xs
xsm
sm
md
lg

เรือลาดตระเวน ‘มอสควา’ ของรัสเซีย อาจจมลงก้นทะเลด้วย ‘ขีปนาวุธนอร์เวย์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เรือลาดตระเวน “มอสควา” ของรัสเซีย ในภาพซึ่งเผยแพร่กันทางโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่าถ่ายเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2022 ภายหลังจากเรือถูกยิงด้วยขีปนาวุธของฝ่ายยูเครน และก่อนที่มันจะจมลงในทะเลดำ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Moskva was possibly sunk by a Norwegian missile
By STEPHEN BRYEN
09/06/2022

ยูเครนอ้างว่า ขีปนาวุธ R-360 เนปจูน ของตน คืออาวุธที่ใช้สังหารเรือรบลำสำคัญระดับเรือธงกองเรือทะเลดำของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เคียฟอาจจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกปิดว่า แท้ที่จริงแล้ว พวกเขาใช้ขีปนาวุธ NSM เจเนอเรชันที่ 5 อันล้ำสมัยของนอร์เวย์

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2022 เรือรบ “มอสควา” (Moskva) ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธนำวิถี (guided-missile cruiser) ของรัสเซีย ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธลูกหนึ่งหรือหลายลูกไม่แน่ชัด จนเกิดไฟไหม้ขึ้น มีการสั่งอพยพลูกเรือบางส่วน และมีการใช้เรือลากจูง จากนั้นเรือมอสควาก็จมลงสู่ก้นทะเลขณะที่พระเพลิงซึ่งเผาผลาญเรือลุกลามเกินกว่าที่จะควบคุมได้ [1]

ทางด้านยูเครนอ้างว่า ตนสามารถน็อกเอาต์เรือมอสควาได้ ด้วยการยิงขีปนาวุธแบบ R-360 เนปจูน (R-360 Neptune) 2 ลูก [2] ซึ่งพุ่งเข้าสู่เป้าหมายอย่างประสบความสำเร็จ เพราะพวกลูกเรือของเรือลาดตระเวนรัสเซียลำนี้ถูก “หันเหความสนใจ” ให้ไปคอยติดตาม โดรน บายรัคตาร์ (Bayraktar) ลำหนึ่งหรือมากกว่านั้น เมื่อตอนที่การโจมตีเปิดฉากขึ้น [3]

การสูญเสียเรือรบลำนี้ มีบางคนบางฝ่ายมองว่า เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึง “ความบกพร่องละเลยชนิดต่อเนื่องกันอย่างเป็นระบบของฝ่ายรัสเซีย” [4]

มอสควา ถือเป็นเรือรบสมัยใหม่ลำหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วต่อขึ้นที่เมืองนิโคลาเยฟ (Nikolayev) ในยูเครนเมื่อปี 1979 ครั้งที่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เรือลาดตระเวนชั้น “สลาวา” (Slava class) ลำนี้ เข้าประจำการในกองทัพเรือสหภาพโซเวียตอยู่จนกระทั่งถึงปี 1990 และไม่ได้ถูกนำไปใช้งานเป็นเวลา 1 ทศวรรษ จากนั้นระบบต่างๆ ของเรือก็ได้รับการปรับปรุงยกระดับให้ทันสมัย และเรือรบลำนี้ก็ถูกนำเข้าประจำการอีกครั้งในปี 2000 ในฐานะเป็นเรือธงของกองเรือภาคทะเลดำ (Black Sea fleet) ของรัสเซีย

เรือลำนี้ติดตั้งพวกเรดาร์ที่มีความละเอียดสูงจำนวนหนึ่ง และมีระบบต่อสู้อากาศยานและต่อสู้ขีปนาวุธระดับก้าวหน้าล้ำยุค เป็นต้นว่า S-300F (SA-N-6) ซึ่งเป็นระบบต่อสู้อากาศยานและต่อสู้ขีปนาวุธระยะไกล [5] และ OSA (SA-N-4) ที่เป็นระบบต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ [6]

นอกจากนั้น มอสควายังมีอาวุธพวกปืนยิงเร็วหลายลำกล้องเตรียมไว้เพื่อเป็นอาวุธที่พึ่งสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่ามอสควาได้ปล่อยขีปนาวุธใดๆ หรือยิงอาวุธใดๆ เมื่อตอนที่มันถูกโจมตี

