xs
xsm
sm
md
lg

ร้าวตั้งแต่ยังไม่เริ่ม “ก้าวไกล” จ้องกินรวบ “เพื่อไทย” จ้องล้มโต๊ะ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่ง่ายอย่างที่คิด ไม่หมูอย่างที่คาด

“ค่ายส้ม” พรรคก้าวไกล ที่อุตส่าห์สร้างปรากฎการณ์ “สึนามิสีส้ม” โกยเเต้มทั่วฟ้าเมืองไทย พุ่งพรวด “ยืนหนึ่ง” ได้ ส.ส.มากที่สุดในสนามเลือกตั้ง กับจำนวน 151 ที่นั่ง (ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2566) พร้อมสิทธิ์ “ไม้แรก” ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
เพราะตั้งแต่เสร็จศึกเลือกตั้งมา ก็พยายามจัดอีเวนท์ถี่ยิบ “โชว์ภาพ” ความเป็นปึกแผ่นของ “ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล” ที่ปัจจุบันเหลืออยู่ 8 พรรคการเมือง 312 เสียงอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะเปิดฟลอร์โรงแรมกรูกลางเมืองลงนาม และแถลงการณ์บันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน โดยมีพันธะสัญญาในการสนับสนุน “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

อีกทั้งยังวางการให้มี “เอ็มโอยู” เพื่อเป็น “มิติใหม่” ทางการเมืองไทยในการตกลงเข้าร่วมรัฐบาล นอกเหนือจากหมกหมุ่นกับการ “แบ่งเค้ก” จัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

แถมมี “กิมมิก” หวังว่าจะนัดหมายลงนามเอ็มโอยูกันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เวลา 16.30 น. ถือฤกษ์ วัน ว. เวลา น. เดียวกับการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ต่างกันแค่ปี พ.ศ.ที่ย้อนไป 9 ปีก่อนเท่านั้น หมายเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงยุคเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ
 
ทว่า ระหว่างทางก็มีเรื่องราวกระทบกระทั่งสร้าง “รอยร้าว” ขึ้นเป็นระยะ ทั้งภายในพรรคก้าวไกล และผู้สนับสนุนเอง หนักกว่าก็ปัญหาความไม่ลงตัวในหมู่ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล ผ่าน “ข่าวปล่อย-ข่าวแซะ” คู่ขนานออกมาไม่เว้นแต่ละวัน

เอาตั้งแต่ภายใน “ก๊วนสีส้ม” ก็มีกรณี “เฮียป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็เป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคก้าวไกล หลัง “จูบปาก” ทำความเข้าใจแนวทางพรรคกับ “หัวหน้าทิม” ก่อนการเลือกตั้งไม่นาน
“ปิยบุตร” อดีตหนึ่งในอาจารย์กลุ่ม “นิติราษฎร์” อันลือเลื่อง ได้โพสต์ข้อความตรงๆ ว่า “ไม่เห็นด้วย” กับเนื้อหาของเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล พุ่งไปที่ประเด็นการเพิ่มข้อความที่ว่า

“ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”

โดยให้เหตุผลว่า ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้ว เมื่อเขียนซ้ำลงไปในเอ็มโอยูของว่าที่รัฐบาลใหม่ เสมือนออกอาการ “กินปูนร้อนท้อง” หรือ “วัวสันหลังหวะ” เสียมากกว่า

หลักใหญ่ใจความข้อท้วงติงของ “เฮียป๊อก” น่าจะเป็นการเพิ่มถ้อยคำที่ว่า “สถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ขององค์พระมหากษัตริย์” ซึ่งอดีตอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์มองว่า อาจเป็น “บ่วงรัดคอ” ที่ทำให้ พรรคก้าวไกล ต้องประสบปัญหาในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ในอนาคตได้

