xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ขอบคุณทุกภาคส่วนความสำเร็จครึ่งทางกัญชา บังคับใช้แล้วควบคุมฉบับใหม่ ขอเลิกคว่ำ กม.เล่นการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



โฆษก คกก.พีอาร์ใช้กัญชา ขอบคุณทุกภาคส่วนในความสำเร็จครึ่งทาง ย้ำ “กัญชา” สมุนไพรควบคุมฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว หวังพวกให้จ้องคว่ำ กม.เลิกเล่นการเมือง ช่วยกันทำกฎหมายควบคุมกัญชาให้ประชาชนได้ใช้อย่างเหมาะสม

วันนี้ (24 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงควรคืบหน้าในเรื่องกัญชา มีเนื้อหาระบุ ดังนี้ กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ซึ่งมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้เปลี่ยนวาระเพื่อพิจารณามาเป็นวาระเพื่อทราบ และยืนยันว่า กัญชาจะไม่กลับไปเป็นยาเสพติดอีก ตลอดจนรับทราบและมีท่าทีสนับสนุนประกาศกระทรวงสาธารณสุขในการให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมฉบับใหม่นั้น

ชัยชนะครึ่งทางที่เกิดขึ้นนั้น ขอขอบคุณภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในเรื่องดังกล่าวจนมีส่วนทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้จนมาถึงวันนี้

และขอขอบคุณรัฐบาลและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ที่ได้ฟังเสียงทักท้วงจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยที่จะนำกัญชาเป็นยาเสพติดอีก และเรียกร้องขอให้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมกัญชาให้ได้อย่างเหมาะสมแทน

ด้งนั้น การเดินทางของกัญชาเพื่อทางการแพทย์​ สุขภาพ และเศรษฐกิจ ยังเหลือ “อีกครึ่งทาง” คือ จะต้องมีกฎหมายมาควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การคว่ำกฎหมายทิ้ง

ประชาชนจึงจะต้องไม่หลงประเด็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่หวังดีต่อบ้านเมืองจริงๆ จะต้องใช้โอกาสในวาระที่ ๒ ของการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ของคณะกรรมาธิการในการลงมติ “แก้ไข” รายมาตราเพื่อให้ได้กฎหมายที่ดีให้ประชาชนได้ใช้ ไม่ใช่ “คว่ำกฎหมาย” ทิ้ง เพื่อไม่ให้ประชาชนมีกฎหมายสำหรับการควบคุมกัญชา

แต่นักการเมืองที่อ้างว่าหวังดีต่อสังคมแต่ประสงค์ร้าย เล่นการเมืองเพื่อให้กัญชาไม่มีกฎหมายมาควบคุม ไม่ทำหน้าที่ “แก้ไข” กฎหมายให้ออกมาอย่างเหมาะสม มุ่งแต่จะคว่ำกฎหมายเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…​ก็ปรับแก้ไขกันในชั้นกรรมาธิการฯซึ่งมีตัวแทนทุกพรรคการเมืองร่วมกันแก้ไขมาอยู่แล้ว

โดยระหว่างการ รอ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… นี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕ ฉบับใหม่ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๕[1] แต่กว่าจะมีการสื่อสารทำความเข้าใจกันในทางการเมือง ก็ล่าช้ามาลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาสำเร็จ (มีความหมายว่ามีผลบังคับใช้) เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕[2] ก็เพื่อมุ่งหวังการควบคุมกัญชาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

โดยการประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สมุนไพรควบคุมกัญชา) ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้[2] ได้อาศัยพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒[3] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยอาศัยคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย[2] ไม่ใช่ประกาศตามประมวลกฎหมายยาเสพติดแต่ประการใด

ดังนั้น ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวนี้จึงไม่ใช่อำนาจการตัดสินใจใดๆของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ส. พิจารณาให้ความเห็นชอบได้เฉพาะเรื่องที่เป็นยาเสพติดเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. มิได้ให้กัญชาและช่อดอกกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕​ แล้ว[4] กัญชาย่อมไม่ใช่เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. จะพิจารณาได้อีกต่อไป

