หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลออกรายการเว็บไซต์ลงทุนแมน เจอชาวเน็ตโวยประเทศไม่ใช่ตลาดนัด ชี้นโยบายกระทบตลาดทุน คนรวยโดนรีด คนจนก็ไม่รวยขึ้น
วันนี้ (27 พ.ค.) เว็บไซต์ลงทุนแมนและบิลเลียนมันนี่ได้สัมภาษณ์พิเศษ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่เสนอตัวเป็น รมว.คลังในการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ โดยตลอดการสัมภาษณ์นานกว่า 1 ชั่วโมง 23 นาที น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า นโยบายที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันระยะแรกใน 100 วันมีอยู่ 25 นโยบายเร่งด่วน มีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจซึ่งจะยึดเอาไว้ก่อน แต่ก็ต้องคุยกันหลายฝ่าย เช่น พรรคร่วมรัฐบาลตามเอ็มโอยู แต่การผลักดันนโยบายเร่งด่วนขึ้นอยู่กับว่ามีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ เพราะคาบเกี่ยวกับปีงบประมาณ สอง ไม่ได้เป็นการแก้กฎระเบียบใหญ่ระดับพระราชบัญญัติ เช่น หวยใบเสร็จ ค่าแรง 450 บาท เดินหน้าเจรจานักลงทุนเป้าหมาย นอกนั้นเรื่องการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญ การตรวจสุขภาพจิต เป็นต้น ส่วนการแก้ไขเศรษฐกิจนั้น จะเน้นไปที่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม เพราะในอดีตที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจจะเติบโต แต่ก็ไม่ได้กระจายไปถึงประชาชนอย่างเป็นธรรม
หนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายทางเศรษฐกิจมีอยู่ 3 ตัว คือ 1. Firm Ground วางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงก่อน 2. Fair Game สร้างกติกาและกลไกภาครัฐเพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น การทลายทุนผูกขาด จะต้องเข้าไปแก้ไขปรับปรุง เช่น ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3. Fast Forward Growth ผลักดันเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ อีกประการหนึ่งคือเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และแปลงข้อมูลให้เป็นขุมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ในตอนหนึ่งได้มีการตั้งคำถามไปยัง น.ส.ศิริกัญญา ถึงประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องขึ้นค่าแรง 450 บาท กับผลกระทบฝั่งธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ก็ตอบว่า เป็นการปรับค่าแรงให้เข้าสู่จุดดุลยภาพใหม่ เพื่อชดเชยในสิ่งที่ไม่ได้ปรับขึ้นอย่างเหมาะสมเป็นเวลานาน ส่วนผลกระทบต่อเอสเอ็มอีจะมีการออกแพกเกจ เช่น งดการส่งเงินสมทบประกันสังคม 6 เดือน นำค่าจ้างไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 10% และทยอยปรับขึ้นเรื่อยๆ อีกด้านการลงทุนเครื่องจักรนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 2 เท่า แต่ยังคงจะต้องรับฟังความคิดเห็นว่าจะเหมาะสมหรือไม่
อีกประเด็นหนึ่ง คือการทลายทุนผูกขาด ซึ่งมีหลายบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ตอบว่า การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาดโดยมีการกำกับดูแลจากรัฐ หรือการทำสัมปทานที่ไม่ได้ประมูลอย่างโปร่งใส เป็นเรื่องที่น่ากังวล และการได้สถานะจากการควบรวมโดยที่กฎหมายอาจไม่ได้รองรับ ซึ่งมีหลายมาตรการที่ทำได้ แต่อยากจะยกเครื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ไม่ให้มีการใช้อำนาจเหนือตลาด เช่น ได้รับมาโดยไม่ได้มีนวัตกรรมอะไรใหม่เป็นเจ้าเดียว หรือรัฐเขียนกฎเพื่อคุ้มครองทุนโดยไม่มีเหตุผลตามสมควร
เมื่อถามถึงธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่ผูกขาดโดยสัญญานานแล้วนั้น ก็ตอบว่า สัญญาสัมปทานยกเลิกไม่ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้ค่าไฟลดลงจากค่าความพร้อมจ่าย คือ การเจรจารายละเอียดสัญญาใหม่อีกครั้ง และลดหรือเลื่อนจ่ายค่าพร้อมจ่ายออกไปก่อนพร้อมกับขยายสัมปทาน แต่จำเป็นต้องทบทวนสัญญาสัมปทานใหม่ว่าจะเปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่ เพราะไม่มีประเทศไหนมีกำลังไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็นขนาดนี้ พร้อมกับทบทวนนโยบาย
