xs
xsm
sm
md
lg

พิธา-ก้าวไกล เดินสายกดดันยิ่งห่างไกล!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เมืองไทย 360 องศา

นาทีนี้เชื่อว่า หลายคนคงอยากให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี สักครั้ง พร้อมกันนั้น ก็อยากให้ได้เป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากพิสูจน์ให้เห็นว่า นโยบายทั้งประเภท 100 วัน และนโยบายหนึ่งปี สี่ปี อะไรนั่น จะทำได้จริงหรือไม่ จะได้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เพราะทั้งก้าวไกลก็สุดโต่งด้านสวัสดิการที่มากด้วยรายจ่าย ขณะที่ เพื่อไทยก็ “เจ้าพ่อ” ด้าน “ประชานิยม” สุดขั้ว เอากันให้เต็มเหนี่ยวไปเลย

จะได้เห็นกันจริงจังเสียทีว่า ความจริงกับความคิดในอุดมคตินั้น มันเป็นไปได้แค่ไหน ประเภทที่ทำ ให้ “คนเท่ากัน” มันมีจริง หรือแค่ในฝัน เพราะหากทำได้จริงมันก็ทำให้ประเทศไทย และคนไทยจะได้พ้นปลักเดิมๆ คำพูดที่ว่า ทุนผูกขาด จนกระจาย รวยกระจุก จะหายไปเสียที

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้ว มันก็คงไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามกติกา ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ยังบังคับใช้อยู่ ก็ต้องเดินไปตามเส้นทางนั้น อย่างน้อยก็ต้องเริ่มจากการรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาก่อน อย่างน้อยก็ต้องผ่านการรับรองร้อยละ 95 ภายใน 60 วัน เพื่อที่จะมีการเรียกประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อไป

แต่เวลานี้แม้ว่า 8 พรรคที่นำโดย พรรคก้าวไกล กำลังฟอร์มรัฐบาลจำนวน 313 เสียง มีเสียงเกินเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ที่มีจำนวน 251 เสียง ไปมากก็ตาม แต่หากจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก็ต้องได้รับเสียงโหวตจากที่ประชุมรัฐสภา ที่ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว.มาสนับสนุนด้วย เพื่อให้ครบ 376 เสียงตามกำหนด ซึ่งยังขาดอีกหลายสิบเสียง แม้ว่าตามรายงานข่าวจะมีการล็อบบี้ ส.ว.ให้มาสนับสนุนได้บางส่วนแล้วก็ตาม

อีกทั้งก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการโหวตนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมรัฐสภานั้นก็ต้องผ่านขั้นตอนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาเสียก่อน ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ว่าจะมาจากพรรคใด เพราะพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีเสียงเป็นอันดับสอง และเป็น “ตัวแปร” สำคัญ ยืนกรานว่า ต้องนั่งเก้าอี้ตัวนี้อ้างว่าเมื่อผู้นำฝ่ายบริหารเป็นของพรรคก้าวไกลแล้วหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องเป็นของเพื่อไทย ที่เป็นพรรคอันดับสอง ขณะนี้ก็ยังไม่ลงตัว เพราะพรรคก้าวไกล ยังไม่ยินยอม เนื่องจากเป็นตำแหน่งสำคัญของทั้งสองพรรค และต่างก็มีเป้าหมายทางการเมืองในอนาคตเช่นเดียวกัน

นี่ยังไม่นับปัญหาใหญ่ที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล กำลังเผชิญอยู่ นั่นคือ เรื่อง “ถือหุ้นสื่อ” ที่หลายคนมองตรงกันว่า “รอดยาก” และจากความเห็นของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ถือว่าเป็น “กูรูด้านกฎหมาย” ที่บอกใบ้เลยไปถึงเรื่องการ “เลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศ” สำหรับเขตที่มี ส.ส.พรรคก้าวไกลอีกด้วย มันก็ยิ่งสร้างความสั่นสะเทือนกันล่วงหน้าเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว มีความเป็นไปได้สูงทีเดียว ที่ทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นแค่ “วาที่นายกฯ” และจะกระทบไปถึงพรรคก้าวไกล แม้ว่าหลายคนอยากให้พวกเขาไปให้สุดก็ตาม เพื่อจะได้พิสูจน์ให้เห็นว่า “ทำได้จริงหรือเปล่า” แต่เมื่อทุกอย่างต้องมีกติกาว่ากันตามขั้นตอน ก็ต้องเดินไปตามนั้น

อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคก้าวไกล นาทีนี้เหมือนกับรับรู้ถึงสัญญาณดังกล่าว จึงโหมเดินสายเข้าพบหารือกับองค์กรต่างๆ ทั้งในภาคธุรกิจ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ภาคแรงงาน กลุ่มเอสเอ็มอี หรือแม้กระทั่งกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงการสร้างกระแสจากภายนอกเข้ามากดดัน โดยเฉพาะกลุ่ม “ด้อมส้ม” ที่เป็นแฟนคลับของพรรค เดินหน้ากดดันเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เปิดเผยถึงการประชุม กมธ. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและติดตามสถานการณ์การเมือง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงการเลือกประธานสภา เลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในกรณีที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล มีมติตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นประธาน และตั้ง 7 คณะทำงานแก้ปัญหาประชาชน เป็นธรรมดาของการเตรียมความพร้อม

