xs
xsm
sm
md
lg

“หนึ่งคนว่าย = 33 หน่วยงานวุ่น?” #โตโน่ เงินภาษีหรือเงินนายทุน ไหน? “ไม่เป็นภาระ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ไม่อันตราย-ไม่เป็นภาระ!? แต่มี 33 หน่วยงาน ต้องมาดูแล ถกสนั่น ข้อกังขาเพียบ โปรเจกต์ #โตโน่ “ว่ายข้ามโขง-ระดมทุน” สับเละใครออกค่าใช้จ่าย สะท้อนชะตากรรมประเทศไทยต้องพึ่งพากันเอง ศิลปินดาราเสี่ยงตาย ระดมทุนช่วยไม่จบสิ้น




หนึ่งคนว่าย หลายคนบอกพอเถอะ!!


“รัฐมนตรีเห็นยังต้องสะอึก เมื่อเจอ 33 รายการ ที่สุดอลังการงานสร้าง มาคนเดียวหรือยกกองร้อย ทั้ง รถ เรือ แพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ กู้ภัย ฯลฯ อาหาร ที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวกสารพัด


...ที่สำคัญ “ออแกไนซ์” ต้องตอบคำถามที่สังคมคลางแคลงใจ ว่า ใครเป็นคนจ่ายค่าจ้างพวกคุณ รวมทั้งกลุ่มไลฟ์สดที่ยกขบวนกันมาด้วย...#เป็นเงินของใคร??? นักบุญทุนชาวบ้าน”


คือ ข้อความของ “พงศ์ สุคนธ์” ที่โพสต์ความรู้สึกผ่านทางเฟซบุ๊ก พร้อมเอกสารสรุปการประชุมเตรียมจัดงาน โครงการ “One Man And The River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ของ โตโน่- ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักร้องและนักแสดง

เมื่อตรวจสอบพบว่า เป็นการจัดเตรียมงาน 33 รายการ พร้อมหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ เช่น การจัดทีมแพทย์, ชุดป้องกันภัยทางน้ำ ติดตามทีมว่ายน้ำ, การจัดเวที แสง สี เสียง, อาหาร เครื่องดื่ม, ทีมนางรำบวงสรวง, การจัดการจราจร รถนำขบวน ฯลฯ

อีกทั้งในเอกสาร ระบุว่า หน่วยงานสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดนครพนม, โรงพยาบาลเทศบาลนครพนม, องค์กรบริหารส่วนจังหวัด, สำนักงานจังหวัดนครพนม ฯลฯ เข้ามาดูแลรับผิดชอบ


อย่างไรก็ดี “ว่ายน้ำข้ามโขง” โปรเจกต์ “One Man And The River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อการกุศล สนับสนุนช่วยเหลือโรงพยาบาลขาดแคลน ประกอบด้วย โรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วน สปป.ลาว โดยได้กำหนดระยะทางว่ายน้ำไป-กลับ ประมาณ 15 กิโลเมตร ในวันที่ 22 ต.ค. นี้

แน่นอนว่า ทันทีที่มีการแชร์ออกไป #โตโน่ ร้อนระอุอีกครั้ง นำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และการใช้งบประมาณของราชการเกินความจำเป็นหรือไม่

“ในฐานะคนที่ทำงานหน่วยงานรัฐ เวลาที่ชาวบ้านของบไปปรับปรุงหมู่บ้านทำอิดออด ทีงี้ดูทุ่มเทพร้อมจ่ายจังเลยนะ เงินหลวงทั้งนั้นแหละค่าไม่ต้องสงสัย”

“จะว่ายน้ำข้ามโขง แต่ลืมไปแล้วเหรอว่าคนไทยทั้งประเทศ ก็กำลังเดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจและน้ำท่วม? แล้วไอ้ที่บอกว่า one man นี่ตอแหลชัดๆ สรุปเป็นไง? สุดท้ายก็เรี่ยรายเงินจากคนรากหญ้าอย่างพวกกู ภาษีก็จ่าย แต่เผือกพึ่งพาเงินบริจาค คิดอะไรตื้นๆ ดาราไทยนี่มันขยะจริงๆ”

