xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำพิพากษา ชี้พินัยกรรม “ตระกูลนิรันดร” เป็นของปลอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สนธิ” เปิดคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมรดกตระกูล “นิรันดร” ที่เบียดบังมาจากสถาบันกษัตริย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ชี้พินัยกรรม “ธรรมนูญ” มอบมรดกให้ “ปราณี” ภรรยา แต่เพียงผู้เดียว มีพิรุธหลายข้อ เป็นพินัยกรรมปลอม ส่งผล “เยาวรัตน์” ลูกสาวคนเล็กมีสิทธิร่วมเป็นเป็นผู้จัดการมรดก ความฝันของ “เยาวณี-ธรรมรัชต์” จะให้แม่จัดการมรดกตามที่ตนเองต้องการจึงยากขึ้น

ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของตระกูล "นิรันดร" ซึ่งมีปัญหาการฟ้องร้องแย่งชิงมรดกกันเองระหว่างลูกหลานของขุนนิรันดรชัย อดีตสมาชิกคณะราษฎรที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ.2475


ทั้งนี้ "ขุนนิรันดรชัย" สมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก เดิมชื่อ “สเหวก นีลัญชัย” เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สเหวก นีลัญชัย มียศเพียงแค่ร้อยโท ร้อยเอก แต่ก่อนตายได้เลื่อนยศเป็นพันตรี สเหวก นิรันดร ในสมัยรัชกาลที่ 8 ยังทรงพระเยาว์ ขุนนิรันดรชัยมีตำแหน่งเป็นถึงราชเลขาธิการ

ต่อมา ก็ปรากฏว่าตระกูลนิรันดร มีที่ดินเป็นมรดกตกทอดอยู่ในกรุงเทพมหานครถึง 90 แปลง มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ว่ากันว่า ประเมินอย่างคร่าวๆ ขั้นต่ำราคาต้องประมาณ 60,000 ล้านบาท ถ้าประเมินกันวันนี้ต้องมีหลักแสนล้านบาท


ก่อนที่ขุนนิรันดรชัยเสียชีวิตไปนั้น เป็นคนนอนป่วยติดเตียง ทรมานสาหัสสากรรจ์มาเกือบ 10 ปี จึงสิ้นลมหายใจไป หลายคนบอกว่านี่เป็นเวรกรรมที่ขุนนิรันดรชัยได้ทำไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยทายาทจำนวนหนึ่งออกมายอมรับว่า ทื่ดินซึ่งเป็นมรดกตกทอดของตระกูลนั้น ขโมย แย่งชิงมาจากสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหล่าสมาชิกคณะราษฎรได้มีการเอามาแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างไม่เป็นธรรม จนอาจจะกล่าวได้ว่า บีบบังคับเอามาจากสถาบันพระมหากษัตริย์โดยมิชอบ

20 มีนาคม 2562 หรือประมาณ 4 ปีก่อน พล.ท.สรภฎ นิรันดร อดีตรองเจ้ากรมยุทธการทหารบก และทายาทขุนนิรันดรชัย ออกมาเปิดเผยว่า ทรัพย์สินจำนวนมหาศาลแท้จริงแล้วเดิมไม่ใช่ของวงศ์ตระกูลนิรันดร แต่เป็นทรัพย์สินที่ขุนนิรันดรชัย เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แกนนำคณะราษฎร

ทรัพย์สินเหล่านี้ ขุนนิรันดรชัย ได้มาจากการปล้นชิงมาจากราชวงศ์จักรี สถาบันพระมหากษัตริย์ ในยุคสมัยในหลวงรัชกาลที่ 7 และ 8 มาอีกที แล้วยักย้ายถ่ายเทโอนมาให้คนในคณะราษฎร ก่อนจะตกมาสู่ลูกหลาน เพื่อให้ฟ้องร้องแย่งชิงกันเองในปัจจุบัน

