้นทั้งหมด และต้องมีกําลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี






สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : ratchakitcha.soc.go.th, แฟนเพจ “Asia Beer Championship”
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “สมาคมคราฟท์เบียร์”, “Asia Beer Championship”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น