และที่สำคัญ ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่อำนาจของรองนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐมนตรี เนื่องด้วยเพราะเป็น “อำนาจเฉพาะ” ที่ถูกบัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนภายใต้พระราชบัญญัติ คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้นจึงไม่มีใครมีอำนาจที่จะสั่งชะลอการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้เช่นกัน[3]-[6]

อย่างไรก็ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) นั้นไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นฉบับแรก เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมมาแล้ว ๑ ฉบับ คือฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕[7] แต่ฉบับใหม่ล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงคือฉบับที่ ๒ ซึ่งลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕[2]

“หลักการ” สำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ฉบับล่าสุด (วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕) นี้ได้ยกเลิกฉบับเก่า (วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕) ทั้งหมด [2] โดยสรุปแล้วมีผลใน “หลักการ”ทางกฎหมายต่างจากเดิมดังนี้

หลักการแรก เปลี่ยนจาก “ควบคุมต้นกัญชา” เป็น “ควบคุมเฉพาะช่อดอกกัญชา”

โดยจากเดิมเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ “กัญชาทั้งต้น” เป็นสมุนไพรควบคุม [7] แต่หลังจากวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.​๒๕๖๕ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเหลือเป็นเฉพาะ “ช่อดอกกัญชา” เท่านั้นเป็นสมุนไพรควบคุม [2]

แปลว่า นับตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป เมล็ดกัญชา ใบกัญชา รากกัญชา กิ่งลำต้นกัญชา จะไม่ใช่สมุนไพรควบคุม และการเหลือเพียง “ช่อดอก” กัญชาที่ยังต้องมีการควบคุมอยู่ทำให้กำหนดมาตรการควบคุมเข้มข้นขึ้นได้กว่าต้นกัญชาโดยไม่กระทบประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้ประโยชน์กัญชาในเรื่องการพึ่งพาตัวเอง การส่งเสริมสุขภาพ และการทำอาหาร ฯลฯ

หลักการที่สอง เปลี่ยนจาก “อนุญาตกัญชาโดยทั่วไปยกเว้นบางเงื่อนไข” เป็น “การค้าช่อดอกกัญชาจะต้องขออนุญาตทุกกรณีและต้องทำตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด”

โดยหลักการจากเดิมของประกาศกระทรวงสาธารณสุข สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้น “อนุญาตกัญชาโดยทั่วไปยกเว้นบางเงื่อนไข” โดยอนุญาตให้ผู้ที่อายุต้ังแต่ยี่สิบปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายกัญชาได้ ยกเว้นการกระทำเพื่อใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ ยกเว้นการใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร และยังยกเว้นการจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร [7]

แต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้ยกเลิกหลักการ “อนุญาตกัญชาโดยทั่วไปยกเว้นบางเงื่อนไข” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ มาเป็นว่าถ้า “ช่อดอกกัญชาเพื่อการค้า” ไม่ว่าจะศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป จะต้องขออนุญาตและต้องได้รับอนุญาตก่อนทุกกรณี และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการคุ้มครองสังคมและผู้บริโภคได้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม [2]

และการควบคุมที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมนั้น เนื้อหาก็เป็นไปตามแนวทางการควบคุมกัญชาของเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ของสภาผู้แทนราษฎรด้วย

โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้สรุปใจความ ๓ ประเด็นที่สำคัญคือ

ประเด็นที่หนึ่ง กัญชาไม่สามารถจะกลับไปเป็นยาเสพติดโดยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ได้แล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวได้ถูกนำเสนอมาเป็นลำดับขั้นตอนของกฎหมายก่อนการลงมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.)

