xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์รัฐเดินหน้าล่าเงินฝาก อัดดอกเบี้ย-เพิ่มรางวัลล่อใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ธนาคารรัฐออกโปรโมชันเงินฝาก ธอส.เงินฝาก 70 ปี ดอกเบี้ยสูงสุด 7.7% ออมสินเพิ่มรางวัลพิเศษสลาก 2 ปีอีก 50 ล้านบาท ดาหน้าเงินฝาก 13 เดือน เงินฝากปันน้ำใจ เพื่อการเกษียณ 9 ปี ดอกเบี้ยจริง 2.99% ส่วน ธ.ก.ส.ต้องรอโปรฯ ใหม่ หลังเพิ่งผ่านดอกเบี้ย 1.85% ด้าน กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้งติด คอเงินฝากแนะอ่านเงื่อนไขให้ดีก่อน 

ท่ามกลางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ตลาดเงินฝากยังถูกจำกัดเฉพาะธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของสลากออมทรัพย์ หรือผลิตภัณฑ์เงินฝากที่เริ่มออกมาเรื่อยๆ

หรืออาจมีพันธบัตรรัฐบาลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะออกมาเสนอขายในบางช่วง ช่วยรองรับผู้ที่ต้องการออมเงินได้บ้าง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งไม่เน้นรับเงินฝากตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด

ดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.5% ในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2563 และคงที่อัตรานี้จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ดอกเบี้ยนโยบายจึงเริ่มจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสหรัฐฯ และปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งหมด 8 ครั้ง จากระดับ 0.5% มาอยู่ที่ 2.5% ตามมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ 27 กันยายน 2566

ดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%


ทั้งนี้ กนง.ได้ให้เหตุผลว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้

อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี 2567 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ

ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนชะลอลงหลังจากที่เร่งไปมากในช่วงวิกฤต แต่ประเมินว่าจะฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ด้านตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ส่วนหนึ่งตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับนักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่อาจมีนัยต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต


เงินฝากแบงก์รัฐ

ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวด้านเงินฝากกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าถ้าคุณจะหาแหล่งออมเงินที่ให้ผลตอบแทนเหนือกว่าตลาดในช่วงที่ผ่านมานั้น ถ้าเลือกเฉพาะที่มั่นคงเงินต้นไม่สูญ คอเงินฝากย่อมทราบดีว่าต้องโฟกัสไปที่ธนาคารของรัฐเท่านั้น ออมสิน ธ.ก.ส. อาคารสงเคราะห์ ที่มีทั้งสลากออมทรัพย์และเงินฝาก อีกหนึ่งช่องทางคือพันธบัตรรัฐบาลที่ออกมาเสนอขายตามช่วงเวลา

เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เอกชนไม่โดดลงมาร่วมวงล่าเงินฝาก หรือถ้าจะมีก็แค่เป็นเงินฝากมากกว่า 10 เดือน และผลตอบแทนไม่สูงนัก ส่วนใหญ่ให้ดอกเบี้ย 1.5% แถมดอกเบี้ยเงินฝากยังถูกหักภาษีอีก 15% ผลตอบแทนจริงจึงเหลือแค่ 1.275%

เงินฝาก 70 ปี ธอส.

เงินฝากที่ยังเปิดรับอยู่ในเวลานี้ คือ เงินฝาก 70 ปี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รับผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดสูงสุดถึง 7.70% ต่อปี เปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 10,000 บาทขึ้นไป ตั้งแต่ 21 กันยายน-31 ตุลาคม 2566 ที่สาขาธนาคารทั่วประเทศ โดยตั้งแต่วันที่เปิดบัญชีถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 0.70% ต่อปี และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน 2568 จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 7.70% ต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าจะได้รับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยรวมสูงถึง 2.43-2.53% ต่อปี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) รับดอกเบี้ยรายเดือนและไม่เสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

สำหรับผู้ที่สนใจบัญชีเงินฝากนี้ต้องรับทราบว่า ระยะเวลาฝากประมาณ 2 ปี ดอกเบี้ยจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงที่เริ่มฝากจนถึง 31 มีนาคม 2568 จะได้ดอกเบี้ย 0.7% ต่อปี ส่วนดอกเบี้ย 7.7% ต่อปีนั้นเริ่มคิดให้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2568-30 กันยายน 2568 คิดง่ายๆ คือ 7.7% ได้แค่ 6 เดือน ดังนั้น ดอกเบี้ยเฉลี่ยจึงออกมาอยู่ระหว่าง 2.43-2.53%