ในส่วนประเด็นที่ 2 ที่ “ปิยบุตร” แสดงความไม่เห็นด้วยคือ การตัดเรื่องการผลักดันให้มีการนิรโทษกรรม คดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองผ่านกลไกรัฐสภาออกไป ที่จะส่งผลให้ พรรคก้าวไกล ไม่สามารถดำเนินพันธกิจสำคัญในการยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่พัวพันกันมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ผ่านเหตุการณ์ปี 2553 ผ่านรัฐประหาร 2557 และการชุมนุมของ “คณะราษฎร” ในปี 2563-2565
 
เชื่อว่า “ปิยบุตร” ค่อนข้างให้ความสำคัญกับกลุ่มหลัง เพราะถือเป็นฐานเสียงสำคัญที่ทำให้พรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง อีกทั้งยังเป็นฐานเสียงสำคัญของ “กลุ่มก้าวหน้า” ที่วันนี้ตัว “เฮียป๊อก” เป็นเลขาธิการ และมี “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน ในยามที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากสมัยยุบพรรคอนาคตใหม่

“การจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ ต้องใช้กลไกการนิรโทษกรรม ให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองเสียก่อน … สุดท้ายต้องไปจบที่สภา เพราะต้องตราเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม แต่มันจะผ่านได้ ก็ต้องมีเสียงข้างมากในสภาสนับสนุน ดังนั้น ถ้าทุกพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล 313 เสียง เห็นตรงกันตั้งแต่วันนี้ ก็เป็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ให้ประชาชนคนธรรมดาทุกกลุ่ม ทุกฝักฝ่าย ที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง แสดงออกทางการเมือง” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ผู้ติดบ่วงคดียุยง-ปลุ่มปั่น ตามกฎหมายอาฐามาตรา 116 ช่วงการชุมนุมของคณะราษฎร ว่าไว้
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า กว่าจะทำคลอดเอ็มโอยูวางแนวทางการทำงานร่วมงาน 23 ข้อ พ่วงด้วย 5 แนวทางปฏิบัติออกมาก่อนจัด “พิธีกรรม” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 การถกเถียงหาข้อสรุปในวงประชุมตัวแทน 8 ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล เต็มไปด้วย “ความเห็นต่าง” ต้องแก้ไขร่างเอ็มโอยูกันจนนาทีสุดท้าย

ทำให้กำหนดออกแถลงการณ์ร่วมในเวลา 16.30 น. ต้องล่าช้าไปกว่า 20 นาที และแถลงร่วมกันในเวลา 16.50 น.

และแม้หน้าฉากจะดูชื่นมื่นเป็นปึกแผ่น แต่หลังฉากมีรายการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันอย่างเข้มข้น ว่ากันว่ามีตัวแทนพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 4 พรรคในวงประชุมบีบให้ “พิธา-ก้าวไกล” ถอด และใส่ “ข้อความสำคัญ” บางประการในแถลงการณ์ มิเช่นนั้นจะไม่ออกไปร่วมนั่งประกอบฉากการอ่านแถลงการณ์ด้วย

เรื่องหนึ่งที่พูดถึงกันมากคือ การให้ถอนประเด็นเกี่ยวกับ “การนิรโทษกรรมคดีการเมือง” ออกจากเอ็มโอยู เพราะรู้ว่าอาจกลายเป็น “ปมร้อน” ให้เกิดการต่อต้าน ตาม “คำขอแกมบังคับ” ของ “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย ที่เคยเป็นผู้ประสบภัย “นิรโทษฯ สุดซอย” มาก่อน
ฟาก “คนค่ายส้ม” ก็ต่อรองจนการหารือยืดเยื้อ ก่อนจะยอมถอย หลัง “พิธา” และ “โกต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ผลัดกันต่อสายถึง “บางคน” ที่เชื่อว่า บัญชาการอยู่นอกห้องประชุมหลายครั้ง

