xs
xsm
sm
md
lg

คน UK อ่วม! เงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด แตะเลข 2 หลักเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ดัชนีราคาผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรพุ่งแตะระดับ 10.1% ในเดือนกรกฎาคม สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1982 ทำให้พวกเขากลายเป็นเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่แห่งแรกที่เงินเฟ้อทะยานแตะเลข 2 หลัก และค่าใช้จ่ายทางอาหารที่พุ่งสูงขึ้นกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่องบใช้จ่ายภาคครัวเรือน

การเพิ่มขึ้นจากระดับ 9.4% ของเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบเป็นรายปี ถือว่าเกินกว่าที่พวกนักเศรษฐศาสตร์คาดหมายไว้ในผลสำรวจความคิดเห็นของรอยเตอร์ และกระตุ้นให้บรรดานักลงทุนคาดเดาว่าธนาคารกลางอังกฤษจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเร็วยิ่งขึ้น

เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนีราคาผู้บริโภค ของเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 0.9% จาก 0.8% ในเดือนมินายน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 0.6% แต่ยังคงไม่สูงมากเท่าเดือนเมษายน ที่ดัชนีราคาผู้ยีโภค เพิ่มขึ้นถึง 2.5% จากเดือนมีนาคม

แม้มีคำเตือนในเดือนนี้เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะดำดิ่งสู่ภาวะถดถอย แต่ธนาคารกลางอังกฤษได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เป็น 1.75% ถือเป็นการปรับขึ้นในระดับ 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1995 ทั้งนี้ คาดหมายกันว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะทะยานสู่จุดพีคสูง 13.3% ในเดือนตุลาคม ครั้งถึงกำหนดปรับขึ้นราคาพลังงานภาคครัวเรือนรอบถัดไป

อย่างไรก็ตาม เบนจามิน นาบาร์โร นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทซิตี กล่าวหลังจากเห็นตัวเลขล่าสุด เวลานี้เขาคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจทะยานสู่จุดสูงสุดเหนือ 15% ในช่วงต้นปีหน้า "ด้วยที่ธนาคารกลางมุ่งเน้นไปที่สัญญาณต่างๆ ของแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ เราคิดว่าเวลานี้การตอบสนองแบบแข็งกร้าวเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้"

ในผลสำรวจของรอยเตอร์ที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดหมายว่า ธนาคารกลางอังกฤษน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% เป็น 2.25% หลังการประชุมนัดถัดไปในเดือนกันยายน

สหราชอาณาจักรไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังเผชิญราคาผู้บริโภคที่พุ่งสูง แต่เป็นชาติแรกในกลุ่มจี 7 ที่ประสบกับอัตราเงินเฟ้อที่เกินกว่า 10% นอกจากนี้ สัญญาณต่างๆ ยังบ่งชี้ว่าพวกเขาอาจเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นยาวนานกว่าเศรษฐกิจอื่นๆ ในนั้นรวมถึงชาติต่างๆ ในยุโรป ดินแดนที่ราคาพลังงานพุ่งทะยาน ตามหลังรัสเซียเปิดปฏิบัติการรุกรานยูเครน

ผิดกับทางสหรัฐฯ ซึ่งบรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในอเมริกาน่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว หลังขยับลงมาเหลือ 8.5% ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 9.1% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ

นาดิม ซาฮาวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร บอกว่าเขาให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับเงินเฟ้อในลำดับต้นๆ และรัฐบาลกำลังหาทางเลือกต่างๆ เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนทั้งหลายลดค่าใช้จ่ายทางพลังงาน

ราคาอาหารที่พุ่งขึ้นถึง 12.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 คือเหตุผลหลักที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งทะยานจากเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ส่วนราคาพลังงานและราคาน้ำมันเบนซินที่ดีดตัวสูงขึ้น คือปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนตัวเลขเงินเฟ้อตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ราคาพลังงานที่พุ่งสูงคือตัวขับเคลื่อนหลักของปัญหาเงินเฟ้อในยุโรป และมีความเป็นไปได้ว่ามันจะผลักสหราชอาณาจักรดิ่งสู่ภาวะถดถอยที่ยาวนาน แม้ไม่รุนแรงนัก ในช่วงปลายปีนี้

กระนั้นข้อมูลบางอย่างให้เงื่อนงำว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในอนาคตอาจเริ่มลดน้อยถอยลงบ้างแล้ว

บรรดานักเศรษฐศาสตร์บอกว่าราคาขนส่งสินค้าทั่วโลกและราคาสินค้าโภภัณฑ์เริ่มลดลงมาแล้ว เนื่องจากภาวะคอขวดทางห่วงโซ่อุปทานจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง ซึ่งอาจช่วยให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงในช่วงปลายปี 2022

อย่างไรก็ตาม คาดหมายกันว่าปัญหาเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรจะยืดเยื้อยาวนานกว่าประเทศอื่นๆ อันมีต้นตอบางส่วนจากกฎระเบียบทางราคา ซึ่งทางบริษัทพลังงานทั้งหลายต้องรอเวลาสักพัก ถึงสามารถส่งต่อต้นทุนขายส่งที่ดีดตัวสูงขึ้นไปยังบรรดาผู้บริโภค

ปัจจุบันค่าใช้จ่ายทางพลังงานภาคครัวเรือนอยู่ที่ราวๆ 2,000 ปอนด์ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 1 ปีก่อนหน้านี้เกือบเท่าตัว และมีความเป็นไปได้ว่ามันจะเพิ่มขึ้นเหนือ 4,000 ปอนด์ในเดือนมกราคม

ด้วยที่ครัวเรือนทั้งหลายในสหราชอาณาจักรต้องประสบปัญหาในการรับมือกับค่าใช้จ่ายต่าๆ ที่พุ่งสูงขึ้น บรรดาซูเปอร์มาร์เกตทั้งหลายเผยว่าเวลานี้พบเห็นพวกลูกค้าต่างหันเข้าหาแบรนด์สินค้าที่มีราคาถูกกว่า

(ที่มา : รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น