ธ.ก.ส.รอโปรฯใหม่

ส่วนเงินฝาก ธ.ก.ส. เพิ่งออก Step Up 11 เดือนไปช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม 2566 ดอกเบี้ยสูงสุดที่ 7.5% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2566-15 ธันวาคม 2566 ดอกเบี้ย 1.10% ต่อปี ช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2566-15 พฤษภาคม 2567 ดอกเบี้ย 1.25% ต่อปี ช่วงที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2567-16 มิถุนายน 2567 ดอกเบี้ย 7.50% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.75% ต่อปี

ที่จริงก่อนหน้านี้มีสลาก ธ.ก.ส.ทั้ง 3 ปีและ 1 ปี และมีเงินฝาก 10 เดือนดอกเบี้ย 6.2% หรือเงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค Step Up 3 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ยสูงสุด 1.85% จากนี้คงต้องรอโปรโมชั่นใหม่ๆ จากทางธนาคาร

ออมสินจัดหนัก

ส่วนธนาคารออมสินมีผลิตภัณฑ์ออมเงินมากที่สุดในเวลานี้ ล่าสุด ได้เพิ่มเงินรางวัลพิเศษให้สลากออมสินพิเศษ 2 ปี ด้วยการเพิ่มรางวัลพิเศษมูลค่า 50 ล้านบาท 1 รางวัล สำหรับผู้ที่ฝากสลากออมสินพิเศษ 2 ปี แบบใบสลากและดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน-30 พฤศจิกายน 2566 แคมเปญพิเศษนี้จะทำการออกรางวัลในวันที่ 1 ธ.ค.2566 และผู้ฝากยังมีสิทธิลุ้นถูกรางวัลที่ 1 อีก 30 ล้านบาท รวมเป็นเงินรางวัล 80 ล้านบาท ขณะที่ดอกเบี้ยสลากขยับขึ้นมาอยู่ที่ 0.4% ต่อปี พร้อมขยับเงินรางวัลเลขท้าย


13 เดือน 1.75%

สำหรับบัญชีเงินฝากของธนาคารออมสินที่ยังเปิดรับในเวลานี้ ได้แก่ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 13 เดือน ดอกเบี้ยบิ๊กเบิ้มโดนใจ ไม่เสียภาษี อัตราดอกเบี้ย 1.75% ต่อปี (เทียบเท่าเงินฝากประจำ 2.05% ต่อปี) เปิดบัญชีขั้นต่ำ 10,000 บาท โดยต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปี ขึ้นไป นิติบุคคลทุกประเภท ไม่จำกัดวงเงินรับฝากสูงสุด เปิดรับฝากตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2566

เงื่อนไขการถอน ถอนครั้งละเท่าใดก็ได้ ถอนหรือปิดบัญชีก่อนฝากครบ 13 เดือนนับตั้งแต่วันที่ฝาก จำนวนเงินที่ถอนจะได้รับดอกเบี้ยเผื่อเรียก โดยกรณีบุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี ส่วนนิติบุคคลหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามประกาศกรมสรรพากร

เงินฝากปันน้ำใจ

ธนาคารออมสินเปิดตัว “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษปันน้ำใจ” ดอกเบี้ย 1.20% ต่อปี ชวนลูกค้าปันดอกเบี้ยช่วยสังคมผ่าน 4 มูลนิธิ เปิดลงทะเบียนฝากเงินตั้งแต่ 1 สิงหาคม- 31 ตุลาคม 2566 ขั้นต่ำ 10,000 บาท ไม่จำกัดวงเงินฝากสูงสุด ระยะเวลาฝากเงิน 6 เดือน

เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษปันน้ำใจ เปิดรับฝากสำหรับบุคคลธรรมดาอายุ 7 ปีขึ้นไป ผู้ฝาก 1 ราย เปิดได้เพียง 1 บัญชี ขั้นต่ำ 10,000 บาท ไม่จำกัดวงเงินฝากสูงสุด ระยะเวลาฝากเงิน 6 เดือน ให้อัตราดอกเบี้ย 1.20% ต่อปี ผู้ฝากจะได้รับอัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี ไม่หักภาษี ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน และอีก 0.20% ต่อปี ผู้ฝากเลือกบริจาคให้มูลนิธิที่เข้าร่วมโครงการรวม 4 แห่ง (เลือกได้มากกว่า 1 แห่ง) ได้แก่ มูลนิธิบ้านนกขมิ้น มูลนิธิสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร


เพื่อการเกษียณ 9 ปี

ส่วนเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพื่อการเกษียณ 9 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.99% ต่อปี (เทียบเท่าเงินฝากประจำ 3.51% ต่อปี) จ่ายดอกเบี้ยทุกปี โดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากประเภทเผื่อเรียกที่เป็นบัญชีคู่โอน เมื่อฝากครบ 9 ปี ธนาคารจะโอนยอดเงินฝากและดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากประเภทเผื่อเรียกที่เป็นบัญชีคู่โอนที่ผู้ฝากแจ้งไว้

