xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “นกชนหิน” สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย นกเงือกโบราณสุดหายาก หลังถูกล่าเอา “งาสีเลือด” จนเกือบสูญพันธ์ุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


“นกชนหิน” สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย (ภาพจากเพจ : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
พาไปรู้จักกับ “นกชนหิน” สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย เป็นนกเงือกสายพันธุ์โบราณหายาก ซึ่งปัจจุบันบ้านเราเหลืออยู่ในธรรมชาติไม่เกิน 100 ตัว เนื่องจากถูกล่าเอา “โหนก” หรือ “งาสีเลือด”ไปขายจนทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะสูญพันธ์ุ

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีในแวดวงสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ของบ้านเรา เมื่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่นกชนหิน (Rhinoplex Vigil) โดยจะเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เนื่องจากนกชนหินเป็นสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด

ดังนั้นเราจึงขอพาไปรู้จักกับเจ้านกชนิดนี้ ที่มีลักษณะพิเศษคือ “งาสีเลือด” ซึ่งเป็นที่หมายปองของใครหลาย ๆ คน ทำให้ถูกล่าเป็นจำนวนมาก จนสุ่มเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์

“นกชนหิน” สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย (ภาพจากเพจ : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
“นกชนหิน” (Helmeted hornbill) เป็นนกขนาดใหญ่ในวงศ์นกเงือก 1 ใน 13 ชนิดของกลุ่มนกเงือกในไทย แต่เป็นนกเงือกสายพันธุ์โบราณที่มีสายพันธุกรรมเก่าแก่ยาวนานถึง 45 ล้านปี

นกชนหิน มีถิ่นอาศัยกระจายในพื้นที่ป่าดิบชื้นระดับต่ำตั้งแต่แถบเทือกเขาตะนาวศรีลงมาทางใต้ของไทย ไปจนถึงประเทศมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว โดยในบ้านเราพบการกระจายพันธุ์ในป่าสมบูรณ์ของภาคใต้ อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา จ.นราธิวาส, อุทยานแห่งชาติบางลาง จ.ยะลา อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี และอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จ.พังงา เป็นต้น

ปกตินกชนหินจะบินหากินในระดับยอดไม้ กินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ เช่น ลูกไทร แต่บางครั้งก็พบว่ามันกินสัตว์อื่น ๆ เช่น กิ้งก่า กระรอก และนก เป็นอาหารด้วย

“นกชนหิน” สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย (ภาพจากเพจ : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ในด้านวิถีความเป็นอยู่และรังพักอาศัย นกชนหินจะเลือกต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรงกลวงเพื่อเข้าไปทำรัง ซึ่งมักจะเป็นต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในผืนป่า

นกชนหินเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้ช้า โดยผสมพันธุ์เพียงปีละหนึ่งครั้ง และเลี้ยงลูกแค่ครั้งละหนึ่งตัวเนื่องจากแม่นกกับลูกนกจะอาศัยอยู่ในโพรงรังที่ปิดปากโพรงไว้ เมื่อปิดปากโพรงหากเกิดอะไรขึ้นกับนกตัวผู้ ตัวเมียกับลูกน้อยก็อาจตายได้ เพราะไม่สามารถพังรังและบินออกมาได้

หลังผสมพันธุ์ นกตัวเมียจะใช้เวลากกไข่นาน 5-7 สัปดาห์ และเลี้ยงลูกอีก 5 เดือนจึงจะออกจากรังได้

ขณะที่นกตัวผู้จะมีหน้าที่ป้อนอาหาร โดยสังเกตพฤติกรรมของพ่อนกที่บินมาป้อนอาหาร หากป้อนถี่ขึ้นสะท้อนว่าขนาดของลูกใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะกินลูกของต้นไทร หรือสัตว์เล็ก เช่น กิ่งก่า งู ด้วง เป็นต้น

