xs
xsm
sm
md
lg

ปั้น “มาร์ค” เป็นตัว? ลุ้นเสียบเก้าอี้ “นายกฯ” !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับถอยหลัง บ่ายสามโมง ศุกร์ 30 กันยายน 2565 กองเชียร์-กองแช่ง ต้องลุ้นระทึก

ตามกำหนดการที่ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดหมายอ่านคำวินิจฉัยคดีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบวาระ 8 ปีหรือไม่

ตามคำร้องของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลาตามมาตรา 170 วรรคสาม และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งฝ่ายค้านเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปีแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นับจากได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2557

ต้องยอมรับว่าคำวินิจฉัยในคดีสำคัญนี้ ไม่ว่าจะออกไปในทิศทางใด ไม่เพียงแต่ตัดสินอนาคตของ “นายกฯ ตู่” เท่านั้น ยังส่งผลต่อความเป็นไปของการเมืองไทยด้วย

ที่น่าสนใจคือ ในระหว่างที่ “รอ” ได้เกิดกระแสข่าวลืออย่างหนักจนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อึงอลไปทั่วทั้งแผ่นดินถึงการกลับมาของ “เดอะมาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” แถมมาพร้อมๆ กับใกล้วันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “บิ๊กตู่” อีกต่างหาก

มากไปกว่านั้นคือ มาแรงแซงทางโค้งแทบจะเบียดแคนดิเดตรายอื่นๆ กันเลยทีเดียว จนเกิดคำถามตามมาว่า “มีอะไรในกอไผ่” หรือไม่ อย่างไร และทำไมถึงมีความพยายามที่จะ “ปั้น” นายอภิสิทธิ์ให้เข้ามาสู่ถนนสายอำนาจอีกครั้ง

แน่นอน เรื่องนี้ย่อมต้องมีที่มาและที่ไป

ตัดภาพกลับไปที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถมีบทสรุปหรือออกได้เพียง 2 หน้าเท่านั้นคือ “ลุงตู่” จะได้ไปต่อ หรือต้องพอแค่นี้

ถ้าออกหน้าแรก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อ ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจ “ไม่จำเป็น” ต้องบอกว่า จะไปต่อได้ถึงเมื่อใด เนื่องจากคำร้องของฝ่ายค้านขอไป 2 เรื่อง คือ 1.ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงหรือไม่ โดยไม่ได้ถามต่อว่า ต้องเริ่มนับเมื่อใด และ 2.ขอให้สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เท่านั้น

ตามหลักปฏิบัติที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญที่มักจะ “ตอบเท่าที่ถาม” เท่านั้น

แต่ก็มีการคาะคะเนว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อ ก็จะไปได้ 2 กรอบเวลา คือ เริ่มนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 หรือวันที่ 6 เมษายน 2560 ก็จะทำให้สามารถเป็นนายกฯได้อีกราว 2 ปีเศษ สิ้นสุดในปี 2568 หากได้เป็นต่อเนื่อง

ถือเป็นกรอบเวลาที่มีการพูดกันหนาหู และถือเป็นแนวทางที่ “ประนีประนอม” มากที่สุด สอดรับกับ “เอกสารหลุด” ที่อ้างว่าเป็นเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของ “พยานปากเอก” อย่าง มีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่สนับสนุนการตีความตามแนวทางนี้ เช่นเดียวกับ “กูรู” หลายสำนักที่ชี้ไปในทิศทางนี้

ส่วนอีกกรอบเวลาที่หลายฝ่ายมองว่า “สุดโต่ง” คือ เริ่มนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง หลังการเลือกตั้งปี 2562 หรือ วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ที่จะเปิดทางให้สามารถเป็นนายกฯได้ต่อเนื่องไปถึงราวปี 2570 หรืออีกหนึ่งเทอมเต็มๆ หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า และได้เป็นนายกฯต่อเนื่อง อันเป็นไปตามสาระของ “เอกสารหลุด” ที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่า หากวินิจฉัยให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ได้ต่อ ก็ต้องมาดูกันอีกว่า จะเป็นได้อีก 2 ปี หรือ 4 ปี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ตอบส่วนนี้มา และต้องไปยื่นขอให้วินิจฉัยกันอีกครั้งในอนาคต

ขณะที่หากคำวินิจฉัยออกหน้า “ไม่ได้ไปต่อ” ยึดว่าการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังรัฐประหารในปี 2557 หรือวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อยู่ภายใต้เงื่อนไขห้ามดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีด้วย สอดรับกับบทเฉพาะกาล มาตรา มาตรา 264 ในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้…”