“คำสั่งจังหวัด ออกโดยผู้ว่าฯ หน่วยงานรัฐเบิกจ่ายได้ตามระเบียบ สรุปคือ ใช้เงินภาษีนี่แหละค่า ...ถ้าเอาเงินภาษีที่นำมาใช้ในกิจกรรมนี้ไป จัดสรรปันส่วนให้กระทรวงสา'สุข จะดีกว่าไหม จนท.จะได้ไปทำอย่างอื่น ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่ใช่มายุ่งยากวุ่นวายกะไอ้คนเดียว”


ขณะที่ เพจ “อีเจี๊ยบ เลียบด่วน” หนึ่งในเพจอิทธิพลในโซเชียล ตั้งคำถามถึงงบประมาณว่ายน้ำกับงบบริจาคอะไรจะมากกว่ากัน


“ตอนนี้ ชักเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า ค่าใช้จ่ายในการเตรียมว่ายน้ำทั้งหมด ทั้งส่วนตัว ทั้งงบราชการ กับ เงินบริจาคที่จะได้รับ อันไหน จะมากกว่ากัน”

เช่นเดียวกัน ด้านเพจ “Red Skull” ออกมาตั้งข้อสงสัยถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หลังพบ 33 หน่วยงาน เข้ามารับผิดชอบโปรเจกต์นี้

“โอ้โห ว่ายน้ำคนเดียว ต้องขอกันขนาดนี้เลย ยิ่งกว่านายกฯ มาอีก ไหนบอกไม่เป็นภาระ นี่มันงานโคตรภาระเลย ว่ายน้ำนะ ไม่ได้ไปรบ ว่าแต่ค่าใช้จ่าย ใครออกวะ”

ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ในตอนนี้ยังไม่มีการออกมาให้คำตอบใดๆ ถึงข้อคลางแคลงใจของสังคม ว่า การจัดตั้ง นำ 33 หน่วยงาน มาจัดการดูแลภารกิจนี้ เป็นเงินจากทางหน่วยงานรัฐ หรือเป็นทางสปอนเซอร์จากโครงการนี้




ว่ายน้ำโขงอันตราย ภาระ 33 หน่วยงาน?


อีกประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่เรื่อยๆ คือ ฤดูน้ำหลาก-ความหวังดี ที่ช่วยกันติติงเอาไว้ว่า ภารกิจครั้งนี้อาจกลายเป็นภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และทีมงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกินความจำเป็น แม้โตโน่และทีมงานจะมีการจัดเตรียมความพร้อม และไม่ได้ตั้งใจสร้างความเดือดร้อนก็ตาม

ไม่เพียงแค่นั้น ล่าสุด อาร์ท-ประวิณ วราธนกิจ นายกสมาคมกู้ภัยสว่างนาวาธาตุพนม และมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการกู้ภัยทางน้ำในแม่น้ำโขง รวมถึงการเดินเรือกู้ภัยทางน้ำ และเคยฝึกหลักสูตรประดาน้ำกู้ภัยให้คำตอบว่า น้ำโขงเชี่ยว-ไหลลึก

เพราะการว่ายน้ำโขงยากกว่าน้ำทะเล โดยธรรมชาติจากประสบการณ์ น้ำโขงจะฉุดร่างกายเราลงสู่พื้น มากกว่าน้ำทะเล อย่างไรก็ตาม ควรมีเซฟตี้ระบบดูแลความปลอดภัย รวมถึงทีมดูแลช่วยเหลือใกล้ชิด


