xs
xsm
sm
md
lg

จาก “ฟ้าเดียวกัน” สู่ “ก้าวไกล” รุกคืบขยับเส้น บ่อนเซาะสถาบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สนธิ” ย้อนจุดกำเนิดพรรคก้าวไกล จากนิตยสาร “ฟ้าเดียวกัน” ที่มุ่งขยับเส้นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยมี “ธนาธร” เป็นนายทุน “ต๋อม ชัยธวัช” และ “ติ่ง ศรายุทธ” เป็นทีมงาน จนกลายมาเป็นพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ซึ่ง “ต๋อม” ยังมีบทบาทเป็นมันสมองของพรรค จากความเสื่อมถอยและความคลอนแคลนของอำนาจเก่า บวกกับการแพร่หลายของโซเชียลมีเดีย ทำให้แนวคิดแบบ “ฟ้าเดียวกัน” กลายเป็นกระแสหลักของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการก้าวขึ้นมาครองอำนาจของพรรคก้าวไกล หรืออดีตพรรคอนาคตใหม่นั้นไม่ได้เริ่มต้นจากการตั้งพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2560 แต่เป็นความเคลื่อนไหวของนักศึกษาการวางรากฐานทางความคิด การสร้างเครือข่ายนักวิชาการ-มวลชน การทำสื่อ การเขียนตำรา การเขียนประวัติศาสตร์เพื่อเอื้อให้กับ ขบวนการการเคลื่อนไหว ขบวนการการต่อสู้ และในที่สุดนำมาสู่การก่อตั้งพรรคการเมือง มา 20 ปีแล้ว

ทั้งนี้ในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สื่อทั้งหลายที่ไม่รู้ประวัติความเป็นมา และความตื้นลึกหนาบางของนายธนาธรกับพรรคพวก ก็มักจะให้ความสนใจไปที่คนปรากฎอยู่ในหน้าสื่อ โดยมักจะอยู่ข้างกายนายธนาธร คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับ“ช่อ” น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ ในยุคสมัยล่าสุดคือ ให้ความสนใจกับ ว่าที่นายกฯ คนหนุ่มคือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล


แต่มีสื่อกระแสหลักน้อยกว่าน้อยที่สนใจที่มาที่ไป หลักคิด ฐานคิด และความเป็นมาเป็นไปอย่างลึก ๆ ของพรรคก้าวไกล ที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากพรรคอนาคตใหม่ และที่ขาดไม่ได้คือ ป้อมปราการ-ศูนย์รวม-ฐานทางปรัชญาและความคิดของพรรคที่ชื่อ “ฟ้าเดียวกัน”

นายสนธิ กล่าวว่า ตนเป็นสื่อมวลชนกระแสหลักคนแรก ๆ ที่หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับ“ขบวนการล้มสถาบัน” ที่เดิมทีเมื่อประมาณ 15-20 ปีก่อน ถูกจุดประกายจากคนไม่กี่คน ทำนิตยสารรายสะดวก 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง หนังสือเล่มบ้าง ที่ชื่อ“ฟ้าเดียวกัน”


โดยตอนนั้นมีหุ้นส่วนกันอยู่ 3 คนประกอบไปด้วย

1.“ปุ๋ หรือ อิ๋ว” นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

 วันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ถูกตำรวจจับกุมข้อหาเปิดเผยข้อมูลลับของประเทศ โดยมีนายรังสิมันต์ โรม ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ในการประกันตัวให้
2.“เอก” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และปัจจุบันคือ ประธานคณะก้าวหน้า

3.“ต๋อม” นายชัยธวัช ตุลาธน ปัจจุบันคือ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ซึ่งเดิมทีในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปมากนัก แต่ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในฉายา ‘ขงเบ้ง’ แห่งพรรคก้าวไกล และมือประสานสิบทิศในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งตามโผต่าง ๆ หากพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จริง ชายหนุ่มวัย 44 ปีผู้นี้ก็มีโอกาสที่จะขึ้นไปดำรงตำแหน่งถึงระดับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงด้านความมั่นคงสักกระทรวงเลยทีเดียว


“ชัยธวัช ตุลาธน” ขงเบ้งแห่งพรรคก้าวไกล

นายชัยธวัช ตุลาธน หรือเดิมทีคือชัยธวัช แซ่โค้ว ชื่อเล่น“ต๋อม” เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2521 ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 2 หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้มอบหมายจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแกนนำพรรคทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลัง ให้เป็นตัวแทนพรรคในการประสานงานต่างๆ ร่วมกับพรรคการเมืองอื่น เพื่อรวบรวมพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งเป็นตัวแทนก้าวไกลในคณะกรรมการเจรจาหาเสียงโหวตเลือกนายกฯ ในหมู่ ส.ส. และ ส.ว.