ก็จะเท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ “หมดรอบ” การเป็นนายกฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยเรื่องนี้ และสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

อีกทั้งความสลักสำคัญใน “ฝ่ายอำนาจ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดูจะถดถอยไปพอสมควร โดยเฉพาะช่วงถูกแบนเดือนที่ผ่านมา ที่ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับการเมืองที่ไม่มี “พล.อ.ประยุทธ์” ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมรอแทงจำหน่ายเสียแล้ว ผิดกับฟอร์มของ “นายกฯ ป้อม” ที่ดูฉูดฉาดกว่าอย่างชัดเจน

ไม่ทันไร “โหรการเมือง” ออกมาฟันธง-ฟันทิ้ง อนาคต พล.อ.ประยุทธ์ ในทิศทางเดียวกันอย่างไม่น่าจะนัดหมายกัน ทั้ง วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เคยโพสต์ข้อความหัวข้อ “ถอดรหัสดวงดาวกับการตัดสินคดี 30 ก.ย.” ระบุตอนหนึ่งว่า “เมื่อถอดรหัสดวงดาวแต่ละดวงในวันที่ 30 กันยายนนี้แล้วจะเห็นได้ว่าผู้มีอำนาจที่มีบทบาทมีตำแหน่งหน้าที่ในบ้านเมืองจะสิ้นยศหมดตำแหน่ง บุญไม่มาวาสนาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย ดูแล้วผู้มีอำนาจตกอยู่ในภาวะหนักหนาสาหัสสากรรจ์”

ทำนองเดียวกับ “หมอนิด” กิจจา ทวีกุลกิจ หมอดูการเมืองชื่อดัง ที่เจาะจงไปที่ดวงของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “ความจริงดวงของท่านไม่ดีตั้งแต่ปี 2562 โอกาสที่จะรอดหรือได้เป็นนายกฯ ต่อไปมีแค่ 10% เท่านั้น เพราะธาตุไฟของ ลุงตู่ ถูกธาตุน้ำเล่นงานอยู่ แถมอายุ 68 ยังให้โทษอีกด้วย ถ้าลุงตู่เกิดเวลา 13.00 -15.00 น. เชื่อขนมกินได้ว่า “ไม่รอด” 100% ฐานดวงจะไปเจอ จื้อ เบ้า บี่ คือ มีชวด มะแม และกระต่าย มารวมกันเป็น ปรปักษ์ที่ร้ายแรงมากถ้าใครไปเจอแบบนี้หงายท้องทุกราย”

จึงไม่น่าแปลกใจ หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในทาง “ไม่เป็นคุณ” กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะส่งผลให้ทั้ง “บิ๊กตู่” พ้นจากตำแหน่งนายกฯ พร้อมกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่ต้องหลุดตำแหน่งไปด้วย แต่ก็จะยังถือว่าเป็น “ครม.รักษาการ” ที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และมีอำนาจเต็ม จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

ตรงนี้ก็จะมีข้อสงสัยเล็กๆ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็น “นายกฯ รักษาการ” ได้หรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการถกเถียงกันอีก หากไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนนี้แนบมาด้วย

อีกทั้งต้องปิดประตู “ยุบสภา” ไปก่อน เพื่อเลี่ยง “สุญญากาศ” ในระหว่างที่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ และศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่งมีมติรับวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ตจามที่มีผู้ร้องเข้าไปด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อ “มองข้ามชอต” ต่อไปหลัง “บิ๊กตู่” พ้นจากตำแหน่งนายกฯ พร้อมกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหา “นายกฯ คนใหม่” ซึ่งยังต้องเป็นไปตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ที่กำหนดให้ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะต้องพิจารณาลงมติเลือกนายกฯ คนใหม่

โดยมีขั้นตอน “ก๊อกแรก” เลือกนายกฯ คนใหม่จากบัญชีรายชื่อหรือ “แคนดิเดตนายกฯ” ที่พรรคการเมืองซึ่งมีเสียง ส.ส.มากกว่า 25 ที่นั่งเสนอไว้ครั้งเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 โดยผู้ที่เข้าข่ายในปัจจุบันมีอยู่ 5 ราย อันประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ ชัยเกษม นิติสิริ จากบัญชีพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากบัญชีพรรคภูมิใจไทย และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากบัญชีพรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งขั้นตอนก็เป็นเหมือนเมื่อครั้งเลือก “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ โดยการเสนอชื่อผู้ที่จะเลือกเป็นนายกฯต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (ไม่น้อยกว่า 48 คน จาก ส.ส. 477 คนที่ปฏิบัติหน้าที่ได้) ต่อจากนั้นให้ที่ประชุมรัฐสภา ทั้ง ส.ส.-ส.ว. ลงคะแนนเลือกนายกฯ ด้วยการขานชื่ออย่างเปิดเผย และต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 364 คน จากสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 727 คน (ส.ส. 477 คน และ ส.ว. 250 คน)