“นกชนหิน” สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย (ภาพจากเพจ : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
นกชนหิน มีลักษณะโดดเด่นต่างกับนกเงือกชนิดอื่นๆ ด้วยอวัยวะส่วน “โหนกบริเวณหัวกะโหลก” ที่มีสีเหลืองแดงจะตันแข็งเหมือนงาช้าง จนได้รับการขนานนามว่า “งาสีเลือด” ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการทำตราประทับ เครื่องตกแต่ง กำไล สร้อย ทดแทนงาช้าง

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่างาสีเลือดเป็นสิ่งมงคล โหนกของมันจึงมีมูลค่ามาก เป็นที่ต้องการในตลาดซื้อขายชิ้นส่วนสัตว์ป่า ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า ราคาเฉพาะหัวของนกชนิดนี้นั้น สูงถึงหัวละ 30,000 บาทขึ้นไปเลยทีเดียว ทำให้นกชนหินถูกล่าอย่างหนัก จนปัจจุบัน มีนกชนหินเหลืออยู่ในธรรมชาติเหลือน้อยมาก

ลูกไทรสุกอาหารสำคัญของนกชนหินและนกเงือกชนิดต่าง ๆ (ภาพจาก : เพจ สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา)
แม้นกชนหินจะมีสถานะเป็นสัตว์ที่อยู่ในบัญชี 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ หรือ ไซเตส (CITES) ตั้งแต่ปี 2518 ห้ามค้าชิ้นส่วนของนกชนหินมีความตามผิดกฎหมายทั้งไทยและทั่วโลก รวมถึงถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 410 แล้วก็ตาม แต่จากการที่มันยังคงถูกล่าเพื่อเอางาสีเลือดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันคาดการณ์ว่านกชนหินในบ้านเราน่าจะหลงเหลืออยู่ประมาณไม่เกิน 100 ตัว ซึ่งถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ในปี 2562 ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้รวบรวมรายชื่อเพื่อสนับสนุนผลักดันให้นกชนหินได้ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยต่อภาครัฐ รวมถึงเสนอให้เกิดแผนปฏิบัติการเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรนกชนิดนี้ในระยะยาว

จากนั้นในวันที่ 8 มีนาคม 2564 คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย เพื่อช่วยยกระดับความคุ้มครองนกชนหินในบ้านเราและถิ่นอาศัยของมันให้สอดคล้องกับมาตรการนานาชาติ เพื่อให้สังคมเพิ่มความตระหนักในการอนุรักษ์นกชนิดนี้มากยิ่งขึ้น

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทยตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีของแวดวงสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ของบ้านเรา

นกชนหินมักจะเลือกต้นไม้อายุเก่าแก่มาเป็นโพรงอยู่อาศัย (ภาพจาก : เพจ สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา)
สำหรับสัตว์ป่าสงวน 20 ชนิด ของไทย ได้แก่

1. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
2. แรดชวา
3. กระซู่
4. กูปรี หรือโคไพร
5. ควายป่า
6. ละอง หรือ ละมั่ง
7. สมัน
8. เลียงผา
9. กวางผา
10. นกแต้วแล้วท้องดำ
11. นกกระเรียนไทย
12. แมวลายหินอ่อน
13. สมเสร็จ
14. เก้งหม้อ
15. พะยูน หรือ หมูน้ำ
16. วาฬบรูด้า
17. วาฬโอมูระ
18. เต่ามะเฟือง
19. ฉลามวาฬ
20. นกชนหิน




นกชนหิน ที่พบที่ อช.ศรีพังงา (ภาพจาก : ส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช)

นกชนหิน ที่พบที่ อช.ศรีพังงา (ภาพจาก : ส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช)

บริเวณส่วนหัวหรือโหนกของนกชนหิน (ภาพจากสำรวจโลก)

โหนกนกชนหินถูกนำไปทำตราประทับ เครื่องตกแต่ง กำไล สร้อย ซื้อขายกันมูลค่าสูง (ภาพจากองค์กรติดตามการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC)


กำลังโหลดความคิดเห็น