ย่อมแสดงว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี น่าจะได้พิจารณาเห็นช่องทางอย่างถ่องแท้ในการต่อสู้ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในคดีที่มีผู้ฟ้องต่อคดีศาลปกครองกลางแล้ว

ประเด็นที่สอง ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานทั้งในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และยังต้องออกประกาศกฎกระทรวง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข

ดังนั้น การมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และประกาศกระทรวงอื่นๆ จนถึงวันนี้สามารถควบคุม “ช่อดอกกัญชา” ได้พอสมควร (และมีผลบังคับใช้ควบคุมได้ทันที)ในระหว่างการรอร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….[5],[6]

ความหมายทั้ง ๒ ประการข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่คิดเลวทรามต่ำช้าจะคว่ำกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของคณะกรรมาธิการ (แทนการแก้ไขรายมาตราเพื่อควบคุมให้ดีขึ้น) โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้กัญชาไม่มีกฎกติกา เพื่อทำให้กัญชาเป็นเสรีจนเสียหายต่อประเทศชาติ อันเป็นเหตุอ้างเพื่อจะกลับไปเป็นยาเสพติดนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายดังที่คิดอีกต่อไปแล้ว

เพราะในความเป็นจริงแล้วประกาศกระทรวงสาธารณสุขหลายฉบับที่ผ่านมา ​ตลอดจนประกาศต่างๆของกระทรวงอื่นๆ ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนแล้วว่า กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลเองมีเจตนารมณ์ในการควบคุมกัญชา ในสถานการณ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. ได้ปลดล็อกกัญชาไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีความพยายามแล้วที่จะควบคุมกัญชาภายให้อำนาจที่มีอยู่กล่าวโดยสรุปดังนี้

ประการแรก เป็นการยกเลิกประกาศให้ “กัญชาทั้งต้น” เป็นสมุนไพรควบคุมในฉบับเก่า (ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕)[7] เป็นการประกาศเหลือเฉพาะ “ช่อดอก”ของกัญชาเท่านั้นที่เป็นสมุนไพรควบคุม [2]

ดังนั้น ใบ กิ่งก้าน ลำต้น เมล็ด จะไม่เป็นสมุนไพรควบคุมอีกต่อไป แปลว่าการจำหน่ายใบ กิ่งก้าน ลำต้น เมล็ด หรือแม้แต่ต้นกัญชาที่ยังไม่มีช่อดอก ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการค้าหรือไม่ใช่การค้า จะไม่อยู่ในสถานภาพ “สมุนไพรควบคุม” อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม กัญชา และกัญชงได้ถูกประกาศโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้กำหนดให้กัญชา กัญชง เป็น “เมล็ดพ้นธุ์ควบคุม” ที่ความงอกไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ และความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๙ และต้องเก็บรักษาในสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ [8]

เมื่อเป็น “เมล็ดพันธุ์ควบคุมแล้ว” ผู้ที่จะขายเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชงจะต้องขออนุญาตทุกกรณีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ขายเมล็ดพันธุ์กัญชาจะต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพปริมาณของเมล็ดพันธุ์ต่อเกษตรกร

โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องจัดทำป้าย ติดข้อมูลฉลาก การจัดเก็บตาม ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ขายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๔ และมีบทลงโทษตามมาตรา ๕๖ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไมเ่กิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒ พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีบทลโทษอื่นๆอีกมากเช่น การหลอกลวง การโฆษณาเกินจริง ฯลฯ [9], [10]

ประการที่สอง การศีกษา วิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปช่อดอกกัญชา “เพื่อการค้า” จะทำได้ต้องขออนุญาตทุกกรณี [2] ดังนั้น ผู้ที่ทำการศึกษา วิจัย ช่อดอกกัญชาหรือใช้ส่วนตัวที่ไม่ใช่ “เพื่อการค้า” ก็ไม่ต้องขออนุญาต [2]

ประการที่สาม ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป “ช่อดอกกัญชา” เพื่อการค้า จะต้องจัดทำข้อมูล “แหล่งที่มา, การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้ในสถานประกอบการ” แล้วรายงานต่อกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขให้ทราบ [2]