ในวันที่ 14 เมษายน มอสควากำลังปฏิบัติการในบริเวณห่างออกไปราว 50 ไมล์ (85 กิโลเมตร) จากเมืองเซวาสโตโปล (Sevastopol) ซึ่งเป็นท่าเรือต้นทาง (home port) ของเรือรบลำนี้ อากาศตอนนั้นอยู่ในสภาพย่ำแย่ และทะเลมีคลื่นมากในวันซึ่งจะกลายเป็นวันสุดท้ายที่ มอสควา ลอยลำอยู่เหนือผิวน้ำ

เวลาใกล้ๆ เคียงกับที่เรือลาดตระเวนรัสเซียลำนี้จมลงทะเล มีเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลแบบ พี-8 โพไซดอน (P-8 Poseidon) ของสหรัฐฯ ลำหนึ่ง [7] กำลังบินเตร็ดเตร่อยู่เหนือท้องฟ้าแถวๆ นั้น เครื่องบินลำนี้ออกปฏิบัติการจากฐานทัพซิกอเนลลา (Sigonella) บนเกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี ทั้งนี้ สถานีการบินทหารเรือซิกอเนลลา (Sigonella Naval Air station) แห่งนี้ดำเนินงานโดยกองทัพเรืออิตาลี แต่สหรัฐฯ ก็มีศูนย์นาวีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งอยู่ที่นั่น ซึ่งแสดงบทบาทสำคัญอยู่ในน่านน้ำแถบตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

มีเครื่องบินตรวจการณ์และเครื่องบินปฏิบัติการสงครามพิเศษหลายๆ แบบทีเดียวออกปฏิบัติงานจากซิกอเนลลา สำหรับ พี-8 ลำที่กล่าวถึงนี้ ขณะที่มันออกมาจากซิกอเนลลาในวันดังกล่าว อุปกรณ์ทรานสปอนเดอร์ (transponder) ของเครื่องบินถูกเปิดใช้งาน ซึ่งหมายความว่า Flight Radar 24 บริการเฝ้าติดตามเที่ยวบินทั่วโลก [8] สามารถที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของมันได้

อย่างไรก็ตาม ณ จุดใดจุดหนึ่งบริเวณน่านฟ้าเหนือโรมาเนีย และทะเลดำ พี-8 ลำนี้ได้ปิดเครื่องทรานสปอนเดอร์ของตน ทำให้สาธารณชนไม่ทราบตำแหน่งแห่งที่ของเครื่องบินลำนี้เป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยที่มีรายงานระบุว่า ภารกิจของ พี-8 ลำนี้ คือการเฝ้าติดตามเรือมอสควา [9]

เครื่องบิน P-8A โพไซดอน (P-8A Poseidon) เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลและทำสงครามเรือดำน้ำ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ถ่ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2019 ขณะบินช่วงสุดท้ายเพื่อไปยังฐานทัพอากาศคาเดนา บนเกาะโอกินาวา ของญี่ปุ่น (ภาพจากวิกิพีเดีย)
พวกผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ระบบต่างๆ บนเรือมอสควา มีศักยภาพที่จะเฝ้าติดตามและสกัดขัดขวางขีปนาวุธเนปจูนของฝ่ายยูเครน ทั้งนี้ R-360 เนปจูน [10] เป็นอาวุธที่ลอกเลียนขีปนาวุธร่อนต่อสู้เรือ (anti-ship cruise missile) แบบเคเอช-35 อูราน (Kh-35 Uran) ของรัสเซีย [11] โดยที่ยูเครนดูเหมือนจะขยายพิสัยทำการของขีปนาวุธของตนให้ได้ระยะไกลขึ้น รวมทั้งปรับปรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

ระบบขีปนาวุธร่อนชนิดนี้มีพิสัยการปฏิบัติการ 190 ไมล์ (300 กิโลเมตร) แล้วยังได้รับการออกแบบให้สามารถยิงจากบนบกในระยะห่างจากฝั่งได้ไกลถึง 25 ไมล์ (40 กิโลเมตร) ทำให้ซุกซ่อนอำพรางสถานที่ยิงขีปนาวุธนี้ได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น

