xs
xsm
sm
md
lg

จีนพบถนนเก่าแก่ 3,000 ปี ไขกระจ่าง ‘เมือง’ ยุคจีนโบราณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


(แฟ้มภาพซินหัว : ส่วนหนึ่งของถนนโบราณที่ค้นพบใหม่ในแหล่งมรดกโลกอินซวี เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)
เมื่อไม่นานนี้ คณะนักโบราณคดีจีนค้นพบ “ถนน” เก่าแก่กว่า 3,000 ปี ที่แหล่งมรดกโลกอินซวี หรือซากเมืองโบราณอิน ในเมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน ซึ่งมอบข้อมูลใหม่แก่การศึกษาซากโบราณดังกล่าว โดยตัวถนนเชื่อมโยงฝั่งตะวันออก-ตะวันตก มีความกว้าง 14 เมตร ณ จุดกว้างที่สุด และปัจจุบันถูกขุดสำรวจแล้ว 80 เมตร

เหออวี้หลิง นักวิจัยจากสถาบันโบราณคดี สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่า ถนนข้างต้นปูด้วยกรวด กระดูก และชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาแตกหักที่มีขนาดใกล้เคียงกัน โดยมีร่องรอยทางเกวียนหลายจุดปรากฏชัดเจนบนพื้นผิวถนนด้วย

ถนนสายใหม่ทอดยาวขนานกับถนนเส้นหนึ่งที่ขุดพบก่อนหน้านี้ ทั้งสองตั้งอยู่ห่างกัน 500 เมตร และตัดกับถนนเชื่อมฝั่งเหนือ-ใต้อีกสายที่พบก่อนหน้า ทำให้กลายเป็นโครงสร้างเมืองที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยมีซากที่อยู่อาศัย หลุมศพ และโรงผลิตงานฝีมือกระจายตัวหนาแน่นริมสองฝั่งถนน

รายงานระบุว่า ผังเมืองโบราณอิน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซางตอนปลาย (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นหนึ่งในจุดสนใจของคณะนักโบราณคดี

ทางแยกถนนแบบเดียวกันนี้เคยถูกพบในซากเมืองโบราณอินแล้ว ทว่าการค้นพบล่าสุดได้มอบข้อมูลใหม่แก่การศึกษาที่เกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายการขนส่งและการแบ่งพื้นที่ใช้สอย โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนเหนือของแม่น้ำหวนเหอที่ไหลผ่านซากดังกล่าว รวมถึงการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างการตั้งถิ่นฐาน รูปแบบการปกครอง และการแบ่งงานในอุตสาหกรรมหัตถกรรมของเมือง

ทั้งนี้ ซากเมืองโบราณอินได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในปี 2006 โดยมีชื่อเสียงโด่งดังจากกระดูกเสี่ยงทายที่ค้นพบภายในซากปรักหักพัง ซึ่งถือเป็นอักษรจารึกภาษาจีนที่มีความเก่าแก่มากที่สุด

ที่มา สำนักข่าวซินหัว

(แฟ้มภาพซินหัว : ถนนโบราณที่ค้นพบใหม่ในแหล่งมรดกโลกอินซวี เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)

(แฟ้มภาพซินหัว : ร่องรอยทางเกวียนปรากฏบนพื้นผิวถนนโบราณที่ค้นพบใหม่ในแหล่งมรดกโลกอินซวี เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)

(แฟ้มภาพซินหัว : ส่วนหนึ่งของถนนโบราณที่ค้นพบใหม่ในแหล่งมรดกโลกอินซวี เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)


กำลังโหลดความคิดเห็น