"ต๋อม ชัยธวัช" จบมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเตรียมอุดม พญาไท ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ

ประสบการณ์การทำงาน เคยเป็นเลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สนนท. ฝ่ายวิชาการ สถาบันพัฒนาการเมือง กรรมการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม ที่ปรึกษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
บรรณาธิการต้นฉบับ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน รองเลขาธิการ พรรคอนาคตใหม่ เลขาธิการ พรรคก้าวไกล

จาก สนนท. ถึง "ฟ้าเดียวกัน" ถึง "อนาคตใหม่" ก่อนมาเป็น "ก้าวไกล"

ปี 2538 ที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)“ปุ๊” ธนาพล อิ๋วสกุล มีตำแหน่งเป็น รองเลขาธิการ สนนท. ยุคที่มีเลขาธิการ สนนท. ชื่อ สุริยะใส กตะศิลา

“ปุ๊ ธนาพล” จบชั้นมัธยม จาก รร.ทวีธาภิเศก เข้าเรียนต่อคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อเรียนจบทำโครงการครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาฯ จึงได้ร่วมงานกับ ธงชัย วินิจจะกูล, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, นพพร ประชากุล รวมทั้ง ประชา สุวีรานนท์ ส่วน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นั้นธนาพล รู้จักมาตั้งแต่เรียนแล้ว

จากนั้นดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ (รองเลขาธิการ สนนท. ปี 2531) ก็ติดต่อชักชวน “ปุ๊ ธนาพล” มาจัดทำหนังสือและวารสารให้สถาบันพัฒนาการเมืองซึ่งก่อตั้งโดย ภูษณ ปรีย์มาโนช, ชัยวัฒน์ สุรวิชัย กับ คำนูณ สิทธิสมาน โดยมีสำนักงานอยู่ที่ตึกช้าง

จนถึงปี 2543 “ต๋อม ชัยธวัช” ซึ่งจบ ม.ต้นจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย และมีรุ่นพี่คนหนึ่งเป็นอดีตเลขาธิการ สนนท.ปี 2535 คือนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ช่วงเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท“ต๋อม” ชัยธวัช ได้รู้จักกับ“เอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยธนาธรเป็นรุ่นน้องของชัยธวัช 1 ปี เรียนโปรแกรมเดียวกันคือ แผนกเตรียมวิศวะ รู้จักกันในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้อง เมื่อ ชัยธวัช ไปเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ ก็ยังได้พบกันกับธนาธรในแวดวงกิจกรรมเคลื่อนไหว ก่อนจะเข้ามาทำงานกิจกรรมใน สนนท.

“ต๋อม ชัยธวัช” เมื่อจบจากคณะวิศวะ จุฬาฯ แล้วก็ไม่เคยทำงานเป็นวิศวกรเลย แต่ไปทำงานอยู่ฝ่ายวิชาการที่สถาบันพัฒนาการเมืองที่ตึกช้าง กับ“ปุ๊ ธนาพล” โดยรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ดังนั้น “ต๋อม ชัยธวัช” แม้จะจบวิศวะ แต่โดยงานในห้วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นนักคิด นักเคลื่อนไหว และคนทำหนังสือโดยแท้


ด้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักศึกษาวิศวะ ธรรมศาสตร์ และอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ปี 2542 ต่อมาเป็นรองเลขาธิการ สนนท.ในปี 2543 ที่มี“ติ่ง” ศรายุทธ ใจหลัก เป็นเลขาธิการ สนนท. ปี 2543(ต่อมามีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการพรรคอนาคตใหม่) ซึ่งมีพื้นฐานการศึกษามาจากสายวิศวกรรมศาสตร์เหมือนกันกับธนาธร และ ชัยธวัช แต่ติ่งเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทั้งสามคน “ต๋อม-เอก-ติ่ง” จึงได้ชื่อเป็นก๊วน “วิศวะ สนนท.”จากสามสถาบันคือ จุฬา ธรรมศาสตร์ และเกษตรฯ


เปิดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ก่อนตั้งพรรคอนาคตใหม่

ปี 2545 - “ปุ๊ ธนาพล” ชักชวน “ต๋อม ชัยธวัช” ให้มาช่วยกันทำสำนักพิมพ์ “ต๋อม ชัยธวัช” ซึ่งเป็นเพื่อนกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงไปชวนมาร่วมลงทุนตั้ง“สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน”เพื่อผลิตวารสารฟ้าเดียวกัน และหนุนเสริมขบวนการทางสังคม โดยใช้ห้องชุดในคอนโดมิเนียม ลุมพินี พาร์ควิว ของธนาธร เป็นสำนักงาน

ภายหลังการทำรัฐประหารปี 2557 กลุ่มอดีต สนนท. เริ่มพูดคุยกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรทางการเมืองของประชาชนที่จะใช้ต่อสู้ทางการเมือง จึงพบปะแลกเปลี่ยนกันเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นตกผลึกถึงขั้นตั้งพรรคการเมือง จนกระทั่งช่วงรณรงค์คัดค้านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของ คสช. ก็ได้ร่วมช่วยเหลือกันผลิตสื่อรณรงค์คัดค้าน แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญก็ผ่านประชามติ พอมาช่วงปลายปี 2560 จึงเริ่มตกผลึกว่าถึงขั้นต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนแล้ว จึงเริ่มชักชวนคนที่มีความคิดใกล้เคียงกันมาร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เริ่มจากธนาธร รับ เป็นหัวหน้าพรรค ชัยธวัช เป็นรองเลขาธิการ ส่วนติ่ง-ศรายุทธ ใจหลัก รับดูแลหลังบ้านเป็นผู้อำนวยการพรรค

หลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกเข้าเป็น ส.ส.จำนวน 81 ที่นั่ง มติหรือการตัดสินใจในพรรคจึงมีกระแสวิจารณ์จากสมาชิกพรรคว่า ขึ้นอยู่กับระดับนำภายในพรรคอนาคตใหม่ ที่นอกจาก นายปิยบุตร แสงกนกกุล นางสาวพรรณิการ์ วาณิช ก็คือ“ก๊วนวิศวะ สนนท.” เดิม ต๋อม ชัยธวัช,เอก ธนาธร, ติ่ง ศรายุทธ นั่นเอง


ในวงการนักประวัติศาสตร์ มีประโยคอมตะหนึ่งพูดถึงกันมานานมากแล้ว คือ History is written by the victors.แปลเป็นไทยได้ว่าผู้ชนะคือผู้ที่เขียนประวัติศาสตร์

หลักการนี้ แม้นักประวัติศาสตร์บางส่วนจะไม่เห็นด้วย แต่ก็มีส่วนที่เป็นจริงไม่น้อย และการยึดกุมเอาประวัติศาสตร์ เหล่านักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย บ่มเพาะฐานคิดของคนรุ่นใหม่ มาตลอด 20 ปี ประกอบกับวิกฤตทางการเมืองการเมือง-การแย่งชิงอำนาจ ความเสื่อมถอยทางการเมือง ความฟอนเฟะของกลุ่มศักดินา และความคลอนแคลนของกลุ่มอำนาจเก่าทำให้“ฟ้าเดียวกัน” นั้นสามารถพลิกผันจากการเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์กระแสรอง ให้กลายเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์กระแสหลัก ได้อย่างรวดเร็ว!

““ปุ๋” ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก แต่หลังการปฏิวัติปี 2557 ผมกับปุ๊ เคยถูกจับไปอยู่ค่ายทหารค่ายเดียวกันที่ จ.ราชบุรี และมีความคุ้นเคยกับคนผู้จัดการ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ลูกหาของผมหลายคน”


นายสนธิ กล่าวต่อว่า นายธนาพล เคยให้สัมภาษณ์กับ Way Magazine เอาไว้ถึง ที่มาที่ไปของนิตยสาร และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ว่า

จุดเริ่มต้น
“มันเริ่มจากกลุ่มพวกเราที่เป็นนักกิจกรรม เป็นคนชอบอ่านหนังสือ และสนใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคม อีกส่วนหนึ่งอาจเพราะรู้สึกว่า ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีหนังสือที่เราอยากจะอ่านสักเท่าไร ถ้าพูดในเชิงการตลาดหน่อยก็คือ มันยังมีอีกตลาดหนึ่งที่ยังไม่มีคนทำ แล้วเราน่าจะทำตลาดตรงนี้ได้

“ตอนนั้นเริ่มทำด้วยกัน 3 คน คือผม ซึ่งเรียนจบแล้ว เป็นผู้ช่วยวิจัยที่ธรรมศาสตร์ กับรุ่นน้องอีก 2 คน คือคุณเอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า) ตอนนั้นเขาน่าจะเพิ่งเรียนจบมั้ง แล้วก็คุณต๋อม ชัยธวัช ตุลาธน (ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล)