ในทางกฎหมายถือว่าแคนดิเดตนายกฯที่เหลืออยู่ 5 คนมีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อ แต่ “ในทางปฏิบัติ” คงต้องตัดในส่วนของบัญชีพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นฝ่ายค้านออก โดยเฉพาะ “สุดารัตน์” ที่ลาออกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทยและ “ชัชชาติ” ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ไม่นาน หากมีลุ้นจริงๆ คงเหลือแค่ “ชัยเกษม” ที่เชื่อว่าหากมีการเลือกนายกฯ ใหม่จริงๆ ทางพรรคฝ่ายค้านก็คงเสนอชื่อแข่ง แต่โอกาสเป็นไปได้ยาก ในฐานะฝ่ายค้านที่ไม่อาจรวบรวมเสียง ส.ส. รวมไปถึง ส.ว.ให้สนับสนุนได้

ก็คงเหลือเพียง 2 รายที่เป็นบัญชีของพรรครัฐบาล ตามเนื้อผ้า “อนุทิน” ที่มีตำแหน่งเป็นรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข รวมถึงเป็นหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล น่าจะมีภาษีดีกว่า “อภิสิทธิ์” ที่ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่หลังเลือกตั้ง และลาออกจาก ส.ส.ด้วยเหตุผลว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ไปตั้งแต่ต้นเทอมสภาชุดนี้

มองข้ามชอตไปอีกขั้น หากไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีแคนดิเดตใน “ก๊อกแรก” ได้ ก็จะเปิดทางไปสู่ “ก๊อกสอง” หรือ “นายกฯ คนนอก” โดยมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าก๊อกแรก

ต้องให้สมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (364 จาก 727 คน) เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้มีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง โดยต้องใช้มติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ไม่น้อยกว่า 485 จาก 727 คน) จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง หรือนอกบัญชีพรรคการเมืองก็ได้ และดำเนินการตามขั้นตอนปกติก่อนหน้า

โดยนายกฯ คนใหม่ จะดำรงตำแหน่งได้ถึงครบกำหนดอายุสภาผู้แทนราษฎร หรือถึง 23 มีนาคม 2566 หรืออีกราว 6 เดือนเท่านั้น

ว่ากันว่า หาก “น้องตู่” ไม่ได้ไปต่อจริงๆ ในทางการเมืองมองว่า ก็น่าจะเป็นโอกาสของ “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่วันนี้ใช้ “ใจบันดาลแรง” ฟิตปั๋งกำลังปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯอยู่อย่างเมามัน แถมยังสวมหมวกหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็น “นายกฯ คนนอก”


เป็นไปตามแผนที่ “ทีมลุงป้อม” พยายามโหมผลงาน จัดอีเว้นท์ให้ “พี่ใหญ่รัฐบาล” วัย 77 ปีแบบถี่ยิบ เพื่อแต่งตัวเตรียมเป็น “นายกฯตัวจริง” ตามความฝันคว้า “ครุฑตัวที่ 2” ตามคำทำนายของพระอาจารย์ที่นับถือ และฝันอันแรงกล้าของบรรดา “น้องในไส้ - น้องนอกไส้” ที่พึ่งบุญญาบารมี “พี่ใหญ่” รวบอำนาจมาอยู่ในมือ

ทว่า ในความเป็นจริง โอกาสที่สถานการณ์ไปจะไปถึง “นายกฯ ก๊อกสอง” ก็ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ด้วยกติกาที่วางไว้ยังเปิดกว้างสำหรับ “นายกฯ ก๊อกแรก” อาจจะไม่มีเหตุผลที่มีน้ำเพียงพอดันไปถึงฝันของ “ลุงป้อม” ได้ใมห้เกิดกระแสต่อต้านแต่อย่างใด

เอาแค่ 2 พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ที่มีชื่อแคนดิเดตนายกฯอยู่ในบัญชีก๊อกแรก ก็คงไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปคล้อยตามเพื่อเลือกนายกฯ คนนอก ยิ่งเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง ก็ยิ่งไม่อยากถูกตราหน้าว่า ร่วมสืบทอดอำนาจ คสช.อีกครั้ง

