xs
xsm
sm
md
lg

ร.ร.เอกชน เรียงคิวเจ๊ง! ธุรกิจการศึกษาซมพิษเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


กลุ่มผู้ปกครองบุกยื่นหนังสือหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้เยียวยาหาทางออกให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียน กว่า 600  คน ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการกระทันหันของโรงเรียนเอกชนชื่อดังย่านอ่อนนุช
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “โรงเรียนเอกชน” หลังจากซมไข้พิษเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 ตั้งแต่ช่วงปี 64 ซึ่งได้ทะยอยยื่นหนังสือ “แจ้งขอเลิกกิจการ” ต่อ สช. เกิดปัญหา “นักเรียนถูกลอยแพ” เป็นสถานการณ์สร้างความยุ่งยากให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องหาโรงเรียนใหม่ให้ลูกหลาน และที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือเรื่องภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น 

ล่าสุด ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรงเรียนนราทร กทม. แจ้งปิดกิจการกะทันหัน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายมณฑล ภาคสุวรรณ์  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ในฐานะที่ดูแลกำกับโรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อขอให้เยียวยาหาทางออกให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของโรงเรียนกว่า 600 คน

ปัญหาคือโรงเรียนเอกชนดังย่านอ่อนนุชแห่งนี้ แจ้งปิดกิจการกะทันหัน โดยอ้างว่าจำนวนนักเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง เก็บค่าเล่าเรียนไม่ได้ตามกำหนด ทำให้โรงเรียนตกอยู่ในสภาวการณ์ขาดทุน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยให้เวลาผู้ปกครองล่วงหน้าเพียง 14 วัน ซึ่งไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดไว้ว่าโรงเรียนจะต้องแจ้งเลิกกิจการให้ผู้ปกครองรับทราบล่วงหน้า 120 วัน ก่อนวันสิ้นปีการศึกษา จึงเกิดได้รับผลกระทบตามมา อาทิ ผู้ปกครองไม่สามารถหาที่เรียนไม่ทัน การย้ายโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 10,000 - 30,000 บาท จากค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนปรับพื้นฐาน รวมทั้ง สภาพจิตใจเด็กนักเรียนมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากต้องแยกย้ายจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนกะทันหัน เป็นต้น

โดยกลุ่มผู้ปกครองเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ช่วยหาทางออกให้ เนื่องจากผู้บริหารโรงเรียนแห่งนี้บ่ายเบี่ยงเจรจากับผู้ปกครอง และไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ ออกมาช่วยเหลือ ทั้งนี้เบื้องต้น สช. จะเป็นคนกลางช่วยประสานงานหาที่เรียนให้เด็กที่ได้รับผลกระทบและทางออกในเรื่องนี้

ล่าสุด การอนุญาตให้ปิดกิจการของโรงเรียนเอกชนแห่งนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา แม้ สช. ยังไม่อนุญาตให้ปิด แต่จากการประเมินโรงเรียนไม่มีศักยภาพที่จะเปิดการเรียนการสอนต่อไปได้

 ทั้งนี้ ตัวเลขในปี 2564 มีโรงเรียนเอกชนทั้งในและนอกระบบ รวม 11,775 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียนเอกชนในระบบรวม 3,986 แห่ง โรงเรียนเอกชนนอกระบบ ที่เปิดสอนหลักสูตรระยะสั้น โรงเรียนกวดวิชา 7,789 แห่ง โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2565 มีโรงเรียนในระบบปิดกิจการ 45 แห่ง และอยู่ระหว่างพิจารณาคำร้องขอปิดกิจการอีก 35 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนเอกชนนอกระบบเลิกกิจการไปแล้วมากกว่า 300 แห่ง 

โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล ขอปิดกิจการจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่นในเดือนมกราคม ปี 2565 ที่ผ่านมา โรงเรียนวรรณวิทย์ สถานศึกษาดังย่านสุขุมวิทเปิดมากว่า 75 ปี ประกาศปิดกิจการต้องประสบภาวะขาดทุนตลอดช่วง 3 ปี นับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด จากนั้นเดือนเมษายนปีเดียวกัน  โรงเรียนเฉลิมไฉไลวิทยา  โรงเรียนเก่าแก่ก่อตั้งมา 65 ปี ต.ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ ได้ส่งหนังสือถึงผู้ปกครองถึงเรื่องขอยุติการเรียนการสอนทุกระดับชั้นตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2565

