xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จักรถเมล์สาย 8 โฉมใหม่ สู่สาย 2-38 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



มาทำความรู้จักกับรถประจำทาง สาย 8 โฉมใหม่ ที่จะให้บริการโดยไทยสมายล์บัสเป็นวันแรก ในเส้นทางแฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ เชื่อมล้อ-ราง-เรือ คิดค่าโดยสารตามระยะทาง เริ่มต้น 15-20-25 บาท พร้อมพัฒนาระบบ E-Ticket เป็นของตัวเอง เตรียมเปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 เส้นทางภายในเดือนนี้

รายงาน

วันนี้ (20 ส.ค.) จะเป็นวันแรกที่รถประจำทางสาย 2-38 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ หรือสาย 8 เดิม จะให้บริการโดย บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ถือเป็น 1 ใน 77 เส้นทาง ที่กรมการขนส่งทางบกเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมประกอบการเดินรถ และไทยสมายล์บัสได้รับการอนุมัติ 71 เส้นทาง ซึ่งนับจากนี้ไทยสมายล์บัสจะนำรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า จำนวน 40 คัน มาให้บริการ โดยผู้ประกอบการสาย 8 ที่เป็นเอกชนรายเดิม ยังคงมีรถร้อนให้บริการอยู่อีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากสัญญาสัมปทานเดินรถจะสิ้นสุดในปี 2566

อ่านประกอบ : พลิกโฉมสาย 8! "ศักดิ์สยาม" คิกออฟรถเมล์ไฟฟ้าพร้อมบริการเต็มรูปแบบ “ไทย สมายล์ บัส” เสนอรับบัตรคนจน เก็บ 10 บาท ตั๋วเหมา 40 บาท/วัน


สำหรับรถที่นำมาให้บริการ คือ รถโดยสารปรับอากาศยี่ห้อ NEX-MINEBUS รุ่น XML6115JEV ซึ่งผลิตโดย บริษัท เน็ก พ้อยท์ จำกัด (มหาชน) ลักษณะเป็นรถโดยสารกึ่งชานต่ำ คือ มีบันได 1 ขั้น เพื่อรองรับน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ พร้อมทางลาดสำหรับวิลแชร์แบบสองตอน มีจำนวนที่นั่งรวม 27 ที่นั่ง เบาะเสริม 3 ที่นั่ง (พื้นที่สำรองสำหรับรถเข็น) แตกต่างจากรถประจำทางที่ให้บริการ 10 เส้นทางก่อนหน้านี้ที่เป็นรถชานต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีจำนวนเสาด้านหลังที่น้อยกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ ไม่มีพอร์ต USB สำหรับเสียบชาร์จโทรศัพท์มือถือ และติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสารแบบ E-Ticket บริเวณประตูด้านหน้าและด้านหลัง รวม 2 เครื่อง ใช้พลังงานไฟฟ้าผ่านตู้ชาร์จแบบฟาสต์ชาร์จ กำลังไฟ 310 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จหนึ่งครั้งใช้เวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที หรือวิ่งได้ 4 รอบ 280 กิโลเมตรต่อวัน




สำหรับการชำระค่าโดยสาร บริษัทฯ ได้พัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารแบบ E-Ticket ขึ้นมาเอง เพื่อเตรียมพร้อมเชื่อมต่อการเดินทางแบบระบบเครือข่าย “รถ-เรือ-ราง” ครบวงจร โดยเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ชื่อว่า HOP CARD สามารถเติมเงินได้ไม่จำกัดขั้นต่ำ ซึ่งจะเริ่มใช้ 100% ในเดือน ก.ย. 2565

พร้อมกันนี้ เอกชนได้เสนอการบริการเพิ่มเติม ค่าโดยสาร 40 บาทต่อวัน สำหรับการใช้บริการรถโดยสารของบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ทุกเส้นทาง ส่วนรัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม ขอความร่วมมือบริษัทให้จัดเก็บค่าโดยสาร เริ่มต้นที่ 10 บาท สำหรับผู้โดยสารที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีรายได้น้อยจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565

สำหรับเส้นทางที่ผ่าน เริ่มจากแฮปปี้แลนด์ โชคชัย 4 ถนนลาดพร้าว สวนจตุจักร สะพานควาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โรงพยาบาลรามาธิบดี สะพานขาว โบ๊เบ๊ วรจักร คลองถม พาหุรัด สำเพ็ง สะพานพุทธ 

สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สถานีลาดพร้าว สถานีพหลโยธิน สถานีสวนจตุจักร) รถไฟฟ้าบีทีเอส (สถานีหมอชิต สถานีสะพานควาย สถานีอารี สถานีสนามเป้า และสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) และเรือ MINE Smart Ferry เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ที่ท่าเรือสะพานพุทธ พร้อมกับสาย 4-15 (สาย 82 เดิม) ท่าน้ำพระประแดง-บางลำพู ที่จะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ และอีก 2 เส้นทางที่จะให้บริการในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ สาย 3-1 (สาย 2 เดิม) ปากน้ำ-ท่าเรือสะพานพุทธ, สาย 3-2E (สาย 2 เดิม) ปู่เจ้าสมิงพราย-ท่าเรือสะพานพุทธ (ทางด่วน)




