xs
xsm
sm
md
lg

จากลิกอร์สู่ซิงกอรา สงขลาเมืองเก่า ก้าวสู่มรดกโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ประตูเมืองเก่าสงขลา
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อนมีโอกาสลงไปที่จังหวัดสงขลา ไม่ได้มาทางหาดใหญ่ แต่มาทางนครศรีธรรมราช ก่อนหน้านี้เคยมาเยือนหาดใหญ่แล้วสองรอบ นั่งเครื่องบินไปลงสนามบินหาดใหญ่ก็เคย นั่งรถทัวร์ บขส. ขาแข็งเป็นแง่งหินยาวนานกว่า 14 ชั่วโมงก็เคย แต่คราวนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง เพราะไม่เคยนั่งรถมาเยือนเส้นทางนี้

ก่อนที่จะมาเยือนสงขลา เราพักค้างหนึ่งคืนที่นครศรีธรรมราช ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งแบบไม่เป็นทางการ คือ “ลิกอร์” (Ligor) กิจกรรมในเวลาอันน้อยนิดคือการเดินชมโบราณสถานตามถนนราชดำเนินยามค่ำคืน มาถึงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นอกนั้นคือการกิน มื้อเย็นกินข้าวมันแกง กับน้ำชาร้านบังบ่าว มื้อเช้าบักกุ๊ดเต๋ร้อนๆ กับกาแฟที่ร้านโกปี๊

จุดเริ่มต้นการเดินทางอยู่ที่ บขส.หัวอิฐ หรือ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรงจุดนั้นจะมีท่ารถตู้ เรียกว่า ศูนย์รถตู้โดยสารสาธารณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ทีแรกสงสัยว่าทำไม บขส.ที่นี่ถึงเป็นอาคารไม้เก่าแบบผุพัง ปรากฏว่าจริงๆ แล้วสถานีขนส่งที่เป็นรถทัวร์จะอยู่อีกอาคารหนึ่ง แต่อาคารไม้จะนำคิวรถตู้ในเมืองมาจัดระเบียบ

มินิบัสที่เราเดินทางเป็นของ บริษัท นครสงขลาขนส่ง จำกัด ตั้งอยู่ที่ช่องขายตั๋วหมายเลข 12 ค่าโดยสาร 160 บาท ส่วนมากเป็นรถปลายทางหาดใหญ่ แต่ถ้าจะไปสงขลาจะมีรถตู้จอดรออยู่ที่ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลสงขลา เมื่อลงสะพานติณสูลานนท์มาแล้ว ก็เปลี่ยนรถเพื่อไปยังมหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และตัวเมืองสงขลาได้

รถมินิบัส เกาะสมุย-หาดใหญ่ ออกจากนครศรีธรรมราช รอบ 12.00 น.
จาก บขส.หัวอิฐ ไปสงขลา ระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ผ่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร เข้าเขต จ.สงขลาที่ อ.ระโนด อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร ข้ามทะเลสาบสงขลา 2 รอบ ถึง อ.เมืองสงขลา เส้นทางไม่มีอะไรนอกจากบ้านเรือน แต่ก็มีกังหันลมยักษ์ที่ อ.หัวไทรพอให้ตื่นตาตื่นใจกันไปบ้าง

เส้นทางนี้ผ่าน “สะพานติณสูลานนท์” สะพานข้ามทะเลสาบสงขลาที่ยาวแห่งหนึ่งในไทย ก่อสร้างขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2527 สะพานมีอยู่สองช่วง ตรงกลางเรียกว่า “เกาะยอ” จะเห็นได้ชัดว่าซ้ายก็ทะเล ขวาก็ภูเขา มีร้านอาหาร ร้านของฝากตามรายทาง ก่อนที่จะข้ามสะพานอีกช่วงหนึ่ง

ลงจากสะพานแล้ว ผ่านโรงพยาบาลสงขลา จะเป็น “ห้าแยกน้ำกระจาย” ที่ปัจจุบันกรมทางหลวงสร้างสะพานทางแยกต่างระดับ ให้สัญจรไปมาสะดวกขึ้น ถ้าจะไปหาดใหญ่เลือกได้ว่าจะไปทาง “ถนนกาญจนวณิชย์” สายเก่า หรือสายใหม่อย่าง “ถนนลพบุรีราเมศวร์” เข้าเมืองหาดใหญ่ก็ได้ หรือออกถนนเพชรเกษมไปพัทลุงหรือเมืองตรังก็ได้เช่นกัน

