xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนา “ดอกเบี้ยขาขึ้น น้ำมันแพง” แต่ทำไมเสถียรภภาพ “การเงิน-การคลัง” พุ่งระดับ BBB+

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงเวลา “ดอกเบี้ยขาขึ้น” มาถึงแล้ว รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สองนัดในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาส่งสัญญาณชัดจ่อขึ้นดอกเบี้ยนโยบายคุมเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานและลากยาวเกินคาด การขึ้นดอกเบี้ยหมายถึงต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจและผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ใครคิดจะกู้ซื้อบ้านซื้อรถก็ต้องแบกดอกเบี้ยแพง โถมทับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นผลพวงจากราคาพลังงานแพง 

แม้ว่าจะมีผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่นี่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่จะคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาทั่วทั้งโลก อย่างเช่นธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดที่เพิ่งประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นสู่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสูงที่สุดในรอบ 28 ปี เนื่องจากเงินเฟ้อผู้บริโภคเดือน พ.ค. สูงโด่งอยู่ที่ 8.6% โดยเฟดยังจะปรับขึ้นต่อเนื่องทั้งปีเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 และชะลอตัวสู่ระดับ 3.4% ในปี 2567 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5% โดย เฟดคาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และจะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% และ 2.2% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

บทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center : EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า การดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้น จะส่งผลให้ภาวะการเงินโลกตึงตัวขึ้น กล่าวคือ ต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้น โดยต้นทุนการกู้ยืมของทั้งภาคธุรกิจ ผู้บริโภค รวมถึงอัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้อุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง เงินทุนเคลื่อนย้ายจะผันผวนมีแนวโน้มไหลออกจากเศรษฐกิจกำลังพัฒนา และผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับลดลง

ส่วนจะส่งผลสะเทือนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างไร หรือไม่นั้น ขณะนี้  นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) วิเคราะห์ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพื่อวางแผนต้องออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติของไทยก็คงเกิดขึ้นในเร็ววัน แม้ว่าก่อนหน้านี้  “นายกฯลุง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะขอแตะเบรกไว้ก็ตาม ซึ่งล่าสุด ธปท.ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2565 วันที่ 2 มิ.ย. 2565 และ 8 มิ.ย. 2565 ที่ กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน จึงควรเริ่มทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่  “ขุนคลัง” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือกับแบงก์ชาติในภาพรวมของการดูแลอัตราเงินเฟ้อรวมถึงการส่งผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่า เรื่องดอกเบี้ยเป็นเรื่องต้นทุนของภาคเอกชน ขึ้นอยู่กับธปท.จะไปคุยกับธนาคารพาณิชย์ว่าจะสามารถทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่ในกรณีที่ต้องปรับขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระของเอกชนมาก ซึ่งแบงก์พาณิชย์เองก็ต้องดูในเรื่องของสภาพคล่องที่ต้องกระจายไปยังเอกชนให้มาก

 นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ 0.75% ถือว่าเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด ดังนั้นโอกาสที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้จึงมีความเป็นไปได้ เพราะไทยเจอแรงกดดันเงินเฟ้อเช่นเดียวกับเฟด คาดว่าระยะถัดไปมีโอกาสที่จะเห็นเงินเฟ้อแตะระดับ 10% หากกนง.ไม่ทำอะไร ถ้าหากเงินเฟ้อหลุดกรอบไปมากอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า และต้องปรับขึ้นค่าจ้างตามเงินเฟ้อ หากแบงก์ชาติไม่ทำอะไรอันตราย และเมื่อขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องดูแลกลุ่มเปราะบางเพราะปัจจุบันเจอผลกระทบจากโควิด-19 อยู่แล้ว

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ว่า แม้มติ กนง. ล่าสุดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อยู่ที่ 0.5% แต่จากอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ที่ยังอยู่ระดับสูง และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจะกลายเป็นปัจจัยที่กดดันให้ กนง.อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ฝ่ายวิจัยฯมองว่า การประชุมทั้ง 3 ครั้งที่เหลือในปีนี้ คาดว่าขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.25% รวมทั้งหมด 0.75% เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

