xs
xsm
sm
md
lg

บทสรุปมหากาพย์ “สายสีเขียว” ป.ป.ช.ชี้ล็อกสเปก-ฮั้ว ลักไก่ต่อสัญญา สร้างแรงแค้นไล่ถล่มสายสีส้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สนธิ” ชี้ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้อง 13 ราย รวม “สุขุมพันธ์-คีรี” และบีทีเอส ฐานฮั้วประมูล-ล็อกสเปก และลักไก่ต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว คือบทสรุปเงื่อนปมความไม่โปร่งใสของโครงการ จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีภูมิใจไทยบอยคอตการประชุม ครม.เมื่อปีก่อน และนายกฯ ต้องสั่งถอนวาระ สร้างรอยแค้นให้กลุ่มบีทีเอส และ “ชูวิทย์” มารับงานไล่ถล่มสายสีส้ม
.
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าคดีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้จัดตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อไต่สวน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวก กรณีว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอส เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ซึ่ง ป.ป.ช. ชี้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 เอื้อประโยชน์ต่อบีทีเอสเพียงรายเดียว

ซึ่งในที่สุด ป.ป.ช.ได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาโดยยังไม่ชี้มูลความผิดต่อผู้เกี่ยวข้อง 13 ราย เฉพาะรายชื่อสำคัญ ได้แก่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ประธานกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม, กรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม, ปลัดกรุงเทพมหานคร, รองปลัดกรุงเทพมหานคร, ผู้อำนวยการสำนักงานจราจรและขนส่ง, ผู้อำนวยการกองการขนส่ง, นายคีรี กาญจนพาสน์ กรรมการบริษัทบีทีเอส ,นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัทบีทีเอส และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้รับจ้างในโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน ตามสัญญาเลขที่ 1/2555 และบริษัทบีทีเอส


คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะไต่สวน ระบุว่า ผู้ต้องหาทั้ง 13 ราย มีข้อกล่าวหาว่า กระทำทุจริตในการทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพ ระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม ผู้ว่าจ้าง ในฐานะรัฐวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร กับบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ในเครือของบริษัทมหาชนจำกัด บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ผู้รับจ้าง ในวงเงินกว่า 190,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการจ้างเดินรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ส่วนต่อขยายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) 2.สายสีลม (สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) 3.ว่าจ้างในการเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และ สนามกีฬาแห่งชาติ-ตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ต่อไปอีก 13 ปี โดยให้สัญญาว่าจ้างบีทีเอสเดินรถทั้ง 3 เส้นดังกล่าว ไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585

ป.ป.ช. ระบุว่า การทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาสัมปทานที่ให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจกรรมของรัฐ เกินกว่า 1,000 ล้านบาท ได้หลีกเลี่้ยง ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 อีก ทั้งการให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าทำสัญญากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชน (บีทีเอส) เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์แก่บีทีเอสเพียงรายเดียว

หลังมีข่าว ราคาหุ้นบีทีเอสปรับตัวลงกันหมด โดยเฉพาะหุ้นบีทีเอสในบางช่วงเวลาลงไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ฉุดราคาหุ้นในบริษัทอื่นๆ ในเครือ ไม่ว่าจะเป็น VTI, Rabbit หรือ BTS GIF จนนายคีรี กาญจนพาสน์ ต้องตั้งโต๊ะแถลงกับผู้บริหารบีทีเอส ในวันอังคารที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ นับว่ากรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวน่าสนใจกว่ารถไฟสายสีส้มที่เรื่องอยู่ในศาลแล้ว เพราะมูลค่าความเสียหาย กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีจำนวนมากร่วม 2 แสนล้านบาท และยังเป็นความทุกข์ยากของประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่จับต้องได้