เมื่อเลี้ยวซ้าย อีก 10 กิโลเมตรจะถึงตัวเมืองสงขลา ผ่านห้างโลตัส สงขลา, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายที่สามแยกสำโรง เข้าถนนไทรบุรี หมดระยะตรงอาคารที่เรียกว่า “คิวรถระโนด” ปัจจุบันตกแต่งทันสมัย มีร้านพัฟฟ์ แอนด์ พาย ของการบินไทย ร้านคาเฟ่อเมซอน และมีตู้เอทีเอ็มกรุงไทยให้บริการ

แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า ขากลับจากเมืองสงขลาถ้าจะไปหาดใหญ่ ให้ไปขึ้นที่ท่ารถตู้หน้าโรงเรียนอนุบาลสงขลา หรือรอป้ายรถเมล์ตรงข้ามคิวรถระโนดก็ได้ เพราะตอนขากลับเคยไปที่สถานีขนส่งผู้โดยสารสงขลา (บขส.สงขลา) ปรากฏว่าไม่มีรถไปหาดใหญ่ มีแต่รถไปต่างจังหวัด ต้องเสียเวลาย้อนกลับมาที่ท่ารถตู้จนได้



ทะเลสาบสงขลา
ตามประวัติศาสตร์ที่เรียนรู้มาอย่างคร่าวๆ เมืองสงขลาเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ผ่านการย้ายเมืองมาแล้วสามรอบ เมืองสงขลาปัจจุบันเรียกว่า “ฝั่งบ่อยาง” เป็นศูนย์กลางทางการค้า หน่วยงานราชการ และหน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น ฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ 2 ตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4

แรกเริ่มเดิมทีเมืองสงขลาตั้งอยู่ที่ “เขาแดง” ถ้าใครนั่งรถมาจากนครศรีธรรมราชมาทางระโนด สามแยกไฟแดงก่อนเลี้ยวขวาขึ้นสะพานติณสูลานนท์ จะเห็นภูเขาสูงๆ เรียกว่าเขาแดง คนที่ก่อตั้งเมืองเป็นชาวมุสลิมที่ชื่อว่า “ดาโต๊ะโมกอล” พายเรือสำเภาอพยพจากเกาะชวา ที่ตอนนั้นฮอลันดาเข้ายึดพื้นที่เป็นอาณานิคม มาขึ้นฝั่งหัวเขาแดง

จากนั้นจึงได้ตั้งเมืองใช้ชื่อว่า “ซิงกอรา” (SINGORA) ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองท่าสำคัญที่มีเรือสำเภาเข้ามาทำการค้าขายอย่างคึกคัก แต่เมื่อลูกชายคนโตของดาโต๊ะ โมกอลล์ ที่ชื่อ “สุลต่านสุลัยมาน ชาห์” เกิดแข็งข้อต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงส่งกองทัพมาปราบปรามจนถูกทำลายราบคาบ

ตอนนั้นประชาชนในเมืองซิงกอราส่วนหนึ่งถูกอพยพไปที่กรุงศรีอยุธยา ส่วนหนึ่งถูกอพยพไปที่สุราษฎร์ธานี ที่หลงเหลืออยู่ก็ได้ไปสร้างชุมชนใหม่ อีกฟากหนึ่งของเขาแดง เรียกว่า “ฝั่งแหลมสน” ต่อมามีชาวจีนอพยพเข้ามาทำรังนกบนเกาะสี่ เกาะห้า กระทั่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เข้ามาทำนุบำรุงเมืองสงขลาอีกครั้ง

แต่ด้วยความที่แหลมสน ด้านหน้าติดทะเล ด้านหลังติดภูเขา ขยับขยายเมืองได้ยาก อีกทั้งเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำจืด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองสงขลามายังฝั่งที่เรียกว่า “บ่อยาง” ในปี พ.ศ. 2379 มาถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 180 ปี

อย่างไรก็ตาม เมืองเก่าสงขลาฝั่งเขาแดงจะถูกทำลายไปแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ยังเป็นทางผ่านไป อ.ระโนด ผ่านเรือเฟอร์รี บริเวณฐานทัพเรือสงขลา ซึ่งก่อนจะมีสะพานติณสูลานนท์ คนสงขลาจะข้ามเรือจากที่นี่เพื่อไปยัง อ.ระโนด และเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกสงขลา ศูนย์กลางการขนส่งและนำเข้าสินค้าทางเรือในภาคใต้ตอนล่าง

สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่
เดิมตัวเมืองสงขลาเป็นศูนย์กลางทางการค้า ในสมัยที่ยังมีการค้าขายทางเรือ โดยมีถนนสายหลักคือ ถนนไทรบุรี ก่อนจะพัฒนาเป็น ทางหลวงสายสงขลา-สะเดา กระทั่งรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตั้งชื่อว่า “ถนนกาญจนวณิช” เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายประกิต รณชิต กาญจนวณิชย์ อดีตนายช่างด้านสงขลา

จากนั้นมีการก่อสร้าง ทางหลวงสายกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ แล้วเสร็จในปี 2493 รัฐบาลตั้งชื่อว่า “ถนนเพชรเกษม” ไปบรรจบกับถนนกาญจนวณิชที่ สามแยกคอหงส์ แต่ต่อมาถนนช่วงสามแยกคอหงส์ถึงด่านสะเดาถูกตั้งให้เป็นทางหลวงหมายเลข 4 ปัจจุบันมีการตัดถนนตั้งแต่แยกควนลัง ถึงแยกคลองหวะให้เป็นทางหลวงหมายเลข 4 ทดแทนแล้ว

ต่อมามีการก่อสร้าง ทางรถไฟสายพัทลุง-สงขลา กระทั่งเปิดให้บริการสถานีรถไฟสงขลาเมื่อปี 2456 กรมรถไฟหลวงก่อสร้างทางรถไฟสายใต้เสร็จสิ้นในปี 2459 แต่ต่อมาสถานีรถไฟชุมทางอู่ตะเภา ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง จึงย้ายไปสถานีโคกเสม็ดชุน เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีชุมทางหาดใหญ่ ในปี 2467 เป็นต้นมา

ตลาดกิมหยง
ระหว่างนั้นมีพ่อค้า คหบดี กว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อนำมาตัดถนน สร้างอาคารบ้านเรือน แบ่งขายที่ดิน โดยพัฒนาและวางผังเมืองโดย ขุนนิพัทธ์จีนนคร หรือนายเจียกีซี กลายเป็นจุดเริ่มต้นย่านการค้าแห่งใหม่ของสงขลา เมื่อหาดใหญ่เป็นชุมทางรถไฟ มีการค้าขายกับชาวมลายูมากขึ้น ทำให้หาดใหญ่เจริญแซงหน้าสงขลาไปโดยปริยาย

หนึ่งในนั้นคือ “ตลาดกิมหยง” ใกล้สะพานข้ามทางรถไฟ ถนนเพชรเกษม (สายเก่า) ก็มาจากชื่อของ นายชีกิมหยง คหบดีชาวจีน ที่ตามบิดารับเหมาก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ เป็นอีกคนหนึ่งที่กว้านซื้อที่ดินจำนวนมากนำมาพัฒนา และยังบริจาคที่ดินก่อตั้งโรงเรียนศรีนคร ปัจจุบันตลาดกิมหยงมีชื่อเสียงเรื่องสินค้าอุปโภค บริโภคที่นำเข้าจากมาเลเซีย

ขบวนรถไฟหาดใหญ่-สงขลา ให้บริการมาถึงปี 2521 เมื่อการคมนาคมทางรถยนต์สะดวกมากขึ้น ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องหยุดเดินรถไฟ แต่ไม่ได้รื้อรางรถไฟออก น่าเสียดายที่ยังมีคนเห็นแก่ตัว บุกรุกที่ดินรถไฟปลูกสร้างที่อยู่อาศัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เส้นทางรถไฟค่อยๆ ถูกลบเลือนไปจากความทรงจำ ยากที่จะฟื้นกลับมา

ปัจจุบันระหว่างหาดใหญ่-สงขลา มีรถตู้ประจำทางจาก บขส.หาดใหญ่ ถึงโรงเรียนอนุบาลสงขลา ค่าโดยสารคนละ 34 บาท ทางรถยนต์ยังมี “ถนนลพบุรีราเมศวร์” ตั้งชื่อตามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ ที่เคยเป็นสมุหเทศาภิบาล และอุปราชมณฑลปักษ์ใต้





ย่านเมืองเก่าสงขลา ฝั่งถนนนครใน

บ้านนครใน
ตัวเมืองสงขลามีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย แต่ที่กำลังผลักดันขณะนี้ คือ “ย่านเมืองเก่าสงขลา” ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม โดยได้พัฒนาถนนสายหลัก 3 สาย ได้แก่ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ให้กลายเป็นจุดเช็กอิน เตรียมความพร้อมเพื่อผลักดันให้กลายเป็นมรดกโลกแห่งใหม่

