xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอยุติสืบสวนคดี "อับดุลเลาะ" แจ้งภรรยายื่นเรื่องอีกได้หากมีหลักฐานใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปัตตานี - ดีเอสไอแจ้งภรรยา "อับดุลเลาะ อีซอมูซอ" ยุติการสืบสวนคดีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ให้โอกาสยื่นเรื่องให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาใหม่ได้หากมีหลักฐานที่ยังไม่เคยเสนอในคำร้องครั้งก่อน ภรรยาอับดุลเลาะ ผิดหวัง ยื่นเรื่องให้สอบหวังให้ช่วยหาหลักฐาน แต่กลับบอกให้ญาติหาเอง

วันนี้ (17 ม.ค.) จากกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จากอาการหมดสติหลังถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนทำให้ญาติร้องขอความเป็นธรรมจากหลายหน่วยงานนั้น ล่าสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอได้มีหนังสือแจ้งมาถึงนางซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ ลงวันที่ 11 มกราคม 2565 ลงนามโดยนายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ ผอ.กองคดีความมั่นคง ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสวนสวนคดีพิเศษ ว่า อธิบดีกรมสวนสวนคดีพิเศษได้สั่งการให้ยุติการสืบสวนและให้ส่งสำนวนการสืบสวนไปยัง สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่

ในการนี้ กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รายงานผลการดำเนินการข้างต้นต่อคณะกรรมการคดีพิเศษรับทราบในการประชุมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ท่านมีสิทธิยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญที่ยังมิได้ถูกนำเสนอในคำร้องครั้งก่อน

นางซูไมยะห์ เปิดเผยว่า ผิดหวังกับหน่วยงานของรัฐที่เคยตั้งความหวังว่า จะได้รับคืนความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัว แต่เราไม่ยุติจนกว่าครอบครัวจะได้รับคืนความเป็นธรรม ส่วนจะยื่นใหม่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือไม่นั้น คงต้องรอทนายก่อน เพราะภายในเดือน ก.พ.นี้ ศาลจังหวัดสงขลามีนัดสอบปากพยานฝ่ายเสียหายอีก 4 ปาก

"การที่ญาติได้ยืนหนังสือขอความเป็นธรรมกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เพื่อให้กรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษช่วยสืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินเอาผิดกับผู้กระผิดตามกฎหมาย เพราะญาติไม่สามารถนำหลักฐานมาดำเนินเอาผิดตามที่เป็นอยู่ แต่กลับให้ญาติหาหลักฐานใหม่ให้สอบสวนแล้วญาติจะไปหาที่ไหน" นางซูไมยะห์ กล่าว


ด้านนายรอมฎอน ปันจอร์ ผู้ปฏิบัติงานคณะก้าวหน้าชายแดนใต้/ปาตานี ได้โพสต์ถึงเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งยุตินั้นไม่ได้แจ้งว่าเป็นไปด้วยเหตุผลอันใด มีข้อเท็จจริงชนิดไหน คดีนี้สะเทือนขวัญและอ่อนไหวโยงใยถึงอำนาจควบคุมและบทบาทของกองทัพโดยตรง ได้รับความสนใจจากสาธารณะทั้งในและนอกพื้นที่ รวมไปถึงนอกประเทศด้วย กรณีนี้ยังเป็นกรณีแรกๆ ที่ ส.ส.จากพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านในพื้นที่ผนึกกำลังกันทวงถามและติดตามมาตั้งแต่แรก แรงกดดันช่วงแรกที่อับดุลเลาะ เสียชีวิตไปด้วยเหตุผิดปกตินั้นน่าจะมีส่วนผลักดันให้ DSI เข้ามารับทำคดี แต่เมื่อ 2 ปีผ่านไป แรงกดดันเริ่มน้อยลง ก็ผละมือกันเสียง่ายๆ เช่นนี้ คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการชันสูตรไต่สวน ซึ่งนับว่าล่าช้าอย่างมาก ผลของการไต่สวนจะกำหนดทิศทางของคดีอาญาในเวลาต่อมา นี่อาจเป็นเหตุผลให้ล่าช้าเกินงาม

กรณีนี้ยังอยู่ในระหว่างห้วงเวลาที่ในรัฐสภากำลังพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งหากประเทศนี้บังคับใช้ได้ก่อนหน้านี้ หน้าตาของกระบวนการยุติธรรมต่อกรณีซ้อมทรมานจะเป็นอีกแบบ นั่นก็คือ ร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย ซึ่งประเทศไทยต้องเดินตามคำสัญญาที่เคยไปผูกพันธะเอาไว้กับประชาคมระหว่างประเทศ ขณะนี้ร่างกฎหมายใกล้จะแล้วเสร็จแล้ว กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 3 ของสภาล่าง

"อธิบดี DSI ตัดสินใจถอนตัวออกจากคดีนี้เสียเฉยๆ เช่นนี้ ต้องมีข้อเท็จจริงชนิดไหนที่ทำให้คดีที่อื้อฉาวเช่นนี้เงียบเสียงลงไปครับ?"
กำลังโหลดความคิดเห็น