“สีเขียวเหนือ-สีเขียวใต้” รู้ว่าขาดทุนแต่ยังทำ

รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ คือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร กับสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นส่วนต่อขยายจากโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสเดิม ซึ่งเคยศึกษามาแล้วตั้งแต่ปี 2551 หรือ 14 ปีที่แล้ว พบว่าส่วนต่อขยายทั้งเหนือและใต้อย่างไรก็ต้องขาดทุน รัฐบาลต้องตัดงบประมาณมาอุดหนุน เอกชนเจ้าไหนก็ไม่มีใครอยากมารับสัมปทานส่วนต่อขยาย 2 ส่วนนี้ ? เพราะทราบดีว่าอย่างไรก็ขาดทุนแน่นอน เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารไม่ได้มากเหมือนในเขตพื้นที่เมือง ย่านกลางเมือง เช่น สยาม สีลม เพลินจิต สุขุมวิท


เมื่อไม่มีเอกชนมารับสัมปทาน ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือ กทม. ก็ต้องมีการจัดสรรงบมาให้ โดยรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณประจำปี ส่วน กทม. ต้องเสนอสภา กทม. เพื่อขออนุมัติงบประมาณ แต่ปรากฏว่า ไม่มีเลย ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าถ้าเปิดให้บริการ เปิดเดินรถเมื่อไร ต้องขาดทุนทันที

เมื่อมีการเปิดเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครั้งแรกในวันที่ 8 ธันวาคม 2561 รัฐบาลประกาศว่า ช่วงแรกจะให้ขึ้นฟรีก่อนเพื่อทดลองเดินรถ จะเริ่มเก็บค่าโดยสารช่วงต้นเดือนเมษายน 2562 พอถึงเมษายน 2562 รัฐบาลก็ไม่มีการสั่งการให้เก็บค่าโดยสารแต่อย่างใด กลับแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทานในวันที่ 11 เมษายน 2562 จริงๆ แล้วเกมก็คือการแก้ไข เพื่อยืดต่อสัมปทานให้ทั้งสาย นี่คือเกมที่วางเอาไว้

เป็นเรื่องที่ชัดเจนเลย ว่ารัฐบาลและ กทม. รู้อยู่ว่าเปิดให้บริการเมื่อไร ขาดทุนแน่ เมื่อเปิดบริการมา 4 เดือนแล้วก็ไม่เก็บค่าบริการ อ้างว่าทดลองเดินรถ พอถึงเวลาต้องเก็บ ก็ไม่เก็บอีก


ทั้งเอกชน และทั้งรัฐบาล โดยผ่านมาทาง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง พยายามให้นายกฯ ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 สั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจาต่อสัญญาสัมปทาน โดยตอนหนึ่งของคำสั่งระบุว่า ให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชนเพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า เพื่อเดินรถไฟฟ้าในโครงการส่วนขยายที่สองให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาจราจร บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยังบอกต่อว่า การจ้างตามวรรคหนึ่งไม่ถือว่าเป็นการร่วมทุนตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมทุนระหว่างรัฐ-เอกชน

ย้อนหลังไป ใช่หรือไม่ว่า นี่คือการสร้างเงื่อนไขก่อหนี้ โดยจงใจ ไม่เก็บเงินค่าบริการ แล้วบอกว่าหลังจากนั้นจะเก็บเงิน แล้วก็ไม่เก็บอีก เพื่อให้ขาดทุน เพื่อบีบให้มีการต่อสัญญาสัมปทานโดยมิชอบ หลีกเลี่ยงไม่ต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐ-เอกชน

และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่มาที่ไปของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะไต่สวน ถึงมีมติอนุมัติให้แจ้งข้อกล่าวหาให้กับคน 13 ราย รวมทั้งผู้ว่าฯ ปลัด ผู้อำนวยการ รองปลัด และบีทีเอส เอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยที่ ป.ป.ช. บอกว่าเป็นการหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ 2542 และเอื้อประโยชน์ให้กับบีทีเอส "เพียงรายเดียว"

หนี้เพิ่มเป็น 5 หมื่นล้าน กทม.ไม่จ่าย เหตุสัญญามิชอบ

2 ปีที่ผ่านมา มีการออกข่าว และติดป้ายวิดีโอทวงหนี้ของบีทีเอสจากภาครัฐ งอกเงยจาก 30,000 ล้าน มาเป็น 40,000 ล้านบาท ล่าสุด เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาท


