ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การรุกคืบสู่พรมแดนธุรกิจเทเลคอมของกลุ่มกัลฟ์ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานเพื่อครองตลาดสื่อสารเบ็ดเสร็จ จากดีลซื้อ AIS ถึงการเดินหมากล่าสุดเข้าซื้อหุ้น 3BB ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่นี่คือการท้าชนค่ายทรูที่กำลังลุ้นดีลควบรวมดีแทค จุดชนวนสงครามชิงเบอร์หนึ่งร้อนทะลุองศาเดือด เพราะวัดขุมกำลังทั้งทรูและกัลฟ์ล้วนไม่ธรรมดา
จังหวะก้าวของกัลฟ์ (GULF) ถูกจับตามองมาตั้งแต่เข้าเทกโอเวอร์อินทัช (INTUCH) ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 โดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH ทำให้ GULF เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน INTUCH ในสัดส่วนรวมกัน 42.25% ขณะที่ INTUCH เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งใน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC การเข้าซื้อ 3BB จึงเสมือนเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บภายใต้ยุทธศาสตร์ชิงความเป็นหนึ่ง
AIS ขยับเข้าเล่นเกมธุรกิจบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ต โดยได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมบอร์ดบริษัทมีมติอนุมัติให้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเอไอเอส เข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ภายใต้แบรนด์ 3BB จำนวน 7,529,242,385 หุ้นคิดเป็น สัดส่วน 99.87% จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JAS)
ดีลซื้อหุ้นดังกล่าวข้างต้น มีมูลค่า 19,500 ล้านบาท บวกกับการซื้อหน่วยลงทุนใน JASIF จาก JAS ในสัดส่วน 19% มูลค่า 12,920 ล้านบาท เบ็ดเสร็จใช้เงินทั้งสิ้น 32,420 ล้านบาท โดย AWN จะขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก่อน และคาดว่าจะดีลดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1/2566
หากดีลเทกโอเวอร์ครั้งนี้สำเร็จ จะทำให้ AIS ที่เคยยืนอยู่ในตำแหน่งเบอร์ 4 ในธุรกิจบรอดแบรนด์ซึ่งเป็นรองทั้งทรู, 3BB และ NT ก้าวขึ้นเป็นเบอร์สองหายใจรดต้นคอทรูในทันที โดยอัพไซด์ของสองบริษัทเมื่อรวมกันถือว่าจะเกือบขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน มีคู่แข่งหลักคือ TRUE ซึ่งปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์ 39% ขณะที่ AIS และ 3BB มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 14.5%, 19.8% ตามลำดับ เมื่อรวมกันจะมีมาร์เก็ตแชร์ที่ 34.3% บนฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตบ้านรวมทั้งระบบประมาณ 12.25 ล้านราย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คีย์สำคัญของดีลนี้ยังอยู่ที่ กสทช.ว่าจะไฟเขียวให้มีการซื้อกิจการหรือไม่ อย่างไร เพราะเคสนี้ดูเหมือนจะละม้ายคล้ายกับกรณีการควบรวมทรูกับดีแทคที่ยังคาราคาซังรอฟังคำตอบสุดท้ายที่กสทช.ว่าจะเคาะออกหัวหรือก้อย และต้องไม่ลืมว่าดีลควบรวมทรูกับดีแทคนั้น เอไอเอสเล่นบทบาทคัดค้านอย่างชัดเจน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การยิงปืนนัดนี้ของกัลฟ์ได้นกหลายตัวแน่นอน แรกสุดราคาหุ้นของ ADVANC ราคาดีดขึ้นรับข่าวซื้อ 3BB 2.50 บาท หรือ 1.27% ปิดที่ 200.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 2,273.01 ล้านบาท
นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มองว่าดีลนี้ตลาดรับรู้มาสักพักแล้วแต่เพิ่งเป็นจริงเหตุผลเพราะเอไอเอสเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น GULF และการเดินหมากควบรวมกิจการของคู่แข่ง TRUE-DTAC ทำให้เอไอเอสนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ แต่ในเชิงจิตวิทยานับจากนี้ เอไอเอสคงค้านการควบรวมทรูกับดีแทคได้ไม่เต็มที่เพราะดีลซื้อ 3BB กำลังจะเกิดขึ้น โจทย์ใหญ่จึงตกอยู่ที่ กสทช. หากไม่อนุมัติดีลทรู-ดีแทค แล้วจะไปอนุมัติดีลเอไอเอสกับ3BB ก็จะยิ่งทำให้เอไอเอสที่แข็งแรงอยู่แล้วเข้มแข็งขึ้นไปอีก และทำให้ดีแทคกับทรูอ่อนแอลงไปซึ่งอาจเกิดความลักลั่นกันได้
