xs
xsm
sm
md
lg

อดีตประธานาธิบดีไต้หวันกำลังจะไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ เรื่องนี้หมายความว่าอะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


อดีตประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน จะเดินทางไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม (วันจันทร์นี้) จนถึงวันที่ 7 เมษายน (ภาพจากมูลนิธิหม่า อิงจิ่ว)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

KMT ex-Taiwan president’s mainland visit means what?
By JEFF PAO

มีบางคนบางฝ่ายในไต้หวันมองว่า ปักกิ่งกำลังบ่มเพาะตระเตรียม หม่า อิงจิ่ว เอาไว้ เพื่อให้เป็นผู้นำของเกาะแห่งนี้ในช่วงระยะผ่าน ตรงกลางๆ ระหว่างการเข้ายึดครองไต้หวันด้วยวิธีการนุ่มนวล กับการเข้าปกครองฮ่องกงในสไตล์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

อดีตประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน ซึ่งสังกัดพรรคก๊กมิ่นตั๋ง มีแผนการเดินทางไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ก่อนหน้า ไช่ อิงเหวิน ผู้นำไต้หวันคนปัจจุบันจะเดินทางไปต่างประเทศในเดือนเมษายน โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะแวะที่สหรัฐฯ ด้วย

หม่า จะกลายเป็นอดีตประธานาธิบดีไต้หวันคนแรกซึ่งไปเยือนแผ่นดินใหญ่ นับตั้งแต่ที่พรรคก๊กมินตั่ง (Kuomintang หรือพรรคชาตินิยม) ซึ่งเวลานั้นเป็นพรรคการเมืองที่ปกครองจีนสมัยใช้ชื่อว่าสาธารณรัฐจีน (Republic of China) พ่ายแพ้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ และอพยพหลบหนีมาอยู่ที่ไต้หวันในปี 1949 หรือเมื่อ 74 ปีมาแล้ว

สำนักงานของหม่า แถลงว่า ไม่ได้มีการจัดเตรียมกำหนดการเพื่อให้ หม่า เดินทางไปปักกิ่ง หรือพบปะหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ตลอดจนพวกเจ้าหน้าที่แผ่นดินใหญ่คนอื่นๆ ระหว่างทริปเดินทางนี้ซึ่งกำหนดเอาไว้ที่ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม จนถึงวันที่ 7 เมษายน คำแถลงกล่าวว่าอดีตผู้นำไต้หวันผู้นี้จะเพียงแต่เดินทางไปคารวะหลุมฝังศพของบรรพบุรุษของเขา และเข้าร่วมการพบปะกับพวกนักศึกษาแผ่นดินใหญ่เท่านั้น

ทางด้าน ไช่ ได้ส่งสัญญาณให้ความเห็นชอบกับการเยือนของ หม่า คราวนี้แบบมีการตั้งการ์ดกำหนดเงื่อนไข ขณะที่บางคนบางฝ่ายในไต้หวันแสดงออกอย่างเปิดเผยว่า หวาดกลัวว่าการเยือนของ หม่า จะถูกปักกิ่งนำไปใช้หาประโยชน์ตามแผนการของฝ่ายนั้นซึ่งต้องการเข้ายึดครองเกาะไต้หวัน

แค่ “กวาดหลุมฝังศพ”

หม่า พร้อมด้วยพี่สาวน้องสาวของเขารวม 4 คน และนักศึกษา 30 คนจากมูลนิธิหม่า อิงจิ่ว (Ma Ying-jeou Foundation) มีกำหนดจะไปเยือนเมืองหนานจิง อู่ฮั่น ฉางซา ฉงชิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ระหว่างทริปเดินทางนี้พวกเขาจะไปคารวะบรรดาอนุสรณ์สถานรำลึกการปฏิวัติปี 1911 (การปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง และนำทางไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐจีน) และสงครามต่อต้านญี่ปุ่น รวมทั้งพบปะกับพวกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (ในเซี่ยงไฮ้) มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น และมหาวิทยาลัยหูหนาน

เมื่อตอนที่ หม่า ยังเป็นผู้นำของไต้หวันนั้น เขาได้พบหารือกับ สี ในสิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015

ทางด้านรัฐบาลจีนแถลงว่า ยินดีต้อนรับการไปเยือนของ หม่า และจะดำเนินการในส่วนของตนในการอำนวยความสะดวกให้แก่การเดินทางเยือนคราวนี้