ผู้อำนวยการใหญ่บีทีเอส นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ระบุว่า สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กทม. ค้างหนี้บริษัทเกือบ 50,000 ล้าน แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถ 3 เส้นทาง 27,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งระบบไฟฟ้า 22,800 ล้านบาท

ในวันอังคารที่ผ่านมา 14 มีนาคม 2566 มีการประชุมคณะรัฐมนตรี บีทีเอสจัดม็อบบุกไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงหนี้ดังกล่าว และขีดเส้นตายเลยว่า ถ้าไม่จ่ายภายใน 7 วัน จะหยุดให้บริการ เอากำลังคน พนักงาน จับประชาชนเป็นตัวประกันมากดดันรัฐบาล


กรุงเทพมหานครในยุคนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ คนใหม่ หรือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมจ่ายเงินดังกล่าวเสียที ทั้งๆ ที่บีทีเอสทวงแล้วทวงอีก ทวงแล้วทวงอีก และจะไม่มีวันจ่ายเงิน 50,000 ล้านบาทดังกล่าว นั่นเพราะสัญญาสัมปทานต่างๆ ที่บีทีเอสทำกับกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนในสังกัดกรุงเทพมหานคร กระทำขึ้นโดยมิชอบ

เพราะหลีกเลี่ยงไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐ-เอกชน จนเป็นที่มาให้ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งองค์คณะชุดใหญ่ให้ไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหาต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. กับพวกรวม 13 ราย

บีทีเอสได้ฟ้องกรุงเทพธนาคม กทม. เพื่อเรียกร้องเงินคืน ศาลศาลปกครองชั้นต้น ได้ตัดสินให้บีทีเอสชนะ แต่ทางบริษัท กรุงเทพธนาคม อุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด

สัญญาจ้างบีทีเอสยุค “อัศวิน” ฝืนมติ ครม. ไม่เปิดโอกาสเอกชนรายอื่น

16 มกราคม 2566 นายธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า หลังจากที่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่บีทีเอส ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม กรณีผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อขอให้ชำระหนี้ เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 ต่อมา บีทีเอสยื่นฟ้องศาลปกครอง เรียกค่าจ้างเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะฯ สมุทรปราการ ส่วนต่อขยายที่ 2 เพิ่มเติมอีกประมาณ 10,600 ล้านบาท


เอกสารคำชี้แจงของบริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งนายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานคณะกรรมการ ต่อศาลปกครองกลางมี 5 ประเด็น ดังนี้

ข้อที่หนึ่ง สัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคม กับ บีทีเอส นั้น นำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน ไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลปกครอง

ข้อสองกรุงเทพธนาคม ไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 มกราคม 2515 ในข้อที่ 4 ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจ หรืออำนาจที่เกี่ยวกับกิจการรถราง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการได้ ทั้งกรุงเทพธนาคม ก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย

ข้อที่สาม สัญญาจ้างที่กรุงเทพธนาคม กระทำกับบีทีเอส (ในยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.) เป็นสัญญาที่ไม่ชอบ เพราะจงใจจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติ ครม. ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุ เรื่องการงบประมาณ ตลอดจน พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น ผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอน กล่าวคือบริษัท กรุงเทพธนาคม ไม่มีอำนาจนำเอางานรับจ้างของกรุงเทพมหานครไปทำสัญญาจ้างกับบุคคลอื่นใดตามใจชอบ คือพูดง่ายๆ ว่ากรุงเทพธนาคม ไม่มีอำนาจ


ข้อที่สี่ การที่กรุงเทพธนาคม ไปทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยตรง โดยไม่เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่น อาจจะเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ

