xs
xsm
sm
md
lg

อันซีนล้านนา “5 บ่อน้ำทิพย์” แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นชื่อ บางแห่งใสสะอาดดื่มกินได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


อันซีนล้านนา “5 บ่อน้ำทิพย์” แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นชื่อ
พาไปรู้จักกับ 5 บ่อน้ำทิพย์ หรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งดินแดนล้านนา บางบ่อเป็นตาน้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใสสะอาดสามารถดื่มกินได้ ส่วนบางที่ก็มีตำนานเรื่องเล่าอันชวนทึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจของภาคเหนือ

อ้วกแทบพุ่ง! เป็นอาการของใครหลาย ๆ คน เมื่อได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ภายใน “โอ่งน้ำทิพย์” พระบิดา หรือ “บ่อน้ำทิพย์ ประกาศิตมโหสถ” ที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลหนักกว่าน้ำหมักป้าเช็งเสียอีก จนบางคนบอกว่านี่มันคือ "ถังหมักอุจจาระ" ชัด ๆ

อย่างไรก็ดีนี่เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนแห่งยุคสมัยที่แม้โลกเราจะเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่มีความเชื่อส่วนบุคคลในเรื่องราวเหล่านี้อยู่

สำหรับความเชื่อเรื่องแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือที่บางพื้นที่เรียกว่า “บ่อน้ำทิพย์” ในบ้านเรามีมาช้านานแล้ว

บ่อน้ำทิพย์พุทธอุทยาน เป็นแหล่งน้ำสะอาดตามธรรมชาติดื่มกินได้
แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์หลาย ๆ แห่งนั้นสามารถดื่มกินได้ เนื่องจากเป็นตาน้ำสะอาด หรือแหล่งน้ำบริสุทธิ์จากธรรมชาติ ที่หลายชุมชนอนุรักษ์ไว้ ควบคู่ไปกับการผูกโยงความตำนานความเชื่อและสรรพคุณความศักดิ์สิทธิ์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

และนี่ก็คือ 5 บ่อน้ำทิพย์ หรือ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ น่าสนใจในดินแดนล้านนาที่ได้มีการอนุรักษ์ไว้ให้เป้นสถานที่ท่องเที่ยวโดยบางแห่งเป็นแหล่งน้ำสะอาดใสเย็นที่สามารถดื่มกินได้ หรือล้างหน้าล้างตาก็สดชื่นเย็นฉ่ำสบายกาย

บ่อน้ำทิพย์ดอยช้าง จ.เชียงราย


“บ่อน้ำทิพย์ดอยช้าง” หรือ “บ่อน้ำทิพย์พุทธอุทยาน” ตั้งอยู่ใน “พุทธอุทยาน” บนดอยช้าง บ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร ถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์บนภูเขาสูงไม่กี่แห่งของเมืองไทย ซึ่งมีความสำคัญคือ เป็นน้ำ 1 ใน 9 แห่ง ของน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่นำไปประกอบพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เนื่องในวโรกาสครบรอบ 60 พระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ ๙

ชาวลีซอในพื้นที่ต่างให้ความเคารพศรัทธา และเรียกบ่อน้ำแห่งนี้ว่า “บ่อมังกร” โดยมีตำนานเรื่องเล่าว่า สัตว์ที่ถูกพรานยิงเมื่อหนีขึ้นมายังบริเวณบ่อน้ำแห่งนี้ก็จะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

บ่อน้ำทิพย์ดอยช้าง หรือ บ่อน้ำทิพย์พุทธอุทยาน
บ่อน้ำทิพย์พุทธอุทยาน เป็นแหล่งน้ำสะอาดตามธรรมชาติสามารถดื่มกินได้เพื่อความเป็นสิริมงคลและดับกระหาย แต่ห้ามนักท่องเที่ยวโยนเหรียญลงไปในบ่อ เพราะจะทำให้บ่อสกปรก

นอกจากบ่อน้ำทิพย์แล้วในพุทธอุทยานยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกหลากหลายให้กราบสักการะกัน อาทิ ศาลท่านแม่สร้อยสุวรรณพรรณรายณ์ ศาลท่านแม่ปทุมวดีศรีสุภางค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์บนก้อนหิน และท้าวเวสสุวรรณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาแรงแห่งยุค

บ่อน้ำทิพย์ วัดบ่อน้ำทิพย์ จ.เชียงราย


วัดบ่อน้ำทิพย์ ตั้งอยู่ที่บ้านแม่หะ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย วัดแห่งนี้มีไฮไลท์สำคัญคือ “บ่อน้ำทิพย์” อันเป็นที่มาของชื่อวัด

บ่อน้ำทิพย์ วัดบ่อน้ำทิพย์  (ภาพจาก : เทศบาลตำบลท่าข้าวเปลือก)
บ่อน้ำทิพย์ วัดบ่อน้ำทิพย์ ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญแห่งหนึ่งของตำบลท่าข้าวเปลือก บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มีข้อมูลการค้นพบระบุว่า

ในอดีตมีชาวบ้านที่นี่กลุ่มหนึ่งพากันไปเลื่อยไม้ พบบ่อน้ำมีน้ำชุ่มปกคลุมด้วยใบไม้ พวกเขาสังเกตเห็นนก สัตว์นานาชนิตลงมากินน้ำเป็นประจำ ด้วยความกระหายน้ำประกอบกับอากาศร้อน จึงพากันหาน้ำดื่ม และได้มาพบน้ำเล็ก ๆ ดังกล่าวปรากฎมีน้ำใสเย็นเป็นที่แปลกใจว่ากลางห้วยแล้วมีน้ำออก หลังจากนั้นก็ได้บอกกล่าวแก่คนทั่วไป