“... เดิมทีผมทำวารสารการเมืองใหม่ แล้วก็มีหนังสือเล่มบ้าง ซึ่งก็เป็นการสั่งสมทักษะอย่างหนึ่ง

“พอทำได้สัก 1-2 ปี ผมก็ชวนชัยธวัชมาทำด้วยกัน แล้วชัยธวัชเขาเป็นเพื่อนกับธนาธรอีกทีหนึ่ง พอทำไปสักพัก เฮ้ย! เรา 3 คน ชวนกันมาทำสำนักพิมพ์ดีกว่า คุยกันในปี 2544 ตอนนั้นยังไม่เคยมีใครทำธุรกิจเลยนะ ธนาธรก็เพิ่งเรียนจบมาเลย ส่วนผมก็มีประสบการณ์ใช้เงินคนอื่นทำหนังสือมาแล้ว แต่ยังไม่เคยลงทุนเอง เราก็เริ่มมาลงทุนกัน

“ผมจำได้ว่า เราทำแผนธุรกิจไว้เรียบร้อย พอดีกับจังหวะชีวิตที่คุณพ่อของธนาธร(นายพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ สามีของ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ) เสีย ธนาธรเลยเปลี่ยนเส้นทางไปเป็นนักธุรกิจ เราก็เหลือกันอยู่ 2 คน ก็ต้องทำต่อเพราะคุยกันแล้ว

“หลังออกจากงานผู้ช่วยวิจัย ผมก็มาเริ่มงานใหม่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถ้าพูดตามตรง เราก็เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกัน 3 คน ควักเงินลงทุนกันเอง ผมก็พอมีตังค์อยู่นะ จำได้ว่าลงขันกันคนละ 200,000 บาท สมัยนั้นคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเครื่องเดียวก็ปาไป 70,000 กว่าบาทแล้ว 200,000 บาทแม่งหายไปในพริบตา

“แผนธุรกิจที่ว่านั้นออกแบบไว้คือ วางไว้ 3 ขา หนึ่ง – ทำสำนักพิมพ์ ผลิตหนังสือ ทั้งวารสารและหนังสือเล่ม สอง – เรารู้อยู่แล้วว่าถ้าทำแค่หนังสือ มันเจ๊งแน่ เราก็ต้องทำธุรกิจอื่นไปด้วย คือเอาทักษะที่พอมีไปรับจ็อบ ตั้งแต่จัดหน้าหนังสือ จัดนิทรรศการ ทำร้อยแปดที่ได้ตังค์ สาม – ใช้ทักษะที่มี มาทำงานขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ...”

นายสนธิ กล่าวว่า จริง ๆ ตั้งแต่ก่อตั้ง นายธนาธร คือนายทุนหลักของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เนื่องจากครอบครัวมีฐานะร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี โดยที่มีมือทำงานซ้าย-ขวา ก็คือ นายธนาพล และนายชัยธวัช ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นพี่ซึ่งมีอุดมการณ์สอดคล้องกัน โดยตอนแรก ๆ ของการทำสำนักพิมพ์ก็ใช้ห้องในคอนโดมิเนียมลุมพินี พาร์ควิว ซึ่งตั้งอยู่ในย่านพระราม 4 ใจกลางเมือง ของนายธนาธร เป็นที่ทำการสำนักพิมพ์

แต่ช่วงแรกการทำงานค่อนข้างล้มลุกคลุกคลาน และประสบกับภาวขาดทุนอยู่หลายปี ทำให้จากเดิมที่ต้องการการพิมพ์นิตยสารราย 3 เดือน ก็ถูกยืดออกไปเป็น 6 เดือนบ้าง หรือ เพียงปีละ 2 เล่มเท่านั้น

ที่มาชื่อ “ฟ้าเดียวกัน”


สำหรับที่มาที่ไปของ ชื่อนิตยสาร และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน“ปุ๊ ธนาพล” เคยเล่าให้ฟังว่า มีที่มาจาก หนังสือของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ที่ชื่อเจ้า-ข้าฟ้าเดียวกัน ซึ่งมีที่มาจากตอนหนึ่งของโคลงของศรีปราชญ์

หะหายกระต่ายเต้น ชมแข
สูงส่งสุดตาแล สู่ฟ้า
ฤดีฤดูแด สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้น เดียวกัน