 กล่าวสรุปโดยรวม เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อยังไงก็ต้องทำ และแน่นอนผลกระทบย่อมตามมาเป็นลูกโซ่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้การลงทุนของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ มีต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายเพิ่ม ไม่งั้นก็ชะลอหรือลดการจับจ่ายใช้สอยตามกำลังซื้อ ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านซื้อรถก็สูงขึ้นตาม ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นดัชนีปรับตัวลดลง ผันผวนมากขึ้น ไม่นับคริปโตเคอเรนซีที่เวลานี้ตลาดแตกราคาร่วงดิ่งนรก 

สำหรับธุรกิจที่ส่งสัญญาณรับดอกเบี้ยขาขึ้นตอนนี้ก็คือ  ธุรกิจลิสซิ่งหรือเช่าซื้อรถยนต์ โดยต้น เดือน ก.ค.นี้ ผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นประมาณ 0.25% เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจากต้นทุนการเงินที่ปรับขึ้นแล้วตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยจะขึ้นในส่วนของรถยนต์ใหม่ก่อน

 นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ให้สัมภาษณ์สื่อว่าปัจจุบันดอกเบี้ยรถใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 1.99% ต่อปี หรือคิดเป็นลดต้นลดดอกประมาณกว่า 4% เมื่อเทียบต้นทุนการเงินทะลุ 3% โดยการปรับดอกเบี้ยน่าจะสอดคล้องกับ ธปท.อยู่ที่ 0.25% และคาดว่าปลายปีนี้น่าจะขยับเพิ่มอีกรอบ ส่วนรถใช้แล้วหรือรถมือสอง อาจจะต้องดูทิศทางตลาดและคู่แข่งเพราะต้นทุนรถใช้แล้วยังสามารถบริหารจัดการได้

ส่วน  ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ก็เตรียมพร้อมรับแรงสั่นสะเทือนจากดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นกัน โดย  นายวิชัย วิรัตกพันธ์  ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ประเมินว่า ตอนนี้เราเจอแรงกดดันที่เลี่ยงไม่ได้คือปัญหาราคาเชื้อเพลิงทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงแล้ว เรากลัวว่าเงินเฟ้อในไทยปีนี้น่าจะเกินกรอบที่มีการประกาศไว้ หากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ก็จะเป็นแรงฉุดโมเมนตั้มการฟื้นตัวของภาพรวมของประเทศไทยและภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ต้องสะดุด และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งจะมีผลต่อดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ที่มีตัวแปรเกี่ยวกับ ยอดโอนกรรมสิทธิ์ อัตราดูดซับและยอดขายที่อาจจะหายไปประมาณร้อยละ 5-6 และสิ่งที่เราห่วงคือจะกระทบกำลังซื้อ ทำให้ความสามารถในการมีที่อยู่อาศัยลดลง วงเงินสินเชื่อที่จะได้รับอนุมัติจะปรับตามปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ดอกเบี้ยก็เข้าสู่เทรนด์ขาขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนและมีแนวโน้มปรับขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนต์ปรับเพิ่ม เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนดีเซลก็ปรับขึ้นจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดีเซลตึงตัวจากการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย ประกอบกับสต๊อกน้ำมันดีเซลทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำ

 พิษน้ำมันแพงและลากยาวทำเอากิจการรถโดยสารสาธารณะทำท่าจะไปไม่รอด จำต้องหยุดวิ่งและลดจำนวนเที่ยวเดินรถลง ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยที่ต้องอาศัยการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน โดยสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย แถลงเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา หลังประชุมร่วมผู้ประกอบการขนส่ง และบริษัทรถร่วมทั่วประเทว่ามี 27 บริษัท จะลดเที่ยวลง 80% หรือจำนวน 143 เส้นทาง เริ่มวันที่ 1 ก.ค.นี้ เนื่องจากน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น พร้อมเรียกร้องขอให้รัฐบาลปรับค่าโดยสารเพิ่มเป็น 59 สตางค์ต่อกิโลเมตร จากที่เก็บอยู่ที่ 53 บาทต่อกิโลเมตร เพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร

นอกจากนั้น ในวันถัดมายังมีอีก 2 บริษัทที่ขอลดจำนวนเที่ยววิ่งลง คือบริษัท ลิกไนท์ทัวร์ จำกัด จำนวน 8 เส้นทาง บริษัท นครศรีร่มเย็นทัวร์ จำนวน 1 เส้นทาง 

นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ระบุว่า การลดเที่ยววิ่งลง 80% ในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้เดินทาง แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนน้ำมันต่อไปได้ เนื่องจากอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันเป็นอัตราที่ใช้เมื่อปี 2562 ซึ่งค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ลิตรละ 27 บาท แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับขึ้นมาอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากยังไม่นำอัตราโครงสร้างค่าโดยสารตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เมื่อปี 2548 มาใช้ ผู้ประกอบการคงต้องประกาศหยุดเดินรถในที่สุด

สำหรับ 27 บริษัท ที่ประกาศลดเที่ยววิ่งลง 143 เส้นทางไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.บริษัท ไทยสงวนทัวร์ จำกัด 3 เส้นทาง 2.บริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด 32 เส้นทาง 3.บริษัท กิตติสุนทร จำกัด 5 เส้นทาง 4.บริษัท จักรพงษ์ทรานสปอร์ต จำกัด 2 เส้นทาง 5.บริษัท ลาดหลุมแก้วขนส่ง 2 เส้นทาง 6.บริษัท ชินวรเดินรถขนส่ง 1 เส้นทาง

7.บริษัท 407 พัฒนา จำกัด 9 เส้นทาง 8.บริษัท ปิยะรุ่งเรืองทัวร์ จำกัด 5 เส้นทาง 9.บริษัท ส.วิริยะทรานสปอร์ต จำกัด 2 เส้นทาง 10.บริษัท ไทยสงวนทัวร์ จำกัด 3 เส้นทาง 11.บริษัท ชัยนาททัวร์ จำกัด 2 เส้นทาง 12.บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด 16 เส้นทาง 13.บริษัท ปักธงชัยร่วมใจเดินรถ จำกัด 2 เส้นทาง 14.บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด 4 เส้นทาง 15.บริษัท แอร์โคราชพัฒนา จำกัด 1 เส้นทาง 16.บริษัท นครชัย 21 จำกัด 1 เส้นทาง

17.บริษัท วิศวกรเสนา จำกัด 3 เส้นทาง 18.บริษัท วัชรินทร์ทัวร์ จำกัด 1 เส้นทาง 19.บริษัท นครชัยขนส่ง จำกัด 5 เส้นทาง 20.บริษัท ราชสีห์ทัวร์ จำกัด 1 เส้นทาง 21.บริษัท โชคชัยเดินรถ จำกัด 1 เส้นทาง 22.บริษัท นครอรัญ จำกัด 1 เส้นทาง 23.บริษัท ครบุรี เดินรถ จำกัด 1 เส้นทาง 24.ราชสีมา เดินรถ จำกัด 1 เส้นทาง25.โพนทวีชัย จำกัด 5 เส้นทาง 26.บริษัท เทพอู่ทองขนส่ง จำกัด 5 เส้นทาง และ 27.บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด 29 เส้นทาง




ข้อเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยบรรเทาปัญหาค่าพลังงานแพงซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนั้น รัฐบาลตอบรับที่จะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 21 มิ.ย. ได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพรอบใหม่เป็นเวลา 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย. 2565) จากผลกระทบน้ำมันแพง

เช่น ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และให้สิทธิ์ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน ซื้อก๊าซ ราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัมเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 16 มิถุนายน - 15 กันยายน 2565, ขายปลีก LPG อยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม และผู้ถือบัตรคนจน ได้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตร เพิ่มเงินช่วยเหลือซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาทต่อเดือน และช่วยค่าน้ำมัน 250 บาทต่อเดือน ให้กับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียน, คงค่าราคาตลาดน้ำมันดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ส่วนดึงกำไรจากโรงกลั่นน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมัน ยังอยู่ระหว่างการเจรจาต้าอวยว่าโรงกลั่นจะยินดีช่วยกี่มากน้อย

การแก้ไขปัญหาราคาพลังงานแพงรอบนี้ แม้จะมีมาตรการต่างๆ มากมายออกมาก็ตาม แต่ที่ฮือฮาและกลายเป็นกระแสดรามาในโลกโซเซียลเห็นจะไม่มีเรื่องไหนเกินคำเชิญชวนของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่ให้ประชาชนหันมาใช้  “เตาซุปเปอร์อั้งโล่” 