สถาปัตยกรรมของย่านเมืองเก่าสงขลา ผสมผสานกันระหว่างตึกแถวแบบจีนดั้งเดิม ตึกแถวแบบจีนพาณิชย์ ตึกแถวแบบจีนสมัยใหม่ และตึกแถวแบบสงขลาดั้งเดิม ที่เรียกว่า “ชิโน-ยูโรเปียน” หนึ่งในนั้นคือ “บ้านนครใน” ที่มีอายุเก่าแก่ เป็นอาคาร 2 หลัง หลังหนึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน หลังถัดมาจะเป็นบ้านตึกสีขาวเป็นแบบชิโน-ยูโรเปียน

ไฮไลต์ของย่านเมืองเก่าสงขลาที่โดดเด่นที่สุด คือ โรงสีแดง เรียกว่า “หับ โห้ หิ้น” อาคารโรงสีที่ทาด้วยสีแดงโดดเด่น อยู่ตรงเกือบสุดถนนนครนอก ที่จะเลี้ยวซ้ายไปยังตลาดทรัพย์สิน และท่าเรือข้ามฟากสงขลา วัยรุ่นตอนกลางอาจจะเคยได้ยินชื่อนี้มาจากชื่อค่ายหนัง ของผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง แต่โดยส่วนตัวก็ยังไม่ทราบความหมาย

กระทั่งทราบมาว่า “หับ โห้ หิ้น” มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า “สามัคคี กลมเกลียว เจริญรุ่งเรือง”

โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น








โรงสีแดงเปิดบ้านให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสเรื่องราวความเป็นมาของเมืองสงขลา จะเห็นได้จากป้ายคำว่า “สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” พร้อมกับโคมแดงจีน หรือเต็งลั้ง เปิดไฟสว่างรอต้อนรับผู้มาเยือน ด้านในจะเป็นนิทรรศการขนาดเล็ก ย้อนตำนานตั้งแต่ยุคซิงกอราสงขลาเขาแดง ยุคสงขลาแหลมสน ทะเลสาบสงขลา รวมทั้งความเป็นมาของโรงสีแดง

ส่วนด้านหลังของโรงสีแดง จะเป็นท่าเทียบเรือประมงขนาดเล็ก มองเห็นทัศนียภาพของทะเลสาบสงขลา พร้อมกับภาพวาดลายเส้นบนผนังโรงสีและบนถังน้ำมันเก่า เป็นจุดถ่ายรูปเช็กอินที่โดดเด่นแก่ผู้มาเยือน นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ภายใต้การดูแลของภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม

สำหรับโรงสีแดง หับ โห้ หิ้น เป็นโรงสีข้าวใช้เครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่ มีปล่องไฟสูง 34 เมตร เริ่มดำเนินกิจการในปี 2470 สมัยนั้นเป็นยุคที่การค้าข้าวในลุ่มทะเลสาบสงขลารุ่งเรืองที่สุด เพราะชาวบ้านแถบทะเลในปลูกข้าว แล้วนำข้าวเปลือกขนใส่เรือมาส่งที่โรงสีแดง แล้วโรงสีแดงก็ทำหน้าที่ดำเนินการสีข้าวจากแต่ละชุมชนตลอด 24 ชั่วโมง

มาถึงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ปี 2484-2488 ก่อนหน้านั้นมีจารชนญี่ปุ่นแฝงตัวประกอบอาชีพในตัวเมืองสงขลา กระทั่งกองทัพเรือญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกที่หาดสมิหลา บุกยึดเมืองสงขลา โรงสีแดงก็ถูกยึดเป็นคลังเก็บเวชภัณฑ์ และศูนย์บัญชาการตลอดช่วงสงคราม ชาวสงขลาต้องอยู่อย่างหวาดระแวง จากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิด

หลังสงครามยุติลง โรงสีได้ปรับปรุงเป็นท่าเทียบเรือระหว่างสงขลากับระโนด เมื่อโรงสีข้าวขนาดเล็กเกิดขึ้นในชุมชน ข้าวเปลือกเข้ามาป้อนโรงสีลดน้อยลง จึงแปรสภาพเป็นโกดังเก็บยางพารา ขนส่งด้วยเรือลำเลียงไปยังเรือเดินสมุทร และเมื่อท่าเรือน้ำลึกสงขลาเปิดดำเนินการ โรงสีแดงจึงกลายเป็นท่าเทียบเรือขนาดเล็กและท่าโม่น้ำแข็ง ก่อนเลิกกิจการ