อีกทั้งยังมี “วาระด้อมส้ม” เกี่ยวกับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่พรรคก้าวไกลหาเสียงกับ “ม็อบเด็ก-ด้อมส้ม” ไว้ ที่ทุกพรรคยืนกรานว่า จะไม่มีการกล่าวถึงในเอ็มโอยู แม้ว่า “ร่างแรก” ที่ พรรคก้าวไกล ส่งให้แก้ไขปรับปรุงจะไม่มีการกล่าวถึงก็ตาม
เป็นเหตุให้ “ค่ายสีส้ม” ต้องใส่เกียร์ถอยแบบสุดซอยอีกประเด็น แถมมีการแต่งเติมข้อความ จนทำให้ “แก๊งส้มยุคบุกเบิก” อย่าง “ปิยบุตร” ต้องออกมาเลกเชอร์ยกใหญ่

กลายเป็นเกม “เขี้ยวลากดิน” ที่พรรคก้าวไกลได้เรียนรู้ทันทีว่า แค่ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.มากที่สุด หาใช่จะมี “แต้มต่อ” เหนือพรรคอื่น แม้แต่พรรคที่มี ส.ส.เลขหลักเดียว

ด้วยความเข้มข้นของกลเกมช่วงตั้งไข่รัฐบาล ทำให้ “ทีมกุนซือค่ายสีส้ม” อ่านออกว่า หากยังทำตัวเป็น “หมูในอวย-เด็กอมมือ” อยู่ ก็คงโดน “ขี่คอ” ตลอดเส้นทางการจัดตั้งรัฐบาล ที่สุดท้ายปลายทางไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่

โผตัวบุคคลที่ถูกจับวางเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ จึง “ตั้งใจหลุด” ออกมาทันที เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเจรจาจัดตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” รุดหน้าไปถึงการแบ่งกระทรวง และการฟอร์มทีมเสนาบดีแล้ว

ทว่า ก็กลายเป็น “ชนวน” ให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “ค่ายดูไบ” ที่ยืนยันหนักแน่นว่า ยังไม่มีการพูดถึงการแบ่งกระทรวงกันแต่อย่างใด และไม่พอใจถึงขั้นหลุดคำว่า “ไม่เป็นสุภาพบุรุษ” ออกมาด้วย

ตามติดมาด้วยคิวการเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ที่เป็น “ประมุขนิติบัญญัติ” ประธานรัฐสภา โดยตำแหน่ง อันเป็นตำแหน่งสำคัญในระนาบไม่น้อยกว่านายกรัฐมนตรี ที่ตาม “ธรรมเนียม” แล้วต้องเป็น ส.ส.จากพรรคอันดับ 1 เข้ามารับตำแหน่ง

.พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ประกอบด้วยพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคเพื่อไทรวมพลัง ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล หรือ MOU เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566
หากแต่ด้วย “สถานการณ์พิเศษ” บางครั้งผู้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรก็อาจจะไม่ได้มาจากพรรคเบอร์ 1 อย่างที่เห็นๆ เมื่อรัฐบาลก่อน เมื่อ “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ เล่นเกมเขี้ยวจน “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐต้องยอมประเคนเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติให้ “นายหัวเมืองตรัง” ชวน หลีกภัย มาแล้ว

ครั้งนี้อาจจะไม่ละม้าย แต่ก็คล้ายคลึง เมื่อสมการรัฐบาลใหม่ดันมี พรรคเบอร์ 1-2 มาสเป็นว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล เป็น 2 พรรคที่มีที่นั่ง ส.ส.ห่างกันเพียง 10 ที่นั่ง และที่สำคัญหากขาดพรรคเบอร์ 2 อย่างพรรคเพื่อไทยไป การจัดตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” ก็ไม่มีทางสำเร็จ

อีกทั้งการลงมติเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเกิดขึ้นก่อนการลงเลือกนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมรัฐสภา ถือเป็นการ “วัดใจ” กันพอสมควร ย้อนไปสมัย “รัฐบาลพลังประชารัฐ” กว่าจะยอมให้มีการโหวต “นายหัวชวน” ขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีการ “วัดใจ” ผ่านการลงมติขอเลื่อนวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเช็กเสียงว่า จะไม่มีการ “ตุกติก” กันเกิดขึ้น