ต่อมาด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของบ่อน้ำทิพย์ที่ชาวบ้านกราบไหว้ บูชา และนำมาดื่มกินแล้วเกิดหายจากโรคภัยไข้เจ็บ จนเล่าลือกันไปจนเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป

ต่อมาจึงมีการสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็น “วัดบ่อน้ำทิพย์” ให้ผู้สนใจได้เดินทางมาท่องเที่ยวและพิสูจน์ในความศักดิ์สิทธิ์ของบ่อน้ำแห่งนี้กัน

บ่อน้ำทิพย์ วัดพุทธเอ้น จ.เชียงใหม่


บ่อน้ำทิพย์ วัดพุทธเอ้น
วัดพุทธเอ้น ตั้งอยู่ที่ ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม เป็นหนึ่งในวัดที่มีงานสถาปัตยกรรมล้านนาพื้นถิ่นอันสวยงามคลาสสิก ไม่ว่าจะเป็น โบสถ์กลางน้ำ วิหารไม้สักเก่าแก่ที่ภายในมีพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ให้กราบไหว้ พระเจ้าทันใจทำจากไม้จัน เจดีย์เก่าแก่

นอกจากนี้ภายในวัดยังมี “บ่อน้ำพุทธเอ้น” หรือ “บ่อน้ำทิพย์วัดพุทธเอ้น” ที่เป็นดังเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้

ตามตำนานเล่าขานกันว่า เมื่อสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดเวไนยสัตว์ผ่านมาบริเวณนี้ และได้หยุดพักผ่อนที่ดอนสกานต์ (ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด) และได้ทรงตรัสเรียกหาพระอานนท์ พระพุทธอุปัฏฐากให้หาน้ำมาเสวย เสร็จแล้วทรงบ้วนพระโอษฐ์ลง ณ บริเวณที่เป็นบ่อน้ำในปัจจุบัน

ต่อมาได้มีภิกษุสองรูปคือพระติวิทวังโส และพระชมภูวิทโยเดินธุดงค์ผ่านมาจึงได้ร่วมมือกับชาวบ้านละแวกนั้นสร้างวัดขึ้นตรงบริเวณที่มีน้ำผุดขึ้นมา อันเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำในปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำผุดใสสะอาดผุดไหลออกมาจากใต้พื้นดินอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าบ้านเมืองจะแล้งเพียงใดน้ำผุดที่นี่ก็ยังมีหลั่งไหลออกมาอยู่ไม่ขาดสาย

บ่อน้ำผุดแห่งนี้ชาวแม่แจ่มถือว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านหลายคนต่างพากันนำน้ำจากบ่อแห่งนี้ไปใช้เป็นน้ำดื่มน้ำกิน โดยในแต่ละวันชาวบ้านก็จะนำภาชนะใส่น้ำมารองน้ำในบ่อแห่งนี้กลับไปใช้ดื่มกินที่บ้านกันไม่ได้ขาด

บ่อน้ำทิพย์ วัดบุปผาราม จ.เชียงใหม่


บ่อน้ำทิพย์ วัดบุปผาราม
“บ่อน้ำทิพย์วัดบุปผาราม” ตั้งอยู่ในวัดบุปผาราม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์หนึ่งเดียวในเขตกำแพงเวียงเก่าเชียงใหม่

บ่อน้ำทิพย์วัดบุปผาราม เป็นหนึ่งในแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ใช้ในกิจกรรม “น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” โดยนำน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จำนวน 9 แหล่งน้ำที่สำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ มาทำพิธี “การหุงน้ำทิพย์” ซึ่งเป็นพิธีที่มีความสำคัญตามความเชื่อแบบล้านนาดั้งเดิม

ปัจจุบันการหุงน้ำทิพย์ มีขั้นตอนพิธีกรรมที่รื้อฟื้นตามความเชื่อและการปฏิบัติแบบโบราณ อาทิ การเจริญพระพุทธมนต์ทั้ง 7 ที่ใช้ในพิธีสำคัญของเมือง การจุดไฟจากดวงอาทิตย์ ใช้ก้อนเส้ารูปสัตว์มงคล ฟืนจากไม้มงคลต่าง ๆ เป็นต้น จากนั้นในช่วงค่ำก็จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งความเป็นสิริมงคล แจกจ่ายแก่ประชาชนที่สนใจเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี๋ใหม่เมือง

บ่อน้ำทิพย์ วัดสวนตาล จ.น่าน


บ่อน้ำทิพย์ วัดสวนตาล
“บ่อน้ำทิพย์วัดสวนตาล” หรือ “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดสวนตาล” ตั้งอยู่บริเวณลานหน้าอุโบสถวัดสวนตาล ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน

ในอดีตบ่อน้ำแห่งนี้เป็นตาน้ำผุดมาจากใต้ดิน มีเรื่องเล่าขานว่า ในสมัยพระเจ้าติกโลกราช เจ้านครเชียงใหม่ เมื่อครั้งยกทัพมาตีข้าศึกที่เมืองน่าน มีพระอาการประชวร จึงนำน้ำที่นี่มาดื่มและอาบ ทำให้ทรงหายจากพระอาการประชวร และโปรดให้ข้าราชบริพาร นำก้อนอิฐมาล้อมรอบตาน้ำ

นอกจากนี้ก็ยังมีการนำน้ำในบ่อ มาใช้ในการสร้าง “พระเจ้าทองทิพย์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่งดงามในวิหารของวัดสวนตาล โดยบ่อน้ำแห่งนี้อยู่ในตำแหน่งที่สายพระเนตรของพระเจ้าทองทิพย์ทอดถึง ราชสำนักเมืองน่านนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อนี้ไปใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และในพิธีสำคัญ ๆ ของแผ่นดินไทยอีกหลายครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น