การปิดกิจการของโรงเรียนเอกชนแทบทั้งหมดมาจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่ง ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่าปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งที่กำลังประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน พยายามพยุงตัวเอง แต่หลายแห่งก็พยุงไม่ไหว แม้ว่า สช. จะพยายามเข้าไปช่วยในเรื่องงบประมาณและเงินทุนหมุนเวียน เช่น เงินเรียนฟรี ค่าหนังสือ ลดค่าเทอม เป็นต้น โดยให้โรงเรียนเอกชนยื่นกู้กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ โดยให้กู้ได้สูงสุดรายละ 3 ล้านบาท

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)

ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.)
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของ ส.ปส.กช. เกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ของโรงเรียนเอกชน พบว่าโรงเรียนจะเจอปัญหาผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอม โดยพบผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอมมากถึง 2,000 – 3,000 ล้านบาท เข้าสู่ปี 2566 สถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย โรงเรียนต่างๆ เปิดได้ตามปกติ ทำให้สามารถเก็บค่าเทอมได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็มีผู้ปกครองบางส่วนที่ตกงาน มีปัญหาเรื่องการเงิน ยังไม่สามารถจ่ายค่าเทอมได้เต็มจำนวน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ผู้ปกครองไม่ค่อยมีเงินจ่าย แต่อยากจะนำลูกหลานมาเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน เพราะมองว่า โรงเรียนเอกชนมีครูที่ดูแลเด็กใกล้ชิดกว่า หรือจัดการเรียนการสอนดีกว่าโรงเรียนรัฐ จึงยืนยันที่จะนำลูกเข้าเรียนโรงเรียนเอกชน โดยขอผ่อนจ่ายค่าเทอมบุตรหลาน ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของโรงเรียนเอกชน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ส.ปส.กช. ผลักดันให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจโรงเรียนเอกชน เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะเด็กไทยไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนเอกชนหรืออโรงเรียนรัฐ ก็ควรได้รับสิทธิช่วยเหลือที่เท่าเทียมกัน เช่น เรื่องค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเป็นรายหัว เรื่องช่วยค่าเทอม เป็นต้น รวมทั้ง เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง

สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือเร่งด่วนคือ พยายามเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนที่กำลังเกิดวิกฤติเพื่อประคับประคองให้เดินหน้าต่อไปได้รั ขอให้มุ่งเป้าไปที่เด็กอนาคตของชาติเป็นสำคัญ

“โรงเรียนเอกชนทุกแห่งเจ็บ และได้รับผลกระทบหนัก ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แล้ว เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย โรงเรียนเอกชนทุกแห่งค่อยๆ ฟื้นตัว แต่โรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะโรงเรียนจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงเรียนเอกชนในต่างจังหวัด ประกอบกับผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอมจำนวนมาก ทำให้โรงเรียนอาจจะไปต่อไม่ได้” ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ระบุ

การล่มสลายของธุรกิจการศึกษาเป็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยวิกฤตการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชนส่งสัญญาณขาลงมาตั้งแต่ปี 2562 พบว่ามีการปิดตัวเพิ่ม 4 เท่า โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสามัญศึกษา ที่จากเดิมจำนวนปิดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 20 แห่งต่อปี ในปี 2562 มีโรงเรียนปิดตัวถึง 66 แห่ง ส่วนใหญ่ที่ปิดตัวคือโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนเฉพาะระดับชั้นอนุบาล เพราะมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกับโรงเรียนรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เปิดรับสอนนักเรียนระดับอนุบาล 3 ขวบเช่นเดียวกัน

 นายมณฑล ภาคสุวรรณ์  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่ารัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเอกชน เนื่องจากการศึกษาเอกชนเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพและช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดการศึกษาของรัฐ ขณะเดียวกัน ศธ. ได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการศึกษาเอกชน และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กำหนดมาตรการในการส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงให้ความช่วยโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