ส่งผลให้ “ค่ายเพื่อไทย” ที่พรรษาการเมืองเหนือกว่า เริ่มเดินเกมเขี้ยวบีบให้ “ค่ายก้าวไกล” คายเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรให้คนของพรรคเพื่อไทย โดยมีเหตุผลคือ 1.เพื่อเป็นการซื้อใจในการทำงานร่วมกัน และ 2.คนของพรรคก้าวไกลยังอ่อนพรรษาทางการเมือง ดูแล้วไม่เหมาะกับการคุมเกมในสภา โดยเฉพาะการที่มีฝ่ายค้านเป็นนักเลือกตั้งที่ช่ำชองเกมการเมืองมากกว่า

แน่นอนว่าในฐานะพรรคเบอร์ 1 ย่อมไม่ยอมง่ายๆ เริ่มมีการถกเถียงผ่าน “สังคมออนไลน์” หลากหลายความเห็น โดย “ปิยบุตร” ก็เป็นผู้หนึ่งที่ออกมาคัคค้านแนวคิดที่จะประเคนเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติให้กับพรรคเพื่อไทย เพราะวาระของพรรคก้าวไกลหลายประการล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวทีสภาฯในการขับเคลื่อน

เฉกเช่นเดียวกับ “คีย์แมนค่ายส้ม” ทั้งทางแจ้งและทางลับที่ต่างระบุว่า “ตัวเด็ดตีนขาด” ก็ต้องรักษาตำแหน่งนี้ไว้ในพรรคตัวเอง

ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นประเด็นสำคัญทันทีเช่นกัน แกนนำน้อยใหญ่ต่างออกมาขยี้เรื่องนี้กันอย่างเมามันด้วยท่าทีแข็งกร้าว พร้อมกล่าวหา พรรคก้าวไกลในโทนเดียวกันราวกับนัดแนะกันมาว่า มีแค่ 151 เสียงก็อย่าริ “กินรวบ” หากอยากได้ทุกอย่างจริงต้องทำให้ได้อย่างสมัยพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2548 ที่ได้ ส.ส. 377 เสียง

ที่ออกหมัดตรงที่สุดเห็นจะเป็น “หมอแคน” อดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่ออกมากระซวก “พรรครุ่นหลาน” ว่า พรรคก้าวไกล อย่าคิดกินรวบทุกตำแหน่ง เพราะมีแค่ 151 เสียง ยังไม่เกินครึ่ง ถ้าอยากได้ทุกตำแหน่ง ต้องทำให้ได้แบบพรรคไทยรักไทย 377 เสียง ที่จะชี้เป็นชี้ตายเอาตำแหน่งไหนก็ได้ เมื่อพรรคเพื่อไทยยินดีสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่ว่าได้ฝ่ายบริหารแล้ว จะไม่ให้พรรคอื่นไปดำรงตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งต้องดูความเหมาะสมแต่ละช่วงเวลา

“ในอดีต ท่านอุทัย พิมพ์ใจชน มีเพียง 3 เสียง ก็ได้เป็นประธานสภาฯ ต้องดูบุคลากรของทั้ง 2 พรรค ซึ่งผมคิดว่าพรรคเพื่อไทย น่าจtมีความเหมาะสมในตำแหน่งประธานสภาฯมากกว่า … ควรมีคนที่เหมาะสมไปนั่งตำแหน่งประธานสภาฯ ให้เป็นหน้าเป็นตาไม่แพ้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารเราได้คนหนุ่มแล้ว แต่ประธานสภาฯ พรรคก้าวไกลก็ไม่ควรกินรวบ ถ้าพรรคก้าวไกลยังดื้อดึง สมมุติว่า พรรคเพื่อไทยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกล ก็เดินไปไม่ได้อยู่ดี” เจ้าของสมญา “หมอแคน” ว่าไว้

ทางพรรคก้าวไกลเองก็สวนหมัดทันควัน ด้วยการออกแถลงการณ์โดยยก 3 วาระสำคัญ ที่ทำให้พรรคก้าวไกลต้องผลักดันในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็เป็นโทนเดียวกับที่ “ปิยบุตร” กรุยทางไว้ให้