ซึ่ง “ปุ๊ ธนาพล” บอกว่ามันคลิกตรงที่ว่าทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร หรือUnder the same sky นั่นเอง

ด้วยที่มาที่ไปเช่นนี้นี่เองทำให้เนื้อหา และแนวทางของหนังสือฟ้าเดียวกัน นั้นเน้นหนักไปที่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นรากฐานของปรัชญาของการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลในปัจจุบันที่ ระบุชัดว่าต้องการลดให้การดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ นั้นไม่อยู่ในหมวดของความมั่นคง และไม่มีความผิดต่อรัฐ โดยต้องการยกเลิกหรืออย่างน้อยแก้ไขให้ โทษจากการกระทำผิด ม.112 ไม่ได้แตกต่างจากการหมิ่นประมาทระหว่างบุคคลทั่วไปเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม เมื่อแจกแจง และพิจารณาแล้วก็จะพบว่า ร่างกฎหมายแก้ไข ม.112 ของก้าวไกลนั้นมีความลักลั่นในตัวเองอย่างสูงในหลายมิติ ทั้งในมิติความมั่นคง หรือเชิงกฎหมาย เมื่อนำม.112 ซึ่งเป็นกฎหมายในหมวดความมั่นคงเพื่อปกป้องประมุขของรัฐ ไปเปรียบเทียบกับกฎหมายมาตราอื่น ๆ คือกฎหมายอาญามาตรา 130, 131, 133, 134 และ 135 ที่เป็นกฎหมายในหมวดความมั่นคง เพื่อปกป้องประมุข ผู้แทน หรือแม้แต่ตราสัญลักษณ์ของรัฐอื่น

นัยหนึ่ง ก็คือ การยกเลิกกฎหมายที่ปกป้องประมุขของประเทศเรา แต่ยังคงไว้ซึ่งกฎหมายปกป้องประมุขของรัฐอื่นรวมทั้งตราสัญลักษณืของรัฐอื่น ตรงนี้ที่ยอมรับไม่ได้

ขยับเส้นวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน

สอดคล้องกับบ่มเพาะขบวนการวางรากฐาน เขียนประวัติศาสตร์ บ่มเพาะคนรุ่นใหม่ ของ“ฟ้าเดียวกัน” แล้วยังมีอีกหลายประเด็นที่ “ปุ๊ ธนาพล” พูดเอาไว้ชัดก็คือ การขยับเขยื้อนขยายขอบเขตให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันได้อย่างอิสระเสรีมากขึ้น

“พูดกันจริงๆ เลยนะ คือประเทศนี้มีคนอยากล้มเจ้าแน่ ๆ คุณบอกไม่มีได้ยังไงวะ คุณบอกไม่มีเพราะกฎหมายมันห้ามล้มเจ้า มันก็เลยไม่มี แต่ถามว่า คุณมีกฎหมายห้ามล้มเจ้า แล้วประเทศนี้จะไม่มีคนอยากล้มเจ้าเหรอ เหมือนกับเวลาคุณบอกว่า ประเทศนี้คุ้มครองเด็ก ห้ามละเมิดทางเพศเด็ก เมื่อคุณออกกฎหมายคุ้มครองเด็กแล้ว เท่ากับว่าประเทศนี้จะไม่มีคนแบบนี้เหรอ ไม่ใช่ มันมีแน่ ๆ แล้วอาจจะมีมากขึ้นด้วยซ้ำ ...” ปุ๊ ธนาพลให้สัมภาษณ์เมื่อปลายปี 2565

นอกจากนี้เขายังบอกด้วยว่า“ไอเดียที่เราทำฟ้าเดียวกันก็คือ เรารู้ว่าประเทศนี้มันมีเส้นแน่ๆ หน้าที่เราคือขยับเส้นไปเรื่อยๆ หรือเปลี่ยนเส้นนั้นไป แต่เราก็รู้ว่าเราเป็นสื่อบนดินนะ ทุกอย่างก็ต้องมีเซนเซอร์ทั้งนั้นแหละ ในเมื่อเรามีภารกิจขยับเส้น มันก็ต้องมีขวากหนาม เจ็บตัวบ้าง แปดเปื้อนบ้าง เอาง่ายๆ ถ้าถามผม ไม่รู้เรียกว่าปลอบใจตัวเองหรือเปล่านะ คือคนอื่นเขาหนักกว่าเราเยอะ”


