xs
xsm
sm
md
lg

‘ฝ่ายต่อต้านในพม่า’ ประกาศเร่งรุกใหญ่มุ่งสู่ชัยชนะภายในปี 2023 นี่เป็นความผิดพลาดมหันต์ที่อาจทำให้พวกเขาแพ้ย่อยยับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


สมาชิกของกองกำลังพิทักษ์ประชาชนชาวกะยา ถือปืนเล็กยาวที่ประดิษฐ์ขึ้นเองในท้องถิ่น ซึ่งจารึกตัวอักษรภาษาพม่าว่า “การปฏิวัติใบไม้ผลิ” ขณะที่เข้าร่วมการฝึกในค่ายแห่งหนึ่งใกล้ๆ เมืองเดโมโซ ในรัฐกะยา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2021
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Myanmar’s NUG going for broke before its time
By ANTHONY DAVIS
04/11/2022

ฝ่ายต่อต้านคัดค้านคณะปกครองทหารในพม่า ประกาศจุดมุ่งหมายว่าต้องการบรรลุชัยชนะภายในปี 2023 ทว่าการเร่งรัดเปลี่ยนผ่านจากยุทธวิธีสงครามจรยุทธ์ มาสู่การสู้รบแบบกึ่งแบบแผน ถึงแม้อาจจะเนื่องจากเหตุผลความจำเป็นหลายๆ ประการ แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำอย่างรีบร้อน โดยที่สถานการณ์ยังไม่ทันสุกงอม จึงอาจจะลงเอยด้วยความปราชัย 

เวลาผ่านไปไม่ถึง 2 ปีหลังจากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารในพม่า ซึ่งจุดชนวนให้เกิดยุคใหม่ของสงครามกลางเมืองขึ้นมา เวลานี้ฝ่ายต่อต้านที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กำลังพยายามเร่งรัดผลักดันเพื่อให้การสู้รบขัดแย้งที่ยังคงบานปลายขยายตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง ดำเนินไปให้ถึงบทสรุปโดยเร็ว

จากความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government หรือ NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของฝ่ายต่อต้านที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พวกเขากำลังวางเดิมพันที่ความเสี่ยงสูงมาก รวมทั้งส่งผลกลายเป็นการกำหนดให้ช่วงหน้าแล้งของต้นปี 2023 เป็นเวลาที่จะชี้ชะตาอนาคตของประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรียกร้องผลักดัน “การปฏิวัติใบไม้ผลิ” (Spring Revolution) ของพวกเขา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะโค่นล้มการครองอำนาจครอบงำเหนือฝ่ายอื่นๆ ของกองทัพที่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษแล้ว ไปให้ถึงชัยชนะอย่างว่องไวภายในสิ้นปีหน้า

การเรียกร้องดังกล่าวนี้ และติดตามมาด้วยคำทำนายคาดการณ์ที่ว่าจะมีการสู้รบแบบยกระดับสูงขึ้นอีก เกิดขึ้นตามพื้นที่ตัวเมืองใหญ่ต่างๆ โดยที่ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศนั้นดูหมือนจะมีเสียงตอบรับแสดงความพรักพร้อมแล้วในเรื่องนี้

ในเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กับเป็นบทสรุปของการที่ฝ่ายต่อต้านระบอบปกครองทหารพม่า พยายามใช้กำลังเข้ายึดตัวเมืองระดับสำคัญเอาไว้เป็นครั้งแรก หน่วยทหารต่างๆ ของกองทัพปลดแอกแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army หรือ KNLA) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (Peoples Defense Forces หรือ PDFs) ที่เป็นพันธมิตรกัน ได้สู้รบบุกโจมตีเข้าไปในเมืองกอกะเรก (Kawkareik) ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงสายหลักที่เชื่อมระหว่างนครย่างกุ้ง กับเมืองเมียวดี ที่อยู่ใกล้ๆ กับชายแดนไทย

นักวิเคราะห์ของหน่วยข่าวกรองต่างประเทศรายหนึ่งที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ชี้ว่า มีความพยายามเป็นอันมากที่จะเร่งรัดกันอย่างชัดเจน โดยทางรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ รู้สึกว่าพวกเขาต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จไปอย่างรวดเร็ว นั่นคือภายในเวลา 1 ปี

ดูเหมือนว่ามีเหตุผลหลายๆ ข้อที่อยู่เบื้องหลังทำให้ฝ่ายต่อต้านของพม่ามีความคิดความเข้าใจว่าจำเป็นต้องทำให้สงครามนี้ถึงบทสรุปโดยเร็ว ถึงแม้การสู้รบเช่นนี้เริ่มต้นขึ้นมาอย่างจริงๆ จังๆ เพียงเมื่อช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วนี้เอง

แรงขับดันข้อหนึ่งนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าได้แก่ การขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ของการเลือกตั้งแบบ “มีหลายพรรคการเมืองประชันขันแข่งกัน” ซึ่งทางสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council หรือ SAC) ของระบอบปกครองที่เกิดจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจในพม่า วางแผนจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2023 และเป็นที่หวั่นเกรงกันว่า การเลือกตั้งดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะมีข้อบกพร่องผิดพลาดอย่างไรก็ตามที ยังคงอาจจะได้รับการยอมรับ และมีเครติดทางด้านความชอบธรรมขึ้นมาระดับหนึ่งจากมุมมองของนานาชาติ ในเมื่อมีรัฐบาลซึ่งหน้าฉากมองเห็นผู้คนแต่งกายกันด้วยชุดโสร่งแบบพลเรือน แทนที่จะเป็นกางเกงเขียวขี้ม้าของกองทัพ

ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 สภาบริหารแห่งรัฐ ได้พยายามป่าวร้องว่าการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ตนเป็นผู้กำหนดนั้นคือหนทางที่ดีที่สุด และจริงๆ แล้วก็เป็นหนทางเพียงสายเดียวเท่านั้นซึ่งจะนำไปสู่การที่กองทัพถอนตัวออกมาจากเวทีแกนกลางของการเมืองพม่า ทั้งนี้ รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งดังกล่าวนี้ และคณะรัฐบาลผสมกึ่งพลเรือนซึ่งหัวอ่อนว่าง่ายที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น จะได้รับอนุญาต –อย่างน้อยที่สุดก็ในทางทฤษฎี— ให้ทำการปฏิรูปแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ของฝ่ายทหาร เพื่อให้มีเสน่ห์ดึงดูดใจพวกพรรคการเมืองและองค์การติดอาวุธของชาวชาติพันธุ์ต่างๆ ของพม่า

ในเวลาเดียวกัน คณะรัฐบาลกึ่งพลเรือนซึ่งจะอ้างว่าตนเองถือกำเนิดขึ้นมาจากหีบบัตรเลือกตั้ง ก็อาจทำให้พวกรัฐต่างประเทศที่ปรารถนาจะเห็นเสถียรภาพมากกว่าสงครามในพม่า ได้เหตุผลข้ออ้างบังหน้าสำหรับการกลับมีปฏิสัมพันธ์กับทางการเนปยีดอ อีกคำรบหนึ่ง

ประเทศดังกล่าวเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ประกอบด้วยพวกพันธมิตรเผด็จการร่วมสาบานของ คณะบริหารแห่งรัฐ ในมอสโกและปักกิ่งเท่านั้น แต่ยังอาจจะครอบคลุมถึงประเทศอื่นๆ กว้างขวางกว่านั้นมาก เป็นต้นว่า อิหร่าน ปากีสถาน หลายๆ ชาติในสมาคมอาเซียน และกระทั่งว่าจะรวมถึงประเทศประชาธิปไตยอย่างอินเดีย หรือแม้แต่ญี่ปุ่น

มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะปกครองทหารของพม่า น่าจะมุ่งหวังครองตำแหน่งประธานาธิบดี ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคมปี 2023 ซึ่งฝ่ายทหารเป็นผู้กำหนดกฎกติกา  ทั้งนี้ สภาบริหารแห่งรัฐ ที่คณะปกครองทหารของเขาจัดตั้งขึ้นมา ยังคงมีภาพลักษณ์เป็นลบอย่างยิ่งในสายตาของนานาชาติ โดยเฉพาะฝ่ายตะวันตก กระนั้นฝ่ายต่อต้านของพม่าก็รู้สึกกันว่า ความสนับสนุนของฝ่ายตะวันตกที่ให้แก่พวกเขา ยังคงอยู่ในลักษณะแค่เป็นคำแถลงที่ว่างเปล่า
เหตุผลกดดันอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านของพม่ารู้สึกว่าต้องเร่งรัดการสู้รบขัดแย้งให้จบลงโดยเร็ว น่าจะมาจากความกังวลไม่แน่ใจว่าแรงสนับสนุนของประชาชนที่ให้กับการต่อสู้ซึ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นี้ จะสามารถประคับประคองเอาไว้ได้อีกยาวนานแค่ไหน ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่สิ้นหวัง โดยตามการประมาณการของสหประชาชาติระบุว่า จะได้เห็นเกือบๆ ครึ่งหนึ่งของประชากรชาวพม่าจำนวนทั้งสิ้น 55 ล้านคน มีชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งย่ำแย่ต่ำกว่าเส้นความยากจนแห่งชาติภายในปีนี้

ประการสุดท้าย สืบเนื่องจากความสนับสนุนจากพวกชาติประชาธิปไตยฝ่ายตะวันตก และองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลายจำกัดอยู่เพียงแค่การออกคำแถลงที่ว่างเปล่าซึ่งคัดลอกและดัดแปลงจากร่างแม่แบบที่ตระเตรียมไว้ สำหรับแสดงความโกรธเกรี้ยวต่อการกระทำอย่างเกินเลยของระบอบปกครองทหารที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นั้นๆ ฝ่ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติจึงประสบกับข้อจำกัดบีบคั้นทั้งทางการเงินและทางการทหาร และกลายเป็นเหตุผลอีกอย่างหนึ่งสำหรับการต้องเร่งสปีด แทนที่จะปล่อยให้เกิดความไม่แน่ไม่นอน เมื่อการสู้รบยืดยาวออกไปกลายเป็นสงครามแบบยืดเยื้อ

“ถ้าพวกเขารอคอยกันนานเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆ เลยก็คือพวกเขาอาจจะไม่มีเงินทองสำหรับการทำเรื่องนี้ให้สำเร็จแล้ว” เป็นคำพูดที่สะท้อนออกมาจากนักวิเคราะห์ของหน่วยข่าวกรองต่างประเทศคนเดียวกัน

ทั้งนี้ เงินทองที่หามาได้ด้วยความยากลำบาก ซึ่งจำนวนมากทีเดียวได้จากการบริจาคของพวกผู้สนับสนุนภายในประเทศ และจากแผนการระดมทุนอย่างสร้างสรรค์มีนวัตกรรมของ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ มีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับการจัดซื้อจัดหาอาวุธ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ให้แก่พวกพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบขัดแย้ง ตลอดจนการให้ความสนับสนุนแก่พวกกองกำลังพิทักษ์ประชาชนระดับท้องถิ่นที่ดูจะมีอยู่มากมายเหลือเกิน ทั้งนี้เพื่อจะเปลี่ยนกลับมาให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ มีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการและควบคุมแบบรวมศูนย์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ความเสี่ยงที่มาจากความพยายามเร่งรัด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเมื่อพิจารณาถึงพื้นภูมิหลังลึกลงไป จะทำให้มองเห็นถึงเหตุผลบีบคั้นต่างๆ เหล่านี้ แต่การผลักดันเพื่อให้ได้รับชัยชนะจากการปฏิวัติอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาราว 10 เดือนข้างหน้า ถือว่ามีความเสี่ยงอย่างน่าหวั่นใจอยู่ดี ถ้าหากจะเปรียบเทียบกันให้เห็นง่ายๆ พวกกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ไม่ว่าจะลงมือปฏิบัติการเฉพาะลำพังตนเอง หรือได้รับความสนับสนุนจากบรรดาพันธมิตรชาวชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ตามที กำลังพยายามที่จะวิ่ง ก่อนที่พวกเขาจะสามารถเดินได้ และมีโอกาสสูงที่ล้มคว่ำหน้าคะมำ