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 ปิยบุตร แสงกนกกุล
โดยว่า 3 วาระสำคัญที่ว่า ประกอบด้วย 1.เพื่อผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า โดยมีกฎหมายที่พรรคได้ให้สัญญาประชาคมไว้อย่างน้อย 45 ฉบับที่ต้องทำให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร

2.เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น

และ 3.เพื่อผลักดันหลักการ “รัฐสภาโปร่งใส” และ “ประชาชนมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

ก่อนที่จะส่ง “ว่าที่ขุนคลังไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาแถลงข่าวย้ำ 3 วาระสำคัญที่ว่าอีกครั้ง

ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ไม่ยอมลดราวาศอก เป็นคิวของ “เฮียเสริฐ” ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พูดถึงการวางตัวประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ในวันที่ 22 พ.ค.66 หลังการลงนามเอ็มโอยู พรรคเพื่อไทยได้แจ้งความประสงค์ไปยังแกนนำพรรคก้าวไกล ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จาก ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคก้าวไกลก็บอกว่า ขอเวลาอีก 2-3 วัน เพื่อจะเอาคำตอบมาให้ ซึ่งขณะนี้ก็รอคำตอบอยู่

“อยากให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปได้ด้วยดี เพราะได้ลงนามเอ็มโอยูไปแล้ว ไม่อยากให้บางเรื่องมาเป็นอุปสรรค … ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งสำคัญ อยากให้คำนึงถึงความเหมาะสม แต่ถ้าพรรคก้าวไกล ไม่ยอม เราก็คงต้องกลับมาหารือกันอีกครั้ง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุ

ไม่เท่านั้นยังระบุด้วยว่า “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และว่าที่ ส.ส.น่าน ซึ่งเชี่ยวชาญงานสภาฯ และพรรษาอาวุโส เป็น ส.ส. 6 สมัย มีความเหมาะสมที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ด้วย

จากความเห็นของ “ประเสริฐ-อดิศร” แปลไทยเป็นไทยแบบไม่ต้องตีความได้ว่า หากไม่ให้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยก็พร้อมที่จะถอนตัว

ไม่เพียงแต่การฟาดฟันซึ่งหน้าของ 2 พรรคแกนหลักแล้ว ยังมี “ไซด์สตอรี” ความขัดแย้งระหว่าง “หมอชลน่าน” กับ “แด๊ดดี้ปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย หนึ่งในว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล จากกรณีที่ฝ่ายหลังลุกขึ้นถามกลางลงแถลงข่าวเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลถึงความเป็นไปได้ในการประกาศว่า พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย จะจับมือกันไม่ว่าในสถานัรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน โดยเสนอให้เป็น “แอดวานซ์เอ็มโอยู” หรือข้อตกลงร่วมกันชั้นสูง

โดยเป็นฝ่าย “หมอชลน่าน” ที่เลี่ยงจะไม่ตอบคำถาม มีเพียง “พิธา” ที่รับคำว่า มีความเป็นไปได้ หากมีการพูดคุยกัน

ผ่านการแถลงข่าว และมีงานเลี้ยงรับรอง “หมอชลน่าน” จึงตำหนิ “ผู้พันปุ่น” ค่อนข้างรุนแรงถึงความเหมาะสมในการใช้เวทีสื่อมวลชนขึ้นมาถามคำถาม ทั้งที่ “ผู้พันปุ่น” เองก็อยู่ในวงหารือและร่างเอ็มโอยู อีกทั้งมีส่วนในการแก้ไขแต่งเติมในหลายประเด็น

 ทักษิณ ชินวัตรกับแพทองธาร ชินวัตร

 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

 น.ต.ศิธา ทิวารี
อนุมานได้ว่า มีการเสนอให้ทำ “แอดวานซ์เอ็มโอยู” ระหว่างพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย แต่ไม่ได้ข้อสรุป “แด๊ดดี้ปุ่น” จึงถือโอกาสมามัดมือชกกลางวงสื่อมวลชน โดยอ้างว่าเป็นคำถามที่สื่อมวลชนฝากถาม
เรื่องนี้ “หมอชลน่าน” เดือดดาลถึงขั้นหลุดปากว่า “ชกได้ผมชกไปแล้ว” พร้อมตั้งคำถามไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลด้วยว่า 141 เสียงของพรรคเพื่อไทย กับ 6 เสียงของพรรคไทยสร้างไทย อะไรมีความสำคัญมากกว่า

