xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ถอดบทเรียน ‘ชุมนุมลูกเสือโลก’ ล่มไม่เป็นท่า ทำเกาหลีใต้ ‘ขายหน้าระดับชาติ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การปิดฉากลงอย่างกะทันหันของงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 25 (World Scout Jamboree) ในปีนี้ถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวที่สร้างความอับอายไม่น้อยให้ประเทศเจ้าภาพอย่างเกาหลีใต้ ขณะที่ผู้สันทัดกรณีออกมาชี้ถึงความไม่พร้อมหลายๆ ด้านที่ทำให้กิจกรรมครั้งนี้ไปต่อไม่ไหว

งานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งนี้ถือเป็นการรวมตัวของคณะลูกเสือนานาชาติครั้งแรกภายหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 โดยเกาหลีใต้ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว รวมถึงการแข่งขันฟุตบอล FIFA World Cup รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ

คณะลูกเสือราว 43,000 คนจาก 155 ประเทศทั่วโลกเดินทางไปร่วมงานชุมนุมซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดชอลลาเหนือ (North Jeolla) และสำหรับเกาหลีใต้แล้วนี่ถือเป็นอีกครั้งที่พวกเขาได้มีโอกาสโชว์ศักยภาพในการจัดอีเวนต์ระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่เป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง โดยมีสาเหตุอยู่หลายประการ เช่น วิกฤตคลื่นความร้อน รวมถึงปัญหาด้านการจัดการที่ทำให้คณะลูกเสือไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ก่อนที่การมาของ “พายุโซนร้อนขนุน” (Khanun) จะทำให้คณะผู้จัดงานตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม และเร่งอพยพเยาวชนกว่า 43,000 ชีวิตออกจากค่ายพักกลับกรุงโซลในวันอังคาร (8 ส.ค.)

จากการวิเคราะห์แผนการจัดงาน รวมถึงการขอสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ต่อให้ไม่มีอุปสรรคในเรื่องสภาพอากาศ งานชุมนุมลูกเสือโลกที่เกาหลีใต้ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน ซึ่งบางอย่างเคยได้รับคำเตือนล่วงหน้า แต่ไม่มีการปรับปรุงแก้ไข

สำนักข่าวรอยเตอร์ตรวจสอบข้อมูลเอกสารที่เปิดเผยต่อสาธารณชนของรัฐบาลเกาหลีใต้ และพบว่าในปี 2017 ซึ่งเป็นปีที่เกาหลีใต้ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานชุมนุมลูกเสือโลกในปี 2023 เจ้าหน้าที่ได้เตือนถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาหากมีการจัดค่ายลูกเสือขนาดใหญ่ขึ้นในบริเวณนี้

รายงานฉบับหนึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาและลงทุนแห่งเมืองแซมันกึม (Saemangeum Development and Investment Agency) ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจในการพัฒนาพื้นที่จัดค่ายลูกเสือ ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ สถานที่จัดงานชุมนุมลูกเสือโลกที่รัฐเวสต์เวอร์จิเนียในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2019 และเตือนว่าจำเป็นจะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงเตรียมห้องสุขาให้เพียงพอต่อจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม

“บริเวณนี้มีสภาพเป็นทุ่งและไม่มีต้นไม้อยู่เลย จึงจำเป็นต้องปลูกต้นไม้ที่ให้ร่มเงา และสร้างที่พักหลบร้อนเพื่อสวัสดิภาพของผู้เข้าร่วมงาน” รายงานดังกล่าวระบุ

ทางสำนักงานฯ ยังย้ำเตือนเรื่องจำนวนห้องสุขาว่าจะต้องเพียงพอกับคณะลูกเสือหลายหมื่นชีวิตที่จะเดินทางมาพักอาศัยอยู่ที่นี่ และจะต้องป้องกันกลิ่นรบกวนซึ่งจะ “ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย”

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนของจังหวัดชอลลาเหนือระบุในรายงานเมื่อปี 2018 และ 2020 ว่า แผนการ “ปลูกป่า” บริเวณค่ายพักลูกเสือไม่สามารถทำได้เนื่องจาก “ดินเค็ม” เกินไป ขณะที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งอ้างว่าได้มีการสร้างอุโมงค์ไม้เลื้อยเพื่อให้คณะลูกเสือใช้หลบร้อน แต่ยอมรับว่า “อาจจะไม่เพียงพอ”