พล.ท.สรภฎ นิรันดร ทายาทขุนนิรันดรชัย พูดว่า "อาจจะเป็นเพราะบาปกรรม เพราะที่ดินพวกนี้คณะราษฎรยึดมาจากพระมหากษัตริย์ ทำให้ครอบครัวต้องโดนสาปแช่ง หลายคนเป็นเส้นเลือดในสมองแตก ป่วยเป็นโรคต่างๆ" นอกจากนั้นแล้ว ยังกล่าวด้วยว่า "ตระกูลนี้ก็มีลูกหลานสืบตระกูลน้อยมาก แถมยังทะเลาะเบาะแว้งกันอีก"


ผู้จัดการมรดกของขุนนิรันดรชัย คือ นายธรรมนูญ นิรันดร อดีตเป็นผู้บริหารธนาคารนครหลวงไทย เป็นบุตรชายคนหนึ่งของนขุนนิรันดรชัย ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไป เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 อายุ 88 ปี

ปัญหาต่อมาที่ยังคาราคาซังจนกระทั่งทุกวันนี้่ คือ มรดกมูลค่ามหาศาลที่ตกทอดมาจากขุนนิรันดรชัย มีปัญหาการฟ้องร้องกันมาตลอด เหมือนกับถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์สาปแช่ง ไม่มีความสุขในตระกูล ในครอบครัว


วันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 พล.ท.สรภฎ นิรันดร อดีตรองเจ้ากรมยุทธการทหารบก ลูกชายคนหนึ่งของขุนนิรันดรชัย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธรรมนูญ นิรันดร พี่ชายต่างมารดา นายธรรมรัชต์ นิรันดร บุตรชายคนกลางของนายธรรมนูญ นางเยาวณี นิรันดร บุตรสาวคนโตของนายธรรมนูญ และ บริษัท 31 สาธร จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 ต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์มรดก จำนวนทุนทรัพย์ 59 ล้าน 9 แสนกว่าบาท แต่นายธรรมนูญ นิรันดร เสียชีวิตไปแล้ว ก็เลยฟ้องร้องภรรยาของนายธรรมนูญ คือ นางปราณี นางเยาณี (บุตรสาวคนโตของนายธรรมนูญ) และ นายธรรมรัชต์ (บุตรชายคนกลางของนายธรรมนูญ) ต่อศาลแพ่งและอาญา ในข้อหายักยอกทรัพย์ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล

ต้นปี 2564 บุตรชายของขุนนิรันดรชัย คือ พล.ท.สรภฎ นิรันดร ได้ทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษ สำนึกผิด ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของขุนนิรันดรชัย ที่ได้ฝากไว้ก่อนเสียชีวิต ต่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ 8 และ ที่ 9 แต่จนบัดนี้ ผ่านไปแล้ว 2 ปี นอกจาก พล.ท.สรภฎ ที่แสดงความสำนึกผิดแทนขุนนิรันดรชัย ก็ยังไม่ปรากฏทายาทคนอื่นๆ จะยอมถวายที่ดินคืนให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด


นายธรรมนูญ นิรันดร มีทายาทอยู่ 3 คน คือ หนึ่ง ลูกสาวคนโต นางเยาวณี นิรันดร ชื่อเล่นว่า กิ๊ก สอง นายธรรมรัชต์ นิรันดร ชื่อเล่นว่า กู่ และสาม นางเยาวรัตน์ นิรันดร ชื่อเล่นว่า กิ๊บ

ช่วงปี 2551-2552 นายธรรมนูญ นิรันดร ผู้จัดการมรดก ป่วยหนัก เส้นเลือดในสมองแตก เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตอนแรกอยู่ศิริราช ตอนหลังแม่กับลูกสาวคนโตขอย้ายมาอยู่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เหตุผลเพราะว่าลูกเขย ตอนนั้น (สามีของพี่สาวคนโต) ชื่อ พล.อ. นพ.วิทยา ช่อวิเชียร เป็นเจ้ากรมการแพทย์ทหารบก ก่อนออกจากโรงพยาบาลมาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน มีรถเข็น มีลูกสาวคนโต (กิ๊ก เยาวณี) ลูกชายคนกลาง (กู่ ธรรมรัชต์) อยู่ใกล้ชิดติดตัวตลอดเวลา