อย่างไรก็ตาม“การเร่งขยับเส้น” ของ “ฟ้าเดียวกัน”นั้นบางครั้งก็นำมาสู่สภาวะ“ล้ำเส้น หรือ ล้ำหน้า (Offside) ทางกฎหมายและวิชาการ” จนนำไปสู่การฟ้องร้อง ทำลายความน่าเชื่อถือทางวิชาการ ทั้งยังกลายเป็นเป็นคดีความจนทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น เนื้อหาในหนังสือเรื่อง“ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500” ซึ่งดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกลวงโลกของนายณัฐพล ใจจริง ที่จงใจแต่งเรื่องบิดเบือนประวัติศาสตร์ ใส่ร้ายสถาบัน และต่อมากลายเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ขายดี ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน


"ซึ่งสำหรับผู้ชมหลายท่านคงได้รับทราบไปแล้ว เพราะผมเคยเล่าเรื่องนี้ให้ฟังอย่างละเอียดไปแล้วในรายการนี้เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ในรายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ Ep.77 ออกอากาศวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564" นายสนธิ กล่าว

นอกจากนี้ วันที่ 28 ธันวาคม 2564 นสพ.บางกอกโพสต์ได้ชี้แจงว่า ในปี 2493 ไม่เคยลงข่าวผู้สำเร็จราชการฯ เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ซึ่งเหมือนกับเป็นการแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินของสถาบันกษัตริย์) ตามที่ “นายณัฐพล ใจจริง” อ้างในวิทยานิพนธ์-หนังสือที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ปี 2564 ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต เป็นโจทก์ฟ้องณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือ“ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” และผู้เกี่ยวข้องรวม 5 คน โดยกล่าวหาว่ามีข้อความในหนังสือดังกล่าวบิดเบือนทำลายชื่อเสียงของต้นราชสกุลรังสิต(คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 9) เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000,000 บาท ในฐานความผิดละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง

ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต
ทั้งนี้ คดีนี้มีผู้ถูกฟ้องทั้งหมด 5 คนได้แก่
จำเลยที่ 1 ณัฐพล ใจจริง ในฐานะผู้เขียน
จำเลยที่ 2 นางกุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
จำเลยที่ 3 นายชัยธวัช ตุลาธน (ในฐานะบรรณาธิการเล่ม)
จำเลยที่ 4 น.ส.อัญชลี มณีโรจน์ ในฐานะหุ้นส่วนสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
จำเลยที่ 5 นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

การขยับเส้น หรือเปลี่ยนเส้นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ให้เปิดกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ของ“ฟ้าเดียวกัน” ภายใต้การบ่มเพาะของ“ปุ๊ ธนาพล – ต๋อม ชัยธวัช” ที่มีเบื้องหลังคือ“เอก ธนาธร” เมื่อผนวกเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ที่นำมาสู่การเปิดเว็บบอร์ด ฟ้าเดียวกันใสนช่วง 10 กว่าปีก่อน

กระแสล่าสุดก็คือ การเปลี่ยนผ่านของโลกเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, ยูทูป, ทวิตเตอร์, TikTok ได้ผลักดันให้“ฟ้าเดียวกัน” กลายเป็นสื่อกระแสหลักในหมู่คนรุ่นใหม่ เป็นแหล่งที่มาของข้อมูลทางประวัติศาสตร์เมนสตรีม หรือ กระแสหลัก มิใช่ประวัติศาสตร์กระแสรองอีกต่อไป ทั้งที่ข้อมูลที่เผยแพร่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงหลายประเด็น


นี่เองจึงฐานหนุนสำคัญในการขับเคลื่อนม็อบสามนิ้ว - คณะราษฎร – แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - ม็อบทะลุแก๊ส – ม็อบทะลุฟ้า – ม็อบทะลุวังฯลฯ ที่คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยปัจจัยสำคัญของการถ่ายทอดความรู้สึก สื่อสาร กระจายข้อมูลไปจนถึงการ นัดแนะ ของกลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้ ซึ่งเวลาต่อมากลายเป็น “ด้อมส้ม”ก็คือโซเชียลมีเดียที่ระเบิดออกมาอย่างรุนแรงนั่นเอง และเป็นตัวชี้ขาดในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาด้วย!


เปิดคดี “ตัวตึง” ว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล มีชนักอะไรบ้าง?