Kh-35 ได้รับการปรับปรุงยกระดับในปี 2015 และมีพิสัยทำการไกลพอๆ กับเนปจูน ขีปนาวุธร่อนทั้ง 2 แบบนี้ต่างได้พลังงานจากเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน (turbofan) และมีศักยภาพที่จะทำความเร็วได้จนถึงระดับมัค-1 (Mach-1) นั่นคือ 761 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 1,225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งเนปจูน และ Kh-35 ใช้ active radar homing ในขีปนาวุธเป็นตัวค้นหาและทำลายเป้าหมายต่างๆ ของมัน แต่ระบบนำวิถี active radar homing มีจุดอ่อนอยู่ตรงที่พวกเรือซึ่งประณีตซับซ้อนอย่างเช่นเรือมอสควา สามารถที่จะก่อกวนเรดาร์ของขีปนาวุธ และทำลายมันทิ้ง โดยใช้ active radar ของขีปนาวุธนั่นเอง เป็นตัวนำทางให้ขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานเข้าโจมตี

ถ้าหากอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้ว มอสความีศักยภาพอย่างสมบูรณ์แบบที่จะค้นหาตรวจจับขีปนาวุธเนปจูนและตอบโต้มันได้ แล้วเนื่องจากอากาศในวันดังกล่าวย่ำแย่ ถ้ามีการใช้พวกโดรน บายรัคตาร์ เป็นตัวชี้เป้าเพื่อกำหนดตำแหน่งของมอสควาแล้ว บายรัคตาร์เหล่านี้ก็ไม่น่าที่จะกระทำได้สำเร็จ

โดรน บายรัคตาร์ ซึ่งผลิตในตุรกีนั้นติดตั้งอุปกรณ์ electro-optical ชั้นดี รวมทั้งตัวเซ็นเซอร์ electro-optical IR sensor ที่ผลิตโดยบริษัทเวสแคม (Wescam) ในแคนาดา ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งในเครือของแอล-3 (L-3) บริษัทด้านกลาโหมสัญชาติสหรัฐฯ กระนั้นก็ตาม บายรัคตาร์จำเป็นที่จะต้องเข้าไปใกล้เรือมอสความากๆ ทีเดียว จึงจะสามารถเก็บภาพและข้อมูลข่าวสารด้านตำแหน่งที่ตั้งได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแก่การใช้งานได้สำเร็จ

แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ว่า โดรนบายรัคตาร์ที่ใช้งานกันอยู่ในยูเครน ได้รับการบูรณาการเข้ากับระบบอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ในสงครามนากอร์โน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh war) ซึ่งอาร์เซอร์ไบจาน สู้รบขัดแย้งกับอาร์มาเนีย มาตั้งแต่กลางปี 2021 นั้น ดูเหมือนว่า บายรัคตาร์ที่ฝ่ายอาร์เซอร์ไบจานใช้อยู่น่าจะมีการบูรณาการเข้ากับพวกโดรนที่มีความประณีตซับซ้อนของอิสราเอล เพื่อปรับปรุงยกระดับเรื่องการชี้เป้าหมายและกำหนดตำแหน่งที่ตั้งของเป้าหมาย

เนื่องจากโดรนบายรัคตาร์ถูกนำเข้ามาใช้ในภายหลังสงครามในยูเครนเริ่มขึ้นมาแล้ว ดังนั้นกระทั่งถ้าหากฝ่ายยูเครนมีความปรารถนาที่จะบูรณาการโดรนเหล่านี้เข้ากับระบบต่อสู้อากาศยานของตน ก็น่าจะไม่มีเวลาเพียงพอให้ทำเช่นนี้ได้อยู่ดี

บายรัคตาร์ ทีบี2 (Bayraktar TB2) โดรนทหารที่ผลิตโดยตุรกี สามารถพิสูจน์ตัวเองว่ามีประสิทธิภาพน่าประทับใจทั้งในซีเรีย, นากอร์โน-คาราบัค, และเวลานี้คือที่ยูเครน (ภาพจากวิกิพีเดีย)
ฝ่ายรัสเซียไม่เคยรายงานว่ามีโดรนบายรัคตาร์ปรากฏตัวอยู่ใกล้ๆ เรือมอสควาในตอนนั้น และถ้าหากมีบายรัคตาร์อยู่จริงๆ ทว่าอยู่ไกลออกไปมาก โดรนเหล่านี้จะไม่สามารถแสดงบทบาทใดๆ ในการระบุตำแหน่ง และในการจมเรือลาดตระเวนรัสเซียลำนี้ในท้ายที่สุดอยู่ดี

ยูเครนอาจจะมีทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการเฝ้าติดตามเรดาร์ของมอสควาจากบนบก ทว่ามีความเป็นไปได้มากที่พวกเรดาร์ของเรือลำนี้กำลังทำงานในโหมด passive จึงทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถตรวจจับสัญญาณเรดาร์ของมันได้

ในทางตรงกันข้าม เครื่องบินตรวจการณ์ พี-8 ลำที่พูดถึงข้างต้น สามารถที่จะตรวจจับค้นหาและติดตามเรือมอสควาได้ รวมทั้งมีความสามารถที่จะจัดหาจัดส่งข้อมูลข่าวสารซึ่งมีความแม่นยำสูงมาก ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บอกว่า ตนไม่ได้ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของเรือมอสควาแก่ทางยูเครน [12]

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องชัดเจนว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังติดตามเรือลาดตระเวนลำนี้ตลอดจนเรือรบลำอื่นๆ ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในทะเลดำอย่างใกล้ชิด

กระทั่งถ้าหากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีการส่งต่อข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเป้าหมายโจมตีออกไปภายนอกจริงๆ ทางกระทรวงก็ย่อมจะไม่กระโตกกระตากป่าวประกาศออกมาอย่างโจงแจ้ง รวมทั้งคาดหมายได้อย่างแน่นอนว่าจะต้องปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้กระทำเช่นนั้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าในทางกายภาพกับมอสโก

ขณะที่ขีปนาวุธเนปจูน อาจจะถูกเรือมอสโกเฝ้าติดตามได้ มันก็มีความเป็นไปได้ที่อาจมีการใช้ขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบอื่นๆ ซึ่งสามารถหลบหลีกการตรวจสอบค้นหาของฝ่ายรัสเซียได้ และยิงถูกเรือรบลำนี้

ในสื่อมวลชนของรัสเซียเวลานี้มีการถกเถียงคาดเดาโต้ตอบกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยตัวการที่ถูกสงสัยมากที่สุด ได้แก่ ขีปนาวุธรุ่นที่ 5 (fifth-generation missile) ที่ล้ำสมัยมากๆ ซึ่งพัฒนาโดยคองสเบิร์ก (Kongsberg) บริษัทของนอร์เวย์ และใช้ชื่อว่า “Naval Strike Missile” หรือ NSM [13] ซึ่งเป็นขีปนาวุธของนอร์เวย์รุ่นถัดมาจากขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบ “เพนกวิน” (Penguin anti-ship missile) [14] ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

ขีปนาวุธนี้สามารถปฏิบัติการจากเรือรบขนาดค่อนข้างเล็ก หรือกระทั่งปฏิบัติการจากบริเวณชายฝั่ง ทางฝ่ายรัสเซียนั้นแทนที่จะเรียกชื่ออาวุธนี้ว่า Naval Strike Missile ก็กลับเรียกขานว่าเป็น “ขีปนาวุธเทคโนโลยีสเตลธ์ของนอร์เวย์” (Norwegian Stealth Missile)

มันสามารถที่จะยิงจากเรือรบขนาดค่อนข้างเล็งหรือจากชายฝั่ง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แทนที่จะเรียกชื่อขีปนาวุธชนิดนี้ว่า Naval Strike Missile โดยที่ฝ่ายรัสเซียนิยมอ้างอิงถึงมันโดยเรียกว่า Norwegian Stealth Missile ในเรื่องนี้ พวกเขาใช้ชื่อได้อย่างถูกต้องด้วยเหตุผลหลายประการทีเดียว [15]

NSM ถูกออกแบบมาให้ถูกตรวจสอบค้นหาและสกัดขัดขวางได้ยากลำบากอย่างยิ่ง เป็นต้นว่า ในทางกายภาพ ขีปนาวุธชนิดนี้ทำจากวัสดุเชิงประกอบ (composites) แทนที่จะทำจากโลหะ ทำให้ขีปนาวุธที่มีความยาว 12 ฟุต (3.66 เมตร) นี้ มีพื้นที่ตัดขวางขนาดเล็กมากๆ ที่เรดาร์จะตรวจจับได้