นางเยาวณี และ นายธรรมรัชต์ นิรันดร
จากนั้นก็มีการเซ็นขายที่มรดกเป็นระยะ ทำให้บรรดาทายาทคนอื่นๆ เกิดข้อสงสัยว่า นายธรรมนูญ ป่วยหนัก ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เหตุใดเซ็นโอนที่ขายได้ หรือลูกสาวคนโต ลูกชายคนกลาง ที่อยู่ติดตัวพ่อแม่ ได้ดำเนินการอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับลายเซ็นของพ่อหรือเปล่า

จากความขัดแย้งเรื่องปมมรดกที่ดินของตระกูล ทำให้พี่สาวคนโต (กิ๊ก) กับน้องชายคนกลาง (กู่) จับมือ ร่วมมือกัน ส่วนน้องสาวคนเล็ก (กิ๊บ) ก็มาเข้ากับญาติคนอื่นๆ รวมทั้ง พล.ท.สรภฎ นิรันดร คือแยกเป็นสองพวก

ศาลชั้นต้นพิพากษา พินัยกรรม “ธรรมนูญ” เป็นของปลอม

ล่าสุด มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีแพ่ง เมื่อ 25 มกราคม 2566 เกี่ยวกับทรัพย์สินตระกูลนิรันดร ซึ่งมีรายละเอียดน่าสนใจมาก


คดีนี้ นางปราณี นิรันดร ภรรยานายธรรมนูญ เป็นผู้ร้อง ขอเป็นผู้จัดการมรดก ส่วนผู้ที่คัดค้าน คือ นางเยาวรัตน์ นิรันดร ลูกสาวคนเล็กของนางปราณีและนายธรรมนูญ

นางปราณี ซึ่งเป็นผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอว่า ตนเองเป็นผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมและเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายธรรมนูญ ที่ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563

ก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2559 ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง (นางปราณี) เพียงผู้เดียว รวมทั้งตั้งนางเยาวณี (ลูกสาวคนโต) และนายธรรมรัชต์ (ลูกชายคนรอง) เป็นผู้จัดการมรดก แต่นางเยาวณี กับนายธรรมรัชต์ ไม่ประสงค์จะเป็นผู้จัดการมรดก ยินยอมให้นางปราณีเป็นผู้จัดการมรดกแทน นางปราณีก็เลยยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของนายธรรมนูญ

พูดง่ายๆ ว่า นางเยาวณีจะให้แม่ตัวเองซึ่งอายุ 90 ปี เป็นผู้จัดการมรดก ในขณะซึ่งตัวเองกับน้องชาย (นายธรรมรัชต์) ก็จะเป็นผู้ที่ประกบคอยดูแลแม่ตลอดเวลา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือว่า สามารถมีอิทธิพลในการบอกให้แม่จัดการมรดก ถ้าแม่จะเป็นผู้จัดการมรดก ออกมาเป็นรูปแบบใดที่ตัวเองต้องการ


แต่ต่อมา นางเยาวรัตน์ นิรันดร ลูกสาวคนเล็ก ได้ยื่นคัดค้านพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2559 คัดค้านว่าพินัยกรรมนี้ปลอม ตกเป็นโมฆะ

ตรงนี้เมื่อขึ้นศาลแล้ว ศาลวินิจฉัยว่า "ก่อนอื่น ผู้ร้อง (นางปราณี) ต้องมีหน้าที่พิสูจน์ก่อนว่า พินัยกรรมนายธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2559 เป็นของจริงหรือไม่" เพราะถ้าเป็นของจริง นางเยาวรัตน์ ก็คัดค้านไม่ได้ แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นพินัยกรรมจริง นางเยาวรัตน์ซึ่งเป็นทายาทโดยชอบธรรม เพราะเป็นลูกคนเล็กของนายธรรมนูญ ก็มีสิทธิ์ยื่นคัดค้านคำร้องของนางปราณี และมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกด้วย