เงื่อนไขเงินฝาก ผู้ฝากจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่มีชื่อ-สกุล ตรงกับผู้ลงทะเบียนจองสิทธิสำเร็จ และมีหลักฐานการบันทึกภาพหน้าจอการลงทะเบียนฝากเงิน “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพื่อการเกษียณ 9 ปี” สำเร็จจากธนาคารเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ฝากเปิดบัญชีได้คนละ 1 บัญชีเท่านั้น ไม่รับฝากบัญชีเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์ บัญชีร่วม บัญชีคณะบุคคล และบัญชีนิติบุคคล ต้องมีบัญชีเงินฝากประเภทเผื่อเรียกเป็นบัญชีคู่โอน ฝากเงินได้ครั้งเดียวไม่เกินวันที่ 31 ตุลาคม 2566 โดยฝากขั้นต่ำ 100,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท

ศึกษาเงื่อนไขแต่ละบัญชี

แหล่งข่าวแนะนำวิธีเลือกบัญชีเงินฝากว่า สำคัญที่สุดคือดูเงื่อนไขให้ละเอียดก่อนเลือกบัญชี อย่างเงินฝากเพื่อการเกษียณ 9 ปีของออมสิน จะต้องลงทะเบียนจองสิทธิฝากก่อน ล่าสุดเพิ่มเต็มวงเงินไปเมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน 2566 ถือว่าดอกเบี้ยค่อนข้างดีคือ 2.99% แต่ตัวนี้ยอดจองเต็มช้าเพราะต้องฝากยาวถึง 9 ปี ผู้ฝากจะต้องรับเงื่อนไขฝากยาวๆ ให้ได้ แถมฝากได้ก้อนเดียวขั้นต่ำ 1 แสน ไม่เกิน 1 ล้าน ถ้าถอนก่อนกำหนดดอกเบี้ยจะถูกปรับมาเหลือแค่เผื่อเรียกเท่านั้น

ส่วนเงินฝากปันน้ำใจ 1.2% เป็นเงินฝากสั้นๆ แค่ 6 เดือน ผู้ฝากรับ 1% อีก 0.2% มอบให้มูลนิธิที่ท่านเลือก เหมาะกับคนที่ชอบบริจาค สำหรับเงินฝาก 13 เดือนของออมสิน ดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.75% ไม่ต่างไปจากเงินฝาก ธ.ก.ส. Step Up 11 เดือน

ถ้าดูดีๆ จะพบว่า ค่ายออมสินมักจะเขียนดอกเบี้ยไว้ 2 อัตรา เช่น ดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.99% ต่อปี (เทียบเท่าเงินฝากประจำ 3.51% ต่อปี) ตัวเลขในวงเล็บจะเป็นตัวเลขที่ยังไม่หักภาษี 15% เป็นการสร้างจุดขายว่า 2.99% นั้นรับเต็ม เนื่องจากเป็นเงินฝากไม่เสียภาษี

บางบัญชีของออมสินต้องลงทะเบียนจองสิทธิก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นบัญชีที่ได้รับดอกเบี้ยค่อนข้างดี บางโปรฯ ก็เต็มเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที

ติดตามข่าวสาร

เงื่อนไขที่ต้องดูอีกคือถ้าถอนก่อนกำหนดจะเสียสิทธิอะไรบ้าง เพราะบางบัญชีก็เปิดโอกาสให้ถอนได้

ส่วนค่าย ธ.ก.ส.บางบัญชีมักจะเป็นการให้สิทธิลูกค้าเก่าของ ธ.ก.ส.ก่อน หลังจากนั้นจึงจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าทั่วไปได้เข้าไปใช้บริการ ตรงนี้ต้องอ่านรายละเอียดและสอบถามให้ดีก่อน

จุดเด่นของธนาคารรัฐคือสามารถออกสลากออมทรัพย์ได้ ทำให้ต้นทุนในการระดมเงินต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์เอกชน แถมการใช้กลยุทธ์ออกเงินฝากไม่เสียภาษีทั้ง 3 ค่ายจึงดึงดูดผู้ที่มีเงินออมได้เป็นอย่างดี

ส่วนผู้ที่นิยมออกผ่านพันธบัตร คงต้องรอประกาศจากทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่าพันธบัตรรอบใหม่จะเสนอขายวันใด เพราะบางรุ่นอาจไม่เป็นที่สนใจ เช่น ดอกเบี้ยน้อย ถือยาว ส่วนรุ่นที่คนสนใจอย่างดอกเบี้ยดี ถือไม่นาน ก็มีระบบการจัดสรรที่เป็นธรรมมากขึ้น Small lot first

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH

กำลังโหลดความคิดเห็น