สำหรับประเด็นนี้เป็นไปเพื่อการดูแลแหล่งที่มาของช่อดอกกัญชา เพื่อควบคุมไม่ให้กัญชาในตลาดมืดที่ไม่รับผิดชอบต่อการปนเปื้อนสารพิษ ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้งเปิดโอกาสให้กัญชาใต้ดินที่ทำอย่างได้มาตรฐานขึ้นมาขออนุญาตอยู่บนดิน เพื่อปฏิบัติตัวให้ได้ตามมาตรฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค ปิดโอกาสผู้ลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาตในการจำหน่าย

ประการที่สี่ คุ้มครองคนกลุ่มเปราะบาง โดยห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชา ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร รวมถึง นิสิต หรือนักศึกษา [2]

โดยก่อนหน้านั้น ก็ยังมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๕​[11] และประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ห้ามร้านค้าในจำหน่ายกัญชา กัญชง ในสถานศึกษา ตลอดจนห้ามนักเรียนและบุคคลากรใช้กัญชา กัญชงเพื่อนันทนาการอยู่แล้ว [12]

ประการที่ห้า ห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชา “เพื่อการสูบ” ใน “สถานที่ประกอบการ” เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนจีน ทันตแพทย์ สัตวแพทย์(สำหรับรักษาสัตว์)[2]

สำหรับประเด็นนี้เท่ากับยอมรับว่า “การสูบ” ซึ่งเป็น “กรรมวิธีการแพทย์แผนไทย” ตามกฎหมาย [13] และสอดคล้องไปกับผลการวิจัยการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์และนันทนาการอย่างมีการควบคุมในประเทศแคนนาดานั้น กัญชาได้มีบทบาทสำคัญในการทดแทน ลด หรือเลิกยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) ที่ก่อให้เกิดปัญหาในสังคม เช่น ยาบ้า แอลกอฮอล์ ฯลฯ [14]-[16]

รวมถึงงานวิจัยในมลรัฐโคโรลาโดที่มีการเปิดการใช้กัญชาในทางการแพทย์และนันทนาการกัญชาแล้วพบว่าเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 12-25 ปี ลดอัตราการสูบบุหรี่ ลดอัตราการดื่มแอลกอฮอล และลอดอัตราการใช้ยาเสพติดอื่นๆลดลงอย่างชัดเจน [17]

นอกจากนั้น ยังปรากฏความสำเร็จในการลดยาเสพติดที่รุนแรง อันนำไปสู่การลดอาชญากรรมจนคุกร้างในประเทศเนเธอร์แลนด์ [18]-[19]

โดยสำหรับประเทศไทยนั้นได้พบกรณีศึกษาในจังหวัดขอนแก่น ที่สอดคล้องกันกับงานวิจัยในต่างประเทศ คือ ”การสูบกัญชา” ลดการลงแดงยาบ้า ทำให้เลิกยาบ้าและกัญชาได้ [20]-[21]

อย่างไรก็ตาม สำหรับการสูบยังมีการควบคุม จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา ๒๕ ของพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้ การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณ ใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น เป็นเหตุรำคาญ [22]

ตัวอย่างเช่น หากสูบกัญชาในที่สาธารณะ โดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ย่อมมีความผิดตามมาตรา ๗๔ ของพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือนหรือปรับไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [23]

ประการที่หก ห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชาผ่านเครื่องขายอัตโนมัติ (Vending Machine)[2] อยู่ภายใต้หลักคิดที่ว่า เครื่องขายอัตโนมัติยังไม่สามารถเชื่อมั่นได้ดีพอว่า มีการวิเคราะห์หรือตรวจสอบกลุ่มเปราะบางได้

ประการที่เจ็ด ห้ามโฆษณา “ช่อดอกกัญชา” เพื่อการค้า [2] ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ทั้งๆที่แอลกอฮอลและยาสูบมีอัตราการเสพติดมากกว่ากัญชา และเป็นโทษต่อสุขภาพหลายมิติยิ่งกว่ากัญชา