“การคารวะบรรพบุรุษในช่วงใกล้ๆ เทศกาลชิงหมิง (เช็งเม้ง) คือประเพณีที่ยึดถือร่วมกันของประชาชนในทั้งสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน” หม่า เสี่ยวกวง (Ma Xiaoguang) ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกให้แก่สำนักงานกิจการไต้หวัน (Taiwan Affairs Office) แห่งคณะรัฐมนตรีจีน กล่าวในวันจันทร์ (20 มี.ค.) “นอกจากนั้น การที่คนหนุ่มสาวจากทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นย่อมสามารถสร้างพลังงานใหม่ๆ และอัดฉีดความมีชีวิตชีวาแห่งวัยเยาว์เข้าไปในการพัฒนาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบอย่างสันติ”

ปีนี้ เทศกาลชิงหมิง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า วันกวาดหลุมฝังศพ ด้วยนั้นตรง
กับวันที่ 5 เมษายน

พวกนักการเมืองไต้หวันแสดงปฏิกิริยาแบบสุขุม

อีริค จู (Eric Chu) ประธานคนปัจจุบันของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง แถลงว่า เป็นเรื่องดีที่มีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ จูบอกว่า ทริปเดินทางของ หม่า จะช่วยส่งเสริมสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน

ขณะที่ โหว โหย่วอี๋ นายกเทศมนตรีของนครนิวไทเป และมีศักยภาพที่จะเป็นตัวแทนของพรรคก๊กมิ่นตั๋งในการลงสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2024 บอกว่า เขาเคารพเรื่องที่ หม่า จะเดินทางไปเยือนแผ่นดินใหญ่ และเชื่อว่าระเบียบกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นเพียงพอที่จะรับมือกับเรื่องเช่นนี้แล้ว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=vYqzwKqwcwo)

การเดินทางเที่ยวนี้ของ หม่า ถือว่ามีความอ่อนไหวทางการเมือง ขณะที่ตัวประธานาธิบดี ไช่ ก็มีรายงานว่ากำลังจะได้พบปะกับประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เควิน แมคคาร์ธี (Kevin McCarthy) ตอนที่เธอหยุดแวะสหรัฐฯ ในเส้นทางไปเยี่ยมเยียนหลายประเทศในอเมริกากลางเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว กองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้เปิดฉากทำการซ้อมรบครั้งใหญ่เป็นเวลา 3 วันใกล้ๆ เกาะไต้หวัน ในลักษณะเป็นการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้เชิงคุกคาม สืบเนื่องจากการที่ แนนซี เปโลซี (Nancy Pelosi) ผู้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อยู่ในตอนนั้นเดินทางไปเยือนไต้หวัน

นอกจากนั้น ทริปเดินทางของ หม่า ยังถูกประกาศออกมาในวันอาทิตย์ (19 มี.ค.) เพียงวันเดียวเท่านั้นก่อนที่ สี เริ่มการเดินทางเยือนมอสโกเป็นเวลา 3 วันตั้งแต่วันจันทร์ (20 มี.ค.) ซึ่งเขาได้พบปะกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และพูดจากันในเรื่องวิกฤตยูเครน โดยมีรายงานว่าหลังจากนั้นเขาจะโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน

ไช่ แถลงในวันจันทร์ (20 มี.ค.) ว่า เธอเคารพแผนการไปกวาดหลุมฝังศพของหม่า และได้แจ้งให้พวกหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องช่วยอำนวยความสะดวกให้เขาแล้ว เธอแสดงความหวังว่ากิจกรรมต่างๆ ของ หม่า บนแผ่นดินใหญ่จะเป็นการส่งเสริมผลประโยชน์ของไต้หวัน และเข้ากันได้กับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนชาวไต้หวัน

ระหว่างที่ เซียว สีว์เชิน (Xiao Xucen) ผู้อำนวยการบริหารของมูลนิธิหม่าอิงจิ่ว ออกมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชน เขาบอกว่า “แขกผู้ไปเยือนควรต้องคำนึงถึงความสะดวกของเจ้าภาพ” เมื่อถูกสื่อสอบถามว่า หม่า จะพบปะกับเจ้าหน้าที่จีนคนใดบ้างหรือไม่ “ท่านหม่า เป็นบุคคลที่พิจารณาถึงสถานการณ์โดยรวม และจะดำเนินการกับเรื่องการไปกวาดหลุมฝังศพคราวนี้ของท่าน อย่างที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาเรื่องหนึ่ง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tw.news.yahoo.com/%E9%A6%AC%E8%8B%B1%E4%B9%9D%E8%B5%B4%E9%99%B8%E6%92%9E%E6%9C%9F%E8%94%A1%E8%8B%B1%E6%96%87-%E5%9F%BA%E9%87%91%E6%9C%83%E5%9B%9E%E6%87%89-015758534.html)

