xs
xsm
sm
md
lg

ทางการจีนสั่งแบน ‘ไอโฟน’ ขณะเดียวกันก็ชี้ชวนให้ใช้สมาร์ทโฟนเมต60 โปร ของ ‘หัวเว่ย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ไอโฟน 14 ของค่ายแอปเปิล และเมต60 โปร ของค่ายหัวเว่ย
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China bans iPhone while touting Huawei’s Mate60 Pro
By JEFF PAO
09/09/2023

น่าสังเกตว่า ทางการจีนสั่งห้ามข้าราชการลูกจ้างกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ของรัฐบาลส่วนกลาง นำไอโฟนมายังที่ทำงานหรือใช้มันเพื่อการทำงาน ในช่วงเวลาหลังจากที่บริษัทรับจ้างทำการผลิตให้แก่แอปเปิล ได้โยกย้ายสายการผลิตบางส่วนออกจากจีนไปตั้งที่ประเทศอื่น ขณะเดียวกัน หัวเว่ยก็เปิดตัวสมาร์ทโฟน 5จี รุ่นใหม่ที่ติดตั้งชิปเว็ตระดับ 7 นาโนเมตร

ราคาหุ้นของบริษัทแอปเปิลอิงค์ หล่นลงมา 6.4% ในเวลา 2 วัน หลังจากมีรายงานข่าวว่าจีนได้สั่งห้ามไม่ให้ลูกจ้างพนักงานของพวกหน่วยงานรัฐบาลส่วนกลางทั้งหลายใช้เครื่องโทรศัพท์ไอโฟน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงปลอดภัย การสั่งห้ามอย่างน่าประหลาดใจคราวนี้เป็นเครื่องหมายครั้งล่าสุดของการบานปลายขยายตัวในสงครามเทคระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจมุ่งหาทางขับดันสมาร์ทโฟน แมต60 โปร (Mate60 Pro) รุ่นใหม่ของหัวเว่ย ให้พุ่งแรงแซงหน้าไอโฟนในตลาดภายในประเทศของจีน

รัฐบาลจีนมีคำสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่ทั้งหลายของตนนำเครื่องไอโฟนไปที่ทำงานหรือใช้สมาร์ทโฟนนี้เพื่อการทำงาน สื่อวอลล์สตรีทเจอร์นัลของสหรัฐฯ รายงานเรื่องนี้เอาไว้เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ขณะที่สำนักข่าวหลายแห่งรายงานต่อมาในวันที่ 7 กันยายนว่า การสั่งแบนเช่นนี้ต่อไปอาจขยายไปครอบคลุมถึงพวกรัฐวิสาหกิจต่างๆ ของจีน ซึ่งมีลูกจ้างพนักงานอยู่ในสังกัดเป็นเรือนล้านๆ คนทีเดียว
(ดูเพิ่มเติมรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์นัลได้ที่ https://www.wsj.com/world/china/china-bans-iphone-use-for-government-officials-at-work-635fe2f8)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องอาจขยายการแบนให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-09-07/china-plans-to-expand-iphone-ban-to-some-state-backed-firms-in-blow-to-apple?utm_source=google&utm_medium=bd&cmpId=google&leadSource=uverify%20wall)

ข่าวนี้เป็นสาเหตุทำให้มูลค่าตามราคาตลาดหุ้นของแอปเปิลหล่นลงมาถึงราวๆ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาของการซื้อขาย 2 วันดังกล่าว

น่าสังเกตว่าการสั่งแบนนี้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาเดียวกับการรณรงค์ทางสื่อมวลชนของรัฐจีนที่มุ่งโปรโมตประโคมข่าวการเปิดตัว เมต60 โปร ของบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีส์ ซึ่งติดตั้งด้วยชิปคิริน 9000 เอส (Kirin 9000s) ที่เป็นชิปขนาด 7 นาโนเมตรที่ผลิตโดยบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp หรือ SMIC) ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศจีนเอง

หลี่ว์ ติงเจีย (Lu Tingjie) อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และการบริหาร แห่งมหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง (Beijing University of Posts and Telecommunication) บอกกับสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (ซีซีทีวี) ว่า การเปิดตัวชิปคิริน 9000เอส ถือเป็นหลักหมายสำคัญหลักหมายหนึ่งสำหรับพัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมชิปของประเทศจีน เขาระบุว่าช่วงห่างทางเทคโนโลยีที่ประเทศชาติยังตามไม่ทันฝ่ายตะวันตกนั้นกำลังหดแคบลงมาเหลือแค่ประมาณ 3-5 ปีแล้ว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://tv.cctv.com/2023/09/06/VIDEhfuWkcRevpbasklYxWTS230906.shtml)

แอปเปิลนั้นกำลังจะเปิดตัวไอโฟนรุ่นล่าสุดของตน ซึ่งก็คือ ไอโฟน 15 ในวันที่ 12 กันยายนนี้แล้ว ขณะเดียวกัน หัวเว่ยก็จะจัดงานการตลาดของตนสำหรับ เมต60 โปร ในวันเดียวกันนั้น ชิปเซ็ต เอ17 ที่อยู่ข้างในเครื่องไอโฟนรุ่นใหม่ เป็นที่คาดหมายกันว่าจะเป็นโปรเซสเซอร์ขนาด 3 นาโนเมตร ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นที่ก้าวหน้ากว่าโปรเซสเซอร์ 7 นาโนเมตร ราวๆ 2 ถึง 3 เจเนอเรชัน

ในวันที่ 6 กันยายน ส.ส.ไมค์ แกลลาเกอร์ (Mike Gallagher) ของสหรัฐฯ ที่เป็นประธานของคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยจีนของสภาผู้แทนราษฎร (House Select Committee on China) เรียกร้องกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ให้ห้ามการส่งออกเทคโนโลยีทุกๆ อย่างไปให้แก่หัวเว่ย และเอสเอ็มไอซี
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2023/09/07/tech/china-smic-us-sanctions-huawei-intl-hnk/index.html)

วันรุ่งขึ้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แถลงว่า กำลังทำงานเพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับชิปขนาด 7 นาโนเมตร ที่ถูกระบุว่าใช้อยู่ใน เมต60 โปร

“การควบคุมการส่งออกเป็นเพียงเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่อยู่ในกล่องเครื่องมือของรัฐบาลสหรัฐ สำหรับใช้รับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติที่มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน” โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงพาณิชย์อเมริกันบอก “ข้อจำกัดต่างๆ ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2019 ได้น็อกหัวเว่ยจนล้มลง และบีบให้บริษัทนี้ต้องประดิษฐ์สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ --ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเป็นกอบเป็นกำทีเดียวแก่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน”

เวลาเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงในวันที่ 8 กันยายนว่า มาตรการแซงก์ชันที่สหรัฐฯ เล่นงานพวกกิจการของจีน มีแต่จะเพิ่มสมรรถนะของจีนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในการเสาะแสวงหาการพึ่งตนเองและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

“สงครามเย็นทางเทคโนโลยี”

ย้อนหลังกลับไปในเดือนสิงหาคม 2020 เมื่อตอนที่คณะบริหารทรัมป์สั่งห้ามพวกพนักงานลูกจ้างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้โปรแกรมติ๊กต็อก และวีแชต จีนบอกว่าอาจจะตอบโต้ด้วยการสั่งห้ามใช้ไอโฟน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/fyrbt_673021/jzhsl_673025/202008/t20200827_5419279.shtml)

แต่แล้วปักกิ่งก็ไม่ได้กระทำเช่นนั้นในตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีของการเดินหน้าใช้มาตรการแทรกแซงตลาดของวอชิงตัน เนื่องจากอันที่จริงแล้วผลิตภัณฑ์แอปเปิลจำนวนมากผลิตขึ้นในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดูเหมือนเกิดความเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หลังจากบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) แห่งไต้หวัน ที่เป็นผู้รับจ้างผลิตรายใหญ่ที่สุดของแอปเปิล ได้โยกย้ายสายการผลิตของตนบางส่วนออกจากจีนไปตั้งที่เวียดนามและอินเดียในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา

พวกเจ้าหน้าที่ในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ของรัฐบาลกลางจีนเวลานี้จึงถูกสั่งห้ามไม่ให้นำเอาโทรศัพท์แบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงไอโฟนด้วย เข้าไปยังที่ทำงาน หรือใช้โทรศัพท์เหล่านี้ในการทำงานของรัฐบาล ตามรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ของวอลล์สตรีทเจอร์นัล จีนยังกำลังหาทางลดการพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีต่างชาติ เพิ่มความเข้มแข็งด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลข่าวสารอ่อนไหวทั้งหลาย

“ถ้าเรื่องนี้เป็นความจริง รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีแต่สมควรที่จะประณามตัวเองเท่านั้น จากการที่สหรัฐฯ นั่นเองเป็นผู้นำในการออกคำสั่งห้ามอย่างเป็นทางการไม่ให้ใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีน และทำให้เกิดการเฝ้าสอดส่องระแวงระวังเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตอบโต้วนเวียนกันหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ” หู ซีจิน (Hu Xijin) อดีตบรรณาธิการใหญ่ของโกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อในเครือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวในโพสต์บนสื่อสังคมเมื่อวันที่ 8 กันยายน “นี่จะสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศ แต่ถ้าแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไปแล้ว สหรัฐฯ จะเจ็บปวดมากกว่า”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://weibo.com/1989660417/NiaXcuCZE?pagetype=profilefeed)

หูแจกแจงว่า ในประเทศจีนมีการใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อเมริกันในขนาดที่ใหญ่โตมากมายกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิสก์ของจีนในสหรัฐฯ และขณะเดียวกัน จำนวนของพวกลูกจ้างพนักงานของหน่วยงานรัฐบาล ตลอดจนสถาบันภาคสาธารณะต่างๆ ในจีนก็มีมากกว่าในสหรัฐฯ อย่างเป็นกอบเป็นกำ

เขากล่าวในวันที่ 8 กันยายนว่า สหรัฐฯ จะไม่สามารถค้นหาเหตุผลใดๆ สำหรับการแซงก์ชันหัวเว่ยต่อไปอีก ในเมื่อชิปคิริน 9000 เอส ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ แต่อย่างใด

ยังมีนักเขียนที่ตั้งฐานอยู่ที่กวางตุ้งรายหนึ่งเผยแพร่ข้อความเมื่อวันที่ 8 กันยายนเช่นกัน พูดถึงความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ว่า เป็น “สงครามเย็นทางเทคโนโลยี
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1776392018215416376&wfr=spider&for=pc)

เธอกล่าวว่า การที่จีนจำกัดการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแอปเปิล และรถไฟฟ้าของเทสลา คือการตอบโต้เอาคืนสำหรับที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการแซงก์ชันเล่นงานหัวเว่ยมาตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2019

“ในระดับที่แน่นอนระดับหนึ่ง มาตรการเหล่านี้สามารถที่จะลดส่วนแบ่งตลาดของพวกกิจการสหรัฐฯ ในประเทศจีน และลดทอนผลกระทบของการที่สหรัฐฯ แซงก์ชันทางเทคโนโลยีเอากับจีน” เธอกล่าว “มาตรการเหล่านี้ยังสามารถเพิ่มพูนความไว้วางใจและความยอมรับในผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีภายในประเทศของประชาชนจีน ตลอดจนเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศจีน”

อย่างไรก็ดี เธอกล่าวต่อไปว่า ถึงแม้การแข่งขันกันทางเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว แต่ทั้งสองประเทศยังคงสามารถร่วมมือกันได้ และใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การควบคุมโรคระบาด และการพัฒนาทางสังคมต่างๆ

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 รถยนต์ของเทสลาถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าไปยังสถานที่ตั้งอาคารต่างๆ ของรัฐบาลจีน สืบเนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยจากพวกกล้องต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่บนรถเทสลา ตามรายงานของพวกสื่อมวลชน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/world/china/tesla-cars-barred-some-china-government-compounds-sources-2021-05-21/)

“ชะตากรรมของประเทศชาติ”