ศาลเห็นว่าคดีนี้เคยมีการส่งพินัยกรรมดังกล่าวไปพิสูจน์ลายมือชื่อผู้ตายในพินัยกรรม เปรียบเทียบกับในเอกสารอื่นๆ แต่ผู้ตรวจพิสูจน์ไม่อาจลงความเห็นให้ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อพิเคราะห์ลายมือชื่อที่ลงไว้ในพินัยกรรมดังกล่าว จะเห็นว่าแตกต่างจากลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้ตาย (นายธรรมนูญ) ที่ลงไว้ต่อหน้าศาล เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 อย่างมาก

นอกจากนี้ ผู้ร้อง (นางปราณี) ก็มีพยานบุคคลที่ยืนยันว่าได้มีการทำพินัยกรรมนี้จริงๆ อยู่แค่ปากเดียว คือนางสาวสุทธินีย์ เพิ่มประยูร ที่อ้างว่าอยู่ในเหตุการณ์ที่นายธรรมนูญเซ็นชื่อในพินัยกรรม และนางสาวสุทธินีย์ ยังเซ็นชื่อในฐานะพยาน ในพินัยกรรมฉบับนี้ด้วย

เปิดพิรุธ 4 ข้อ

จากคำพิพากษา ในการไต่สวนคดีนี้ศาลได้พบข้อพิรุธในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวในหลายประการ คือ ในการลงลายมือชื่อในพินัยกรรม นางสาวสุทธินีย์ ซึ่งเป็นพยานเพียงปากเดียวของนางปราณี บอกว่า นายธรรมนูญ (ผู้ตาย) ลงชื่อเป็นคนแรก จากนั้นมีนางสาวพรทิพย์ เซ็นชื่อเป็นพยานคนที่สอง และนางสาวสุทธินีย์ เซ็นชื่อช่องพยานเป็นคนสุดท้าย ซึ่งมีพิรุธ ดังนี้

ข้อที่หนึ่ง "พิรุธที่ปากกา"
ตอนแรกนางสาวสุทธินีย์ ซึ่งเป็นพยานบุคคล ได้ตอบทนายผู้คัดค้าน ว่าทั้งสามคน คือนายธรรมนูญ นางสาวสุทธินีย์ และพยานอีกหนึ่งคน ได้ใช้ปากกาด้ามเดียวกัน เพราะตอนนั้นมีปากกาอยู่ด้ามเดียว

ต่อมา นางสาวสุทธินีย์ ตอบทนายฝ่ายผู้ร้อง (นางปราณี) ว่า จำได้ว่าตอนเซ็นชื่อ นายธรรมนูญลงชื่อคนแรก ส่งพินัยกรรม-ปากกามาให้ตัวเธอลงชื่อต่อเป็นคนที่สอง (ตอนแรกตัวเองให้การว่าเซ็นเป็นคนที่สาม) แสดงว่าสองคนใช้ปากกาด้ามเดียวกันเซ็นชื่อ แล้วนางสาวสุทธินีย์กลับเบิกความใหม่ในวันดังกล่าว ว่าได้เตรียมปากกามาเอง ส่วนนายธรรมนูญใช้ปากกาของตัวเอง พอนายธรรมนูญเซ็นแล้ว ก็ส่งเฉพาะพินัยกรรมมาให้เซ็นต่อ โดยใช้ปากกาคนละด้าม แต่ว่าเป็นการลงชื่อคนที่สอง แต่แล้วก็กลับมาเบิกความใหม่อีกว่า ผู้ตาย (นายธรรมนูญ) ลงชื่อในพินัยกรรมแล้วยื่นพินัยกรรมให้นางสาวพรทิพย์เซ็น แล้วยื่นปากกาให้ด้วย ทั้งสองคนจึงใช้ปากกาด้ามเดียวกันเซ็น จากนั้นนางสาวพรทิพย์ก็ยื่นเฉพาะพินัยกรรมมาให้นางสาวสุทธินีย์ แต่ไม่ได้ยื่นปากกาให้นางสาวสุทธินีย์ ก็เลยใช้ปากกาของตัวเองเซ็น และเซ็นเป็นคนสุดท้าย เท่ากับว่านายธรรมนูญ ผู้ทำพินัยกรรม ไม่ได้ยื่นทั้งพินัยกรรมและปากกาให้นางสาวสุทธินีย์ อีกทั้งไม่ได้ใช้ปากกาด้ามเดียวกันด้วย