ในมิติทางการทหาร ฉากทัศน์เช่นนี้หมายถึงว่า พวกกองกำลังจรยุทธ์ที่มีการจัดระเบียบจัดองค์กรกันอย่างหลวมๆ โดยยังคงขาดไร้ทั้งในเรื่องการร่วมมือประสานงานกัน การฝึกอบรม ความสนับสนุนด้านอาวุธ โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันเพื่อต่อสู้อากาศยาน แต่พวกเขากลับกำลังมุ่งมั่นจะเข้าสู้รบกับกองทหารที่ติดอาวุธอย่างพร้อมพรักของระบอบปกครองเนปยีดอ ซึ่งอยู่ในสภาพต้องสู้รบดิ้นรนให้ตนเองอยู่รอดในลักษณะหลังชนกำแพง

การสู้รบขัดแย้งสมัยใหม่นั้นเกลื่อนกล่นไปด้วยบทเรียนที่เรียนรู้มาด้วยเลือด จากกองกำลังปฏิวัติทั้งหลาย แม้กระทั่งพวกที่มีการจัดระเบียบจัดองค์กรกันอย่างดีและมีประสบการณ์สูง เมื่อพวกเขาพากเพียรพยายามก่อนสถานการณ์สุกงอม เพื่อแปรเปลี่ยนจากยุทธวิธีแบบจรยุทธ์ (การรบแบบกองโจร) มาเป็นการปฏิบัติการแบบกึ่งกองทัพแบบแผน เพื่อโจมตีเอาชนะระบอบปกครองที่ตั้งรับอย่างเหนียวแน่น ตามที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ ความพยายามเหล่านี้ปกติแล้วมักกำเนิดมาจากแรงบีบคั้นกดดันทางการเมือง ซึ่งมีทั้งที่เป็นแรงกดดันจริงๆ และที่เป็นความรับรู้ความเข้าใจกันว่าเป็นเช่นนั้น แล้วบวกด้วยการประเมินศัตรูอย่างต่ำกว่าความเป็นจริงโดยวินิจฉัยว่ามันใกล้ที่จะพังครืนอยู่แล้ว

ตัวอย่างครั้งหนึ่งของกลุ่มอาการโรค “เร่งรีบไปสู่ชัยชนะ” ซึ่งนำไปสู่ความหายนะอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ได้แก่ ความพยายามเมื่อต้นปี 1951 ของหวอ เงวียน ซ้าป (Vo Nguyen Giap ในภาษาไทยเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า โวเหงียนเกี๊ยบ) นายพลชาวเวียดนามผู้ได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างกว้างขวาง ที่มุ่งโจมตีทำลายแนวป้อมค่ายล้อมรอบพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกองทหารอาณานิคมของฝรั่งเศส เพื่อการป้องกันเมืองหลวงฮานอย

ความสูญเสียด้านมนุษย์อย่างน่าตื่นตกใจที่บังเกิดขึ้นในช่วงการรณรงค์สู้รบที่กินเวลาราว 3 เดือน—โดยที่การสู้รบครั้งนั้นยังเป็นครั้งแรกซึ่งมีการใช้ระเบิดนาปาล์ม (ระเบิดที่มีการทำปฏิกิริยาเคมีซึ่งทำให้เกิดความร้อนสูงลิ่ว และทำให้เกิดไฟเผาผลาญอย่างรุนแรงเมื่อมีการระเบิดขึ้นมา) ทิ้งลงจากทางเครื่องบิน ที่สามารถสร้างความวิบัติหายนะให้แก่กองกำลังทหารราบซึ่งรวมพลกันอยู่เป็นจำนวนมากๆ – เกือบๆ ทำให้ นายพลซ้าป หมดอนาคตทางอาชีพไปเลย และส่งผลเสียหายหนักหน่วงให้แก่สงครามที่ลงท้ายแล้วฝ่ายเวียดมินห์ (Viet Minh) ผู้ต่อต้านระบอบอาณานิคมก็ยังไม่สามารถคว้าชัยชนะได้เสียที จวบจนกระทั่งมาถึงยุทธการซึ่งฝ่ายเวียดมินห์มีการตระเตรียมดีขึ้นกว่าเดิมมากมายนัก ณ สมรภูมิเดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu) ในอีก 3 ปีถัดมา

การต่อสู้ปฏิวัติของเวียดนามนี้ ในช่วงหลังๆ ต่อมา ยังได้พบเห็นกองกำลังเวียดกง (Viet Cong) เปิดฉาก “การรุกใหญ่ช่วงตรุษญวน” (Tet Offensive) ของพวกเขาในตลอดทั่วทั้งเวียดนามใต้ในเดือนมกราคม 1968 เนื่องจากมีการคาดหมายกันอย่างมุทะลุว่ามันจะสามารถจุดชนวนให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือโครงสร้างพื้นฐานทางทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้ซึ่งใช้เวลาสร้างสมกันอยู่สิบกว่าปี ถูกทำลายย่อยยับไปโดยกองกำลังของอเมริกันและกองกำลังของฝ่ายไซ่ง่อนที่เป็นพันธมิตรของพวกเขา และชัยชนะของสงครามเวียดนามในขั้นสุดท้ายเมื่อปี 1975 ก็ไม่ใช่ได้มาด้วยฝีมือของกองกำลังเวียดกงที่ยังคงอยู่ในอาการเดี้ยงไม่ทันฟื้นตัว แต่เป็นผลงานของกองทัพเวียดนามเหนือ