เซียว กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ที่ หม่า หมดวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาในปี 2016 เขาได้รับคำเชิญจำนวนมากจากฝ่ายแผ่นดินใหญ่ แต่ไม่สามารถเริ่มการเดินทางของเขาได้สืบเนื่องจากคณะบริหารไช่คัดค้าน และจีนมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ระบาด เขากล่าวว่า หม่าเป็นผู้ที่เชื่อว่าหากนักศึกษาจากไต้หวันและแผ่นดินใหญ่มีการแลกเปลี่ยนกันเพิ่มมากขึ้นก็จะช่วยลดทอนความตึงเครียดทางการเมืองในช่องแคบไต้หวันลงได้

ตามรัฐบัญญัติพิทักษ์คุ้มครองข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Information Protection Act) ของไต้หวัน ระบุเอาไว้ว่า เจ้าหน้าที่ไต้หวันคนไหนก็ตามทีซึ่งรับรู้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับ ห้ามเดินทางออกไปต่างแดนเป็นระยะเวลา 3 ปีภายหลังพ้นตำแหน่ง ต่อมาในปี 2019 ไช่ ยังได้ขยายเวลาห้ามเดินทางในกรณีของ หม่า ออกไปอีก 2 ปี แต่เมื่อตอนที่ระยะเวลาห้ามหมดอายุลง หม่าก็ยังไม่สามารถไปแผ่นดินใหญ่อยู่ดี สืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่

“พวกนักวิจารณ์คัดค้านมืออาชีพ” ระแวงสงสัย

“หม่า เวลานี้สามารถไปไหนก็ได้ตามที่เขาต้องการ แต่เขาไม่ควรไปเยือนแผ่นดินใหญ่หรอก ถ้าหากเขาแคร์เรื่องผลประโยชน์ของไต้หวันอย่างแท้จริง” หวัง ตาน (Wang Dan) นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ไต้หวัน กล่าวเอาไว้เช่นนี้ในโพสต์บนสื่อสังคม “พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งเริ่มต้นงานแนวร่วมรอบใหม่ขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่การไปเยือนแผ่นดินใหญ่ของ หม่า ผู้มีฐานะเป็นอดีตประธานาธิบดีของไต้หวัน ย่อมจะเท่ากับเป็นการขานรับงานแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
(ดูเพิ่มเติมโพสต์ของเขาได้ที่ https://www.facebook.com/wangdan1989/posts/756147569210421)
(หวัง ตาน เป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษาคนสำคัญที่เคลื่อนไหวประท้วงและถูกปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 เขาถูกจับกุมและถูกคุมขังในจีนอยู่หลายรอบ ก่อนถูกเนรเทศไปสหรัฐฯ ซึ่งเขาไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Wang_Dan_(dissident) -ผู้แปล)

หวังวิจารณ์ว่า ด้วยทริปเดินทางเที่ยวนี้ของเขา หม่า ก็ดูเหมือนกำลังบอกกล่าวกับโลกว่า ประชาชนชาวไต้หวันมีความปรารถนาที่จะยอมรับแผนการกลับเข้ามารวมชาติอีกครั้งของปักกิ่ง เขาบอกว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องมีบางคนบางฝ่ายแสดงความระแวงสงสัยว่า หม่า จงรักภักดีต่อไต้หวันแค่ไหน

หวัง ยังวิพากษ์วิจารณ์ไปถึง จู และ โหว ของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ที่ไม่คัดค้านการเดินทางไปแผ่นดินใหญ่ของ หม่า

สำหรับ เสิน โหย่วจง (Shen Yu-chung) อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยตงไห่ (Tunghai University) ในไต้หวัน บอกว่า ทริปเดินทางของหม่า จะสร้างแรงกดดันต่อพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ซึ่งยังไม่ได้ปักหลักมีจุดยืนที่แน่นอนชัดเจนในเรื่องเกี่ยวกับช่องแคบไต้หวัน เสิน กล่าวว่า หม่าจะมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นภายในพรรคก๊กมินตั๋ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเขาสามารถพบปะกับใครในจีนแผ่นดินใหญ่ได้บ้าง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gvm.com.tw/article/100822)

ส่วน หว่อง ออนยิน (Wong On-yin) คอมเมนเตเตอร์ฝ่ายค้าน ซึ่งตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง กล่าวทางช่องยูทูปของเขาเช่นกันว่า ทริปเดินทางไปแผ่นดินใหญ่ของ หม่า ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับประชาชนชาวไต้หวัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=ttcFEaw2uYk)