ศาลพิเคราะห์ว่า จากกรณีปากกาที่ลงนามในพินัยกรรม คำเบิกความของนางสาวสุทธินีย์ ซึ่งเป็นพยานบุคคลเพียงปากเดียวของนางปราณี ศาลบอกว่า กลับไปกลับมา ไม่อยู่กับร่องไม่อยู่กับรอย พยานหลักฐานและทางไต่สวนผู้ร้องในส่วนนี้ จึงไม่น่าเชื่อถือและเป็นข้อพิรุธประการหนึ่ง

ข้อที่สอง พิรุธพยานบุคคล
นางสาวสุทธินีย์ ซึ่งเป็นพยานฝ่ายผู้ร้อง เบิกความว่า ขณะที่ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ในห้องอาหารบ้านผู้ตาย มีตัวพยาน คือนางสาวสุทธินีย์ นายธรรมนูญ (เจ้าของพินัยกรรม) และนางสาวพรทิพย์ ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมอีกคนหนึ่ง อยู่ด้วย แต่ไม่เห็นพยาบาลที่มาคอยดูแลผู้ตายอยู่เลยในวันดังกล่าว พบเพียงแต่คนรับใช้มาเปิดประตูให้เท่านั้น อีกทั้งทุกครั้งที่นางสาวสุทธินีย์นำเอกสารไปให้นายธรรมนูญเซ็นชื่อ ประมาณเดือนละครั้ง ก็ไม่พบว่ามีพยาบาลคอยดูแลอยู่เลย ซึ่งขัดแย้งกับที่นางปราณี ซึ่งเป็นภรรยา บอกว่าได้จ้างพยาบาลมาดูแลผู้ตาย 24 ชั่วโมง เข้าเวรผลัดละ 2 คน 2 ผลัด รวม 4 คนต่อวัน

ศาลจึงพิเคราะห์ว่า พยานหลักฐานและทางไต่สวนผู้ร้องในส่วนนี้จึงขัดแย้งกันเอง และเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง หากเป็นอย่างที่พูดว่า วันเซ็นพินัยกรรม นางสาวสุทธินีย์ พบคนรับใช้มาเปิดประตูให้จริง คนรับใช้จะเป็นพยานสำคัญที่ยืนยันได้ว่านางสาวสุทธินีย์ได้เดินทางมาวันและเวลาที่ทำพินัยกรรมจริง แต่นางปราณีกลับไม่ได้นำคนรับใช้คนนี้มาเบิกความเป็นพยานบุคคลให้แต่อย่างใด

ข้อที่สาม พิรุธไร้ภาพถ่ายวีดิทัศน์
อีกข้อหนึ่งที่คำพิพากษาศาลแพ่งระบุ ก็คือ ขณะที่ผู้ตาย หรือนายธรรมนูญ ยังมีชีวิตอยู่ ได้มีการบันทึกภาพเหตุการณ์ในขณะทำกิจกรรมต่างๆ ไว้มากมาย แต่เวลาทำพินัยกรรมกลับไม่มีทั้งภาพถ่ายและวีดิทัศน์ในขณะที่ทำพินัยกรรมดังกล่าว จึงเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง


ข้อที่สี่ ข้อพิรุธตัวผู้ร้อง (นางปราณี)
นางปราณีเบิกความว่าตัวเองเพิ่งเห็นพินัยกรรมหลังจากที่นายธรรมนูญตายไปแล้ว โดยมีพนักงานบริษัทหนึ่งที่นางปราณีจำชื่อบริษัทไม่ได้ เอาพินัยกรรมมาให้ โดยนางปราณีไม่ติดใจสงสัยว่าใครเป็นคนทำพินัยกรรม ใครเป็นคนดำเนินการ ใครพิมพ์ ใครร่าง และใครเก็บรักษาไว้ นางปราณีไม่เคยถามเลย ทั้งๆ ที่พินัยกรรมเป็นเอกสารที่สำคัญมาก และเป็นประโยชน์ต่อนางปราณีอย่างยิ่ง