ประการที่แปด ควบคุมสถานที่ห้ามจำหน่าย “ช่อดอกกัญชา” หรือสินค้าแปรรูปจากช่อดอกเพื่อการค้า ได้แก่ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (ทุกศาสนา) หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก [2]

ประการที่เก้า สำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป “กัญชาทั้งต้น” ในรูปแบบสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า “มาก่อนหน้านี้” ใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ต่อไปจนหมดอายุ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ [2]

ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ที่จะจำหน่ายกัญชาที่มีช่อดอก หรือช่อดอกกัญชาเป็นไปเพื่อการค้าจะต้องลงทะเบียนใหม่ในฐานะการจำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามประกาศฉบับดังกล่าวนี้

ประการที่สิบ การไม่ขออนุญาต “ช่อดอกกัญชาเพื่อการค้า” ตามหลักเกณฑ์ของสมุนไพรควบคุมที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ มีบทลงโทษตามมาตรา ๗๘ ต้องละวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [3]

ประการที่สิบเอ็ด เมล็ดกัญชาและช่อดอกกัญชา ยังอยู่ในบัญชีให้เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย “เพื่อการผสมในอาหาร” ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ [24]

ส่วน เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบที่ไม่มีช่อดอกติดของกัญชา รวมถึงสารสกัดของกัญชาที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ ของน้ำหนักไม่อยู่ในบัญชีต้องห้ามในอาหาร [24]

โดยผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือจำหน่ายช่อดอก “เพื่อการผสมอาหาร” ย่อมมีความผิดตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๐ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๒ ปี และปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐,๐๐๐ บาท [25]

ประการที่สิบสอง ทั้งกัญชาและกัญชงทั้งต้นจัดเป็น “สมุนไพรที่ห้ามนำเข้า” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ๒๕๖๕ ยกเว้นหน่วยงานภาครัฐ หรือเพื่อการศึกษาของสถาบันการศึกษาและการวิจัย [26]

ดังนั้น ผู้ใดลักลอบนำเข้า “สมุนไพรที่ห้ามนำเข้า” จึงย่อมเป็นการนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทลงโทษตามมาตรา ๙๑ ของพระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๓ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [27]

ประการที่สิบสาม สำหรับการนำกัญชาที่แม้จะไม่ใช่ช่อดอก หรือที่ไม่ใช่สารสกัดกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) เกินกว่าร้อยละ ๐.๒ ของน้ำหนักมาผสมในอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารได้ แต่ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ [25]

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ในส่วนของ “กัญชา” และ “กัญชง” ที่ผสมในอาหารนั้น ได้กำหนดปริมาณของสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) และ สารแคนนาบิไดออล (CBD) ของผลิตภัณฑ์อาหารแต่ละประเภทเอาไว้โดยละเอียดแล้ว [28]-[34]

นอกจากนั้น สำหรับร้านอาหารจะต้องแสดงป้ายที่นำกัญชามาประกอบอาหาร แสดงรายการเมนูที่มีกัญชา รวมถึงคำแนะนำความปลอดภัยในเรื่องกัญชา อันเป็นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕ [35]

ดังนั้น อาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร และการปรุงอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอยู่ อยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน ส่วนที่มีผู้กระทำความผิดที่ผ่านมาเพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐให้โอกาสประชาชนปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านและการเรียนรู้เท่านั้น

ประการที่สิบสี่ สำหรับการนำกัญชามาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แจ้งสรรพคุณ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒[27] และหากเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๕๘[36] และประกาศกระทรวงสาธารณสุขการใช้ส่วนของกัญชงในเครื่องสำอาง [37]

ทั้งนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕ ฉบับลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้ เป็นการประยุกต์ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยมีความสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันกับเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร

การออกประกาศฉบับนี้ ยังคงเป็นหลักประกันอีกด้วยว่า ไม่ว่าร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. ฉบับของคณะกรรมาธิการฯ จะผ่านความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎรด้วยเกมการเมืองอย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่ได้พยายามออกมาตรการควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสมตามอำนาจและกฎหมายที่มีอยู่ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่แล้ว