หว่อง บอกว่าถ้าหากวันหนึ่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนประสบความสำเร็จในการยึดครองไต้หวัน ปักกิ่งอาจจะแต่งตั้ง หม่า ให้เป็นประธานาธิบดีชั่วคราวเพื่อปกครองเกาะแห่งนี้ภายใต้โมเดล “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เขาทำนายว่าประชาชนไต้หวันจะไม่คัดค้าน หม่า ในตอนต้นๆ อาจจะเป็นช่วงยาวๆ ราวๆ สิบปีทีเดียว โดยที่ไต้หวันจะค่อยๆ ถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นเหมือนกับฮ่องกง ซึ่งเวลานี้อยู่ใต้การปกครองโดยตรงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในไต้หวันเวลานี้ ประสบความเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เมื่อผู้สมัครของพรรคชนะเพียงแค่ 5 เขตจากที่มีเลือกตั้งกันในเทศมณฑล และนครอิสระต่างๆ รวมทั้งสิ้น 22 เขต ตัวเลขนี้ยังต่ำลงจากคราวที่แล้ว ที่พรรคเคยครองอำนาจอยู่ใน 7 เขต

ขณะที่พรรคก๊กมินตั๋งชนะในเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ๆ 3 เมือง ได้แก่ ไทเป เถาเหยียน (Taoyuan) และจีหลง (Keelung) ถึงแม้พ่ายแพ้ในหลายเทศมณฑลทางภาคตะวันตก เป็นต้นว่า เหมียวลี่ (Miaoli) จินเหมิน (Kinmen) และเผิงหู พวกคอมเมนเตเตอร์บอกว่า ผู้ออกเสียงจำนวนมากไม่พอใจที่เดือดร้อนจากอัตราเงินเฟ้อสูง

ตั้งแต่นั้นมา ปักกิ่งก็ได้ลดน้ำเสียงของตนลงในเรื่องเกี่ยวกับไต้หวัน และบอกว่าจะยังคงติดต่อเชื่อมโยงกับพวกที่คัดค้านเรื่องไต้หวันจะประกาศเอกราช และจะพยายามเพื่อนำไต้หวันมารวมประเทศอีกครั้งอย่างสันติ

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการเมืองในช่องแคบไต้หวันกลับพุ่งขึ้นอีก หลังจาก แมคคาร์ธี แถลงในวันที่ 7 มีนาคมว่า เขาจะพบปะหารือกับ ไช่ ในสหรัฐฯ ในปีนี้ กระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงว่า ได้แสดงความไม่พอใจทางการทูตต่อสหรัฐฯ ในเรื่องนี้แล้ว และเรียกร้องวอชิงตันสร้างความกระจ่างชัดเจนว่าจะมีการพบปะระหว่าง ไช่ กับ แมคคาร์ธี หรือไม่
(ดูเพี่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/fyrbt_673021/jzhsl_673025/202303/t20230308_11037694.shtml)

สี จิ้นผิง ได้กล่าวคำปราศรัยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ในพิธีปิดการประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress) ของจีนว่า จีนแผ่นดินใหญ่มีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในเรื่องไต้หวันว่า ต้องยึดมั่นปฏิบัติตามหลักการจีนเดียว (one-China principle) และตามฉันทมติปี 1992 (1992 Consensus) รวมทั้งจีนยังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดันเดินหน้าให้ไต้หวันรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่

มีคอลัมนิสต์แผ่นดินใหญ่บางรายกล่าวว่า ปักกิ่งเวลานี้มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะบรรลุการรวมชาติกับไต้หวันโดยใช้กำลังแล้ว แต่จะรอคอยต่อไปจนกว่าพวกกลุ่มพลังเรียกร้องเอกราชจะล้มหายตายจากไปจากเกาะแห่งนี้

กระนั้นก็ตาม เส้นทางของพรรคก๊กมินตั๋งที่จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในปี 2024 ยังคงเต็มไปด้วยความขรุขระ เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา พรรคการเมืองฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในไต้หวันพรรคนี้ประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภานิติบัญญัติในเทศมณฑลหนานโถว (Nantou county) ให้แก่พรรคดีพีพี ทั้งๆ ที่เขตนี้เคยเป็นที่มั่นแข็งแรงของก๊กมินตั๋งมาแต่ไหนแต่ไร มีสื่อมวลชนในไต้หวันพูดถึงการเลือกตั้งคราวนี้ว่า ถือเป็นการเริ่มปะทะกันประปรายตั้งแต่เนิ่นๆ ของการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีหน้า
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gvm.com.tw/article/10030)
กำลังโหลดความคิดเห็น