ราชบุรี - ประชาชนชาวใต้ที่อาศัยอยู่จังหวัดราชบุรีและใกล้เคียง จัดงานประเพณี “ชิงเปรต” หรืองานบุญสารทเดือน 10 ที่วัดหนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เพื่อส่งบุญให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
วันนี้ (18 ก.ย.) ที่วัดหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พระปลัดเติมพงษ์ ตันติสาโร เจ้าคณะตำบลหนองกวาง เจ้าอาวาสวัดหนองกวาง พร้อมสมาชิกชมรมชาวใต้ จัดงานประเพณีบุญสารทเดือน 10 หรืองานประเพณีชิงเปรตขึ้น โดยมีพระมหาเกรียงศักดิ์ ภูมิวัฒธโก พระเลขาเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี และนายอุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนชาวใต้มาร่วมบุญกันอย่างคึกคัก
หลังจากหยุดไป 1 ปี จากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด โดยทุกปีที่มีการจัดงาน ประชาชนชาวใต้จากหลากหลายสาขาอาชีพที่อยู่ทั้งในจังหวัดและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เดินทางร่วมจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากชาวใต้ที่มีถิ่นฐานทางภาคใต้ไม่ได้เดินทางกลับไปทำบุญถิ่นเกิด จึงได้นัดรวมกันมาทำบุญที่วัดหนองกวางแห่งนี้เป็นประจำในเดือน 10 ของทุกปี ทำให้วัดหนองกวางได้กลายเป็นศูนย์รวมของชาวใต้มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว
อีกทั้งทางเจ้าอาวาสยังมีถิ่นฐานบ้านเกิดเป็นชาว จ.ชุมพร อีกด้วย การจัดงานปีนี้มีนายอุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัด คนพื้นเพชาว จ.สุราษฎร์ธานี และมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านจากหลายสาขาอาชีพเข้าร่วมงานคึกคัก พร้อมยังนำอาหารคาวหวาน ขนมภาคใต้ เช่น ข้าวยำ ขนมจีน แกงไตปลา ขนมลา ขนมเจาะหู และอื่นๆ ของทางภาคใต้อีกมากมาย รวมทั้งผลไม้มาร่วมงานบุญกันจำนวนมาก
พระปลัดเติมพงษ์ ตันติสาโร เจ้าคณะตำบลหนองกวาง เจ้าอาวาสวัดหนองกวาง กล่าวว่า คนใต้ที่อยู่ราชบุรี มีความรักความปรองดองสามัคคีกัน โดยจะร่วมทำบุญจัดงานดังกล่าวทุกๆ ปี ของทุกอย่างที่ชาวใต้ 14 จังหวัดอาจจะมารวมกันที่นี่ งานสารทเดือน 10 จะมีอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงรับ ช่วงส่ง เป็นช่วง 15 ค่ำแรก และ 15 ค่ำหลัง ปีไหนถ้าลูกหลานไม่ไปทำบุญเชื่อกันว่าอาจจะเกิดเภทภัย อาจจะทำให้ธุรกิจเสียหาย เหมือนญาติพี่น้องต้องมาทำโทษ อย่างงานชิงเปรตนั้นของที่นำมาบูชาบวงสรวงให้ปู่ย่า ตายายเป็นของทิพย์ เป็นของมงคลให้ชีวิต คำว่าเปรต ในทางของคนใต้แปลว่าญาติผู้ไปก่อน ไม่รู้ว่าไปในที่ต่ำหรือ ที่สูง ถ้าไปที่สูงคือเป็นตระกูลของเทวดา อยู่ด้วยอายุทิพย์ แต่หากว่าตกนรกอบายภูมิ ต้องทำบุญอุทิศ นี่คือปริศนาการทำบุญงานเดือน 10
ส่วนชิงเปรตเกิดมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2475 ที่ จ.นครศรีธรรมราช ถ้าเป็นศาสนาพุทธสมัยพระเจ้าพิมพิสาน เมื่อทำบุญกับพระเสร็จแล้ว แต่กลางคืนมีเสียงโหยหวนร้อง ท่านนอนไม่หลับ มีความกังวล จึงไปถามพระพุทธเจ้า ท่านได้บอกว่า ญาติพี่น้องของท่านที่ตายไปเขาได้รับส่วนบุญจริง แต่ยังไม่กรวดน้ำจึงมาขอส่วนบุญต่อ ในทางของเราเหมือนกัน การชิงเปรตตามที่เข้าใจว่า 1 เดือน 15 วัน ข้างขึ้น และข้างแรม ประตูนรกจะเปิดให้ญาติพี่น้องมารับส่วนบุญกัน การชิงเปรตจึงจะต้องจัดหลังจากถวายพระเสร็จแล้ว จะนำสิ่งของเรียงบนโต๊ะกันไป ใครชอบอะไรก็เอาแบบนั้น ทุกอย่างถือเป็นของทิพย์ทั้งหมด ถือว่าเป็นของที่ ปู่ย่า ตายายมอบให้ไว้ เป็นความเชื่อที่มีมาแบบมีเหตุมีผล สิ่งเหล่านี้ถือเป็นประเพณีที่ต้องรักษาเอาไว้ เรียกว่าเป็นการกตัญญูกตเวที เราบูชาท่านตอนที่มีชีวิตอยู่ และบูชาตอนที่ท่านจากไป ชีวิตมีแค่นี้ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ชาติที่แล้วเราไม่รู้เป็นอะไร ชาติหน้าเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ปัจจุบันนี้ต้องทำให้ดีที่สุด คือการกตัญญูกตเวทีรู้คุณต่อบรรพบุรุษ
ปีนี้ทางวัดยังจัดงานรำมโนราห์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เป็นศิลปะการแสดงของทางภาคใต้ มาให้ประชาชนที่ร่วมงานได้ชมความสวยงาม จากนั้นมีพิธีชิงเปรต โดยวัดได้จัดตั้งโต๊ะยาวนำพืชผักผลไม้ ขนมหลากหลายชนิดที่ขึ้นชื่อของชาวใต้ โดยมีชาวบ้าน ลูกหลานที่มาร่วมงานให้ความสนใจ อยู่รอจนงานพิธีสุดท้าย ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์มาทำพิธีชักผ้าบังสุกุลที่โต๊ะก่อน จากนั้นจึงเริ่มนำเงินไปใส่ไว้ที่ใต้พืชผัก ผลไม้ ขนมลา และขนมอื่นๆ บนโต๊ะ เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมบุญได้แย่งชิงกัน
บรรยากาศการชิงเปรตเป็นไปอย่างคึกคัก มีชาวบ้านพาลูกหลานมายืนรอเพื่อจะขอแย่งชิงเอาผัก ผลไม้ ขนม รวมทั้งเงินที่ถูกซ่อนไว้ โดยเจ้าอาวาสได้ให้กติกาว่า คนที่มีอายุ 80 ปี มายืนใกล้กับโต๊ะก่อน ส่วนคนที่อายุน้อยกว่าให้ยืนข้างหลัง ส่วนเด็กๆ ให้ยืนต่อหลัง เพื่อรอส่งเสียงสัญญาณ ทุกคนไม่รอช้ารีบแย่งกันเอาสิ่งของที่อยู่บนโต๊ะกันอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะเงินหลายพันบาทที่ถูกซ่อนไว้ได้หายวับไปกับตา ผลไม้หลายชนิด ทั้งแตงโม ลองกอง มะพร้าว ขนมลา มะนาว มะละกอ กล้วย คงเหลือไว้แต่ถาดที่ว่างเปล่าภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที ทุกอย่างเรียบหายหมด หลายคนยิ้มดีใจได้เงิน เพราะจะได้เก็บเงินไว้เป็นขวัญถุง และเอาเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ของธนบัตรไปซื้อหวยเพื่อรอลุ้นงวดหน้านี้ หลายคนได้ขนมกลับไปกินอิ่ม แต่บางคนผิดหวังเพราะแย่งไม่ทัน