หันมาดูในอีกซีกหนึ่งของทวีปเอเชีย การเมืองและความมั่นใจจนเกินเหตุก็เคยขับดันให้เกิดความหายนะอย่างกะทันหันทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน เมื่อฤดูใบไม้ผลิของปี 1989 ตอนที่กองจรยุทธ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอัฟกานิสถาน ตัดสินใจเปิดการรุกอย่างรวดเร็วเพื่อคว้าชัยชนะ ทั้งนี้ ด้วยการรบเร้าจากสำนักงานข่าวกรองปากีสถาน ซึ่งกระหายที่จะจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวของฝ่ายค้านขึ้นมา หลังจากที่กองทหารโซเวียตถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถานแล้ว กลุ่มนักรบมูจาฮีดีนฝ่ายต่างๆ ตัดสินใจหาทางจุดชนวนให้ระบอบปกครองคอมมิวนิสต์อัฟกันในกรุงคาบูลล้มครืนตามไป ซึ่งพวกเขาคิดว่าจะทำได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ พวกเขาจึงเปิดการโจมตีแบบมีการจัดกำลังวางแนวรบขึ้นมา ณ เมืองจาลาลาบัด (Jalalabad) ทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน

ปรากฏว่า พวกนักรบชาวชนเผ่าที่ยังไม่เคยผ่านการฝึกรบเช่นนั้นมาก่อนถูกตีแตกกระเจิงอย่างไม่เป็นขบวน โดยฝีมือกองกำลังภาคพื้นดินที่ติดอาวุธดีกว่าของระบอบปกครองคาบูล ซึ่งออกสู้รบด้วยความต้องการที่จะมีชีวิตรอดต่อไป รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากการถล่มโจมตีทางอากาศตลอด 24 ชั่วโมง การพังทลายของคณะรัฐบาลอัฟกันของประธานาธิบดีโมฮัมหมัด นาจิบุลเลาะห์ (Mohammad Najibullah) กว่าจะเกิดขึ้นจริงๆ ก็ต้อง 3 ปีหลังจากนั้น โดยมีสาเหตุสืบเนื่องจากเกิดการแตกแยกขึ้นภายใน ซึ่งมีแรงขับดันจากการที่โซเวียตยุติการให้เงินงบประมาณสนับสนุน

พิจารณาจากบริบทของพม่า กองกำลังของฝ่ายต่อต้านที่เห็นได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับการรุกโจมตีแบบมีการจัดตั้งแนวรบเป็นแบบแผนนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบความเพลี่ยงพล้ำ และอันตรายของความเพลี่ยงพล้ำในระดับนี้อยู่ตรงที่ว่า มันมีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบอย่างชนิดวิบัติหายนะให้แก่ขวัญกำลังใจของประชาชน รวมทั้งทำให้เกิดความรู้สึกขาดไร้หมดหนทางเลือกอย่างอื่นๆ ที่มีความชัดแจ้งว่าอาจนำไปสู่ชัยชนะได้

กองพลน้อยที่ 7 ของกองทัพปลดแอกแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army หรือ KNLA) เดินสวนสนามเพื่อเฉลิมฉลองวันปฏิวัติกะเหรี่ยง ที่กองบัญชาการของพวกเขาในรัฐกะเหรี่ยง ทางภาคตะวันออกของพม่า เมื่อปี 2015
จวบจนถึงเวลานี้ กระทั่งการโจมตีที่เข้าร่วมโดยกลุ่มพันธมิตรระหว่างกองกำลังพิทักษ์ประชาชน และพวกองค์กรต่อต้านของชาวชาติพันธุ์ (ethnic resistance organizations หรือ EROs) ซึ่งถือว่ามีการติดอาวุธในระดับค่อนข้างดีทีเดียว ก็ยังคงล้มเหลวไม่สามารถยึดพื้นที่ตัวเมืองต่างๆ เอาไว้ได้ เมื่อเผชิญกับการตอบโต้โจมตีกลับโดยอาศัยอาวุธอย่างระบบจรวดหลายลำกล้อง (multiple launch rocket systems หรือ MLRS) และการถล่มโจมตีทางอากาศซ้ำแล้วซ้ำอีกของระบอบปกครองเนปยีดอ ที่ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่ยอมสูญเสียพื้นที่ศูนย์กลางเขตตัวเมืองใดๆ

เรื่องเช่นนี้มีตัวอย่างที่สามารถมองเห็นภาพได้อย่างถนัดตาเป็นครั้งแรก ในพื้นที่ภายในและรอบๆ เมืองลอยกอ (Loikaw) เมืองเอกของรัฐกะยา (Kayah state) เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ และอีกครั้งหนึ่งคือเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในบริเวณรอบๆ เมืองป๊าย (Moebye) ซึ่งอยู่ตรงพรมแดนรัฐกะยาติดต่อกับรัฐชาน (Shan state)

แล้วจากนั้นในเดือนตุลาคม การสู้รบเพื่อชิงเมืองกอกะเรก ซึ่งตั้งคร่อมถนนสายที่มุ่งหน้ามายังพรมแดนไทย ก็ถูกตีโต้จากฝ่ายทหารพม่า จนต้องถอยกลับด้วยบทเรียนอย่างเดียวกันอีก นั่นคือ การโจมตีทางอากาศ และปืนใหญ่ ตลอดจนจรวดหลายลำกล้อง ยังคงเป็นเจ้าเหนือกว่าใครๆ

