xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉม “รถไฟไทยทำ” หรูหรา-ทันสมัยที่สุดในอาเซียน เทียบเท่าเครื่องบินชั้นธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพ: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อีกไม่นานเกินรอ เตรียมพบกับ “รถไฟไทยทำ” ผลงานจาก สจล. ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากเครื่องบินชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาสในรถไฟความเร็วสูง


ภาพ: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดผลงานพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) ในชื่อรถไฟ “สุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)” โมเดลรถไฟโดยสารต้นแบบสุดหรูหรา ที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย ใช้วัสดุและอุตสาหกรรมภายในประเทศในการประกอบตู้รถไฟชนิด Luxury Class และ Super-Luxury ที่หรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก บพข. เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟระยะกลางในแนวเส้นทางรถไฟรางคู่ระยะ 200-500 กิโลเมตร และรถไฟท่องเที่ยวในแนวเส้นทางของ รฟท. เพื่อแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำและรถยนต์ส่วนตัว

ภาพ: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย รศ. ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. เข้าตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการวิจัยและพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) โดยนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. เพื่อพัฒนาตู้รถไฟโดยสารต้นแบบที่เน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก รองรับนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคมและนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ

รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. หัวหน้าโครงการวิจัย เผยถึงจุดเด่นของรถไฟว่า โครงการนี้มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก ร่วมกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตชิ้นส่วนที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยตั้งเป้าต้องดำเนินการโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศได้ไม่น้อยกว่า 40% ตามนโยบาย Thai First ของรัฐบาล


“ออกแบบตัวรถเองทั้งหมด ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเครื่องบินชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาสในรถไฟความเร็วสูง มีที่นั่งจำนวน 25 ที่ ประกอบด้วยชั้น Super Luxury 8 ที่นั่ง และชั้น Luxury 17 ที่นั่ง ทุกที่นั่งมีจอภาพส่วนตัวสำหรับให้บริการด้านความบันเทิงและสั่งอาหาร ซึ่งจะมีพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์นำอาหารมาส่งถึงที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีระบบห้องน้ำสุญญากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน”


ภาพ: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยราคาค่าโดยสารนั้นเท่ากับตั๋วแบบนอนของ รฟท. การพัฒนาต้นแบบในครั้งนี้เราได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. และจากกิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ หากคิดเฉพาะค่าจัดทำต้นแบบไม่รวมค่าครุภัณฑ์และค่าดำเนินการวิจัย ตู้รถไฟของเราใช้ต้นทุนอยู่ที่ 32.4 ล้านบาท ซึ่งมีความคุ้มค่ากว่าการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาตัวรถให้มีน้ำหนักที่เบาลง จากการออกแบบด้วยระบบ Space Frame Modular Concept และแคร่รถไฟที่ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอีกด้วย ซึ่งเราได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากโครงการแล้วจำนวน 7 ผลงาน และโครงการของเรายังมีผู้ประกอบการที่สามารถผลิตและประกอบได้ในประเทศมากกว่า 10 บริษัทเข้าร่วมในโครงการ จึงเป็นการช่วยสร้างระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมการผลิตรถขนส่งทางรางและสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมระบบรางตลอดห่วงโซ่การผลิต”

ภาพ: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ด้าน รศ. ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. กล่าวถึงบทบาทของ บพข. ในการสนับสนุนโครงการนี้ว่า “โครงการนี้ บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนโดยที่มีภาคเอกชนร่วมลงทุนด้วยเป็นการยืนยันว่าภาคเอกชนต้องการทำโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นโครงการที่มี potential สูงที่ บพข. คาดหวังให้สำเร็จ เพราะคนไทยรอให้ประเทศเรามีรถไฟที่ทันสมัยแบบนี้มานาน ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากมักกลัวการทำ R&D เพราะต้องใช้เงินลงทุนและมีความเสี่ยง ดังนั้น บพข. จึงต้องเข้ามาช่วยในส่วนนี้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำ R&D โดยมีการร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนักวิจัย อาจารย์จากมหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะ R&D คือสิ่งสำคัญต่อการสร้างองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและประเทศของเรา ซึ่งโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่าเขาทำได้ ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าองค์ความรู้และความสามารถของคนไทยไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่น แต่ว่าเอกชนไทยทุกวันนี้ยังขาดโอกาส ขาดการสนับสนุน บพข. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐจึงเข้ามาช่วยในส่วนนี้ คณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญใน บพข. ได้คุยกันว่าเราต้องช่วยเหลือภาคเอกชนไทยอย่างจริงจัง ต้องทำงานเหมือนเป็นทีมเดียวกัน รับผิดชอบด้วยกัน จึงเป็นผลให้โครงการสำเร็จได้”

ภาพ: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เผยถึงแผนการนำรถไฟต้นแบบไปใช้งานจริงในกิจการของ รฟท. ว่า “รฟท. ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการวิจัยนี้ตั้งแต่ต้น เราเห็นตั้งแต่โครงสร้างแรก และเรื่องของความปลอดภัยในการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งเป็นสาระสำคัญ โดยผู้วิจัยได้ดำเนินการส่วนนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตอนนี้เราอยู่ในขั้นของการทดสอบบนทางรถไฟจริงสำหรับการให้บริการ หากผ่านการทดสอบตรงนี้แล้วก็จะสามารถนำไปใช้จริงได้”

ภาพ: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
“ในส่วนของแผนการเดินรถในอนาคตอาจต้องมีการทำแผนการจัดจำนวนที่นั่งและการจัดรูปแบบก่อนว่าจะเป็นอย่างไร โครงการนี้เป็นต้นแบบซึ่งทาง รฟท. และทีมวิจัยมีความคาดหวังที่จะลองหลาย ๆ รูปแบบเพื่อให้รู้ว่าวิธีไหนที่จะเหมาะสมกับผู้โดยสาร เช่น ผู้โดยสารระยะกลาง หรือผู้โดยสารระยะไกล โดยเราอาจนำไปลองกับผู้โดยสารระยะกลางก่อน สังเกตุว่ารถที่เราออกแบบมาจะเป็นกึ่งรถนอน คือเป็นรถที่มีที่นั่งสบาย ๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับรางคู่ระยะกลางที่มีระยะทางประมาณ 500 กม.

นอกจากนี้จุดเด่นของรถขบวนชุดนี้ยังเป็นขบวนที่มีความเงียบเนื่องจากไม่มีตัวเครื่องยนต์ปั่นไฟในตัวรถ ซึ่งเป็น concept ที่ รฟท. ใช้อยู่ จึงสามารถนำต้นแบบนี้ไปปรับใช้ได้ โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราสามารถประกอบตัวรถไฟที่มีชิ้นส่วนภายในประเทศได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เราสามารถใช้ local content ภายในประเทศได้มากยิ่งขึ้น”

ภาพ: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline
กำลังโหลดความคิดเห็น