การที่ผู้ร้องไม่ติดใจสงสัยในความไม่ชอบมาพากล ไม่เคยสอบถามข้อเท็จจริง เพื่อแสดงความขอบคุณแก่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเปิดเผย ศาลเลยชี้ว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัย เป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง

เหตุใดนางสาวพรทิพย์ และนางสาวสุทธินีย์ ไม่แจ้งให้นางปราณีทราบว่านายธรรมนูญทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินมรดกให้นางปราณีแต่เพียงผู้เดียว ทั้งๆ ที่พินัยกรรมเป็นเอกสารสำคัญมาก และเป็นประโยชน์ต่อนางปราณีอย่างยิ่ง ผู้ร้อง (นางปราณี) ได้นำสืบว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 5 ปี วันที่ 27 มกราคม 2554 ผู้ตาย คือนายธรรมนูญ ผู้เป็นสามี เคยทำสัญญายกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องแต่ผู้เดียว และมีเอกสารมาแสดง สัญญาให้ทรัพย์สินเอกสารหมายเลข ร.2 มีลายเซ็นนางปราณี ในฐานะผู้รับทรัพย์สินด้วย

ศาลพิเคราะห์ว่า ถ้าเรื่องดังกล่าวเป็นจริง แสดงว่านางปราณีก็ทราบว่าผู้ตายจะยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ตัวเอง ไม่ใช่ความลับที่ต้องปกปิดแต่อย่างใด พยานหลักฐานและทางไต่สวนผู้ร้องในส่วนนี้จึงไม่น่าเชื่อถือ และเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง นางปราณีบอกว่ามาเห็นพินัยกรรมหลังจากที่นายธรรมนูญตายแล้ว เมื่อเห็นแล้วก็แจ้งให้นางเยาวณี ลูกสาวคนโต และนายธรรมรัชต์ ลูกชายคนรอง แต่กลับไม่ได้บอกนางเยาวรัตน์ ลูกสาวคนเล็ก ต่อมา เมื่อนายธรรมนูญเสียชีวิตลง บุตร ซึ่งนางปราณีจำไม่ได้ว่าเป็นเยาวณี หรือ ธรรมรัชต์ มาบอกนางปราณีว่านายธรรมนูญได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินบางส่วนให้บุตรด้วย ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าจุดนี้เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองในสาระสำคัญ ทั้งเรื่องทราบว่ามีพินัยกรรม การแจ้งข่าวเรื่องพินัยกรรม และผู้รับมรดกตามพินัยกรรม

นอกจากนี้ คำเบิกความที่่ว่านายธรรมนูญได้ทำพินัยกรรมอีกฉบับ ยกทรัพย์สินบางส่วนให้บุตร ก็ขัดแย้งกับพินัยกรรมฉบับนี้ที่ว่ายกให้นางปราณีแต่ผู้เดียว ซึ่งผู้ร้องไม่ได้เบิกความอธิบายประเด็นนี้ให้ชัดเจน และยังไม่ได้นำนางเยาวณี นายธรรมรัชต์ มาเบิกความอธิบาย และไม่ได้นำพินัยกรรมอีกฉบับที่บอกว่ายกทรัพย์สินบางส่วนให้ลูกมานำสืบต่อศาล พยานหลักฐานและทางไต่สวนของผู้ร้องจึงยิ่งไม่น่าเชื่อถือ และยิ่งเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง

สรุป คำพิพากษาฉบับนี้ระบุว่าพยานหลักฐานและทางไต่สวนผู้ร้องมีน้ำหนักน้อย ไม่น่าเชื่อถือ ขัดแย้งกันเอง ทั้งมีข้อพิรุธหลายประการ

ผู้พิพากษาท่านบอกว่า รับฟังได้ว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอม เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ผู้ร้องแต่ผู้เดียว ผู้คัดค้านที่เป็นทายาทโดยชอบธรรม ย่อมถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทรัพย์มรดก มีสิทธิ์ร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก

ศาลชั้นต้นจึงพิพากษา มีคำสั่งตั้งให้นางปราณี นิรันดร ผู้ร้อง กับนางเยาวรัตน์ นิรันดร ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนายธรรมนูญ นิรันดร ผู้ตาย ร่วมกัน


“นี่ก็เป็นฝันร้ายของคุณเยาวณี (กิ๊ก) และคุณธรรมรัชต์ (กู่) น้องชาย ที่อยากให้แม่เป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว ตอนนี้เกิดมีน้องสาวคนเล็กซึ่งเป็นคู่อริกัน ไม่ถูกกัน มาร่วมเป็นผู้จัดการมรดกด้วย เพราะฉะนั้นการจัดการกับมรดกในทิศทางที่ตัวเองต้องการก็อาจจะยากขึ้น” นายสนธิกล่าว

นายสนธิ กล่าวอีกว่า เมื่อดูคำตัดสินจะเห็นว่าผู้พิพากษาศาลแพ่งได้วินิจฉัยอย่างละเอียดลึกซึ้ง ไม่ละเลยประเด็นเล็กๆ ที่สามารถนำปะติดปะต่อเป็นภาพใหญ่ ศาลแพ่งไม่สามารถตัดสินชี้เป็นชี้ตายให้คนติดคุกได้ก็จริง แต่งานนี้ต้องมีการพิสูจน์ต่อไป ยังไม่จบ ว่าใครเป็นคนปลอมพินัยกรรม ? ซึ่งคนปลอมต้องเป็นคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในมรดกในพินัยกรรมนั่นเอง

งานนี้คนปลอมพินัยกรรมและขบวนการที่เกี่ยวข้องต้องโดนคดีอาญา ต้องติดคุกติดตะรางอย่างแน่นอน หากเอกสารที่ทำปลอมขึ้นมาเป็นเอกสารสิทธิ เป็นเอกสารราชการ เช่น โฉนดที่ดิน สัญญาจดทะเบียน พินัยกรรม มีความผิดตาม ป. อาญา มาตรา 266 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงสิบปี ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

“ที่ผมนำเรื่องคำพิพากษาศาลเกี่ยวกับพินัยกรรมปลอมของตระกูลนิรันดรมาเล่าให้ฟัง ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เมื่อรับทราบและอ่านเรื่องราวนี้แล้วทำให้ผมอดคิดถึงคำเปิดใจของ พล.ท.สรภฎ นิรันดร อดีตรองเจ้ากรมยุทธการทหารบก และทายาทของขุนนิรันดรชัย ซึ่งท่านพูดมาจากใจ ด้วยความช้ำใจและทุกข์ใจ ว่า อาจจะเป็นเพราะบาปกรรม เพราะที่ดินพวกนี้คณะราษฎรยึดมาจากพระมหากษัตริย์ ทำให้ครอบครัวนิรันดรต้องโดนสาปแช่ง หลายคนเส้นเลือดในสมองแตก ป่วยด้วยโรคต่างๆ นอกจากนี้แล้ว ตระกูลนี้ก็มีลูกหลานสืบตระกูลน้อยมาก แถมยังทะเลาะเบาะแว้งกัน


“ผมไม่รู้นะครับว่าพวกคุณ ตระกูลนิรันดร จะคิดอย่างไร คุณเยาวณี คุณเป็นไฮโซ เฉิดฉายอยู่ในวงการ แสดงความร่ำรวยออกมา ทั้งๆ ที่ทรัพย์สินความร่ำรวยของคุณนั้นมีหลายส่วนเป็นของสถาบันกษัตริย์ และคุณก็ไม่ยอมคืนให้กับพระเจ้าอยู่หัว หรือสถาบันกษัตริย์ วันนี้ คุณเยาวณีครับ ผมไม่รู้ว่าคุณเชื่อเรื่องนี้หรือเปล่า แต่ผมเชื่อ เวรกรรมตามมาแล้ว และจะมีอยู่เรื่อยๆ ไม่จบเพียงแค่นี้”นายสนธิกล่าว

นางเยวณี นิรันดร
กำลังโหลดความคิดเห็น