เวลาเดียวกัน ในเขตอื่นๆ ทางภาคตะวันตกของประเทศ อย่างภาคสะไกง์ (Sagaing) และภาคมะกเว (Magway) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วกองกำลังพิทักษ์ประชาชนของภาคเหลานี้ออกปฏิบัติการโดยปราศจากการสนับสนุนโดยตรงจากพวกองค์กรต่อต้านของชาวชาติพันธุ์ จวบจนถึงตอนนี้ พวกเขายังคงไม่สามารถ หรือไม่มีความปรารถนาที่จะบุกเข้าไปให้ถึงย่านศูนย์กลางของเมือง แม้กระทั่งในเมืองที่ค่อนข้างเล็ก และแม้กระทั่งว่าเป็นการล่วงล้ำเข้าไปเพียงช่วงสั้นๆ

เมื่อมองดูพื้นภูมิหลังกันอย่างเคร่งครัดจริงจังเช่นนี้แล้ว การเรียกร้องต้องการให้ได้ชัยชนะภายในปี 2023 มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความคาดหวังอย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และทำให้มีผลต่อเนื่องที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ดีงามอะไรขึ้นมา ทั้งนี้ การเข้าโจมตีแบบเพ้อๆ ฝันๆ ใส่ที่มั่นซึ่งมั่นคงเข้มแข็ง มีแต่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายอย่างหนักหน่วงในหมู่กองกำลังต่อต้านของประชาชน ที่ยังคงขาดไร้การประสานงานกันในทางการจัดระเบียบจัดองค์กร ตลอดจนในการสร้างความเป็นผู้นำที่จะดูดซับพวกเขา

ฉากทัศน์ระดับเลวร้ายที่สุดที่คาดคะเนกันว่าอาจจะเกิดขึ้นมาได้ก็คือ เกิดการเพลี่ยงพล้ำในทางยุทธศาสตร์ ซึ่งทำให้ขบวนการประชาธิปไตยต่อต้านทหารนี้เสียหายหนัก และอาจต้องใช้เวลากันเป็นปีๆ กว่าที่จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ใหม่

แล้วตอนนี้สามารถที่จะทำอะไรได้บ้าง?

แบบแผนวิธีการที่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงในการเดินหน้าต่อไปขณะที่ต้องเผชิญกับเงื่อนไขความจำกัดทางด้านเวลาที่หดสั้นลงเรื่อยๆ และศักยภาพก็ยังคงด้อยพัฒนานั้น ควรจะต้องเน้นหนักให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ แก่การยกระดับสร้างสมรรถนะในด้านการรุก และแก่การปฏิบัติการซึ่งมุ่งหมายที่จะใช้ช่วงเวลา 1 ปีข้างหน้านี้เพื่อสร้างโมเมนตัมทางทหารอันน่าเชื่อถือเป็นที่ไว้วางใจขึ้นมา จากที่ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

ความสำเร็จในการสร้างแรงกระตุ้นจูงใจชนิดที่สามารถมองเห็นได้ในสนามรบเช่นนี้ จะทำหน้าที่เพิ่มความสนับสนุนภายในประเทศถ้าหากมันเริ่มที่จะหย่อนยานลง ให้กลับคึกคักเข้มแข็งขึ้นมาอีก เวลาเดียวกันก็ยังทำหน้าที่สั่นคลอนลดทอนขวัญกำลังใจที่เปราะบางอยู่แล้วในหมู่ผู้คนที่อยู่ภายใต้การปกครองบังคับบัญชาของสภาบริหารแห่งรัฐ พร้อมกันนั้น ความสำเร็จที่สามารถสัมผัสได้ชัดเจนเช่นนี้จะเป็นการสาธิตให้ประชาคมระหว่างประเทศซึ่งยังคงลังเลสงสัยอยู่ มองเห็นว่าระบอบปกครองเนปยีดอ กำลังเผชิญหน้า – อย่างน้อยก็ในบางรูปแบบในบางระดับ— กับการแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ในทางการทหาร และความพ่ายแพ้ในทางการเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อย่างที่เหตุการณ์ต่างๆ นับตั้งแต่การรัฐประหารยึดอำนาจได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้วว่า การที่จะต่อต้านการปกครองของฝ่ายทหารให้ประสบความสำเร็จได้นั้น มีแต่จะต้องสร้างพลังแห่งการต่อต้านขึ้นมาบนรากฐานของความเป็นพันธมิตรร่วมสู้รบระหว่าง 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งคือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งครอบงำโดยชาวชาติพันธุ์พม่า และกองกำลังพิทักษ์ชาติกลุ่มต่างๆ ที่โดยทั่วไปประกอบด้วยชาวพม่ามากกว่าคนชาติพันุ์อื่นๆ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ได้แก่พวกองค์กรต่อต้านของชาวชาติพันธุ์ –ไม่ว่าจะเป็น กะฉิ่น ชิน กะเหรี่ยง กะยา ชาน ยะไข่.และชาวชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีศักยภาพทั้งหลาย— ทั้งนี้ หากปราศจากการสนับสนุนและการเข้าร่วมอย่างกระตือรือร้นของพลังเหล่านี้แล้ว รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและกองกำลังพิทักษ์ประชาชนก็ไม่อาจที่จะชนะสงครามนี้ได้

การสร้างความเป็นพันธมิตรนี้ให้มั่นคงเข้มแข็ง เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับช่วงหลายๆ เดือนข้างหน้านี้ที่จะมีความสำคัญยิ่งยวดในทางการทหารนั้น จะสำเร็จขึ้นมาได้จะต้องมีการสร้างความไว้วางใจกัน –อย่างรวดเร็ว— ในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านักหนาจากระดับที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ เพื่อเป็นการอุดช่องว่างอันกว้างใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นจากการแตกแยกกันในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภาระหน้าที่อย่างเต็มๆ ของการขจัดข้อระแวงสงสัยใดๆ ที่ยังเหลืออยู่ของพวกองค์กรต่อต้านของชาวชาติพันธุ์ เกี่ยวกับคำมั่นสัญญาของฝ่ายชาวพม่าในข้อตกลงว่าด้วยความเป็นสหพันธรัฐครั้งใหม่ ย่อมต้องตกเป็นของ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ตลอดจนพวกซึ่งอยู่ในรัฐบาลนี้ที่มาจากคณะบริหารชุดก่อนของสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy หรือ NLD) ของที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออง ซาน ซูจี ที่ปัจจุบันถูกฝ่ายทหารจำคุกคุมขังอยู่

