xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ลั่น 'จะไม่อดทน' หลังจีนแบนชิป ‘ไมครอน’ ชี้เข้าข่ายข่มขู่ทางเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุวอชิงตันจะไม่อดทนกับคำตัดสินของรัฐบาลจีนที่สั่งแบนชิปของบริษัท ไมครอน เทคโนโลยี (Micron Technology) และจะทำงานร่วมกับชาติพันธมิตรอย่างใกล้ชิดเพื่อตอบโต้พฤติกรรมข่มขู่ทางเศรษฐกิจของจีน

ไรมอนโด ออกมาแถลงเมื่อวันเสาร์ (27 พ.ค.) ภายหลังจากที่หารือร่วมกับบรรดารัฐมนตรีพาณิชย์จากกลุ่มชาติในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework - IPEF) โดยระบุว่า สหรัฐฯ “คัดค้านอย่างรุนแรง” ต่อมาตรการที่จีนใช้กับบริษัทไมครอน

เธอชี้ว่า “นี่เป็นการพุ่งเป้าเล่นงานบริษัทของสหรัฐฯ โดยปราศจากพื้นฐานข้อเท็จจริง และเป็นพฤติกรรมข่มขู่ทางเศรษฐกิจอย่างโจ่งแจ้ง สหรัฐฯ จะไม่อดทนกับมัน และไม่เชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จด้วย” ไรมอนโด กล่าว

หน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์สเปซของจีนแถลงเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ว่า ไมครอนซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ไม่ผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยเครือข่ายของจีน พร้อมสั่งห้ามไม่ให้ผู้บริหารโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ซื้อชิปจากบริษัทแห่งนี้ จนเป็นเหตุให้ไมครอนออกมาคาดการณ์ตัวเลขรายได้ที่ลดลง

ความเคลื่อนไหวของจีนมีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่กลุ่มผู้นำชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 บรรลุความตกลงร่วมที่จะต่อต้านพฤติกรรมข่มขู่ทางเศรษฐกิจของจีน

“ดังที่เราได้กล่าวไปแล้วบนเวที G7 และกล่าวเสมอมาว่า เราจะทำงานใกล้ชิดร่วมกับบรรดาหุ้นส่วนเพื่อรับมือความท้าทายนี้ รวมถึงทุกๆ ความท้าทายอันเกิดจากพฤติกรรมต่อต้านกลไกตลาด (non-market practices) ของจีน” ไรมอนโด ระบุ พร้อมเผยว่าเธอเองได้หยิบยกปัญหาไมครอนขึ้นมาพูดคุยกับหวัง เหวินเทา (Wang Wentao) รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีน เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (25)

ไรมอนโด ยืนยันว่า ข้อตกลงของ IPEF ที่ว่าด้วยห่วงโซ่อุปทานและประเด็นอื่นๆ ที่เป็นเสาหลักของการพูดคุยมีความสอดคล้องกับเม็ดเงินลงทุน 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้กฎหมาย CHIPS Act ที่วอชิงตันมุ่งสนับสนุนการวิจัยและการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในสหรัฐอเมริกา

“เม็ดเงินลงทุนภายใต้กฎหมาย CHIPS Act มุ่งส่งเสริมและและสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในสหรัฐฯ และเราขอเชิญชวนให้บริษัทในกลุ่มประเทศ IPEF เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการนี้” เธอกล่าว

สำหรับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF เป็นโครงการริเริ่มทางเศรษฐกิจที่เปิดตัวโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ปี 2022 ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 14 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ บรูไน ฟิลิปปินส์ ฟิจิ เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทย

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น