อัตราค่าโดยสาร คิดตามระยะทาง โดย 4 กิโลเมตรแรก 15 บาท, 4-16 กิโลเมตร 20 บาท และ 16 กิโลเมตรขึ้นไป 25 บาท ตามโครงสร้างค่าโดยสารรถปรับอากาศใหม่ที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางกำหนด

ตัวอย่าง หากขึ้นจากสะพานพุทธยอดฟ้า ไปแฮปปี้แลนด์

กม. 0 = (นับค่าโดยสาร 4 กิโลเมตรแรก) สะพานพุทธยอดฟ้า
กม. 2 = แยกตึกเอสเอบี
กม. 4 = สะพานขาว
กม. 6 = (เริ่มนับค่าโดยสาร 4-16 กิโลเมตร) โรงพยาบาลรามาธิบดี
กม. 8 = อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
กม. 10 = สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ
กม. 12 = สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต
กม. 14 = สถานีรถไฟฟ้าพหลโยธิน
กม. 16 = สถานีตำรวจดับเพลิงลาดพร้าว
กม. 18 = (เริ่มนับค่าโดยสาร 16 กิโลเมตรขึ้นไป) ตลาดโชคชัย 4
กม. 20 = ซอยลาดพร้าว 101
กม. 22 = แฮปปี้แลนด์

ตัวอย่าง หากขึ้นจากแฮปปี้แลนด์ ไปสะพานพุทธยอดฟ้า

กม. 0 = (นับค่าโดยสาร 4 กิโลเมตรแรก) แฮปปี้แลนด์
กม. 2 = ซอยลาดพร้าว 101
กม. 4 = ตลาดโชคชัย 4
กม. 6 = (เริ่มนับค่าโดยสาร 4-16 กิโลเมตร) สถานีตำรวจดับเพลิงลาดพร้าว
กม. 8 = สถานีรถไฟฟ้าพหลโยธิน
กม. 10 = สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต
กม. 12 = สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ
กม. 14 = อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
กม. 16 = โรงพยาบาลรามาธิบดี
กม. 18 = (เริ่มนับค่าโดยสาร 16 กิโลเมตรขึ้นไป) สะพานขาว
กม. 20 = แยกตึกเอสเอบี
กม. 22 = สะพานพุทธยอดฟ้า

ตัวอย่าง หากขึ้นจากอนุสาวรีย์ชัย ไปแฮปปี้แลนด์

กม. 0 = (นับค่าโดยสาร 4 กิโลเมตรแรก) อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
กม. 2 = สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ
กม. 4 = สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต
กม. 6 = (เริ่มนับค่าโดยสาร 4-16 กิโลเมตร) สถานีรถไฟฟ้าพหลโยธิน
กม. 8 = สถานีตำรวจดับเพลิงลาดพร้าว
กม. 10 = ตลาดโชคชัย 4
กม. 12 = ซอยลาดพร้าว 101
กม. 14 = แฮปปี้แลนด์

ตัวอย่าง หากขึ้นจากสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต ไปแฮปปี้แลนด์

กม. 0 = (นับค่าโดยสาร 4 กิโลเมตรแรก) สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต
กม. 2 = สถานีรถไฟฟ้าพหลโยธิน
กม. 4 = สถานีตำรวจดับเพลิงลาดพร้าว
กม. 6 = (เริ่มนับค่าโดยสาร 4-16 กิโลเมตร) ตลาดโชคชัย 4
กม. 8 = ซอยลาดพร้าว 101
กม. 10 = แฮปปี้แลนด์

ตัวอย่าง หากขึ้นจากสถานีรถไฟฟ้าพหลโยธิน ไปแฮปปี้แลนด์

กม. 0 = (นับค่าโดยสาร 4 กิโลเมตรแรก) สถานีรถไฟฟ้าพหลโยธิน
กม. 2 = สถานีตำรวจดับเพลิงลาดพร้าว
กม. 4 = ตลาดโชคชัย 4
กม. 6 = (เริ่มนับค่าโดยสาร 4-16 กิโลเมตร) ซอยลาดพร้าว 101
กม. 8 = แฮปปี้แลนด์

(อ้างอิงจากตารางค่าโดยสารรถประจำทาง สาย 8 สะพานพุทธยอดฟ้า-เคหะชุมชนร่มเกล้า โดยอนุมัติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางในการประชุมครั้งที่ 10/2561 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 2562)

นอกจากสาย 2-38 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ หรือสาย 8 เดิมแล้ว ภายในเดือน ส.ค. 2565 จะมีรถให้บริการเพิ่มอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ สาย 3-35 (สาย 1 เดิม) พระราม 3-ท่าเตียน, สาย 4-15 (สาย 82 เดิม) ท่าน้ำพระประแดง-บางลำพู, สาย 1-3 (สาย 34 เดิม) บางเขน-ถนนพหลโยธิน-หัวลำโพง และสาย 4-3 (สาย 17 เดิม) พระประแดง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่วนในเดือน ก.ย. จนถึงปลายปี 65 จะทยอยนำรถเมล์ใหม่มาให้บริการในเส้นทางต่างๆ ได้ครบทั้ง 77 เส้นทาง จำนวน 972 คัน
กำลังโหลดความคิดเห็น