พวกผู้ประท้วงพากันถือโปสเตอร์ที่มีภาพของ ออง ซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนซึ่งถูกควบคุมตัวเอาไว้ ระหว่างการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านการทำรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหาร ณ กรุงเนปยีดอ เมืองหลวงของพม่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021  ถึงแม้ ซูจี ยังคงมีอิทธิพลครองใจผู้คนจำนวนมาก แต่พม่าในยุคหลังการรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหาร ซึ่งตามมาด้วยการต่อต้านอย่างแรงกล้าของประชาชน ก็เปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียวจากสมัยที่เธอเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในคณะรัฐบาล
ผลงานอันมืดมนน่าเศร้าใจที่ผ่านมา ซึ่งความยะโสโอหังแบบที่ถือว่าคนพม่าเท่านั้นคือผู้ที่เกิดมาเพื่อเป็นผู้ปกครอง ได้กลายเป็นคุณสมบัติของรัฐบาลพรรค NLD และอยู่เบื้องลึกของความล้มเหลวของพรรคในการทำความเข้าใจ –อย่าว่าแต่แก้ไขคลี่คลาย—ความทุกข์ยากคับข้องใจของชาวชาติพันธุ์ โดยที่ในปัจจุบันมันก็ยังคงหลงเหลือกลายเป็นมรดกที่กัดหนองเน่าเปื่อยอยู่อย่างต่อเนื่อง ความระแวงสงสัยเหล่านี้มองเห็นกันได้อย่างแจ่มแจ้งมากจากเรื่องเล่าขานที่ว่า เมื่อช่วงก่อนหน้านี้ของปีนี้ ทางองค์กรต่อต้านของชาวชาติพันธุ์ได้กล่าวอ้างอิงเปรียบเทียบอย่างเจ็บแสบว่า การสู้รบขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็น “การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันในระหว่างชาว (ชาติพันธุ์) พม่า”

ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ถ้าหากพวกคนรุ่นเก่าในหมู่นักการเมืองพรรค NLD ซึ่งเวลานี้อยู่ตรงแกนกลางของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ยังคงล้มเหลวไม่ “ยินยอมเดินหน้าไปให้ไกลมากขึ้นอีก” เพื่อสร้างความพอใจและบรรเทาความระแวงสงสัยของพวกองค์กรต่อต้านของชาวชาติพันธุ์แล้ว มันก็อาจกลายเป็นการสร้างความหายนะให้แก่ความสำเร็จของสงครามปฏิวัติ ซึ่งเวลานี้ได้ผลักดันเคลื่อนพม่าให้ไกลห่างออกมาจากยุคสมัยของ ซูจี ตลอดจนการเมืองแบบวิวัฒนาการที่เธอสร้างขึ้นมาตามบุคลิกส่วนตัวของเธอเอง

ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป การแก้ไขคลี่คลายความห่วงกังวลข้อฉกาจฉกรรจ์ของพวกชาวชาติพันธุ์ เป็นต้นว่า รัฐธรรมนูญของรัฐต่างๆ ในสหพันธรัฐซึ่งจะเกิดขึ้นมาในอนาคต –ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัว ซูจี เคยคัดค้านอย่างแข็งขันเมื่อตอนที่เป็นรัฐบาล— จะมีความสำคัญในระดับชี้เป็นชี้ตายทีเดียว

หน่วยกองกำลังโจมตีของประชาชน

ถ้าหากสามารถสร้างเสถียรภาพให้แก่รากฐานของการจัดทำข้อตกลงทางการเมืองระหว่างชาวชาติพันธุ์ต่างๆ ขึ้นมาได้ ก็แทบจะแน่นอนทีเดียวว่า ยุทธศาสตร์ทางการทหารใดๆ สำหรับปี 2023 จำเป็นที่จะต้องนำหน้าด้วยการจัดระเบียบจัดองค์กรเพื่อให้มีหน่วยทหารที่เพรียวลมทรงประสิทธิภาพขึ้นมา ซึ่งจะดำเนินปฏิบัติการรุกโจมตีต่อเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจง

“กองกำลังโจมตีของประชาชน” (Peoples Assault Units หรือ PAUs) ที่จะจัดตั้งกันขึ้นมาใหม่เหล่านี้สร้างขึ้นจากกองกำลังพิทักษ์ประชาชนซึ่งมีอยู่แล้วในเวลานี้ ทว่าแตกต่างออกไปในเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์ บุคลากรที่ผ่านการฝึก และความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว โดยที่คุณสมบัติเหล่านี้จะกลายเป็นเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างระยะของสงครามในอดีตกับระยะของสงครามในอนาคต

หากจะมุ่งหวังผลให้มากที่สุดแล้ว กองกำลัง PAUs เหล่านี้อาจจะเริ่มต้นการปฏิบัติการในรูปแบบของการเป็นหน่วยคอมมานโดจู่โจมระดับกองร้อย ที่ประกอบด้วยกำลังทหารระหว่าง 200-250 คน โดยประกอบอาวุธชนิดให้ความสำคัญลำดับต้นๆ กับการเป็นหน่วยทหารที่มีมาตรฐาน พร้อมกันนั้นก็มีอาวุธเพื่อการสนับสนุนอย่างกว้างขวางพอสมควร เป็นต้นว่า ปืนกล เครื่องยิงจรวด หรืออาร์พีจี และปืนครก และจากการที่กองทหารระดับกึ่งก้องร้อยปกติเหล่านี้ในเวลานี้ยังขาดแคลนในเรื่องการป้องกันภัยทางอากาศ พวกเขาจำเป็นที่จะต้องได้รับการชดเชยด้วยเครื่องพรางตัวต่างๆ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการกระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว

การปฏิบัติการของหน่วย PAUs เหล่านี้ จำเป็นต้องมีการร่วมมือประสานงานกันอย่างน้อยที่สุดก็ในระดับทั่วทั้งเขต หรือทั่วทั้งรัฐ และในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้มีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องหลีกเลี่ยงการพยายามเข้าโจมตีศูนย์รวมประชากรต่างๆ ซึ่งทั้งไม่ได้ประโยชน์อะไรและยังต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างแพงลิ่ว โดยที่การปฏิบัติการของหน่วยเหล่านี้อาจอยู่ใต้การควบคุมสั่งการของคณะกรรมการประสานงานส่วนกลาง (Central Coordinating Committee หรือ CCC) ของกระทรวงกลาโหมรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือของพวกองค์การต่อต้านชาวชาติพันธุ์ที่ร่วมอยู่ในกลุ่มพันธมิตร ทั้งนี้อาจจะมุ่งโฟกัสความสนใจไปที่พวกชุดเป้าหมายเบื้องต้นต่างๆ 3 ระดับ

ชุดเป้าหมายที่อยู่ในระดับต่ำที่สุด คือสิ่งที่มองเห็นกันได้อย่างง่ายดายอยู่แล้ว ได้แก่พวกที่มั่นของกองทหารหรือกองกำลังอาวุธท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมากมาย โดยปกติแล้วเป้าหมายเหล่านี้มักขาดแคลนกำลังพลและได้รับการส่งกำลังบำรุงอย่างย่ำแย่ การโจมตีพวกที่มั่นเช่นนี้อันที่จริงได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้วในระหว่างฤดูมรสุมที่เพิ่งสิ้นสุดลงไป โดยที่โดดเด่นเลยคือในรัฐกะเหรี่ยง และรัฐกะยา แต่ก็ยังปรากฏให้เห็นในรัฐชิน ที่อยู่ทางภาคใต้ และรัฐยะไข ที่อยู่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ยะไข่ นั้น ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นว่า กองทัพอารากัน (Arakan Army หรือ AA) ได้เริ่มต้นโดดเดี่ยวและเข้าทำลายพวกที่มั่นของกองทัพบกพม่าที่อยู่ในตำแหน่งล่อแหลม ทั้งในเขตเมืองปะเละวะ (Paletwa) และเขตเมืองมองตอ (Maungdaw)

อย่างไรก็ดี จวบจนถึงเวลานี้ การปฏิบัติการเช่นนี้ยังไม่ได้มีการบูรณาการเข้ามาอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ที่มีขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อจะได้มีการวางแผนอย่างเฉพาะเจาะจงที่มุ่งบีบบังคับสมรรถนะในการตอบโต้ของระบอบปกครอง ให้ตกอยู่ในอาการกระจัดกระจายออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกำลังทางอากาศ

สำหรับการโจมตีที่ประสบความล้มเหลวถูกขับไล่กลับมานั้น –อย่างเช่นความพยายามอย่างยืดเยื้อของกองกำลังอาวุธของฝ่ายกะเหรี่ยง ที่จะเข้าตีที่มั่นอูกะยิ ทะ (Ukayit Hta) ใกล้ๆ ชายแดนไทยในปลายเดือนมิถุนายนและต้นเดือนกรกฎาคม— มีสาเหตุมาจากความล้มเหลวในเรื่องการรวมศูนย์กำลังให้มีจำนวนเพียงพอเพื่อบุกเข้าตีที่มั่นได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่ฝ่ายระบอบปกครองจะสามารถระดมกำลังทางอากาศมาตอบโต้ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายเข้าตีตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างชัดเจน

สำหรับชุดเป้าหมายระดับที่สอง พวกหน่วยกองกำลังโจมตีของประชาชน จะถูกส่งไปจู่โจมทำลายพวกเป้าหมายที่มีความเข้มแข็ง โดยเป็นโครงสร้างทางทหารที่มีความสำคัญมาก เป็นต้นว่า คลังจ่ายน้ำมัน โรงงานเครื่องกระสุน ฐานทัพอากาศ และศูนย์ฝึกทหารต่างๆ

ด้วยการวางแผน การสอดแนม และการข่าวกรองที่อยู่ในระดับยอดเยี่ยม การจู่โจมดังกล่าวตามอุดมคติแล้วจะอาศัยความมืดในการพรางตัวเพื่อบุกเข้าโจมตีพวกเป้าหมายพิเศษเฉพาะต่างๆ เหล่านี้อย่างรุนแรงและทำลายให้เสียหายไป จากนั้นก็ถอนตัวออกมาโดยไม่พยายามที่จะยึดพื้นที่เอาไว้

สมาชิกคนหนึ่งของกองกำลังพิทักษ์ประชาชนชาวกะยา ถืออาวุธของเขา ขณะเข้าร่วมการฝึกทหารที่ค่ายแห่งหนึ่งใกล้ๆ เมืองเดโมโซ ในรัฐกะยา เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2021 ทั้งนี้ที่ผ่านมา กองกำลังพิทักษ์ประชาชน ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเข้ายึดครองศูนย์กลางตัวเมืองใดๆ เลย
ความเคลื่อนไหวทางทหารตามเส้นทางคมนาคมทั้งทางถนนและรางรถไฟที่สำคัญต่างๆ ย่อมถือเป็นจุดอ่อนเปราะของพวกระบอบปกครองที่ครองอำนาจอยู่ และนี่คือพวกชุดเป้าหมายระดับที่สาม การโจมตีเช่นนี้มีการดำเนินการอยู่แล้วโดยพวกกองกำลังพิทักษ์ประชาชนระดับท้องถิ่นในลักษณะเฉพาะกิจ ทั้งนี้ การก่อกวนขบวนลำเลียงของกองทัพโดยใช้พวกระเบิดแสวงเครื่อง ถือเป็นยุทธวิธีการต่อต้านที่สำคัญอย่างยิ่งมาตั้งแต่วันแรกๆ ของการลุกขึ้นสู้ในช่วงกลางปี 2021 แล้ว