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของ “การขยับเส้น” และ “แรงระเบิด” ของการแสดงความเห็นอย่างไร้ขอบเขตก็นำไปสู่ผลกระทบต่อคนของพรรคก้าวไกลในปัจจุบันซึ่งมีตำแหน่งเป็น “ว่าที่ ส.ส.” โดยช่วงนี้แม้จะยังไม่มีผลกระทบอะไรทางการเมือง แต่ในอนาคตอันใกล้อาจจะกลายเป็น“บูมเมอแรง”ที่ส่งผลสะท้อนอย่างรุนแรงทางสังคม ทางกฎหมาย รวมถึง การเมืองก็ได้(ไม่นับกับกรณีการถือหุ้นสื่อ itv ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์)

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างให้เห็นสัก 3 คน

1.นายปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้ หัวหน้าการ์ดวีโว่) ว่าที่ ส.ส.เขตพระโขนง บางนา กรุงเทพฯ

คดีความในอดีต และที่ค้างอยู่

7 สิงหาคม 2559 เป็นนักศึกษาปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ฉีกบัตรลงคะแนนเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่หน่วยลงคะแนนสำนักงานเขตบางนา ถูกตั้ง 4 ข้อหา ทำลายบัตรออกเสียงประชามติ ก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ทำลายเอกสารราชการ และทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย นายปิยรัฐใช้หลักทรัพย์ 20,000 บาทประกันตัว ศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษาเมื่อ 26 กันยายน 2560 ข้อหาทำลายบัตรออกเสียง และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย จำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษทั้งสามตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี


ปี 2562 ถูกดำเนินคดีพร้อมพวกรวม 18 คน เหตุชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ หรือคดี UN 62 เมื่อ 21-22 พฤษภาคม 2561 ในข้อหายุยงปลุกปั่น, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คน, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าหน้าที่สั่ง, ร่วมกันลักทรัพย์กลางคืน, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558, พ.ร.บ.การจราจรทางบกฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์อนุมัติหมายจับเมื่อ 11 มีนาคม 2563 ข้อหา เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงาน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 จากการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงใน จ.กาฬสินธุ์ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน คดีนี้ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์พิพากษาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือปรับ 1,000 บาท

ศาลจังหวัดอุบลราชธานีอนุมัติหมายจับเมื่อ 15 ตุลาคม 2563 หลังไปปราศรัยที่เวทีอุบลปลดแอก ที่ทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 โดยมีนายฉัตรชัย แก้วคำปอด เป็นผู้จัด โดยนายปิยรัฐปราศรัยเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กับบทบาทของกองทัพไทย ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีแจ้งข้อหาเพิ่มเติม มาตรา 112 ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่กำหนดเงื่อนไข


สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ได้มีคำสั่งฟ้องคดีนายปิยรัฐพร้อมพวกรวม 7 คนเมื่อ 10 สิงหาคม 2563 กรณีการทำกิจกรรมฉายโฮโลแกรมจำลองการอ่านประกาศคณะราษฎร เมื่อเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน 2563

วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 นายปิยรัฐพร้อมด้วย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก ร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ม็อบมุ้งมิ้ง” ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เพื่อตอบโต้อดีตรองโฆษกกองทัพบก คดีนี้อัยการมีคำสั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่นรวม 4 ข้อหา แต่ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

วันที่ 8 ธันวาคม 2563 นายปิยรัฐถูกดำเนินคดีพร้อมพวกที่เป็น ทีมการ์ดอาสา We Volunteer หรือวีโว่ รวม 19 ราย ฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน หลังนำทีมเก็บลวดหนามหีบเพลงไปกองไว้ที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ คดีนี้พนักงานสอบสวนให้ประกันตัวโดยไม่มีหลักประกัน

วันที่ 31 ธันวาคม 2563 นายปิยรัฐถูกดำเนินคดีพร้อมพวกที่เป็น ทีมการ์ดอาสา We Volunteer หรือวีโว่ รวม 16 คน หลังทำกิจกรรมม็อบย่างกุ้ง เพื่อจัดจำหน่ายกุ้งเผาของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีนี้ศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ประกันตัว วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 20,000 บาท


วันที่ 12 มกราคม 2564 นายปิยรัฐรับทราบข้อกล่าวหาจากกิจกรรมให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คือนายจตุพร แซ่อึง สมาชิกกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก และเยาวชนอายุ 16 ปี กรณีแฟชั่นโชว์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่หน้า สน.ยานนาวา ข้อหาร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้ง ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีนี้ตำรวจให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปนับตั้งแต่การเริ่มเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า เยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคม 2563 นายปิยรัฐถูกดำเนินคดีทางการเมืองไปแล้วรวม 15 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 3 คดี และคดีที่ถูกเปรียบเทียบปรับ ทำให้คดีสิ้นสุดไปแล้ว 1 คดี (คดีวิ่งไล่ลุงกาฬสินธุ์)