งานนี้จึงคล้ายวัดใจ กสทช. ว่าจะไฟเขียวดีลแพคคู่หรือจะปิดทางควบรวมทุกเจ้า ขณะที่ยังรอลุ้นคำตอบสุดท้าย กัลฟ์ ยังคงมุ่งหน้ารุกธุรกิจเทเลคอม ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา กัลฟ์ รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าซื้อหุ้น INTUCH เพิ่มเติม จำนวน 45.58 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.4217% ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 68.19 บาท รวมมูลค่า 3,108.77 ล้านบาท ทำให้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 1,477.50 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนการถือครองหุ้น 46.07% จากเดิมถือหุ้น จำนวน 1,431,918,752 หุ้น หรือคิดเป็น 44.65%
ขณะที่ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน ADVANC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อย ชื่อบริษัท เอไอเอส ดีซี เวนเจอร์ จำกัด เพื่อลงทุนในธุรกิจด้านดาต้าเซ็นเตอร์ ตามเป้าหมายการดำเนินธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ร่วมกับGULF และบริษัท Singapore Telecommunications Limited (Singtel) ตามที่ได้เคยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565
หากจะสรุปรวบรัดให้เห็นยุทธศาสตร์บันได 3 ขั้นของกัลฟ์ผ่านเอไอเอสขึ้นเป็นผู้นำเบอร์หนึ่งในสงครามเทคโนโลยีใต้ฟ้าเมืองไทยในทุกด้าน ขั้นแรกคือการซื้อหุ้นอินทัช ซึ่งทำให้ได้พันธมิตรสำคัญอย่างสิงเทล (Singtel) ยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมของสิงคโปร์ที่ถือหุ้นในอินทัช 23.31% นำมาซึ่งการลงทุนร่วมกันธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ดังกล่าว
ขั้นที่สอง คือการเดินเกมธุรกิจ 5G อย่างแยบยล ตามรายงานข่าวว่าเอไอเอสจะเข้าเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT โดย NT จะแบ่งคลื่น 700 MHz ให้ AIS ครึ่งหนึ่ง ดีลนี้เอไอเอสยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ เบียดผู้เล่นอย่าง NT ออกไปจากตลาดด้วยปริมาณคลื่น 5G ที่ NT มีน้อยจนแข่งขันได้ยาก และยังสามารถนำคลื่นของ NT มาต่อยอดธุรกิจ 5G ส่งผลให้เอไอเอสถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างทรูและดีแทคที่แม้ควบรวมกิจการได้สำเร็จก็ตาม
ส่วนบันไดขั้นที่สาม ที่เพิ่งก้าวขึ้นก็คือการเข้าซื้อหุ้น 3BB ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในชั่วเวลาเพียงแค่ปีเศษๆ เท่านั้น เป็นจังหวะช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญที่กัลฟ์กำลังแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ทั้งธุรกิจเทเลคอมและพลังงานที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการที่เข้าใกล้พรมแดน “ทุนผูกขาด” ย่อมถูกตั้งคำถามจากสังคม ไม่ว่ากรณีของทรูกับดีแทค หรือ เอไอเอสกับ 3BB ที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยน.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค อดีต กสทช. มองว่า กรณีดังกล่าวไม่ต่างจากเคสทรูควบรวมดีแทค ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดการแข่งขันลดลงจึงเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคทำให้มีทางเลือกน้อยลงอย่างแน่นอน ขอให้ กสทช. พิจารณา 2 ดีลธุรกิจนี้อย่างรอบคอบ เพื่อมิให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ในกิจการโทรคมนาคมของประเทศ
สงครามเทค ระหว่างค่าย AIS ที่มีกลุ่มทุนใหญ่คือ Gulf หนุนหลัง ส่วนทรูคือกลุ่มซีพี จุดหมายปลายทางจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับลูกค้า ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการสื่อสารโทรคมนาคมมากขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเปิดโอกาสในการทำมาหากินได้มากขึ้น หรือว่าจะลงเอยเช่นใด ต้องติดตามกันต่อไป