xs
xsm
sm
md
lg

‘สุริยะ’ จัดให้ รถไฟฟ้า 20 บาท 'แดง-ม่วง' ต่อ 2 สาย จากบางใหญ่ไปดอนเมืองจ่ายถูกกว่าวินไปหน้าปากซอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุริยะ” ทำจริงรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทาง เดินทางข้ามระบบ "แดง-ม่วง" นำร่องเชื่อม 2 สาย ระยะทางรวม 60 กม. สุดคุ้มจากบางใหญ่ไปดอนเมือง ลดภาระประชาชน "คมนาคม" นัด รฟม.และ รฟท.ถกรายละเอียด แบ่งรายได้


รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศเดินหน้านโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือตลอดเส้นทางที่จะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 3 เดือนนี้ โดยนำร่องกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น ไม่ได้เฉพาะเป็นการเดินทางภายในสายสีแดงหรือสายสีม่วงเท่านั้น แต่จะครอบคลุมถึงการเดินทางเชื่อมต่อข้ามระบบระหว่างสายสีแดงกับสายสีม่วงด้วย โดยมีสถานีบางซ่อนเป็นสถานีร่วม

ซึ่งจะทำให้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจากต้นทางไปยังปลายทางด้วยอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดเส้นทางเกิดขึ้นจริงเป็นครั้งแรก ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม  

โดยรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะทางรวม 37.60 กิโลเมตร (กม.) มีจำนวน 13 สถานี ส่วนสายสีม่วง (คลองบางไผ่-บางซื่อ) มีระยะทาง 23 กม. จำนวน 16 สถานี รวมทั้ง 2 สายมีสถานีถึง 29 สถานี มีระยะทางรวมกันกว่า 60 กม. เทียบกับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดการเดินทาง ถือว่าคุ้มค่ามาก

“ยกตัวอย่าง ปัจจุบันหากต้องการเดินทางจากบางใหญ่ ไปสนามบินดอนเมือง โดยใช้สายสีม่วง จากสถานีคลองบางไผ่-สถานีบางซ่อน (15 สถานี) ค่าโดยสาร 42 บาท จากนั้นใช้สายสีแดง จากบางซ่อน-ดอนเมือง (9 สถานี) ค่าโดยสาร 39 บาท แต่ตามนโยบายใหม่จะจ่ายเพียง 20 บาทเท่านั้น ก็จะสามารถเดินทางจากคลองบางไผ่-ดอนเมือง เป็นต้น” 


รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 18 ก.ย. 2566 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม จะมีการประชุมร่วมกับ รฟท. รฟม. บริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน การแบ่งค่าโดยสารกรณีเดินทางข้ามสายสีแดงกับสายสีม่วง รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร และการทำประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

@รฟม.หวัง 20 บาทดันยอด "สีม่วง" พุ่ง

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 5-6 หมื่นคน-เที่ยว/วัน โดยเคยทำสถิติสูงสุด (นิวไฮ) เมื่อต้นเดือน ก.ย. 2566 ที่ประมาณ 7.6 หมื่นคน-เที่ยว/วัน มีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุด 42 บาท จากการศึกษาของโครงการพบว่าจะถึงจุดคุ้มทุนเมื่อจำนวนผู้โดยสารมีประมาณ 1.3 แสนคน-เที่ยว/วัน จึงใช้รูปแบบการจ้างเดินรถ หรือ PPP-Gross Cost กับเอกชน

กรณีสายสีม่วงลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสาย คาดว่ารายได้จะลดลงจากปัจจุบันประมาณ 56-60 ล้านบาท/ปี ในขณะที่ประเมินว่าจำนวนผู้โดยสารจะมีเพิ่มขึ้น 10 -20% หรือเพิ่มเป็น 6-7 หมื่นคน-เที่ยว/วัน และคาดว่ารายได้ที่ลดลงจะกลับมาเท่าเดิมได้ภายใน 2 ปี

รฟม.ได้มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อดำเนินการสายสีม่วงใน 2 ส่วน คือ 1. ค่าใช้จ่ายเพื่อใช้คืนค่างานระบบ และค่าขบวนรถไฟฟ้า ปัจจุบันอยู่ที่ 150 ล้านบาท/เดือน (1,800 ล้านบาท/ปี) ซึ่งตามสัญญาจะใช้คืนเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่เปิดให้บริการ (ปี 2559-2568) 2. ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ประมาณ 208 ล้านบาท/เดือน (2,500 ล้านบาท/ปี)

@สีแดง พร้อมรับผู้โดยสารเพิ่ม โดยต้นทุนเท่าเดิม

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รฟฟท. ผู้ให้บริการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง กล่าวว่า ปัจจุบันสายสีแดงมีผู้โดยสารเฉลี่ย 2.1 หมื่นคน-เที่ยว/วัน โดยเคยทำสถิติสูงสุด (นิวไฮ) ที่ประมาณ 2.8 หมื่นคน-เที่ยว /วัน มีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาทสูงสุด 42 บาท โดยมีรายได้ประมาณ 20 ล้านบาท/เดือน (240 ล้านบาท/ปี)

คาดว่าลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสาย รายได้จะลดลงประมาณ 80 ล้านบาท/ปี ขณะที่ประเมินว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% หรือเพิ่มเป็น 2.5-2.6 หมื่นคน-เที่ยว/วัน ภายใน 1-2 ปี

ในปี 2566 สายสีแดงมีค่าใช้จ่ายรวมเกือบ 1,000 ล้านบาท และปี 2567 รฟท.ตั้งงบประมาณรายจ่ายสำหรับค่าบริหารการเดินรถ ค่าซ่อมบำรุงสายสีแดงประมาณ 1.1 พันล้านบาท ขณะที่ศักยภาพขบวนรถที่มีสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1.2 แสนคน-เที่ยว/วัน ดังนั้น หากจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มอีก ต้นทุนค่าดำเนินการก็จะไม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

นายสุเทพกล่าวว่า หลังจากบริษัทฯ ได้ปรับเวลาเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดงเร็วขึ้นจากเดิมที่เปิดให้บริการในเวลา 05.30 น. เปลี่ยนเป็นเปิดให้บริการในเวลา 05.00 น. ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2566 โดยส่วนหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น และสามารถรองรับผู้ที่เดินทางโดยสายการบินต่างๆ ที่จะเดินทางมาถึงสนามบินดอนเมืองในช่วงเช้ามืด หรือไฟลต์แรก สามารถใช้รถไฟฟ้าเดินทางสู่สนามบินได้สะดวก พบว่าผู้โดยสารสายสีแดงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งประเมินว่าปี 2566 ผู้โดยสารสีแดงจะเติบโตถึง 15% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของผู้โดยสารระบบรางปกติที่จะเติบโตประมาณปีละ 7-8%
กำลังโหลดความคิดเห็น