xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนออกคำแถลงประณามพม่าขาดความมุ่งมั่นแก้ไขวิกฤตตามฉันทมติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เอเอฟพี - รัฐมนตรีต่างประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประณามการขาดความคืบหน้าในแผนแก้วิกฤตสำหรับพม่า เรียกร้องให้รัฐบาลทหารดำเนินการก่อนการประชุมสุดยอดระดับภูมิภาคในปลายปีนี้

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนก.พ. เมื่อปีก่อน และยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้เห็นต่างของทหารทะลุเกินกว่า 2,100 คน ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น

ความไม่พอใจกำลังเพิ่มสูงขึ้นในบางประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จากการเพิกเฉยของเหล่านายพลโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการประหารชีวิตนักโทษ 4 คน เมื่อเดือนก่อน ที่รวมถึงผู้สนับสนุนประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียง 2 คน

กลุ่ม 10 ประเทศ ที่เป็นหัวหอกในความพยายามแก้ไขความวุ่นวายนี้ได้ออกคำแถลงร่วมหลังรัฐมนตรีต่างประเทศประชุมหารือกันในกรุงพนมเปญ

บรรดารัฐมนตรีระบุว่าพวกเขารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งกับความคืบหน้าที่จำกัดและการขาดความมุ่งมั่นของทางการเนปีดอในการดำเนินการตามฉันทมติ 5 ข้ออย่างทันท่วงทีและครบถ้วน

คำแถลงยังอ้างถึงมาตรา 20 ของกฎบัตรอาเซียน ที่ระบุว่าการประชุมผู้นำในปลายปีนี้อาจมีการดำเนินการต่อ ‘การไม่ปฏิบัติตาม’ ซึ่งเป็นการเตือนกลายๆ ต่อรัฐบาลทหารพม่า

โดยปกติแล้ว การตัดสินใจของอาเซียนจะดำเนินการตามฉันทมติ แต่มาตรา 20 อนุญาตให้การประชุมสุดยอดสามารถข้ามหลักการดังกล่าวได้

วันนา หม่อง ละวิน นักการทูตระดับสูงของพม่า ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมที่กรุงพนมเปญ และยังถูกกีดกันจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในเดือนก.พ. ขณะที่พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะรัฐบาลทหารถูกกีดกันจากการร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเมื่อปีก่อน

รัฐมนตรีต่างประเทศยังประณามการประหารชีวิตเพียว เซยา ตอ ศิลปินแร็ปเปอร์ที่ผันตัวมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจี และจ่อ มิน ยู นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่รู้จักกันในชื่อ จิมมี

เมื่อต้นสัปดาห์ มาเลเซีย ที่นำการเรียกร้องให้ดำเนินการรุนแรงขึ้นกับพม่า ระบุว่าพม่าอาจเผชิญกับการถูกระงับจากกลุ่ม หากสมาชิกไม่เห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ

อาเซียนถูกนักวิจารณ์วิพากษ์วิจารณ์มายาวนานว่าไร้เขี้ยวเล็บ แต่นอกเหนือจากมาเลเซียแล้ว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ได้ผลักดันให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนกับพม่า

คำแถลงในวันศุกร์ (5) ระบุว่าทูตพิเศษว่าด้วยกิจการพม่าของอาเซียนต้องได้รับอนุญาตให้พบหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งเป็นนัยถึงการตัดสินใจของรัฐบาลทหารที่ปิดกั้นการเข้าถึงซูจี ที่ถูกควบคุมตัว

ซูจีเผชิญกับข้อหาจำนวนมากที่อาจทำให้เธอถูกจำคุกเป็นเวลานานกว่า 150 ปี

แถลงการณ์ล่าสุดไม่ได้กล่าวถึงเหตุตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้หลังการเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ

ปักกิ่งที่เดือดดาลได้เริ่มการซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีในน่านน้ำรอบไต้หวันตอบโต้การเยือนดังกล่าว

แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนเตือนให้ละเว้นจากการกระทำที่เป็นการยั่วยุ

“สถานการณ์อาจนำไปสู่การคำนวณผิด การเผชิญหน้าอย่างร้ายแรง ความขัดแย้งในวงกว้าง และผลลัพภ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ในบรรดาชาติมหาอำนาจหลักของโลก” คำแถลงร่วมที่เผยแพร่ในวันพฤหัสฯ ระบุ

ในวันศุกร์ (5) รัฐมนตรียังได้จัดการประชุมด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาคกับคู่เจรจาของพวกเขาทั้งจากสหรัฐฯ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ที่การประชุมสุดยอดเอาเชียตะวันออกด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น