ขีปนาวุธชนิดนี้ยังสามารถบินไปในระยะใกล้ๆ กับพื้นทะเล หรือที่เรียกกันว่า sea skimmer ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พวกเรดาร์ของเรือมีความยากลำบากในการจำแหนกแยกแยะวัตถุต่างๆ เนื่องจากปัญหาสัญญาณสะท้อนของเรดาร์ (radar clutter) ขีปนาวุธนี้ยังไม่ใช้ active radar แต่หันไปใช้ high-resolution passive infrared เป็นตัวเซ็นเซอร์หลักของมัน

มันจะถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้ที่พวกตัวเซ็นเซอร์ภายในขีปนาวุธก่อนแล้ว เพื่อให้รู้ว่าเป้าหมายที่ต้องการให้มันทำลายนั้น “มีลักษณะอย่างไร” ดังนั้นในทันทีที่มันได้ระยะพิกัด มันก็สามารถที่จะค้นหาเป้าหมายด้วยตัวมันเอง ถ้าหากมีความจำเป็น ประการสุดท้าย ขีปนาวุธชนิดนี้ยังสามารถเคลื่อนไหวเพื่อการหลบหลีกได้บางอย่างบางประการ ในช่วงปลายของการเดินทางของมัน ทำให้เป็นเรื่องยากเย็นที่ฝ่ายข้าศึกจะสามารติดตามและทำลายมันได้ทันท่วงที

เรือสู้รบชายฝั่ง (littoral combat ship) ลำหนึ่งของสหรัฐฯ เตรียมยิงขีปนาวุธ Naval Strike Missile (NSM) ระหว่างการซ้อมรบทางนาวี (ภาพเผยแพร่โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ)
NSM ยิงออกมาพร้อมกับเร่งความเร็วโดยใช้จรวด แล้วจากนั้นก็ใช้เครื่องยนต์กังหัน ซึ่งคล้ายๆ กันมากกับเนปจูน และ Kh-35 ถ้าหากมีการใช้ขีปนาวุธ NSM โจมตีเล่นงานเรือมอสควาแล้ว ก็มีโอกาสสูงมากที่มันจะไม่ถูกตรวจจับค้นเจอ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ถูกตรวจจับได้แต่เนิ่นๆ จนกระทั่งมีเวลาเพียงพอสำหรับการตอบโต้ใดๆ

สหรัฐฯ จัดซื้อ NSM เอาไว้จำนวนหนึ่ง และนำไปประกอบติดตั้งในเรือสู้รบชายฝั่ง (Littoral Combat Ship) ของตนบางลำ นอกจากนั้นขีปนาวุธชนิดนี้ยังถูกจัดส่งไปยังพวกผู้ลูกค้าในยุโรปบางราย โดยรายที่โดดเด่นที่สุดก็คือโปแลนด์

ด้วยเหตุนี้ NSM จึงอาจจะถูกนำไปติดตั้งในยูเครน โดยที่ทั้งนอร์เวย์ สหรัฐฯ และโปแลนด์ ต่างมีศักยภาพที่จะเป็นผู้จัดหาจัดส่งระบบอาวุธนี้ให้แก่เคียฟ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปี 2020 ยูเครนเคยประกาศว่ากำลังจัดซื้อเรือวีต้า (Vita boat) จำนวน 8 ลำจากสหราชอาณาจักร [16] (เป็นเรือ Barzan type) มีความเป็นไปได้มากทีเดียวว่าเรือเหล่านี้บางลำน่าจะติดตั้งขีปนาวุธ NSM

แน่นอนล่ะ ความเป็นไปได้ที่ขีปนาวุธ NSM จะตกอยู่ในมือฝ่ายยูเครน และมีการใช้อาวุธนี้จากดินแดนยูเครน ยังคงเป็นเพียงแค่การคาดเดากันเท่านั้น ฝ่ายรัสเซียกำลังพยายามมองหาว่ามีเครื่องยิงขีปนาวุธ NSM อยู่ภายในและรอบๆ เมืองโอเดสซา (Odessa) หรือไม่ แต่ยังไม่มีรายงานว่าค้นพบเจอะเจอ

และขณะที่อำนาจการยิงที่อยู่เบื้องหลังการจมลงก้นทะเลของเรือลาดตระเวนมอสควา ยังคงไม่เป็นที่ทราบกัน แต่มรณกรรมของเรือรบลำนี้ก็น่าที่จะเป็นการส่งสัญญาณออกไปในวงกว้างขวางว่า การทำสงครามต่อสู้เรือในรูปแบบใหม่ๆ อาจจะขยายตัวออกไปไกลเกินกว่าสงครามยูเครนเสียอีก