หลังจากคณะลูกเสือนานาชาติเริ่มเดินทางไปถึงค่ายพักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปรากฏว่าอุณหภูมิในพื้นที่จัดงานพุ่งสูงถึง 34 องศาเซลเซียส และมีเยาวชนกว่า 600 คนทยอยล้มป่วยเนื่องจากอากาศร้อน การถูกแมลงสัตว์กัดต่อย และอื่นๆ

รัฐบาลโซลได้พยายามแก้ปัญหา โดยจัดส่งทั้งทีมแพทย์ทหาร และรถบัสปรับอากาศเข้าไปเพิ่ม และยืนกรานจะเดินหน้าจัดงานชุมนุมลูกเสือต่อไปจนถึงวันที่ 12 ส.ค. ตามกำหนดเดิม พร้อมวิงวอนให้ทุกฝ่ายมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือ “อุปสรรคที่จะต้องก้าวข้ามไปด้วยกัน”

อย่างไรก็ตาม คณะลูกเสืออังกฤษและสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจถอนตัวในช่วงสุดสัปดาห์ โดยให้เหตุผลเรื่องสภาพอากาศที่รุนแรงเกินกว่าจะรับได้


ต่อมาในวันจันทร์ (7) คำเตือนพายุโซนร้อนขนุนซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเกือบทุกพื้นที่ในเกาหลีใต้ได้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้องค์การลูกเสือโลก (World Organization of the Scout Movement) ตัดสินใจประกาศยุติกิจกรรมนี้ก่อนกำหนด

แมตต์ ไฮด์ (Matt Hyde) ผู้บริหารองค์การลูกเสืออังกฤษ ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า สาเหตุที่อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่ส่งลูกเสือเข้าร่วมงานมากที่สุดในปีนี้ตัดสินใจถอนตัว เนื่องจากพบปัญหาหลายอย่าง เป็นต้นว่าห้องน้ำไม่สะอาด มีขยะกองสุมเป็นพะเนิน อีกทั้งปริมาณอาหารก็ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ร่วมงาน

“สถานที่ตรงนี้ไม่ปลอดภัยเลย” ไฮด์ กล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการตั้งทีมสอบสวนอิสระเข้ามาตรวจสอบแผนการจัดงานของเกาหลีใต้

คิม ฮยุนซุก รัฐมนตรีกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศของเกาหลีใต้ ยอมรับว่าห้องสุขาที่ไม่ถูกสุขอนามัยคือปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของงานชุมนุมลูกเสือโลกปีนี้ แม้ว่าคณะผู้จัดงานจะเพิ่มพนักงานทำความสะอาดจาก 70 เป็น 540 คน ขณะที่ทางจังหวัดชอลลาเหนือยังระดมเจ้าหน้าที่อีก 520 คนเข้ามาช่วยดูแลความสะอาดของห้องอาบน้ำและสุขาด้วยก็ตาม

สื่อเกาหลีใต้วิจารณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็น “ความอับอายของชาติ” เนื่องโซลมีเวลาเตรียมตัวนานพอสมควรสำหรับการเป็นเจ้าภาพงานชุมนุมลูกเสือโลก ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี

กระแสวิจารณ์ที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก รวมถึงเสียงร้องเรียนจากผู้เข้าร่วมงาน พ่อแม่ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การลูกเสือ ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เปราะบางสำหรับเกาหลีใต้ ซึ่งเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo ที่เมืองปูซานในปี 2030

ผลการคัดเลือกประเทศเจ้าภาพจะถูกประกาศในเดือน พ.ย. ขณะที่คนเกาหลีใต้เองเริ่มกังวลว่า ข้อบกพร่องจากงานชุมนุมลูกเสือโลกจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสื่อมเสียจนพลาดโอกาสในการเป็นเจ้าภาพงาน World Expo

“เกาหลีใต้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ใครจะนึกว่าประเทศนี้ไม่มีปัญญาจัดการปัญหาพื้นๆ อย่างเรื่องห้องน้ำหรือแมลงรบกวน” ฮอง กียอง อาจารย์ด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยอินชอนให้ความเห็น

สำหรับประเทศไทยเองซึ่งเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 27 ในอีก 8 ปีข้างหน้า ก็สมควรที่จะต้องมีการถอดบทเรียนจากความผิดพลาดของเกาหลีใต้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย




กำลังโหลดความคิดเห็น