แม้โรงสีแห่งนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่สีข้าวเหมือนแต่ก่อน แต่ความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม ทำให้โรงสีแดงแห่งนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2554 ประเภทองค์กร จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และถูกพัฒนาให้เป็นอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา และห้องสงขลาสู่มรดกโลก

หาดชลาทัศน์
ในตัวเมืองสงขลา ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ “แหลมสมิหลา” หาดทรายและทิวสน มีรูปปั้นนางเงือกเป็นสัญลักษณ์ ถัดจากนั้นลงมาคือ “หาดชลาทัศน์” ยาวไปถึงทัพเรือภาคที่ 2 “เขาตังกวน” จุดชมวิวเมืองสงขลา มองเห็นเกาะหนู เกาะแมว แหลมสมิหลา ทัศนียภาพโดยรอบและทะเลสาบสงขลา

ความพิเศษของเมืองสงขลา คือ วิถีชีวิตชุมชน ผสมผสานกันระหว่างไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่ร่วมกัน เรียกว่า “พหุวัฒนธรรม”ที่แต่ละเชื้อชาติ แต่ละศาสนาอยู่ร่วมกันได้โดยไม่แปลกแยก เพราะฉะนั้นใครที่ได้มาเยือน ย่อมรู้สึกอุ่นใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ก้าวเข้ามา

ด้วยความที่ตัวเมืองสงขลามีวิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม อาหารการกินจึงมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งอาหารไทย จีน อิสลาม หนึ่งในนั้นคือย่านถนนนางงาม ที่ตั้งของ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ศาลเจ้าพ่อกวนอู และศาลเจ้าตั้งเซ้งอ๋อง ก็มีร้านอาหารมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “ร้านเกียดฟั่ง” ที่มีเมนูเด่นคือ “ข้าวสตู” เจ้าแรกต้นตำรับในสงขลา

ส่วนใครที่ชอบบรรยากาศริมน้ำ ก็มีร้านอาหารที่ฝั่งถนนนครนอก ได้แก่ “ร้านคาเฟ่เดอซี” คาเฟ่ติดทะเลสาบที่ชิคที่สุดในเมืองสงขลา มีบริการอาหารเช้าตั้งแต่ 7 โมงเช้าเป็นต้นไป หรือจะเป็น “ร้านมิสเตอร์ลีคอฟฟี่” ที่มีเมนูเครื่องดื่มและของว่าง และ “ร้านสตูดิโอ 55” ก็เป็นร้านที่ตกแต่งสไตล์อาร์ต เหมาะแก่การถ่ายรูป

อาหารเช้าริมทะเลสาบสงขลา ที่ร้านคาเฟ่เดอซี

สตรีทฟู้ดหน้าโรงเรียนวชิรานุกูล

ไก่ทอดร้านบังบ่าว (วชิรา)
ยามเย็น เมืองสงขลายังมีสตรีทฟูดให้เลือกรับประทานนับสิบร้าน บริเวณหน้าโรงเรียนวชิรานุกูล และตามแนวถนนทะเลหลวง ให้เลือกซื้อกลับไปรับประทานที่พัก มีทั้งอาหารอิสลาม อาหารทะเล เบอร์เกอร์ต่างๆ จากที่สังเกตเมนูที่นิยมต่อคิวซื้อ คือ ไก่ทอด ซึ่งเป็นไก่ทอดอิสลาม ข้าวเหนียวไก่ทอด และข้าวหมกไก่ 

ส่วนห้างสรรพสินค้า แม้จะไม่ได้จะไม่มีศูนย์การค้าใหญ่โตเมื่อเทียบกับหาดใหญ่ แต่ก็มีห้างที่ชื่อว่า “ลีวิวัฒน์” ที่มีสาขาในตัวเมืองสงขลามากกว่า 10 สาขา จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัด มีศูนย์การค้าที่ชื่อว่า “ลีทรัพย์สิน” ตั้งอยู่ในตลาดทรัพย์สินสงขลา ออกไปนอกเมืองถึงจะได้เห็นโมเดิร์นเทรดอย่างห้างโลตัส สาขาสงขลา

ตลอด 2 วัน 1 คืนในตัวเมืองสงขลา แม้มองผิวเผินจะคิดว่าจะไม่มีอะไร แต่เมื่อได้เห็นสิ่งที่ผ่านตาและรับรู้ ก็อาจเรียกได้ว่า เป็นเมืองที่มีเสน่ห์น่าค้นหาอีกเมืองหนึ่ง และในอนาคตหากผลักดันให้สงขลาเป็นเมืองมรดกโลกสำเร็จ ก็จะเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง รอต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น