“ถ้า (พรรคก้าวไกล) เห็น 6 เสียงมากกว่า 141 เสียง ผมก็มาดูตัวเองว่าสำคัญหรือไม่” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำให้ตีความได้ว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะถอนตัวอีกครั้ง

ทำให้ “ผู้พันปุ่น” ที่ก่อนหน้าโพสต์เชิงตำหนิ “หมอชลน่าน” ยกใหญ่ ต้องรีบออกมาโพสต์ขอโทษขอโพย และไม่ติดใจประเด็น “ชกได้ ชกไปแล้
ว” ด้วย
หลากหลายประเด็นรายทางของการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ทำให้เห็นว่าแม้จะอ้าง “ฉันทามติ” จากประชาชน แต่การจะเข้าสู่อำนาจนั้นไม่ง่าย อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจมี “ม้าไม้เมืองทรอย”อยู่ในว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่ต้องการให้การตั้งรัฐบาลก้าวไกลสำเร็จหรือไม่

ยิ่งหากไปสำรวจท่าที “กองเชียร์ค่ายส้ม-ค่ายแดง” ก็จะเห็นว่า “เสี่ยทิม” อาจเป็นได้แค่ “นายกฯ ติ๊กต๊อก” ไปไม่ถึงฝั่งได้เป็น “นายกฯ ตัวจริง”

น่าสนใจไม่น้อยกับกรณี “เสี่ยด้วง” ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและแกนนำกลุ่มแคร์ คิด เคลื่อน ไทย ผู้สนับสนุน และเป็นโปรโมเตอร์จัดรายการให้ “นายห้างดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จ้อผ่านแพลตฟอร์มออกไลน์รายสัปดาห์ ที่ทวีตข้อความลอยๆ ว่า “ต้องทนให้คนที่เรียกตัวเองว่าเพื่อน เอาตีนถีบหน้าอยู่ทุกวันจริงหรือครับ เพื่อนที่โกหก คอยแทงข้างหลังตลอด แต่ต้องช่วยมันเพราะลำพังตัวเองมันไปเองก็ไม่รอด ไม่ช่วยมันกูก็ผิด ช่วยมันกูก็เจ็บ”

พร้อมแฮชแทก #ความอดทนบางทีแม่งก็มีขีดจำกัด

เอาเข้าจริง “เสี่ยด้วง” ก็ไม่ได้ถือเป็น “คนเพื่อไทย” เป็นเพียงกองเชียร์ข้างสนาม แต่ทวีตของ “สถาปนิกคนดัง” ก็เป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อ “นายห้างทักษิณ” กดรีทวีตข้อความ พร้อมแนบโพสต์ข้อความสั้นๆว่า “Sound Familiar krub” แปลเป็นไทยตรงๆ ได้ว่า “คุ้นๆ นะครับ”

ครั้นจะแก้ตัวว่าไม่เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง และกลเกมจัดตั้งรัฐบาล ก็คงเชื่อได้ยาก โดยเฉพาะการมีโทรโข่งขยายความที่ชื่อ “ทักษิณ” ซึ่งรับรู้กันว่าคือตัวจริงเสียงจริงของพรรคเพื่อไทย พรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส.อันดับ 2 และเป็นหนึ่งในว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล

ยิ่งจู่ๆ “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยบินไปดูไบเพื่อพบพ่อให้ช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานด้วยข้ออ้างแค่ “คิดถึง” ก็ยิ่งจินตนาการไปกันใหญ่