เกี่ยวกับประเด็นอันตรายเกินไป จนเป็นภาระทีมแพทย์-พยาบาล ทาง “นพ.ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์” ผอ.รพ.นครพนม ออกมายืนยันแล้วว่า ว่ายข้ามโขงไม่เป็นภาระบุคลากรทางการแพทย์

ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ในระหว่างโตโน่ทำภารกิจพิชิตแม่โขง ทางทีมงานมีแผนรองรับไว้เรียบร้อยหมดแล้ว คือ จะมีคณะผู้จัดทีมกู้ภัย และเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์ รับมือด้วยสกูตเตอร์ลำเลียง โดยอาจนำเรือคยัคมาต่อชิดกันเป็นแพ เพื่อเข้าช่วยเหลือให้ทันท่วงที

ทางโรงพยาบาลไม่ได้เรียกร้อง ส่วนงบประมาณภาครัฐ ยืนยันเพียงพอในการพัฒนาดูแลบริการประชาชน แต่ต้องเป็นไปตามระบบของการจัดสรรงบประมาณ ส่วนการรับเงินสนับสนุนจากการบริจาค

ไม่ได้มุ่งเน้นว่าจะนำไปใช้จ่ายในส่วนหนึ่งส่วนใด แต่จะนำไปพัฒนาภาพรวมของโรงพยาบาลเพื่อให้มีศักยภาพในการดูแลบริการประชาชนมากขึ้น ยืนยันการจัดกิจกรรมดังกล่าว เชื่อมั่นว่า ทางทีมงานผู้จัดมีความพร้อมพอสมควร และไม่ได้เป็นภาระกับโรงพยาบาลนครพนม เพราะถือเป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมเท่านั้น


ขณะที่ นลินธรณ์ รัตนวรางกูร ผู้จัดการส่วนตัวของโตโน่ ออกมายืนยันว่า โตโน่และทีมงานมีความพร้อมทุกด้าน ทั้งทีมดูแลความปลอดภัย ทีมจัดกิจกรรม แต่ไม่มีแผนการซ้อมในสถานที่จริง

ส่วนกรณีมีกระแสดรามาเสี่ยงอันตราย ยืนยันโตโน่มีการฟิตร่างกายก่อนว่ายน้ำโขง สำหรับการสนับสนุนด้านต่างๆ ในการทำกิจกรรม เราไม่มีการเรียกร้อง หรือบังคับทุกภาคส่วน ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เพราะมุ่งเน้นทำเพื่อการกุศล หากทั้งรัฐ เอกชน จะให้การสนับสนุน เรายินดีไม่ขัดศรัทธา


แน่นอนว่า ตราบใดที่ยังไม่ถึงวันจริงของภารกิจที่จะเกิดขึ้น ดูเหมือนว่า โตโน่ ก็คงต้องพิสูจน์ตัวเองไปเรื่อยๆ ว่า โปรเจกต์ระดมทุนในครั้งนี้ จะไม่มีใครต้องเสี่ยง สร้างภาระ ทั้งตัวโตโน่ และทีมงานเบื้องหลัง รวมไปจนถึงหน่วยงามทีมแพทย์ อย่างที่กำลังถูกคนจำนวนไม่น้อยวิจารณ์เอาไว้

โดยความเคลื่อนไหวจากเจ้าของภารกิจ อย่างโตโน่นั้น ก็ออกมายืนยันที่จะเดินหน้าต่อ เชื่อมั่นในตัวเองว่า สามารถว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงได้ และขอไม่รับรู้ยอดบริจาคที่ผ่านเข้ามา เพราะต้องการโฟกัสการซ้อม

“จากวันนี้ไป ผมไม่อยากจะรับรู้ยอดแล้วจนกว่าจะถึงวันว่ายถึงฝั่งไทย ไม่ต้องส่งมาบอกผมนะครับ ผมจะโฟกัสที่การซ้อม และการว่ายจริงแล้ว มันตื่นเต้นมากขึ้นทุกวันเลยครับ เรียนตามตรง…”





สกู๊ป : MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น