xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ลงตรวจถนนสุขุมวิททรุดตัว อึ้ง! รถบรรทุกน้ำหนักเกินถึง 45 ตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ซอยสุขุมวิท 64/1 ตรวจสอบกรณีผิวจราจรทรุดตัว

(8 พ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่บริเวณซอยสุขุมวิท 64/1 เขตพระโขนง ตรวจสอบกรณีถนนบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินทรุดตัวขณะรถบรรทุกวิ่งผ่าน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยในการลงพื้นที่ว่า ผิวจราจรที่มีการทรุดตัว ณ จุดนี้ บริเวณซอยสุขุมวิท 64/1 เป็นบ่อที่เป็นโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ซึ่งเวลากลางวันจะปิด จะเปิดเพื่อทำงานในเวลา 4 ทุ่ม - ตี 5 โดยฝาปิดจะเป็นแผ่นคอนกรีตหล่อวางปิดเป็นพื้นถนน ซึ่งจะเป็นคนละรูปแบบกับที่เกิดเหตุที่มักกะสัน สำหรับสาเหตุการถล่มในครั้งนี้ ยังไม่มีข้อสรุป แต่มีความเป็นไปได้หลัก 2 กรณี คือ รถบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด และการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน โดยในเบื้องต้นจากการคำนวณพบว่ารถบรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกน้ำหนักถึง 45 ตัน แต่ยังต้องหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้มีเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุกซึ่งต่อไปอาจจะต้องมีเพิ่มเติมแต่ตอนนี้ต้องขอจากกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทมาช่วยในการสนับสนุน สำหรับการเข้ามาวิ่งในกทม.ของรถบรรทุก ทุกคันมีที่มาที่ไป เช่นคันที่เกิดเหตุตรงนี้มาจากไซต์ก่อสร้างที่มีการขุดดินออก และขนดินออกไปถมที่พุทธมณฑล ในเรื่องการตรวจสอบ กทม.ไม่ต้องการตั้งด่านบนถนนเพราะจะทำให้เกิดรถติดมาก จึงเน้นการตรวจที่ต้นทาง เช่น แพลนท์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ที่สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนน้อยกว่า และตอนนี้ได้กำหนดเงื่อนไขการก่อสร้างไปแล้วว่า หากไซต์ไหนที่ใช้รถก่อสร้างควันดำ บรรทุกเกิน ให้หยุดการก่อสร้างทันที ถือเป็นการป้องกันได้ส่วนหนึ่ง

รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวเสริมว่า สำหรับการดำเนินการเร่งคืนผิวการจราจรจะมีการทยอยแบ่งดินจากรถบรรทุกที่ประสบอุบัติเหตุไปยังรถบรรทุกคันอื่นรวมถึงชั่งน้ำหนัก เพื่อตรวจสอบสาเหตุให้แน่ชัด และหลังจากที่นำรถบรรทุกขึ้นแล้วเสร็จจะมีการปรับปรุงปากบ่อท่อร้อยสายไฟฟ้าและใส่คานรับน้ำหนัก 2 คานจากเดิม 1 คานเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่สัญจรผ่านมั่นใจในความปลอดภัย

หากสามารถคาดการณ์เวลาที่จะสามารถเปิดการสัญจรได้ จะมีการประชาสัมพันธ์จากทางกรุงเทพมหานครอรกครั้งหนึ่ง

“ทั้งนี้ ในส่วนของหลุมอื่น ๆ 700 กว่าหลุมที่มีการนำสายไฟฟ้าลงดิน กทม. ต้องขอความร่วมมือให้การไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะไม่ใช่งานของกทม. สำหรับการนำสายไฟฟ้าลงดิน เป็นโครงการที่ทำเพื่อเมืองที่สวยงาม เพื่อความเจริญของเมือง ไม่ได้อยู่ดี ๆ มาขุดเล่น โดยเฉพาะสายไฟฟ้าแรงสูงที่หากนำลงดินต้องลงไปลึกมาก อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ต้องขอความร่วมมือจากหลายหน่วยงานช่วยกันดูแล เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องชาวกทม.” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว




















กำลังโหลดความคิดเห็น