และต้องยอมรับว่า ข่าวคราวของ “ทักษิณ” นี่เองที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ “ค่ายสีส้ม” ต้องแก้เกมชั่วโมงต่อชั่งโมง โดยเฉพาะกระแสการจัดตั้งรัฐบาล “ไม้สอง” ร่วมกับพรรคขั้วอำนาจเก่า ที่แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธว่า ไม่ได้เดินทางไปที่เกาะฮ่องกงตามข่าว แต่ก็ยังมีความเชื่อลึกๆ ว่า มีการพูดคุยกันพอสมควรกับ “ระดับนำ” ของฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน

ตามมาด้วยกระแสข่าวการวางมือทางการเมืองของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เตรียมสละสิทธิ์ว่าที่ ส.ส.บัญชีราชื่อ หนึ่งเดียวของพรรค พร้อมเปิดทางให้ “น้องป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำแหน่งแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ว่ากันว่ามีบทบาทอย่างสูงต่อการบริหารจัดการพรรคพลังประชารัฐในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน ต่้อเนื่องไปถึงการรับตำแหน่ง รมว.มหาดไทย หากพลิกเกมมาตั้ง “รัฐบาลเพื่อไทย” ได้

หรือถึงขั้นยุบพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเปิดทางให้ว่าที่ ส.ส.ไปเข้าสังกัด พรรคเพื่อไทย เพื่อให้มีจำนวน ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 แทนพรรคก้าวไกล

แม้จะมีการปฏิเสธกระแสข่าวทั้งหลายไปแล้ว แต่ในทางการเมืองรู้ดีว่า ในความเป็นจริง “ทักษิณ” หรือพรรคเพื่อไทย พูดคุยกับพรรคการเมืองอื่นๆ ได้เข้าอกเข้าใจมากกว่าการพูดคุยกับพรรคก้าวไกล

ยิ่งข้อเรียกร้องของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงตำแหน่งแห่งที่กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ไม่ได้รับการตอบสนอง ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 พรรคแกนหลักมีร่องรอยแตกร้าวมากขึ้น

และต้องไม่ลืมว่าตัว “ว่าที่นายกฯ พิธา” ยังมีแผลทั้งกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวีที่เพิ่งถูกขุดขึ้นมา หรือเรื่องค้างเก่ากรณียื่นบัญชีทรัพย์หนี้สินไม่ครบถ้วนสมัยเข้ารัฐตำแหน่ง ส.ส.เมื่อปี 2562 ที่เข้าข่ายปกปิดบัญชีทรัพย์สินที่คาอยู่ในชั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่อาจทำให้ “ตกม้าตาย” ไปไม่ถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ

ลืมไม่ได้อีกเช่นกันว่า ยังมี “พรรค ส.ว.” เป็นขวากหนามสำคัญที่ทำให้เสียงสนับสนุน “ว่าที่นายกฯ ทิม” ไม่ถึง 376 เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา

สำคัญที่สุดก็ตรงที่พรรคก้าวไกล ใส่ชื่อ “พิธา” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพียง
คนเดียวเสียด้วย หาก “เสี่ยทิม” สะดุดหัวทิ่ม แม้จะถือสิทธิพรรคเบอร์ 1 ก็จำต้องหันไปลงมติให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคอื่นแทน

เหล่านี้เองที่ทำให้กลเกมการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด แม้จะสามารถเอาชนะ “ฝ่ายอำนาจปัจจุบัน” ได้อย่างราบคาบก็ตาม

จึงไม่แปลกที่จะมี “แรงเสี้ยม” จากทั้งภายนอก และจากภายในว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลเอง ให้เกิดภาพรอยร้าวความแตกแยกตั้งช่วงเริ่มตั้งไข่รัฐบาล

โดยผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด หาก “ค่ายก้าวไกล” ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ก็ไม่พ้นเพื่อนบ้าน และพรรคเบอร์ 2 อย่าง “ค่ายเพื่อไทย” นั่นเอง

จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะมองว่า พรรคเพื่อไทย กำลังตีรวนให้ปั่นป่วนเต็มที่ ก่อนจะล้มโต๊ะ และพลิกเกมขึ้นมาถือสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลแทน.


กำลังโหลดความคิดเห็น