อย่างไรก็ดี ในประเด็นที่พรรคก้าวไกล แสดงให้เห็นข้อเสนอการแก้ปัญหาประเทศ ให้ประชาชน องค์กรต่างๆ คือ ความพยายามสร้างมวลชนกดดันองค์กรต่างๆ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อยู่ระหว่างการรับรอง ส.ส. รวมถึงพิจารณาคำร้องขาดคุณสมบัติของนายพิธา ศาลรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่วินิจฉัยประเด็นคุณสมบัตินักการเมือง หรือวุฒิสภา ที่มีบทบาทต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี

“กรณีที่จัดตั้ง 7 คณะทำงาน เพื่อนำสถานการณ์ทิศทางไปสู่บริหารประเทศ ผมมองว่า ข้อเท็จจริงควรต้องผ่านการจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อย แต่เมื่อเวลาไม่ลงตัวจึงต้องทำเพื่อสร้างศรัทธาจากมวลชน รวมถึงเรียกมวลชนให้ออกมาปกป้องตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เขาจัดทำขึ้น ที่อาจจะได้มวลชนเพราะขณะนี้ยังมีเวลาเหลืออีกพอสมควรก่อนที่ กกต.จะรับรองผลเลือกตั้ง” นายเสรีกล่าว

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลพยายามสร้างมวลชนเพื่อสู้กับนิติสงคราม ที่หัวหน้าพรรคเผชิญใช่หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ตนไม่ขอใช้คำรุนแรงแบบนั้น แต่ตอนนี้เห็นว่า เขาพยายามสร้างมวลชนเป็นแรงสนับสนุนและผลักดัน รวมถึงเป็นแรงกดดัน กกต. ที่ต้องรับรอง ส.ส. ตรวจสอบข้อมูล ก่อนจะประกาศรับรองตามกระบวนการเลือกตั้ง

ถามย้ำว่า พรรคก้าวไกล ใช้มวลชนเพื่อกดดันพรรคเพื่อไทยไม่ให้เป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งด้วยหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ตนเชื่อว่า กดดันพรรคเพื่อไทยไม่ได้ เพราะพรรคนี้เขามีวิทยายุทธลึกล้ำ และวางสเตปทางการเมืองไว้ว่าจะเดินอย่างไร และสร้างการแสดงออกที่สร้างความเชื่อมั่น เชื่อใจในกลุ่มตั้งรัฐบาลแต่ในอนาคตนั้น ตนเชื่อว่า เขาเดาออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเขารู้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า มองว่า ประเด็นคุณสมบัติหรือการแก้มาตรา 112 ที่จะทำให้นายพิธา ไม่ได้รับการเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภา นายเสรี กล่าวว่า ตนมองว่า ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลไม่ยอมถอย และมีเจตนาที่จะเสนอแก้ไข แม้ไม่ระบุไว้ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล แต่มวลชนและเจ้าของพรรคก้าวไกลต้องการ ซึ่งตนไม่เข้าใจทำไม นายพิธา ต้องยืนหยัดที่จะแก้ไข ทั้งที่ไม่ใช่ปัญหาของบ้านเมือง และตนเชื่อว่า ประเด็นนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งของบ้านเมืองได้ในอนาคต

นั่นเป็นความเห็นของนายเสรี หนึ่งใน ส.ว. ที่มีท่าทีชัดเจนว่าจะไม่โหวตสนับสนุนนายพิธา โดยอ้างถึงเรื่องความไม่ไว้ใจเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งอาจมองว่าเป็นความเห็นจากฝ่ายตรงข้าม แต่ก็ถือว่าน่าจับตาไม่น้อยทีเดียว

โดยเฉพาะเรื่องการ “สร้างแรงกดดัน” จากภายนอก เพื่อให้เดินไปถึงเป้าหมายของตัวเอง แต่ถึงอย่างไรเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้ว ยังถือว่า นายพิธา น่าจะฝ่าด่านหินดังกล่าวไปยากมาก ที่สำคัญ ให้สังเกตท่าทีจากพวกเดียวกันอย่างพรรคเพื่อไทย ที่วางท่าทีเฉยเมยมาก ทั้งในเรื่องการล็อบบี้ ส.ว.โดยโยนให้เป็นภาระของพรรคก้าวไกลในฐานะแกนนำ พร้อมทั้งยังตอกย้ำถึงกติกาที่ให้ยอมรับความจริงในเรื่องการถือหุ้นสื่อ เหมือนกับการ “รอส้มหล่น”

ดังนั้น แม้ว่านาทีนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล จะใช้วิธีเดินสายสร้างแรงกดดันจากภายนอกอย่างเต็มที่ รวมไปถึงใช้มวลชนมาร่วมเขย่าแบบแรงขึ้น แต่เชื่อเถอะในที่สุดมันก็ต้องฝ่อลง และห่างไกลออกมาไปทุกที เนื่องจากต้องเดินไปตามกติกา และที่สำคัญ “เพื่อนตัวดี” ที่สัญญาว่าจะรักกัน ไม่ทิ้งกัน เอาเข้าจริงกลับนั่งเฉย รอเก็บเกี่ยวเสียนี่ !!.
กำลังโหลดความคิดเห็น