ดังนั้น หวังว่า นักการเมืองและพรรคการเมืองที่ยังหวังลมๆแล้งๆที่คิดแต่จะ “คว่ำ” พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการ (ซึ่งมาจากตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ)จะได้ลดแรงจูงใจในการคว่ำกฎหมายลง และเห็นแก่ประชาชนมากขึ้น

เพราะการคว่ำกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะไม่มีวันที่จะเกิดเสรีกัญชาจนบ้านเมืองล่มสลายได้แล้ว เพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้มีการควบคุมไปได้พอสมควรแล้ว ฝ่ายที่คิดแต่จะคอยคว่ำกฎหมาย (แทนการแก้ไขกฎหมายรายมาตราให้ดีขึ้น)ต่างหาก ที่ประชาชนจะรู้เท่าทันว่าคนเหล่านี้คิดแต่จะเล่นการเมืองมากกว่าจะเห็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง จริงหรือไม่?

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕

อ้างอิง
[1] ผู้จัดการออนไลน์, “อนุทิน” ลงนามแก้ประกาศ สธ.เพิ่มคุม “ช่อดอกกัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุม, เผยแพร่: ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๒๓ น.
https://mgronline.com/qol/detail/9650000108013

[2] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา)พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๗๒ ง, หน้า ๓-๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2565/E/272/T_0003.PDF

[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒, ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒, เล่มที่ ๑๑๖ ตอนที่ ๑๒๐ ก, หน้า ๔๙-๖๙
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/49.PDF

[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕, วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๓๕ ง, หน้า ๘
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2565/E/035/T_0008.PDF

[5] ข่าวสดออนไลน์, วิษณุ ยันไม่ดึง กัญชา เป็นยาเสพติด เผยประกาศ สธ.มีผล 24 พ.ย. ใช้อุดช่องโหว่ได้, 22 พ.ย. 2565, 17:55 น.
https://www.khaosod.co.th/politics/news_7378585

[6] เนชั่นออนไลน์, ป.ป.ส.เปิดทางประกาศ สธ.“คลายล็อกกัญชา” คุมเข้มช่อดอก เตรียมลง"ราชกิจจาฯ"22 พ.ย. 2565
https://www.nationtv.tv/news/politics/378893665

[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๓๗ ง, หน้า ๙
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2565/E/137/T_0009.PDF

[8] ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐาน คุณภาพ และวิธีเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ควบคุม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๖๔, ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๒๖ ง, หน้า ๕
https://www.doa.go.th/.../2021/08/Q.6-Canabis-2564.pdf

[9] กลุ่มควบคุมพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร, Presentation : พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
http://www.oard4.org/region4/images/Document/12-06-60/พรบ.พันธุ์พืช%202518..pdf

[10] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
https://www.doa.go.th/nitikan/wp-content/uploads/2020/06/พระราชบัญญัติพันธุ์พืช-พ.ศ.-2518-และที่แก้ไขเพิ่มเติม.pdf

[11] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการปฏิบัตเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษาส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ, ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๕๖ ง, หน้า ๒๐-๒๑
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2565/E/156/T_0020.PDF

[12] ประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
http://calendar.buu.ac.th/document/1655699635.pdf

[13] ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่องเกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖, ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๑๖๒ ง หน้า ๒๗, เอกสารแนบท้ายประกาศ หน้า ๒๒ จาก ๔๒ หน้า
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2563/E/162/T_0027.PDF

[14] Lucas, P., Baron, E.P. & Jikomes, N. Medical cannabis patterns of use and substitution for opioids & other pharmaceutical drugs, alcohol, tobacco, and illicit substances; results from a cross-sectional survey of authorized patients. Harm Reduct J 16, 9 (2019).https://doi.org/10.1186/s12954-019-0278-6
https://harmreductionjournal.biomedcentral.com/.../s12954...

