xs
xsm
sm
md
lg

“ไต้หวัน” ขอสิทธิเข้าร่วมองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2565 นายหวัง กั๋วไฉ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ออกแถลงการณ์ ขอร้องให้ ICAO อนุญาตให้ไต้หวันได้เข้าร่วมในการประชุมองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ครั้งที่ 41 ที่มีกำหนดจะจัดขึ้น ณ เมืองมอนทริอัล ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 27 กันยายนถึงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2565 ความว่า

“องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO ได้จัดการประชุมสมัชชาทุก 3 ปี เพื่อหารือและกำหนดระเบียบและมาตรฐานการบินให้ทุกประเทศทั่วโลกเคารพปฏิบัติร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยและกฎระเบียบด้านการบินพลเรือนของโลก การประชุมสมัชชา ICAO ครั้งที่ 41 กำหนดจะจัดขึ้น ณ เมืองมอนทริอัล ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 27 กันยายน ถึงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2565 นับเป็นการประชุมใหญ่ครั้งแรกหลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลก จึงเป็นการประชุมที่มีความหมายต่อการฟื้นฟูกิจการของการบินพลเรือน อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือนระหว่างประเทศด้วย เราจึงขอร้องให้ ICAO อนุญาตให้ไต้หวันได้เข้าร่วมในการประชุมนี้ เพื่อความสมบูรณ์อย่างแท้จริงของการเดินอากาศทั่วโลก

เครือข่ายการคมนาคมระหว่างประเทศควรให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในเชิงเทคนิค

ICAO เป็นองค์การระหว่างประเทศที่เป็นเวทีสำคัญด้านมาตรฐานและกฎระเบียบการบินพลเรือน เป็นศูนย์กลางในการหารือในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในการบิน การบริการในการบิน การรักษาความปลอดภัยในการเดินอากาศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจการบิน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับพัฒนาการการบินพลเรือนของทุกประเทศในอนาคต โดยเฉพาะหลังอุตสาหกรรมการบินของโลกประสบผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สุขภาพอนามัย ความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้โดยสารจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งไม่มีหน่วยงานผู้ดูแลการบินพลเรือนใดๆ จะพ้นจากความรับผิดชอบได้ ในวาระที่ ICAO จัดการประชุมสมัชชาครั้งที่ 41 เพื่อจะเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมทางอากาศของโลกอีกครั้งนี้ ที่ประชุมจึงควรเห็นชอบให้ไต้หวันได้เข้าร่วมประชุม จึงจะสอดคล้องกับเป้าหมายของการประชุมในครั้งนี้

เขตแถลงข่าวการบินไทเป (Taipei Flight Information Region, Taipei FIR) เป็นหนึ่งในเขตน่านฟ้ากว่า 300 แห่งทั่วโลกของ ICAO ที่จะขาดเสียมิได้ หน่วยงานรับผิดชอบดูแลเขตน่านฟ้า Taipei FIR คือกรมการบินพลเรือนไต้หวัน ซึ่งมีภารกิจในการบริหารความปลอดภัยการเดินอากาศ อำนวยข้อมูลและบริการข่าวสารที่สมบูรณ์ ตลอดจนจัดสรรเส้นทางการบินที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพื่อเป็นหลักประกันแก่อากาศยานและผู้โดยสารทั้งหมดของโลกได้ใช้เขต Taipei FIR อย่างปลอดภัยและทรงประสิทธิภาพ ทว่าในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 นี้กลับเกิดกรณีจีนทำการซ้อมรบทางทะเลและอากาศรอบน่านน้ำและน่านฟ้าของไต้หวัน อีกทั้งระบุให้น่านฟ้า Taipei FIR เป็นเขตอันตราย นอกจากจะกระทบต่อเส้นทางการเดินอากาศระหว่างประเทศของเราแล้ว ยังเป็นภัยต่อภูมิภาคและการบินนานาชาติด้วย เนื่องจากไม่มีการหารือล่วงหน้ามาก่อน ดังนั้น กรมการบินพลเรือนไต้หวันจึงได้แต่เตรียมการในเวลาสั้นที่สุดและแนะนำเที่ยวบินของทุกประเทศให้หลีกเลี่ยงการเข้าสู่เขตอันตราย Taipei FIR เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไม่เพียงทำให้กิจการการบินของหลายประเทศเพิ่มต้นทุนด้านเวลาและเชื้อเพลิงมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นความเสี่ยงมหาศาลด้านความปลอดภัยทางการบินอย่างมิอาจประเมินได้ ดังนั้นในเชิงการบริหารความเสี่ยงและความปลอดภัย ICAO จึงควรให้กรมการบินพลเรือนของไต้หวันมีสิทธิเข้าร่วมกับ ICAO เช่นเดียวกับหน่วยงานรับผิดชอบเขตน่านฟ้า (FIR) ทุกแห่งทั่วโลก เพื่อจะได้สื่อสารหารือโดยผ่านแพลตฟอร์ม ICAO อำนวยข้อมูลข่าวสารน่านฟ้าของไต้หวันและได้รับข้อมูลจาก ICAO อย่างทันเวลา


