xs
xsm
sm
md
lg

หมดมุก!! แผนตะวันตกโดดเดี่ยวรัสเซียใน UN ชักกร่อย หลายชาติถอดใจไม่อยากเป็นศัตรูกับมอสโก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


วาสสิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น ขณะแถลงในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น เมื่อวันที่ 11 ส.ค.
นับวันความพยายามของตะวันตกในการโดดเดี่ยวรัสเซียในยูเอ็นก็อยู่ในอาการกร่อยลงเรื่อยๆ หลายประเทศกำลังตั้งคำถามว่า การร่วมมือต่อต้านรัสเซียเป็นการกระทำที่ฉลาดจริงหรือ รวมทั้งยังสงสัยว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีสาระสำคัญอย่างแท้จริงถึงขั้นที่ต้องให้การสนับสนุนแบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่ตะวันตกจัดหาอาวุธให้เคียฟ ขณะที่ไม่มีการเจรจาอย่างสันติที่แท้จริงเพื่อยุติความขัดแย้งกระนั้นหรือ

รอยเตอร์รายงานว่า คืนหนึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภายใต้โคมระย้าของรัสเซียในที่ประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในนิวยอร์ก เอกอัครราชทูตนับสิบคนจากแอฟริกา ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และเอเชีย ร่วมงานสังสรรค์เนื่องในโอกาสวันชาติของรัสเซีย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากกองทัพแดนหมีขาวบุกยูเครนไม่ถึง 4 เดือน

วาสสิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น กล่าวขอบคุณทูตเหล่านั้นสำหรับการสนับสนุนและจุดยืนในการคัดค้านสงครามที่มุ่งต่อต้านรัสเซีย หลังจากกล่าวหาหลายประเทศโดยไม่เอ่ยชื่อว่าพยายาม “ล้มล้าง” รัสเซียและวัฒนธรรมรัสเซีย

การไปร่วมงานเลี้ยงคราวนี้ของเอกอัครราชทูตเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นความยากลำบากที่พวกนักการทูตตะวันตกต้องเผชิญ ในการพยายามธำรงรักษามาตรการแข็งกร้าวของนานาชาติมุ่งโดดเดี่ยวรัสเซียเอาไว้ หลังจากที่ระยะแรกๆ สามารถผลักดันยูเอ็นออกมาประณามการรุกรานยูเครนได้หลายครั้ง

ขณะที่รับรู้ถึงความสับสนและความกังวลของบางชาติที่ว่า สงครามยูเครนเรียกร้องต้องการความสนใจของทั่วโลกมากเกินไป เป็นระยะเวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว โดยยังไม่มีแนวโน้มว่ายูเอ็นจะทำอะไรได้นั้น พวกนักการทูตตะวันตกก็ยอมรับว่า นอกเหนือจากการพยายามเรียกประชุมนานาชาติแล้ว วิธีการอื่นๆ ซึ่งสามารถพุ่งเป้าจัดการกับรัสเซียก็ดูจำกัดเหลือเกิน

ริชาร์ด โกแวน ผู้อำนวยการฝ่ายยูเอ็นของกลุ่มคลังสมอง อินเตอร์เนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป เป็นผู้หนึ่งซึ่งยอมรับว่า การหาวิธีที่มีความหมายในการลงโทษรัสเซีย กำลังทำได้ยากขึ้นทุกที ขณะที่สงครามยังคงยืดเยื้อต่อไป

พวกนักการทูตและผู้สังเกตการณ์หลายคนสำทับว่า ในบางกรณีชาติตะวันตกต้องหลีกเลี่ยงการดำเนินการเฉพาะเจาะจงบางอย่าง เนื่องจากกลัวว่า จะได้รับการตอบรับอย่างเฉยชา ขณะที่มีประเทศมากขึ้นงดออกเสียงในการลงมติซึ่งส่งสัญญาณถึงความไม่ยินดีต่อต้านมอสโกอย่างเปิดเผย

เมื่อเดือนมิถุนายน สหภาพยุโรป (อียู) ต้องพิจารณาทบทวนแผนการที่จะให้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัสเซีย และสุดท้ายก็ตัดสินใจระงับเพราะกลัวว่า สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเกือบครึ่งจากทั้งหมด 47 ชาติอาจคัดค้าน

โอลาฟ วินต์เซค ผู้อำนวยการมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ของเยอรมนีประจำเจนีวา ชี้ว่า หลายประเทศกำลังตั้งคำถามว่า การร่วมมือกันต่อต้านรัสเซียเป็นการกระทำที่ฉลาดจริงหรือ

ด้านนักการทูตรัสเซียประจำยูเอ็นในเจนีวา สำทับว่า ประเทศตะวันตกรู้ดีว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะโดดเดี่ยวรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลก

ภายใน 1 สัปดาห์นับจากรัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ สมาชิกเกือบ 3 ใน 4 ของสมัชชาใหญ่ยูเอ็นโหวตสนับสนุนการประณามรัสเซียและเรียกร้องให้ถอนทหารออกจากยูเครน ในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา ที่ประชุมเดียวกันนี้ยังลงมติท่วมท้นในการประณามรัสเซียว่า ทำให้เกิดสถานการณ์ “เลวร้าย” ด้านมนุษยธรรม

อย่างไรก็ดี นักการทูตอาวุโสคนหนึ่งของเอเชียชี้ว่า การสนับสนุนมีแนวโน้มลดลง โดยการลงมติในเดือนมีนาคมถือว่าได้รับการสนับสนุนระดับสูงสุดไปแล้ว และไม่มีความกระตือรือร้นสำหรับมาตรการต่อไป ยกเว้นแต่ว่ารัสเซียจะแสดงพฤติการณ์ล้ำเส้นขึ้นมาอีก ซึ่งนักการทูตบางคนอธิบายโดยยกตัวอย่างว่า เช่น การโจมตีโดยใช้อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธเคมี การที่มีพลเรือนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หรือการประกาศผนวกดินแดนในยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

นักการทูตอาวุโสคนหนึ่งของแอฟริกา ขานรับว่า ประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกาสงสัยว่า แนวคิดที่ว่าการสู้รบขัดแย้งแบบที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีสาระสำคัญจนต้องให้การสนับสนุนไม่มีที่สิ้นสุดจริงหรือ โดยพาดพิงถึงการที่ตะวันตกจัดหาอาวุธให้ยูเครน และการที่ไม่มีการเจรจาอย่างสันติที่แท้จริงเพื่อยุติความขัดแย้ง

ยูเครนพยายามเรียกร้องให้ขับรัสเซียออกจากยูเอ็น แต่ความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้ต้องได้รับคำแนะนำจากคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งคงถูกรัสเซียใช้อำนาจยับยั้ง รวมทั้งยังต้องโหวตกันในสมัชชาใหญ่ยูเอ็น

หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ เพิกถอนการรับรองตัวแทนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แต่เรื่องนี้อย่างน้อยก็ต้องได้เสียงข้างมากในสมัชชาใหญ่ยูเอ็นเช่นเดียวกัน

(ที่มา : รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น