xs
xsm
sm
md
lg

กบฏปาปัวแพร่คลิปขู่สังหาร ‘นักบินนิวซีแลนด์’ หากการเจรจาเรื่อง ‘เอกราช’ ไม่เริ่มภายใน 2 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดปาปัวของอินโดนีเซีย ขู่จะสังหารนักบินนิวซีแลนด์ที่โดนจับเป็นตัวประกันเมื่อเดือน ก.พ. หากประเทศต่างๆ ยังไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเปิดเจรจาว่าด้วยเอกราชของปาปัวภายใน 2 เดือน

กลุ่มติดอาวุธในที่ราบสูงตอนกลางของจังหวัดปาปัว ซึ่งต้องการเรียกร้องเอกราชจากอินโดนีเซีย ได้ลักพาตัว ฟิลลิป เมห์รเทนส์ (Phillip Mehrtens) นักบินชาวกีวี หลังจากที่เขานำเครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบิน Susi Air ลงจอดในเขตภูเขาที่สนามบินเอ็นดูกา เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา

จากคลิปวิดีโอล่าสุดที่ถูกเผยแพร่เมื่อวานนี้ (26 พ.ค.) จะเห็นว่า เมห์รเทนส์ ซึ่งอยู่ในสภาพผ่ายผอมและอิดโรยนั่งอยู่ท่ามกลางกลุ่มติดอาวุธปาปัวที่ถือปืนไรเฟิล และโดนบังคับให้ชูธง Morning Star อันเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องเอกราชปาปัวตะวันตก

เมห์รเทนส์ พูดกับกล้องว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนต้องการให้ “ประเทศอื่นๆ” นอกจากอินโดนีเซียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาเพื่อให้เอกราชแก่ปาปัวด้วย

“หากสิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นภายใน 2 เดือน พวกเขาบอกว่าจะยิงผมทิ้ง” เมห์รเทนส์ กล่าว

คลิปนี้ถูกแชร์โดย เซบบี แซมบอม โฆษกของกลุ่มกบฏปาปัว และได้รับการยืนยันโดย เดกา อันวาร์ นักวิเคราะห์จากสถาบันเพื่อการวิเคราะห์นโยบายด้านความขัดแย้ง (Institute for Policy Analysis of Conflict - IPAC) ในกรุงจาการ์ตา

ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์บอกกับรอยเตอร์ผ่านอีเมลวันนี้ (27) ว่า พวกเขาได้เห็นชุดภาพถ่ายและคลิปวิดีโอตัวประกันชาวนิวซีแลนด์ที่มีการแชร์กันล่าสุดแล้ว

“เรากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะหาทางออกโดยสันติ และช่วยให้คุณ เมห์รเทนส์ ได้รับการปล่อยตัวออกมาอย่างปลอดภัย” โฆษกกระทรวงระบุ

จูเลียส วิโจโจโน โฆษกกองทัพอินโดนีเซีย ออกมาระบุวันนี้ (27) ว่า กองทัพจะยังคงใช้มาตรการที่พอเหมาะพอสมตามกระบวนการที่เป็นมาตรฐานต่อไป ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอิเหนายังไม่ให้ความเห็นเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอิเหนายืนยันว่าให้ความสำคัญกับการเจรจาโดยสันติเพื่อขอปล่อยตัวนักบิน Susi Air รายนี้ แต่เผชิญอุปสรรคด้านการเดินทางไปยังที่ราบสูงซึ่งห่างไกลและทุรกันดารมาก

กลุ่มติดอาวุธปาปัวได้เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชในดินแดนที่รุ่มรวยทรัพยากรแห่งนี้เรื่อยมา นับตั้งแต่มันถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียในการลงประชามติซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้การรับรองเมื่อปี 1969

ความขัดแย้งนี้เริ่มทวีความร้อนระอุขึ้นตั้งแต่ปี 2018 เมื่อกลุ่มนักรบซึ่งสามารถหาอาวุธที่ทันสมัยได้มากขึ้นเริ่มก่อเหตุโจมตีที่รุนแรงและบ่อยครั้งกว่าเดิม

รูมีอานุส วันดิกโบ ผู้แทนจากกองกำลังปลดปล่อยปาปัวตะวันตกแห่งชาติ (West Papua National Liberation Army) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของขบวนการปลดปล่อยปาปัว (Free Papua Movement) เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย รวมถึงชาติตะวันตกเข้ามาเป็นตัวกลางโน้มน้าวให้รัฐบาลอินโดนีเซียยอมเปิดเจรจากับฝ่ายกบฏ

“เราไม่ได้เรียกร้องเงินทอง สิ่งที่เราต้องการคือสิทธิในการมีอธิปไตยเป็นของตนเอง” เขากล่าวผ่านคลิปวิดีโอ

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น