ไต้หวันสามารถแบ่งปันประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ บรรลุซึ่งเป้าหมายความปลอดภัยไร้รอยต่อด้านการบินของ ICAO

แม้ทั่วโลกจะตกอยู่ใต้เงามืดของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเวลามากกว่า 2 ปี และไต้หวันได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดนี้ด้วย แต่ไต้หวันยังคงทุ่มเทความพยายามในการรักษามาตรฐานความปลอดภัยการบินของ Taipei FIR นอกจากนี้ ภายใต้ความพยายามร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการการบินพลเรือนต่างๆ กับรัฐบาล เราได้มีมาตรการยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต่างๆ เป็นต้นว่า การเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนเที่ยวบินผู้โดยสารเป็นเที่ยวบินการขนส่งสินค้า จึงทำให้บริษัทการบินสัญชาติไต้หวันเป็นสายการบินจำนวนน้อยที่ยังคงมีผลกำไรและไม่มีการปลดหรือลดจำนวนพนักงานลงระหว่างสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ จากสถิติของสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airport Council International) ท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของไต้หวันมีปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ในปี พ.ศ.2563 และ 2564

เนื่องจากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงการเดินอากาศจึงรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม ตัวอย่างเช่นโดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับควบคุมระยะไกล ซึ่งได้รับความสำคัญอย่างสูงในหลายปีนี้ เนื่องจากมีการใช้โดรนอย่างแพร่หลาย การควบคุมที่ไม่เหมาะสมใดๆ อาจเป็นความเสี่ยงแฝงต่อความปลอดภัยการเดินอากาศและรบกวนการดำเนินงานของท่าอากาศยาน ซึ่ง ICAO ได้ทยอยแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบและคำแนะนำต่างๆ ไปแล้ว แต่ภายใต้สภาพที่กรมการบินพลเรือนไต้หวันไม่สามารถได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องจาก ICAO ไต้หวันยังคงพยายามสร้างกลไกการบริหารขึ้นชุดหนึ่งในเวลาสั้นที่สุด โดยได้กำหนดบทเฉพาะสำหรับการใช้โดรนในกฎหมายการบินพลเรือน และประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2563 ขณะเดียวกัน ได้จัดตั้งระบบการควบคุมข้อมูลอากาศยานไร้คนขับควบคุมระยะไกล (Drone Operation Management Information System) เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของ Taipei FIR และพัฒนาการอุตสาหกรรมโดรน กรมการบินพลเรือนไต้หวันยังได้จัดตั้งระบบการป้องกันและเฝ้าระวังโดรนตามท่าอากาศยานต่างๆ เพื่อรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยาน และสอดส่องการเคลื่อนไหวของโดรนผิดกฎหมาย นอกจากนี้ กรมการบินพลเรือนไต้หวันยังได้จัดทำโครงการระบบการบริหารการบินอัตโนมัติ เพื่อให้ระบบการบริหารการเดินอากาศของไต้หวันสามารถรองรับความต้องการของ Taipei FIR ในอนาคต ร่วมกันยกระดับประสิทธิภาพการบินของภูมิภาคและของโลก เรายินดีแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้ และหวังอย่างยิ่งที่จะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหล่านี้กับทุกประเทศ และร่วมกันยกระดับความปลอดภัยการเดินอากาศของนานาประเทศ

หวังว่านานาประเทศจะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของไต้หวัน

ไต้หวันได้พยายามมายาวนานในการผลักดันการขอเข้าร่วม ICAO จนเป็นที่สนใจของสังคมนานาชาติ ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมนานาชาติ เราจึงมีความรับผิดชอบในการปกป้องความปลอดภัยการเดินอากาศของภูมิภาคและของโลก การให้ไต้หวันมีส่วนร่วมใน ICAO จะช่วยให้เราได้ร่วมเป็นกำลังส่วนหนึ่งของนานาประเทศในพัฒนาการด้านการบินพลเรือนของโลกและความผาสุกของมวลมนุษย์

ตลอดปีที่ผ่านมา อธิบดีกรมการบินพลเรือนได้ทุ่มเทให้กับการรักษามาตรการความปลอดภัยสูงสุดของการเดินอากาศในน่านฟ้า Taipei FIR ตลอดจนมาตรฐานการบริการที่เป็นเลิศ เคารพต่อมาตรฐานและมาตรการตามคำแนะนำของ ICAO และในอนาคตจะพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ ICAO สืบต่อไป การที่ ICAO จัดการประชุมสมัชชา ICAO ครั้งที่ 41 เพื่อฟื้นฟูกิจการการบินพลเรือนหลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกำหนดหัวข้อการประชุมเป็น “Reconnecting the World” จึงเป็นโอกาสอันดีในการเปิดโอกาสให้เราได้มีส่วนร่วม ซึ่งกรมการบินพลเรือนไต้หวันหวังอย่างยิ่งว่าจะได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาที่ทรงความหมายในปีนี้ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและสร้างคุณูปการด้านการขนส่งทางอากาศแก่นานาประเทศ ซึ่งจะนำมาซึ่งการบรรลุเป้าหมายด้านความปลอดภัยของการบินไร้รอยต่อและการเชื่อมต่อกับโลกของ ICAO ต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น