xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ‘อียู-G7’ กำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย จะกดดัน ‘ปูติน’ ได้มากน้อยขนาดไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สหภาพยุโรป (อียู) และกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 เริ่มบังคับใช้มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียในสัปดาห์นี้ ซึ่งถือเป็นบทลงโทษทางเศรษฐกิจล่าสุดที่มีจุดประสงค์เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ต้องเผชิญกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการทำสงครามรุกรานยูเครน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องมั่นใจได้ว่ารัสเซียจะยังคงส่งออกน้ำมันป้อนความต้องการของตลาดโลกอย่างเพียงพอ

การจำกัดเพดานราคาเริ่มมีผลบังคับพร้อมๆ กับที่อียูห้ามการขนส่งน้ำมันดิบจากรัสเซียทางทะเล ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ และแคนาดาเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวล่วงหน้ามาแล้วหลายเดือน

G7 และออสเตรเลียได้บรรลุข้อตกลงจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเลเอาไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธ.ค. ตามหลังนโยบายเดียวกันของสหภาพยุโรป (อียู) ที่เอาชนะเสียงคัดค้านของโปแลนด์ได้

มาตรการนี้จะส่งผลให้บริษัทที่มีฐานอยู่ในอียู กลุ่ม G7 และออสเตรเลียไม่สามารถรับทำประกันภัยทางทะเลและขนส่งน้ำมันดิบรัสเซียในราคาสูงกว่าเพดานที่กำหนดได้ โดยกลุ่ม G7 นั้นให้บริการประกันภัยขนส่งกับเรือสินค้ามากถึง 90% ของโลก ขณะที่อียูก็ถือเป็นผู้เล่นรายสำคัญในธุรกิจขนส่งทางเรือเช่นกัน

G7 และอียูได้กำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน โดยจะยังไม่บังคับใช้เพดานราคากับน้ำมันดิบรัสเซียที่ขนถ่ายลงเรือสินค้าก่อนวันที่ 5 ธ.ค. ส่วนเพดานราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ จะเริ่มมีผลบังคับหลังวันที่ 5 ก.พ. ปี 2023 เป็นต้นไป

การส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถือเป็นแหล่งรายได้สกุลเงินตราต่างประเทศหลักๆ ของรัสเซียมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต หลังจากที่นักธรณีวิทยามีการค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซขนาดใหญ่ที่ภูมิภาคไซบีเรียในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ปัจจุบันรัสเซียเป็นชาติผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และหากไม่มีการกำหนดเพดานราคา จะยิ่งเป็นการง่ายสำหรับมอสโกที่จะขายน้ำมันให้แก่ผู้ซื้อรายใหม่ๆ ด้วยราคาตลาด

อเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียซึ่งกำกับดูแลด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานนิวเคลียร์ และถ่านหินของรัสเซีย แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (4) ว่า สิ่งที่ชาติตะวันตกทำถือเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดอย่างร้ายแรง ละเมิดกฎการค้าเสรี สร้างความระส่ำระสายต่อตลาดพลังงานโลก และอาจส่งผลกระทบไปถึงประเทศอื่นๆ ที่นอกเหนือจากรัสเซีย

เขายังขู่ด้วยว่ามอสโกจะไม่ขายน้ำมันภายใต้มาตรการจำกัดเพดานราคา ต่อให้ต้อง “ลดกำลังผลิต” เพื่อชดเชยกับการส่งออกที่น้อยลงก็ตาม

“เราจะขายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมให้ประเทศพร้อมจะทำงานร่วมกับเราภายใต้กลไกตลาดเท่านั้น ต่อให้ต้องลดกำลังผลิตลงเล็กน้อยก็ตามที” โนวัค กล่าว

อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ว่ามาตรการจำกัดเพดานราคาจะกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของรัสเซียมากน้อยขนาดไหน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบอูราลซึ่งเป็นน้ำมันดิบส่งออกหลักของรัสเซียซื้อขายกันอยู่ที่ 55.97 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในวันอังคาร (6) ซึ่งยังต่ำกว่าเพดานราคาที่กำหนดเอาไว้มากพอสมควร

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ชี้ว่า การกำหนดเพดานราคาที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล “แทบไม่ส่งผลกระทบอะไรเลย” ต่อรายได้ที่รัสเซียได้จากการส่งออกน้ำมันในตอนนี้ ขณะที่ ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ก็ประกาศกร้าวเมื่อวันจันทร์ (5) ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของรัสเซียในยูเครน

“เพดานราคาน้ำมันเป็นผลจากการประนีประนอมที่ยังไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไหร่ และแทบไม่ทำให้รายได้ของรัสเซียลดลง (จากปัจจุบัน)” เบน คาฮิลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางพลังงานจากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ให้ความเห็น


เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยอมรับกับรอยเตอร์ว่า กระทรวงการคลังซึ่งเป็นโต้โผใหญ่ผลักดันให้ G7 ใช้เพดานราคากับน้ำมันดิบรัสเซีย มีเจตนาที่จะหาจุดสมดุลระหว่างการลดทอนรายได้ของรัสเซียกับการคงอุปทานน้ำมันในตลาดโลกไว้ให้เพียงพอ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ยุโรปอีกคนที่ให้ข้อมูลว่า “รัสเซียยังต้องมีกำไรในการส่งออกน้ำมัน” ไม่เช่นนั้นพวกเขาอาจลดการส่งออกลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น

กระนั้นก็ตาม เจ้าหน้าที่ยุโรปคนเดิมเชื่อว่า รัสเซียคงจะไม่ปรับลดกำลังผลิตลงง่ายๆ เพราะจะกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งมอสโกจำเป็นจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศลูกค้า โดยเฉพาะ “จีน” และ “อินเดีย”

บรัสเซลส์ชี้ว่า การกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซีย “จะช่วยให้ตลาดมีเสถียรภาพขึ้น” และส่งผลดีโดยตรงต่อกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่จะสามารถซื้อน้ำมันดิบรัสเซียได้ในราคาที่ถูกลง

ฝ่ายที่ไม่พอใจกับมาตรการนี้มากที่สุดเห็นจะไม่พ้น “ยูเครน” ซึ่งมองว่าเพดานราคา 60 ดอลลาร์สหรัฐนั้นยัง “ไม่เพียงพอ” ที่จะลงโทษเครมลิน ส่วนโปแลนด์ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนตัวยงของยูเครนในการสู้รบต้านทานการรุกรานของรัสเซียก็เคยเรียกร้องให้กำหนดเพดานราคาอยู่ที่แค่ราวๆ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น

สหภาพยุโรป และ G7 เชิญชวนให้ทุกประเทศเข้าร่วมมาตรการนี้ด้วย แต่หากประเทศใดไม่มีความประสงค์ยังคงสามารถซื้อน้ำมันดิบรัสเซียในราคาที่สูงกว่า แต่จะไม่สามารถเข้าถึงบริการประกันภัยและระบบขนส่งของตะวันตก ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดและมีความเสี่ยงมากพอสมควร

ทั้งนี้ ต่อให้รัสเซียสร้างหมู่เรือบรรทุกน้ำมันของตัวเองขึ้นมา พร้อมให้บริการประกันภัยและขนส่งเสร็จสรรพ แต่บรัสเซลส์ชี้ว่า “การสร้างระบบนิเวศในการขนส่งทางทะเลขึ้นในชั่วข้ามคืนเป็นเรื่องที่ยากลำบาก” อีกทั้งมาตรการรองรับชั่วคราวเช่นนี้ก็ยากที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น

รอยเตอร์อ้างอิงแหล่งข่าวที่ระบุว่า มอสโกกำลังเตรียมออกกฤษฎีกาห้ามไม่ให้บริษัทและผู้ค้าชาวรัสเซียทำธุรกรรมกับประเทศและบริษัทที่ปฏิบัติตามมาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย หรือสรุปง่ายๆ ว่ารัสเซียจะห้ามมิให้มีการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปยังประเทศและบริษัทที่ใช้มาตรการดังกล่าวนั่นเอง ขณะที่แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งยอมรับกับรอยเตอร์เมื่อเดือน ต.ค. ว่า รัสเซียยังสามารถเข้าถึงเรือบรรทุกน้ำมันได้มากพอที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่อยู่นอกมาตรการจำกัดเพดานราคาของ G7 ได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการปิดกั้นแหล่งรายได้ของมอสโก

ประธานาธิบดี ปูติน เคยออกมาขู่เมื่อเดือน ก.ย. ว่า รัสเซียจะงดส่งออกพลังงานให้ตะวันตกหากมีการกำหนดเพดานราคา ซึ่งจะทำให้ยุโรปถูก “แช่แข็ง” ไม่ต่างกับหมาป่าที่หางติดอยู่ในบ่อน้ำแข็งตามนิทานพื้นบ้านของรัสเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น