หน้าที่ 21 และ 22 ของคำให้การฉบับดังกล่าว ระบุว่า ผู้ฟ้อง คือบีทีเอส อาศัยความได้เปรียบจากการที่ตนเป็นผู้รับสัมปทานในโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนหลัก ส่งผลให้ไม่มีเอกชนรายอื่นเข้ามาเสนอราคาแข่งขัน ทำให้ผู้ฟ้องคดี (บีทีเอส) ได้รับสิทธิในการเสนอราคากับผู้ฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) แล้วแทนที่บีทีเอสจะยื่นข้อเสนอในทำนองเดียวกันกับระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครเป็นส่วนหลัก เพื่อเข้าเป็นผู้รับสัมปทานและดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี คือตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ดังกล่าว บีทีเอสกลับจงใจยื่นข้อเสนอที่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นข้อเสนอทำให้รัฐต้องรับภาระงบประมาณในส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านงานโยธา

ในการฟ้องคดีของบีทีเอสในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต เพราะบีทีเอสทราบดีอยู่แล้วว่า กรุงเทพธนาคม ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่บีทีเอสยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับกรุงเทพธนาคม ซึ่งกรุงเทพธนาคม ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคม ในคดีนี้ถือว่าใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต


“สรุปสั้นๆ มหากาพย์ทุจริตสายสีเขียว กับประเด็นค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ที่คุยยืดยาวกันมานานเป็นสิบๆ ปี 100 ชัชชาติก็แก้ไม่ได้ 8 ปีสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็แก้ไม่ได้ รัฐบาลหน้าก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ได้หรือเปล่า สุดท้ายก็จะกินเวลาอีกหลายปี ผู้คนอีกมากมายต้องตกเป็นจำเลยข้อหาทุจริต และที่สุดแล้ว เชื่อผมสิครับ จะต้องจบลงที่ศาล”

นายสนธิ กล่าวต่อว่า สัมปทานของบีทีเอสที่เดิมทำไว้ตั้งแต่สมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. นั้น จะต้องสิ้นสุดในปี 2572 ก็คืออีก 6 ปีข้างหน้า หลังจากนั้นจะต้องกลับไปเป็นของรัฐทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมีการเซ็นสัญญาส่วนต่อขยายที่ 1 ในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ จากสัญญาที่ต้องสิ้นสุดในปี 2572 ก็มีการขยายสัญญาออกไปอีก 13 ปี พ่วงไปกับสัญญาเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ต่อไปจนถึงปี 2585 อย่างไม่ถูกต้อง ก็เลยเป็นเหตุทำให้ ป.ป.ช. ออกมาแจ้งข้อกล่าวหาในวันนี้

นอกจากนั้นแล้ว ในยุค คสช. ที่มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. มีการเซ็นสัญญาร่วมส่วนต่อขยายที่ 2 และมีการก่อสร้าง จ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งเป็นเส้นทางที่ขาดทุน ที่สำคัญ สัญญานี้ไม่มีการผ่านสภา กทม. และไม่เก็บค่าโดยสาร ก็เลยทำให้ก่อหนี้มหาศาล แค่สัญญาไม่ได้ผ่านสภา กทม.

จากนั้น รัฐบาลประยุทธ์ก็อาศัยมาตรา 44 ช่วยเหลือบีทีเอส พยายามขยายสัญญาบีทีเอสจากที่ต้องสิ้นสุดปี 2572 ขยายไปอีก 30 ปี ให้หมดสัญญาในปี 2602


แค้น “ภูมิใจไทย” ขวางสายสีเขียว “ชูวิทย์” รับงานไล่ถล่มสายสีส้ม

เรื่องนี้ เคยถูกเสนอเข้า ครม. เพื่อให้ ครม. รับรอง ปรากฏว่า รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยซึ่งอยู่ใน ครม. ไม่กล้ามีส่วนร่วมในการอนุมัติ เพราะคิดว่าไม่น่าที่จะทำได้ และอาจจะต้องมีข้อปัญหาจนต้องติดคุกติดตะราง

มีการยกทีมออกจากที่ประชุม ครม.เป็นข่าวใหญ่ จึงเกิดคำถามว่า บีทีเอสแค้นใครมาก ? บีทีเอสแค้นที่สุดก็คือพรรคภูมิใจไทย ซึ่งก็หนีไม่พ้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และแน่นอนที่สุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล และฟาดงวงฟาดงาต่อไปจนถึงนายเนวิน ชิดชอบ