หรือหาก “ฝ่ายอำนาจ” เลือกยึดเพียง “เหตุผลทางการเมือง” ก็สุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดวิกฤตการยอมรับของสังคม แล้วยังเปิดทางให้ “ม็อบการเมือง” ที่โรยราออกมาเพ่นพ่านแผลงฤทธิ์อีกครั้งในยามที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สร่างซาแล้ว และกำลังจะมีงานใหญ่ระดับโลกอย่างการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกอีกด้วย

อีกทั้งความยอมรับจากภายนอกต่อตัว “บิ๊กป้อม” ก็ไม่ต่างจาก “บิ๊กตู่” ที่ช่วงหลังคะแนนิยมต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ตามที่เคยมีคนค่อนขอดว่า “หนีเสือ ปะจระเข้” หรือ “หลบรถเทรลเลอร์ เจอรถบรรทุก”

จึงเชื่อได้ว่าสถานการณ์คงไม่ดันไปถึง “นายกฯก๊อกสอง” ส่วนตัว พล.อ.ประวิตร ในบั้นปลายการทำงานก็คง “ฟิน” กับนิกเนม “นายกฯ ป้อม” ราวเดือนเศษที่ผ่านมาแล้ว

ดังนั้นจึงต้องย้อนกลับมาว่ากันในตะกร้าแคนดิเดตนายกฯที่มีอยู่ ตามที่ว่าไปข้างต้นก็คงเหลือเพียง “อนุทิน-อภิสิทธิ์” ที่พอมีโอกาส และก็เป็น “เสี่ยหนู” แห่งค่ายเซราะกราว ที่ยัง “แอคทีฟ” ในฐานะคนในรัฐบาลที่ดูดีกว่า “อภิสิทธิ์” ที่เฟดตัวเองออกไปในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

และหากจำกันได้ เมื่อไม่นานมานั้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ โดนแบนในตำแหน่งนายกฯ ต้องไปนั่งจับเจ่าที่กระทรวงกลาโหม ในฐานะ รมว.กลาโหม ก็มีการปล่อยภาพการนั่งพูดคุยระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ 2 คีย์แมนรัฐบาลอย่าง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ “หมอหนู-อนุทิน” ภายในห้องทำงาน ณ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมา

แม้จะอ้างว่าเป็นเพียงการไปเยี่ยมเยียน พร้อมพาแพทย์ผิวหนังไปตรวจฝ่ามือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีอาการคันเท่านั้น แต่ก็ไม่พ้นถูกตีความว่าเป็นการส่ง “นัย” ทางการเมือง

เป็นนัยที่ส่งให้ราศีของ “อนุทิน” ในฐานะตัวตายตัวแทนนายกฯ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องติดหล่ม 8 ปีไม่ได้ไปต่อดูโดดเด่นขึ้นมา

ผนวกกับการที่ “เสี่ยหนู” ในฐานะรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ที่ทำงานร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลมาตลอด เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการฝ่าวิกฤตโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนใช้เสียง ส.ส.ภูมิใจไทย และเครือข่ายงูเห่า เป็น “ลมใต้ปีก” พยุงรัฐบาลฝ่าวิกฤตการเมืองจนอยู่มาได้ถึงปลายสมัย

ต้องไม่ลืมว่า หลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) เอง ยังเคยประกาศพร้อมสนับสนุนให้ “อนุทิน” เป็นนายกฯด้วยซ้ำ ด้วยมองว่ามาถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย แต่ก็แฝงวาระสกัด พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดจนพรรคพลังประชารัฐ

ดังนั้น หากมีการเลือกนายกฯและจบในก๊อกแรก “อนุทิน” จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ทว่า ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า หากสถานการณ์ขับไปถึงการเลือกนายกฯคนใหม่ ก็ไม่สามารถวางตาจาก “อภิสิทธิ์” อดีตนายกฯ ได้เช่นกัน ด้วยมีความเคลื่อนไหวของ “จารย์มาร์ค” ระยะหลังที่ “ขยันเป็นพิเศษ แถมยังสะท้อน “นัย” ทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

ไม่ว่าการเปิดหน้าให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง หรือการเดินสายปาฐกถาตามฟอร์มถนัดทั้งเวทีใหญ่-เล็ก อย่างต่อเนื่อง

มองผิวเผินอาจเป็นแค่การกรุยทางเพื่อให้ไม่ตกขบวนเป็นผู้สมัคร ส.ส.สมัยหน้า หรือเลยเถิดไปถึงการยึดพรรคประชาธิปัตย์กลับคืน ในยามที่การบริหารภายใต้การนำของ “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ดูจะระส่ำระสาย และมีแนวโน้มที่จะล้มเหลวในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ตั้งเป้าต่ำไว้เพียงได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่าเดิม

