xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นจลาจล! ศาลสูงสุดสหรัฐฯ คว่ำคำพิพากษารับรอง ‘สิทธิการทำแท้ง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศาลสูงสุดสหรัฐฯ มีคำพิพากษาคว่ำคำตัดสินคดี Roe v. Wade ในปี 1973 ซึ่งรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้หญิงในการทำแท้งเมื่อวานนี้ (24 มิ.ย.) ขณะที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกมาประณามคำตัดสินดังกล่าวว่าจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อชีวิตสตรีหลายล้านคน และกระพือความตึงเครียดในสังคมอเมริกัน

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ซึ่งเวลานี้ประกอบด้วยองค์คณะที่เป็นผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมเป็นส่วนใหญ่ มีคำวินิจฉัย 6 ต่อ 3 เสียงยืนกฎหมายของรัฐมิสซิสซิปปีที่ห้ามการทำแท้งหลังจากตั้งครรภ์เกิน 15 สัปดาห์ และ 5 ต่อ 4 เสียงให้กลับคำพิพากษาในคดี Roe v. Wade โดยมีผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยม 1 คน คือ “จอห์น โรเบิร์ตส” เลือกที่จะสนับสนุนกฎหมายของรัฐมิสซิสซิปปี โดยไม่จำเป็นต้องคว่ำคำตัดสินในคดี Roe

คำตัดสินครั้งนี้ได้ก่อแรงกระเพื่อมขึ้นในสังคมอเมริกันอย่างรุนแรง และจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมของศาลสูงสุดซึ่งควรจะเป็นหลักให้แก่ระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน แต่กลับมีคำวินิจฉัยเอียงเองไปในทางอนุรักษนิยมสุดขั้วมาแล้วหลายคดี

คณะผู้พิพากษาลงความเห็นว่า คำวินิจฉัยในคดี Roe ซึ่งระบุว่าผู้หญิงมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้จนถึงจุดที่ทารกจะสามารถมีชีวิตรอดและเติบโตได้ภายนอกมดลูก ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 24-28 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ “เป็นคำตัดสินที่ผิดพลาด” เนื่องจากรัฐธรรมนูญอเมริกัน “ไม่ได้มีข้อความที่ระบุชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิในการทำแท้ง”

คำพิพากษานี้จะส่งผลให้รัฐต่างๆ ทั่วอเมริกามีอำนาจออกกฎเกี่ยวกับการทำแท้งได้เอง และนั่นหมายความว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมอาจต้องเดินทางไปยังรัฐอื่นๆ ซึ่งอนุญาตให้มีการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ซื้อยาขับเลือดทางออนไลน์ หรือแม้กระทั่งพึ่งคลินิกทำแท้งเถื่อนซึ่งเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง

เวลานี้มีอยู่ 26 รัฐในอเมริกาที่ประกาศจุดยืนว่าพร้อมจะออกกฎห้ามการทำแท้งหรือกำลังพิจารณาเรื่องดังกล่าว ขณะที่มิสซิสซิปปีเป็นหนึ่งใน 13 รัฐที่กฎหมายห้ามทำแท้งมีผลบังคับทันทีที่คำพิพากษาในคดี Roe ถูกยกเลิก

ขณะเดียวกัน กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านการทำแท้งได้เริ่มเสนอไอเดียให้ศาลสูงสุดออกคำวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญอเมริกันห้ามการทำแท้งด้วย ทว่าแนวคิดนี้ถูกปฏิเสธทันควันโดยผู้พิพากษา เบร็ตต์ คาวานอห์ ที่ยืนยันว่า “รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุห้าม หรืออนุญาตให้มีการทำแท้ง”

คาวานอห์ ย้ำว่า คำตัดสินของศาลสูงสุดในวันนี้ไม่ได้ห้ามชาวอเมริกันเดินทางไปยังรัฐอื่นเพื่อทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย และไม่มีบทลงโทษย้อนหลังสำหรับผู้ที่ได้ทำแท้งไปแล้ว

ประธานาธิบดี ไบเดน ออกมาแถลงตำหนิคำพิพากษาของศาลสูงสุดว่า“สุดโต่ง และเป็นเส้นทางที่อันตราย”

“มันเป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับศาลสูงสุด และสำหรับประเทศของเรา” ไบเดน กล่าว “ศาลได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือการยกเลิกสิทธิตามรัฐธรรมนูญข้อหนึ่งที่มีความจำเป็นพื้นฐานต่อชาวอเมริกันหลายๆ คน”

ไบเดน ยังเตือนด้วยว่า การให้อำนาจแก่รัฐต่างๆ ในการออกกฎห้ามทำแท้งจะทำให้สหรัฐฯ แปลกแยกจากกลุ่มชาติที่พัฒนาแล้วซึ่งล้วนแต่มีกฎหมายปกป้องสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ (reproductive rights) ของพลเมือง

ผู้นำสหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการทำแท้ง ซึ่งคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจุดยืนที่แตกต่างของรีพับลิกันและเดโมแครตในประเด็นดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็ขอร้องให้ชาวอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลสูงสุดชุมนุมประท้วงอย่างสันติ “อย่าใช้วิธีข่มขู่คุกคาม เพราะความรุนแรงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้”

อังกฤษ ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศออกมาวิจารณ์คำตัดสินของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ว่าเป็นการ “ก้าวถอยหลัง” ขณะที่สำนักวาติกันกลับ “ชื่นชม” โดยมองว่าเป็นการกระตุ้นเตือนให้คนทั่วโลกได้คิดทบทวนเกี่ยวกับการให้กำเนิดชีวิต

ล่าสุด ภาคธุรกิจอเมริกันหลายราย เช่น วอลท์ ดิสนีย์ โค. และเมตา (Meta) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก ได้ประกาศนโยบายออกค่าใช้จ่ายให้แก่พนักงานที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามรัฐเพื่อไปรับบริการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย

ที่มา : รอยเตอร์




กำลังโหลดความคิดเห็น