“แล้วนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ตอนที่ไปแสดงละครดรามา เผาแบงก์กงเต๊ก กล่าวพาดพิงดูถูกเหยียดหยามไปถึงพ่อของคุณเนวิน ก็คือนายชัย ชิดชอบ ท่านผู้ชมเข้าใจภาพหรือยังตอนนี้ นั่นคือความแค้น เพราะว่าหมูกำลังจะเข้าไปให้กินกันแล้ว ดันมีคานเข้ามาสอด”

วันนั้นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็กลัวผิดกฎหมาย จึงบอกให้ถอดออกมา และที่สำคัญที่สุด กฎหมายอนุญาตให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ตัดสินใจได้เลยในเรื่องนี้ แต่ พล.อ.อนุพงษ์ก็ไม่กล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง ก็ต้องเอาเข้า ครม. เพื่อให้ ครม. ร่วมรับผิดชอบ เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ก็เป็นคนขี้กลัวในเรื่องกฎหมาย กลัวมากๆ

“เพราะฉะนั้นท่านผู้ชมเข้าใจหรือยังว่า ที่มาที่ไปของการที่คุณชูวิทย์รับงานของคุณคีรีมา เพื่อมาถล่มสายสีส้ม มาถล่มพรรคภูมิใจไทย มันมีที่มาที่ไปของความแค้นเก่าอยู่ เพราะตอนนั้นถ้าสายสีเขียวผ่านไปได้ คนที่รวยที่สุดในประเทศไทยก็ต้องเป็นคุณคีรี กาญจนพาสน์ และบีทีเอส หุ้นบีทีเอสจะขึ้นอย่างมหาศาล ในขณะเดียวกัน บีทีเอสก็จะผูกขาดการเดินสายรถไฟสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เพราะสายสีเขียวมันวิ่งผ่านเมือง คนเข้ามาเยอะแยะไปหมดเลยที่จะใช้บริการ”


“ด้วยเหตุนี้ จอมแฉอย่างชูวิทย์ไม่ยอมแตะเรื่องการทุจริตในรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งหลักฐานมีชัดเจน สัญญาโมฆะ คือพูดง่ายๆ ว่าเป็นการต่อสัญญาที่เถื่อนและผิดกฎหมาย และคนจะต้องติดตะรางกับเรื่องนี้อีกหลายคน อย่างน้อยที่สุด คุณอัศวิน ขวัญเมือง ก็จะหนีไม่ได้เรื่องนี้ เพราะว่าคุณต่อสัญญาสัมปทาน แต่คุณไม่ยอมเอาเข้าสภา กทม. นี่คุณก็ผิดแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นบทสรุปเรื่องราวทั้งหมด ผลกรรมกำลังจะเกิดขึ้นกับกรณีบีทีเอส รถไฟฟ้าสายสีเขียว และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

“สิ่งที่ผมพูดนี้ พูดเมื่อ 7-8 เดือนที่แล้ว และผมพูดความจริงที่ไม่มีใครกล้าพูดในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นอย่างที่ผมบอกนี่ล่ะ ท่านผู้ชม เป็นอย่างนี้เลย โชคดีที่คุณชูวิทย์ยอมรับออกมาทีหลัง หลังจากที่ผมเคยพูดกับคุณชูวิทย์ไปแล้วว่าคุณชูวิทย์เป็นคนที่รับงานมา คุณชูวิทย์บอกคนอย่างผมไม่เคยรับงานใคร จนในที่สุดคุณชูวิทย์ทนไม่ไหว ต้องระบุชัดเจนออกมาด้วยตัวเองว่า ใช่ ผมรับงานมา มีปัญหาอะไร แต่ผมสาบานว่าผมไม่ได้รับเงินเลย ท่านผู้ชมตอนนี้พอจะเข้าใจหรือยัง ว่าคุณชูวิทย์กำลังรับใช้คุณคีรี กาญจนพาสน์ อย่างเต็มตัวที่สุด” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น