หลังจากที่รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ จีนา ไรมอนโด (Gina Raimondo) แจ้งกับรัฐมนตรีพาณิชย์จีน หวัง เหวินเทา (Wang Wentao) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมว่า สหรัฐฯ ไม่มีช่องทางใดๆ สำหรับการประนีประนอมหรือการเจรจาในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ ทางฝ่ายจีนก็ดูเหมือนเลิกล้มความคิดที่จะหาทางเจรจาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเหล่านี้กับสหรัฐฯ และหันไปสนใจกับหัวข้อด้านอื่นๆ

ในวันที่ 29 สิงหาคม หัวเว่ย ประกาศเริ่มวางจำหน่ายสมาร์ทโฟน เมต60 โปร ของตน ต่อจากนั้นบริษัทวิจัย เทคอินไซตส์ (TechInsights) ได้รายงานผลการศึกษาของตนที่ค้นพบว่า ชิป คิริน 9000เอส ที่ใช้อยู่ในโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ ผลิตขึ้นโดยเอสเอ็มไอซี ด้วยการใช้เทคโนโลยี N+2 ของบริษัทเอง

“มีหนทางมากมายสำหรับการเพิ่มความคาดหวังทางเศรษฐกิจของประชาชนชาวจีน ทว่าการเพิ่มพูนความมั่นอกมั่นใจของประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีระยะยาวนั้น เป็นภารกิจที่ยากลำบากยิ่งกว่ากันมาก” vlogger โปรปักกิ่งรายหนึ่งกล่าวในวิดีโอคลิปหนึ่ง “ประชาชนจำนวนมากเชื่อว่าประเทศจีนจะสามารถก้าวหน้าไปได้หรือไม่ เทคโนโลยีคือสิ่งที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อชะตากรรมของประเทศชาติของพวกเขา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://haokan.baidu.com/v?pd=wisenatural&vid=16901868908491627153)

เขาบอกวา การเปิดตัวชิปคิริน 9000เอส ได้ช่วยเพิ่มพูนความมั่นอกมั่นใจของประชาชนชาวจีน

เครือข่ายเยาวชนจีน (China Youth Network) เว็บไซต์ข่าวที่ดำเนินการโดยสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (ที่เป็นองค์กรฝ่ายเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) บอกว่า การเปิดตัว เมต60 โปร ที่มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ นั่นคือเป็นช่วงเวลาที่ไรมอนโด กำลังเยือนจีน และไม่กี่วันก่อนหน้าแอปเปิลเปิดตัวไอโฟน 15 แสดงให้เห็นว่ากิจการของจีนนั้นมีความสามารถในทางนวัตกรรม นอกจากนั้น ยังกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ มีแต่จะทำให้ตนเองบาดเจ็บจากมาตรการจำกัดปิดกั้นเทคและชิปเพื่อเล่นงานจีน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1776289663358218121&wfr=spider&for=pc)

อย่างไรก็ดี คาลวิน ชอย (Calvin Choy) คอมเมนเตเตอร์ในฮ่องกงรายหนึ่ง เอ่ยปากวิจารณ์อยู่ดีว่า จริงๆ แล้ว เอสเอ็มไอซีไม่ได้สร้างนวัตกรรมอะไรขึ้นมาสักหน่อย เพียงแค่ดัดแปลงเทคโนโลยี N+2 ของตนเท่านั้น โดยที่เทคโนโลยีนี้บริษัททีเอสเอ็มซี ของไต้หวันก็ทำสำเร็จมานานแล้วย้อนหลังไปจนถึงปี 2017 เขาบอกว่า ไม่ว่า หัวเว่ย หรือ เอสเอ็มไอซี ก็ไม่น่าที่จะสามารถฟันฝ่าทะลุทะลวงทางเทคโนโลยีต่อไปได้อีก ถ้าหากพวกเขาไม่สามารถได้รับเทคโนโลยีทางการพิมพ์ลายบนแผ่นชิป (lithography) ในระดับก้าวหน้า อย่างเทคโนโลยี extreme ultraviolet (EUV) ซึ่งเวลานี้ใช้ในการผลิตชิปประดับไฮเอนด์
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=PMAv9Q--FiM)
กำลังโหลดความคิดเห็น