คนที่ 2.“ลูกเกด” น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ ส.ส.เขต 3 ปทุมธานี 
น.ส.ชลธิชา ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อยู่หลายคดี และอยู่ในระหว่างการประกันตัวสู้คดี


คนที่ 3.“ไอซ์” น.ส.รักชนก ศรีนอก ว่าที่ ส.ส.บางบอน จอมทอง หนองแขม กรุงเทพมหานคร

“ไอซ์” รักชนก ศรีนอก บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร สาขาสถิติ จากธรรมศาสตร์ ว่าที่ ส.ส.บางบอนที่สามารถล้มบ้านใหญ่ อย่าง นายวัน อยู่บำรุงได้ ด้วยหน้าตาที่ดี และการพรีเซนต์ที่แหวกแนว ทำให้เธอกลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย

แต่เมื่อคนในโซเชียลไปค้นประวัติ และการแสดงความคิดเห็นแล้วถึงกับตกตะลึง


ไอซ์ มีคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีดูหมิ่นซึ่งหน้านายยุทธเลิศ สิปปภาค หรือต้อม ยุทธเลิศ ผู้กำกับภาพยนตร์ กรณีมีปากเสียงกันบนเรือ และ น.ส.รักชนก แจ้งความว่าถูกทำร้ายร่างกาย พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 7 ยื่นฟ้องต่อศาล คดีนี้จบลงโดยจำเลยให้การสารภาพ ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ปรับ 2,500 บาท

คดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา นายกนก รัตน์วงศ์สกุล และ น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์ พร้อมเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง 1 ล้านบาท ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ กรณีที่ น.ส.รักชนกให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภาคสนาม สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า REDEM ที่ศาลอาญารัชดาฯ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 กล่าวหาว่านายกนก และ น.ส.อัญชะลี นำเสนอข่าวยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเอง

นอกจากนี้“ไอซ์ รัชนก” ว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล อายุยังน้อยเพียง 28-29 ปี ยังทิ้งรอยเท้า ประวัติคำพูด การกระทำ และความคิดที่ต้องบอกเลยว่าหยาบคาย จนถึงขั้นถ่อยสถุล แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรูปร่างหน้าตาไว้ในโซเชียลมีเดียอีกมากมาย


“ไอซ์ รัชนก เป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ ที่ตีให้ตายก็ไม่ยอมเข้าใจเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์ เพราะตัวเองมีอคติ แล้วตัเองเล่นแรงมาตลอด


“นี่คือที่มาที่ไปอย่างคร่าว ๆ ของสิ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เราเห็นเช่นปัจจุบัน


"ท่านผู้ชมหลายท่านที่เป็น “ติ่งลุงตู่” ก่อนหน้านี้ก็มากล่าวหาว่าผมกล่าวหาลุงตู่กล่าวหาคนที่ออกมาปกป้องสถาบัน ว่า “โหนเจ้า”


“จากเรื่องราว และหลักฐานทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า ผมพูดถึงเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็น เรื่องขบวนการล้มสถาบัน เรื่องฟ้าเดียวกัน เรื่องวิธีการปกป้องสถาบันที่ควรจะเป็น ทั้งทางสาธารณะ และให้กับหลายคนที่รายล้อมอยู่กับหน่วยงานทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น คนของสำนักพระราชวัง คนของสำนักงานทรัพย์สินฯ หรือแม้แต่องคมนตรี แต่ก็ไม่มีใครฟัง หรือรับฟัง แต่ไม่รับรู้ ก็ย่อมจะไม่มีใครนำเรื่องที่ผมพูดถึง และชี้ให้เห็นไปปรับเปลี่ยนให้เกิด“การเปลี่ยนแปลงจากภายใน” แต่อย่างใด


“มิหนำซ้ำยังมีคนอย่างนายชูวิทย์ ที่อ้างว่าได้รับสัญญาณจากคนในวัง ให้มาทำตัวปั่นป่วน ปล่อยข่าว สร้างความสับสนให้สังคมยิ่งขึ้นไปอีก


“จนมาถึงวันนี้ที่มี“แรงกดดันจากภายนอก” พวกคุณถึงเพิ่งเริ่มจะรู้สึกรู้สา หรือตื่นตัวกันซึ่งก็อาจจะไม่ทันแล้วอย่างที่ผมไปว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่ ฝ่ายซ้ายสุดโต่งที่ต้องการล้มสถาบันเขาจะได้รับคะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์อย่างแน่นอน” นายสนธิกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น