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเรื่องยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคง เขาเคยดำรงตำแหน่งระดับอาวุโสในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เคยเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมระหว่างปี 1981-1988) ในรัฐสภาสหรัฐฯ ตลอดจนเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทด้านกลาโหมและนานาชาติขนาดใหญ่ ปัจจุบันเขาเขียนเรื่องให้แก่เอเชียไทมส์, American Thinker, Jewish Policy Center, ตลอดจนหนังสือพิมพ์และนิตยสารอื่นๆ จำนวนมาก เขาเขียนหนังสือในหัวข้อความมั่นคงที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วรวม 4 เล่ม

เชิงอรรถ
[1] https://www.navalnews.com/naval-news/2022/04/loss-of-russian-cruiser-moskva-what-we-know-so-far/
[2] https://special-ops.org/r-360-neptune/
[3] https://www.forbes.com/sites/davidhambling/2022/04/14/ukraines-bayraktar-drones-helped-destroy-russian-flagship/?sh=ac831363a7aa
[4] https://www.navalnews.com/naval-news/2022/04/analysis-chain-of-negligence-caused-the-loss-of-the-moskva-cruiser/
[5] https://www.weaponsystems.net/system/664-S-300F%20Fort
[6] https://weaponsystems.net/system/464-M-4%20Osa-M
[7] https://www.military.com/equipment/p-8a-poseidon
[8] https://www.flightradar24.com/
[9] https://theaviationgeekclub.com/us-navy-p-8-poseidon-maritime-patrol-aircraft-reportedly-assisted-ukrainians-in-hitting-russian-navys-black-sea-flagship-rts-moskva-121/#:~:text=The%20US%20Navy%20reportedly%20used%20one%20of%20its,Russian%20Navy%E2%80%99s%20Black%20Sea%20flagship%20RTS%20Moskva%20(121).
[10] https://special-ops.org/r-360-neptune/
[11] https://www.weaponsystems.net/system/1188-Kh-35%20Uran
[12] https://www.themoscowtimes.com/2022/05/06/pentagon-denies-helping-ukraine-sink-moskva-a77600
[13] https://www.kongsberg.com/kda/what-we-do/defence-and-security/missile-systems/nsm-naval-strike-missile-nsm
[14] https://www.naval-technology.com/projects/penguin-anti-ship-missile/
[15] https://navalpost.com/naval-strike-missile/
[16] https://defence-ua.com/news/komanduvannja_vmsu_poperedno_pogodilos_ozbrojiti_raketni_kateri_norvezkoju_pkr_nsm_zamist_neptuna-2217.html

(หมายเหตุ: ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม สตีเฟน ไบรเอน ร่วมกับโชชานา ไบรเอน ได้เขียนบทวิเคราะห์การจมเรือรบ “มอสควา” เอาไว้ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า The mystery of the Moskva and Makarov ดูได้ที่ https://asiatimes.com/2022/05/the-mystery-of-the-moskva-and-makarov/ หรือที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้ว คือเรื่อง เรือรบรัสเซีย 2 ลำ ‘มอสควา’ และ ‘มาคารอฟ’ ถูกยิงจมอย่างเป็นปริศนา เครื่องบินนาวีสหรัฐฯ มีเอี่ยว? ดูได้ที่ https://mgronline.com/around/detail/9650000043745 การเขียนเรื่องนี้ขึ้นใหม่อีกครั้งของ สตีเฟน ไบรเอน คราวนี้ เห็นได้ชัดว่ามีข้อมูลใหม่ๆ จำนวนมากเพิ่มเติมเข้ามา อนึ่งเรื่องเรือฟริเกต มาคารอฟ ซึ่งข้อเขียนชิ้นแรกอ้างอิงข้อมูลที่ปรากฏออกมาในเวลานั้น ว่าถูกยูเครนโจมตีจนอับปางเช่นกันนั้น เวลาต่อมามีข้อมูลปรากฏชัดเจนแล้วว่า เรือรบรัสเซียลำนี้ไม่ได้ถูกโจมตีแต่อย่างใด ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Russian_frigate_Admiral_Makarov -ผู้แปล)
กำลังโหลดความคิดเห็น