และที่สำคัญ “อภิสิทธิ์” ยังไปปรากฎตัวใน “บางวาระ” ที่ทำเอาคอการเมือง-คนการเมือง ต้องครางฮือตามๆกัน ประกอบกับมีคนตาดีเห็นฉาก “รียูเนียน” ระหว่าง “อภิสิทธิ์” กับ “นิพนธ์ พร้อมพันธุ์-สุเทพ เทือกสุบรรณ” สองคีย์แมนสำคัญแห่ง “รัฐบาลมาร์ค” ที่อี๋อ๋อกัน ราวกับไม่เคยมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อน

รับกับที่ “กำนันเทือก” เพิ่งพ้นมลทินคดีความโรงพักร้าง ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่งตัดสินยกฟ้อง และโจทก์อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ทำท่าว่า จะไม่อุทธรณ์ ตัดจบมหากาพย์เสียด้วย

ทำให้ “ลุงกำนัน” ที่ทำท่าสงบเสงี่ยมมาพักใหญ่ ถึงขั้นคำรามขอเดินหน้าทำงานการเมืองต่อทันที แต่จะไม่ลงสมัคร ส.ส.อีกแล้ว

น่าสนใจว่า งานการเมืองที่ “สุเทพ” จะเดินหน้าต่อนั้นคือ ภารกิจใดกันแน่ เพราะในส่วนของ “พรรคพลัง” ที่ทำอยู่ก็เป็นระดับ SMEs มี ส.ส.พอได้โควตามา 1 กระทรวง ก็น่าพึงพอใจแล้ว และคงหาทางขยับขยายไม่ได้อีก

เชื่อได้ว่า งานการเมืองของ “เทพเทือก” น่าจะใหญ่กว่าภารกิจปั้นพรรคพลัง อย่าลืมว่า “สุเทพ” ก็เคยได้ชื่อว่าเป็น “มือปั้นนายกฯ” ที่ส่งให้ “อภิสิทธิ์” ขึ้นไปนั่งทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า อย่างเหลือเชื่อมาแล้ว

หากมีการกลับมาแตะไม้แตะมือกันระหว่าง “สุเทพ-อภิสิทธิ์” ก็จะเป็นการปิดจุดอ่อนของ “อภิสิทธิ์” ที่ช่วงที่ผ่านมากลายเป็น “คนนอก” ที่เข้านอกออกใน “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เหมือนเก่า แม้จะเป็นถึงอดีตหัวหน้าพรรคก็ตาม ด้วยตัว “สุเทพ” อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีบารมีภายในสังกัดเก่าอยู่ไม่น้อย

ยิ่งมีชื่อของ “นิพนธ์” คู่หูดูโอของ “พี่เทพ” มาร่วมด้วยก็ยิ่งน่าสนใจ

ตามกระแสข่าวอ้างว่า “พี่มาร์ค” ที่ยังหนีบตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ ไว้แน่น มุดเข้า “รัง” ไปขอคารวะ พร้อมแจ้งข่าวคราวสำคัญกับ “นายหัวเมืองตรัง” ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขาใหญ่แห่งค่ายสะตอ เมื่อไม่นานมานี้

จนเชื่อว่า การขยับตัวของ “พี่มาร์ค” มี “เป้าใหญ่” กว่าการลงสมัคร ส.ส. หรือรีเทิร์นกลับเข้าไปมีอำนาจในพรรคประชาธิปัตย์ อย่างแน่นอน

ยิ่งประจวบเหมาะกับที่รัฐบาลกำลังจะมีงานใหญ่อย่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ที่ไทยในฐานะเจ้าภาพในช่วงปลายปีนี้ ที่ก็ควรมี “ผู้นำ” ที่สามารถฟุดฟิดฟอไฟต้อนรับผู้นำโลกที่จะแห่มาร่วมประชุมปลายปีนี้ ซึ่งก็ตรงสเปก “พี่มาร์ค” ชัดๆ ดังนั้น ปฏิบัติการ “ปั้นมาร์ค” จึงมีความเป็นไปได้ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ

อย่างว่า หากเก้าอี้นายกฯ ว่างลง ตามเนื้อผ้า “อนุทิน” ก็ยังเป็นเต็งหนึ่ง แต่ก็คงประมาท “อภิสิทธิ์” ที่มี “สุเทพ-นิพนธ์” เป็นแบ็กอัพให้ไม่ได้

แต่ใครจะไป ใครจะมา ก่อนอื่นต้องลุ้นกันว่า “ศุกร์ 30” จบอย่างไร จะเฮี้ยนเท่า “อาถรรพ์ศุกร์ 13” ตามความเชื่อฝรั่งหรือไม่เสียก่อน.


กำลังโหลดความคิดเห็น