xs
xsm
sm
md
lg

“สุพัฒนพงษ์” ตอบ “อัครเดช” ยอมนำกำไร ปตท.ช่วย ปชช.เดินหน้าลดค่ากลั่นจับมือ พณ.หามาตรการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.ส.ราชบุรี ปชป. กระทุ้ง “รมว.พลังงาน” กลางสภา ปมราคาน้ำมันแพง ด้าน “สุพัฒนพงษ์” แจงยอมนำกำไร ปตท. บางส่วนช่วยประชาชนได้ เดินหน้าปรับลดค่าการกลั่น พร้อมร่วมมือ ก.พาณิชย์ หามาตรการ


วันนี้ (23 มิ.ย.) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องนโยบายการดำเนินการชดเชยราคาน้ำมันให้กับประชาชน ผ่านการนำเงินส่วนกำไรของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไปช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนนั้นสามารถทำได้ผ่านการทำ CSR ตราบใดที่ไม่ต่ำกว่าต้นทุน เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายว่าด้วยการจำกัดคู่แข่งทางการค้า และเพิ่มเงินนำส่งเข้ารัฐมากขึ้น เช่น ปกติ ส่งให้รัฐปีละ 3 หมื่นล้านบาท เป็น 1.3 แสนล้านบาท เพื่อให้กระทรวงการคลังนำไปชดเชยและเยียยวยา รวมถึงช่วยเหลือประชาชน โดยก่อนหน้านี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรงงพลังงาน เคยชี้แจงว่า ทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย แต่จากการตรวจสอบของตนผ่านอนุกรรมาธิการรัฐวิสาหกิจฯ พบว่า สามารถทำได้ ดังนั้น ตนขอทราบว่าทำไมกระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายที่นำกำไรของ ปตท.​ชดเชยราคาน้ำมันประชาชนแบบถูกกฎหมาย

โดย นายสุพัฒนพงษ์ ชี้ว่า ข้อเสนอที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาผ่าน CSR นั้น ไม่ขัดข้อง ซึ่งที่ผ่านรัฐบาลร้องขอให้ ปตท. ช่วยเหลือหลายเรื่อง ทั้ง LPG NGV ซึ่งเชื่อว่าปีนี้จะรวมหมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรแสนล้านบาท ส่วนข้อเสนอให้ทำธุรกิจแบบไม่มีกำไร จะทำให้เงินส่งรัฐลดลง หากเป็นการตัดสินใจของ ปตท. ที่เปลี่ยนแปลงธุรกิจในสาระสำคัญ คือ ไม่หวังกำไรนั้นจะต้องประชุมผู้ถือหุ้นและตัดสินใจ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะสั่งหรือบอกไม่ได้ แม้จะบอกมีมาตรการ แต่ต้องตัดสินใจตามอำนาจกฎหมาย พ.ร.บ.บริษัทมหาชน และบริษัทตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น ขอให้อนุ กมธ. เชิญธุรกิจทุกธุรกิจมาหารือว่า ในยามที่ประชาชนเดือดร้อน เลิกทำธุรกิจหากำไร ทำธุรกิจไม่มุ่งหากำไรเลย ต้องตัดสินใจโดยผู้ถือหุ้น สั่งตรงไม่ได้

นายอัครเดช ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนไม่ได้ต้องการเอากำไรทั้งหมดของ ปตท.มาเยียวยาพี่น้องประชาชนแต่ให้แบ่งบางส่วนมาดูแลพี่น้องประชาชนในภาวะพี่น้องประชาชนกำลังยากลำบาก จากภาวะวิกฤตราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังไม่ต้องการให้ ปตท.ขาดทุนแต่ต้องการให้กำไรน้อยลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคและมาดูแลประชาชน เพราะ ปตท.คือรัฐวิสาหกิจด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น

นายสุพัฒนพงษ์ ยังชี้แจงด้วยว่า ส่วนที่เกี่ยวกับโรงกลั่นนั้น ตนขอแนะนำอนุ กมธ. ให้เชิญทุกโรงกลั่นเข้ามาพูดคุย ไม่ใช่เชิญเฉพาะ ปตท.เท่านั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน สำหรับเรื่องค่าการกลั่นกระทรวงพลังงานพยายามเจรจาโรงกลั่นอยู่ โดยได้รับความร่วมมือจากโรงกลั่น 6 แห่ง และเชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุป หากค่าการกลั่นยังสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานจะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์หามาตรการต่างๆ สร้างกติกาให้โรงกลั่นที่มีส่วนเกินของกำไร ลดราคาต่างๆต่อไป ถ้าจำเป็นต้องยกร่างกฎหมาย อาจต้องมาส่งถึงสภาแห่งนี้ คาดว่าในไตรมาส 3 จะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา
กำลังโหลดความคิดเห็น