ที่ผ่านมา มีมาตรการที่ดำเนินการช่วยเหลือ อาทิ  1.ด้านโรงเรียน  มีมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินในการบริหารจัดการโรงเรียนจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ โดยให้โรงเรียนเอกชนในระบบที่รับเงินอุดหนุนกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ โรงละไม่เกิน 3 ล้านบาท ระยะเวลาการชำระหนี้ 6 ปี และประสานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในการจัดทำแนวทางและหลักเกณฑ์ให้ผู้เรียนโรงเรียนนอกระบบสามารถกู้ยืมในกองทุน กยศ. ไปศึกษาเล่าเรียนด้านอาชีพได้

 2. ด้านผู้เรียน สนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ปกครองและนักเรียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อคนในภาคการศึกษาที่ 1/2564 ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่นำเงินดังกล่าวไปชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แก่โรงเรียนและเป็นค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้แก่บุตรหลาน ซึ่งครอบคลุมนักเรียนโรงเรียนเอกชน จำนวน 2,128,624 คน เป็นเงิน 4,257,248,000 บาท ปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา (ปวช.) จำแนกเป็น นักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา จำนวน 4,452 คน ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น จำนวน 106,606,080 บาท นักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา จำนวน 310 คน ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น จำนวน 12,138,965 บาท ปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียนและช่วยเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาในการจัดและพัฒนาคุณภาพการศึกษา แบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2569 ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงระดับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายนักเรียนโรงเรียนเอกชน จำนวน 487,819 คน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2,175,578,200 บาท

 และ 3.ด้านครู ผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษ
า  ปรับปรุงสวัสดิการกองทุนสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน โดยเพิ่มเพดานการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองทุนสงเคราะห์จากไม่เกินคนละ 100,000 บาท/คน/ปี เป็น 150,000 บาท มีมาตรการทางดอกเบี้ยเงินกู้และการขยายการให้สินเชื่อสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ พร้อมกับขยายการให้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการแก่สมาชิกกู้ จากเดิมอายุการทำงาน 10 ปีขึ้นไป ปรับเปลี่ยนเป็น ตั้งแต่อายุการทำงาน 5 ปีขึ้นไป (มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 – ปัจจุบัน) โดยอนุมัติสินเชื่อให้กับสมาชิก จำนวน 12,944 รายแล้ว นอกจากนี้ สช.อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพและบริหารจัดการสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้แก่สมาชิกกองทุนสงเคราะห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสวัสดิการให้กับครูโรงเรียนเอกชน

โรงเรียนวรรณวิทย์ ซึ่งประกาศปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนเป็นระยะเวลา 3 ปี และนักเรียนลดจำนวนลงเรื่อยๆ

โรงเรียนเฉลิมไฉไลวิทยา โรงเรียนเก่าแก่ของ จ.สมุทรปราการ ที่ประกาศปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2565
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ซึ่งจะทบทวนและปรับลดกฎระเบียบที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการของโรงเรียนเอกชน รวมถึงการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ และการลดหย่อนภาษีให้แก่โรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจการศึกษาเมื่อขาดสภาพคล่อง แบกรักภาระขาดทุนไม่ไหว ย่อมจำเป็นต้องเลิกกิจการ ขืนดันทุรังไม่เพียงกระทบการเงินเจ้าของโรงเรียน ยังกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

โรงเรียนเอกชนมีส่วนแบ่งเบาการจัดการศึกษาของรัฐ และการปิดกิจการของโรงเรียนเอกชน เป็นการทิ้งภาระให้นักเรียนและผู้ปกครอง ฉะนั้น วิกฤตที่โรงเรียนเอกชนเผชิญอยู่ในเวลานี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

 กรณีการปิดตัวกระทันหันของโรงเรียนเอกชนดังย่านอ่อนนุช สู่ชนวนปัญหาการออกมาเรียกร้องความช่วยเหลือของเหล่าผู้ปกครอง รัฐต้องถอดบทเรียนและเตรียมการแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ เพราะยังมีโรงเรียนเอกชนจ่อคิวปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง เชื่อได้ว่าจะเกิดผลกระทบในลักษณะเดียวกันอีก 


กำลังโหลดความคิดเห็น