ในทางตรงกันข้าม การจัดส่งหน่วยกำลังโจมตีที่ติดอาวุธชั้นดีเข้าไปดำเนินการในเรื่องนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อขัดขวางและทำลายขบวนลำเลียง พร้อมกันนั้นก็จะได้ประโยชน์ในชั้นที่สอง นั่นคือ การตรึงกองกำลังของระบอบปกครองเอาไว้ให้ต้องกระจายตัวเป็นหน่วยเล็กๆ ออกไปประจำอยู่ตามที่มั่นรักษาความมั่นคงต่างๆ ตามแนวทางหลวง และดังนั้นจึงกลายเป็นเป้าหมายที่มีความอ่อนเปราะเข้าตีได้ง่าย

การซุ่มตีเช่นนี้อาจจำเป็นต้องใช้เวลาแค่ช่วงสั้นๆ บางทีอาจจะสัก 45 นาทีในช่วงระหว่างที่มีการปะทะกันครั้งแรก และการมาถึงของกำลังสนับสนุนทางอากาษที่อยู่ตามพื้นที่ใกล้เคียง ในรูปของเฮลิคอปเตอร์โจมตีรุ่นมิล เอ็มไอ-35 (Mil Mi-35) หรือรุ่นคามอฟ เคเอ-29 (Kamov KA-29) ที่เพิ่งได้รับมาหมาดๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องเช่นนี้ย่อมขึ้นอยู่กับสถานที่ซึ่งมีการปฏิบัติการจริงๆ

สงครามจะเป็นยังไงต่อไปใน 1 ปีข้างหน้า

การปฏิบัติการโจมตีของฝ่ายต่อต้านใน 1 ปีข้างหน้าจะมีการปรับเปลี่ยนจากยุทธศาสตร์แบบอ้อมๆ ซึ่งเน้นที่การพยายามยืดกำลังของฝ่ายทหารให้อยู่ในสภาพสุดเหยียดอย่างเป็นระบบและอยู่ในภาวะอ่อนแอลง ให้กลายมาเป็นการเข้ายึดพวกศูนย์กลางประชากรกันโดยตรงได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องแทบทำนายอะไรไม่ได้เลยในตอนนี้

สำหรับหน้าแล้งที่กำลังย่างกรายเข้ามา สถานการณ์ดูจะมีการไหวตัวเปลี่ยนแปลงอย่างสุดๆ การปรับเปลี่ยนจะออกมาในลักษณะไหนนั้นต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรต่างๆ ของสองฝ่ายที่อยู่ในการสู้รบขัดแย้งกันนี้ โดยยังไม่ต้องอ้างอิงไปถึงพวกปัจจัยภายนอกซึ่งย่อมมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะโผล่เข้ามาสร้างเซอร์ไพรส์

การประสานงานในการปฏิบัติการในตลอดทั่วทั้งเขตและรัฐต่างๆ และวิวัฒนาการของสมรรถนะทางทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการป้องกันภัยทางอากาศ ทั้งสองสิ่งนี้จะเป็นตัวตัดสินชี้ขาดกองกำลังที่มุ่งต่อสู้ต่อต้านคณะปกครองทหาร นอกจากนั้นประสิทธิภาพของการขัดขวางทำลายเส้นเลือดใหญ่แห่งการคมนาคม ก็จะแสดงบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นเดียวกัน

สำหรับระบอบปกครองสภาบริหารแห่งรัฐแล้ว ผลกระทบสืบเนื่องจากมีความเรียกร้องต้องการเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วต่อกองทัพอากาศพม่า เพื่อชดเชยจุดอ่อนข้อบกพร่องต่างๆ ของกองกำลังภาคพื้นดิน จะมีน้ำหนักกลายเป็นปัจจัยแกนกลางปัจจัยหนึ่ง การจัดหาหรือการใช้วิธีอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอากาศยาน นักบินที่ผ่านการฝึกแล้ว ชิ้นส่วนอะไหล่ เครื่องกระสุน.เชื้อเพลิง และโดยเฉพาะการมีฐานทัพที่มั่นคงปลอดภัย ทั้งหมดเหล่านี้จะมีบทบาทอย่างสูงในท่ามกลางความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง

แต่ในขณะที่สงครามเคลื่อนตัวมุ่งเข้าไปสู่ช่วงระยะที่อาจกลายเป็นระยะแห่งการตัดสินชี้ขาดนั้น ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ยังน่าจะยึดโยงอย่างสำคัญกับปัจจัยใหญ่ 2 ประการ โดยประการแรกคือ เจตนารมณ์ทางการเมืองของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ในเรื่องความแน่วแน่ที่จะหันเหออกมาจากมรดกแห่งลัทธิคลั่งชาติพม่า ซึ่งรังแต่จะเป็นปัจจัยกัดกร่อนก่อให้เกิดความเสื่อมโทรม และประการที่สอง ได้แก่ การวางแผนทางทหารที่หลีกเลี่ยงการมุ่งแสวงหาชัยชนะอย่างผลีผลาม ซึ่งมีหวังจะนำไปสู่ความปราชัยพ่ายแพ้

แอนโธนี เดวิส เป็นนักวิเคราะห์และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีประสบการณ์ในภาคสนามอย่างกว้างขวางในเรื่องเกี่ยวกับการสู้รบขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย
กำลังโหลดความคิดเห็น