 อันที่จริงกรมฯมีเจตนาชวนกลุ่มที่ถ่านเป็นเชื้อเพลิงอยู่แล้วหันมาเปลี่ยนใช้เตานี้แทนเพราะจุดไฟติดเร็วขึ้น เก็บความร้อนได้นาน ประหยัดฟืนและถ่านได้มากกว่าเตาอั้งโล่ธรรมดาเกือบครึ่งต่อครึ่ง หาใช่การชวนให้คนที่ใช้เตาแก๊สหรือไฟฟ้าอยู่แล้วเปลี่ยนมาใช้เตาซุปเปอร์อั้งโล่ตามที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบย้อนยุคซ้ำยังจะเพิ่มมลพิษทางอากาศอีกด้วย 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ราคาพลังงานยังผันผวนและอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น เช่นเดียวกันกับปัญหาเงินเฟ้อ แต่  นายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กลับเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 2.5-3.5% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ 3% หลังหารือกับหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธปท. กระทรวงการคลัง ซึ่งทุกหน่วยเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3% อย่างแน่นอน เพราะถึงจะมีปัจจัยกระทบทั้งเรื่องเงินเฟ้อและราคาพลังงาน แต่มีหลายเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี ทั้งการส่งออก และการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ โดยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยแล้วประมาณ 2 ล้านคน คาดว่าปีนี้จะมีเข้ามาอีกประมาณ 7-10 ล้านคน

ส่วนในปีหน้า 2566 สศช.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7% ซึ่งถือว่าเป็นการคาดการณ์ที่ต่ำกว่าสำนักเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เฉลี่ย 4.3-4.5% โดยบางสำนักมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่า 5%

 สัญญาณการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มด้านบวกตามคาดการณ์ของสภาพัฒน์ สอดรับกับข่าวดีที่ “นายกฯลุง” เป็นปลื้มก็คือ ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันฟิทช์ เรตติ้งส์ (Fitch) ซึ่งให้ความเชื่อมั่นในเสถียรภาพด้านการเงิน การคลังของไทยอยู่ในเกณฑ์ระดับสูง BBB+ ซึ่งเป็นระดับก่อนเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 และเกิดปัญหาพลังงาน 

โดย Fitch คาดการณ์ว่า ภาคการคลังสาธารณะในปี 2565 ประเทศไทยจะขาดดุลงบประมาณลดลง สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 55.4 ต่อ GDP เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 จากการฟื้นตัวภายในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจาก 6.5 ล้านคนในปี 2565 เป็น 22 ล้านคนในปี 2566 ในส่วนของภาคการเงินต่างประเทศประเทศไทยยังแข็งแกร่ง มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงและเพียงพอต่อการใช้จ่าย

ทั้งนี้ Fitch คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะขาดดุลร้อยละ 1.8 ต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 2.1 ต่อ GDP ในปี 2564 และจะกลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 1.0 ต่อ GDP ในปี 2566 และร้อยละ 2.8 ต่อ GDP ในปี 2567 จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น
 
นับเป็นข่าวดีใน “ภาพใหญ่” แต่ใน “ภาพย่อย” ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยยังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพพุ่งไม่หยุด ล่าสุด ข้าวสารถุงประกาศขึ้นราคาในเดือน ก.ค.นี้ ตามที่นายบุรินทร์ ธนถาวรลาภ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงจะปรับขึ้นราคาข้าวหอมมะลิ บรรจุถุงขนาด 5 กก. จากถุงละ 165 บาท เป็น 195 บาท, ข้าวสารเจ้าบรรจุถุง 5 กก. จากถุงละ 80-90 บาท เป็นถุงละ 90-100 บาท เนื่องจากข้าวสารลอตใหม่ที่เข้ามาราคาแพงขึ้นจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยข้าวสารหอมมะลิ กระสอบละ 100 กก. อยู่ที่ 3,200 บาท จากเดิมราคา 2,300 บาท ส่วนข้าวสารเจ้าขึ้นมาเป็นกระสอบละ 1,450 บาท 

สำหรับร้านอาหารตามสั่งในบางพื้นที่ มีการทยอยปรับราคาขึ้นมาจานละ 5-10 บาท จากต้นทุนวัตถุดิบและราคาเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 20% และแน่นอนเมื่อราคาข้าวถุงปรับราคาเพิ่มขึ้นก็จะทำให้เมนูตามสั่งปรับราคาขึ้นไปอีก บรรดาพนักงานออฟฟิศและประชาชนที่ฝากท้องกับร้านอาหารนอกบ้านต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขณะที่ค่าแรงยังคงเท่าเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น