ส่วนคำถามที่ว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงอย่างต่อเนื่องรุนแรง เพราะกังวลนโยบายพรรคก้าวไกลนั้น ก็ตอบว่า จากที่มอนิเตอร์ตนก็ตกใจและจำเป็นต้องดูสาเหตุ แต่ก็ยอมรับมีบางส่วน เช่น เรื่องทุนผูกขาด ยอมรับว่าตลาดหุ้นเชื่อว่าพรรคก้าวไกลเอาจริง ทุนใหญ่แค่ไหนก็ไม่กลัว อีกอย่างหนึ่ง ทั่วโลกมีแนวโน้มหุ้นตก ที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นตกทุกครั้ง และพอไปดูว่าใครขาย พบว่าเป็นต่างชาติ เมื่อไปดูบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ต่างชาติพบว่าเป็นเรื่องความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล แต่เป็นเรื่องของเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ต้องรวบรวมเสียง ส.ส. และ ส.ว. ให้ได้ 376 เสียง ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สบายใจและถอนการลงทุน แต่ก็มีรายย่อยเข้าซื้อ
ในตอนหนึ่งมีคำถามว่า พรรคก้าวไกล อยากเป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่ และหาเงินมาจากไหน ก็ตอบว่า พรรคก้าวไกลอยากเป็นรัฐสวัสดิการ คือปลายทางที่อยากไป แต่รัฐสวัสดิการมีหลายเฉดสีมาก จะต้องมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย แต่ยอมรับว่าจัดเก็บภาษีน้อยอยู่แล้ว 4% ต่อจีดีพี ประเด็นต่อมาคือเรื่องการคลัง โปรแกรมระบบภาษีรออยู่ เพราะหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่งส่งผลหนี้ที่จะตามมาทีหลัง ซึ่งจะชูปฏิรูประบบภาษีไปพร้อมกัน และรื้องบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อุดรูรั่วจากการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบเอไอจับโกง และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เช่น ภาษีขายหุ้น ค่าเช่าต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ได้มีความเห็นชาวเน็ตที่ดูผ่านยูทูบออกมาวิจารณ์จำนวนมาก เช่น
- ตอบคำถามแบบไม่รู้ผลลัพธ์ ต้องลองทำดูก่อน ประเทศนะครับ ไม่ใช่ตลาดนัด ฉิบหายฉายที่นี่
- ฟังท่านว่าที่ รมว.คลังจากพรรคก้าวไกลแล้ว คงต้องบอกว่า ขอพาราเซตามอล 2 กระปุกค่ะ
- เหมือนท่องมาจากตำรา ยิ่งฟังแล้วยิ่งหดหู่ ขนาดประเทศสังคมนิยมแท้ๆ เขายังต้องหนีมาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
- กราบ ขอรัฐมนตรีคลังคนที่มีประสบการณ์และแนวคิดที่ส่งเสริมทั้งตัวประเทศและนักลงทุนมากกว่านี้เถอะ ดูแบบนี้มีแต่จะเก็บภาษีให้คนจ่ายมากขึ้นข้ารัฐอย่างเดียว จะใช้ประเทศเป็นเดิมพันกับของใหม่ไม่ได้
- ดีใจจังเลยที่ได้ยินรัฐบาลลูกเจ้าสัว บอกว่าจะถอนขนห่านทองคำของพ่อแม่และของตัวเองมาเลี้ยงดูคนไทย
- ผมไหว้ล่ะ เคยเป็นแค่ซีเนียร์คอนซัลต์ จะมาบริหารกระทรวงการคลัง ถ้าตัวเองยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับระบบการเงินแล้วจะไปบริหารได้ยังไง บริหารประเทศนะครับ ไม่ใช่บริหารบริษัท จะได้มาลองผิดลองถูกกับนโยบายตัวเอง
- กรุณาไปดึงคนเก่งๆ มาเป็นมือเศรษฐกิจโดยด่วน ประชาชนเลือกพรรคนี้ ผมสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลแน่นอนอยู่แล้ว แต่พรรคคุณไม่มีคนเก่ง คุณมีแต่ตัวตึงคือปากดี เป็นนักโต้วาทีซะมาก แต่ไม่ใช่ตัวเต็งที่คู่ควรสำหรับ รมว.คลังแล้ว คนนี้ถ้าเอาโปรไฟล์เทียบกับคุณอาคม อดีตเลขาฯ สภาพัฒน์ ถือว่าห่างชั้นมาก
- ถ้าจะอ้างเก็บ Capital Gain Tax แบบนี้ตามอเมริกา ช่วยทำ QE แบบ FED (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ดัน SET ให้หน่อยครับ จะได้ถือหุ้นเฉยๆ ยาวๆ ก็ขึ้นไม่ต้องซื้อขายบ่อยๆ ส่วนพันธบัตร หุ้นกู้ เป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ นักลงทุนเทรดหุ้นติดดอยรับผิดชอบตัวเอง ยังจะมาเอาภาษีอีกหรือครับ ถ้าจะอ้างคำว่า Capital Gain TAX มันแฟร์ งั้นรบกวนยกเลิกเก็บ Transaction TAX ซึ่งปัจจุบันเราจ่ายกันได้ไหมครับ ไม่ง้้นคุณอ้างความแฟร์ แต่เก็บนักลงทุนเพิ่มสองต่อคืออะไรครับ เงินที่มนุษย์เงินเดือนแบบผมเอามาลงทุนในตลาด คือเงินที่อดออมที่ไม่ได้เอาไปลงกับการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และต้องรับความเสี่ยงเอง ยังจะตามมาเก็บอีกเหรอครับ
- ตอบไม่ตรงคำถาม คือนโยบายพวกนี้มันไป Crippled ตลาดทุนมากกว่าที่จะสร้างโอกาสหรือทลายผูกขาดอะไร ระบบเศรษฐกิจมันกระทบชิ่งกันหมด แนวคิดนี้ คนรวยโดนรีด คนจนก็ไม่รวยขึ้น รัฐ abuse มากกว่าเดิม สุดท้ายคนรวยคนเก่งหนีหมด เหลือแต่พวกรอรับรัฐสวัสดิการ
- ถ้าเศรษฐกิจพังแล้วกว่าจะสร้างให้มีเสถียรภาพไม่ใช่กดปุ่มรีเซตแล้วจะเริ่มใหม่ได้ทันที เอาให้ดีจะนำพาประเทศสู่เศรษฐกิจแบบทุนนิยม หรือสังคมนิยม ยังมีประชาชนที่ไม่รู้ในจุดนี้อีกมากทีเดียว