[15] Janic Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH), Published Online: May, 2021
https://ajph.aphapublications.org/.../AJPH.2021.306168...

[16] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0229

[17] Jack K. Reed, Impacts of Marijuana Legalization in Colorado, A Report Pursuant to C.R.S. 24-33.4-516, July 2021
https://cdpsdocs.state.co.us/.../2021-SB13-283_Rpt.pdf

[18] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “กัญชา” กับ “เนเธอร์แลนด์โมเดล” ลดปัญหาอาชญากรรม “เรือนจำร้าง” จนต้องนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ, ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 1 ก.ค. 2565 17:15 น. ปรับปรุง: 1 ก.ค. 2565 17:15 น.
https://mgronline.com/daily/detail/9650000062568

[19] ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, เปรียบเทียบสถานะสารเสพติด (กัญชา) ที่ต่างกันสุดขั้วในเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์…….แล้วไทยควรเลือกทางไหน?, เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด, 30 กรกฎาคม 2564 : 9:32:15 น.
https://cads.in.th/cads/content?id=295

[20] ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, บรรยายเสวนาเรื่อง การใช้กัญชาตามภูมิปัญญาไทย, ในงานมหกรรม “เดินหน้า…กัญชาเสรี แก้เจ็บแก้จน” และการอบรมเรื่อง การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการส่งออก, ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ, วันที่ 15 มิถุนายน 2565, Facebook กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, คลิปวีดีโอชั่วโมงที่ 1:11:42 -1:12:60
https://www.facebook.com/dtam.moph/videos/760289735130337

[21] มติชนออนไลน์, เปิดใจ! อดีตขี้ยาเลิกยาบ้าใน 7 วัน ด้วยกัญชา แนะรัฐให้ความรู้ ปชช.ใช้ถูกต้อง, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 - 15:51 น.
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3674865

[22] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควัน กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ, ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕
https://cannabis.fda.moph.go.th/.../06/Law_T0002_150665.pdf

[23] เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A136/%A136-20-9999-update.pdf

[24] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๔, ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๔๕ ง, หน้า ๓๒ และ บัญชีท้ายประกาศหน้า ๓ และ ๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2564/E/045/T_0032.PDF

[25] เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒
http://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=393573&ext=pdf

[26] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๒๙ ง, หน้า ๒๑
https://cannabis.fda.moph.go.th/.../2022/06/T65_0021.pdf

[27] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒, ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๕๖ ก, หน้า ๑๒๑-๑๖๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2562/A/056/T_0121.PDF

[28] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๗) พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนกัญชาหรือกัญชง, ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๘ ง, หน้า ๒๒-๒๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2564/E/168/T_0022.PDF

[29] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนชนิดสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล และสารแคนนาบิไดออล, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๘ ง, หน้า ๒๕-๒๖
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2564/E/168/T_0025.PDF

[30] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๘) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนกัญชาหรือกัญชง (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๓๑-๓๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2565/E/251/T_0031.PDF

[31] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๕) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีน จากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบ ของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีน จากเมล็ดกัญชง, ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๔๙ ง, หน้า ๑-๗
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P425.PDF

[32] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๗) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีน จากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบ ของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีน จากเมล็ด กัญชง (ฉบับที่ ๒), ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๒๙-๓๐
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P437.PDF

[33] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๙) พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ, ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๙๘ ง, หน้า ๙-๑๑
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P429.PDF

[34] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๙) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ (ฉบับที่ ๒), ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๓๔
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P439.PDF

[35] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๙) พ.ศ. ๒๕๖๕, เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2565/E/198/T_0006.PDF

[36] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๕๘, ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๘, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๘๖ ก, หน้า ๕-๒๕
https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/Shared%20Documents/Laws/พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง%20พ.ศ.%202558.pdf

[37] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การใช้ส่วนของกัญชงในเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๖๔, ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๐๕ ง, หน้า ๒-๓
https://cannabis.fda.moph.go.th/.../PK64MOPH...






กำลังโหลดความคิดเห็น