xs
xsm
sm
md
lg

ลาวทำลายสารตั้งต้นยาบ้า 93 ตัน ตร.หลวงน้ำทาจับได้ก่อนข้ามโขงเข้า "รัฐชาน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ส่วนหนึ่งของสารตั้งต้นที่ตำรวจลาวจับได้ และถูกทำลายไปแล้ว เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566
MGR Online - เจ้าหน้าที่ลาวทำลายสารโซเดียมไซยาไนด์กับกรดเกลือ สารตั้งต้นสำหรับผลิตยาบ้า น้ำหนักรวม 93 ตัน ที่ถูกตำรวจหลวงน้ำทาจับกุมไว้ได้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะกำลังเตรียมส่งข้ามแม่น้ำโขงเข้าไปในรัฐชาน

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจตราและติดตามการทำลายสารเคมี ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบกระบวนการทำลายสารตั้งต้นสำหรับผลิตยาเสพติด น้ำหนักรวม 93 ตัน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ป้องกันความสงบ (ตำรวจ) แขวงหลวงน้ำทา จับกุมและยึดไว้ได้ตั้งแต่เมื่อเกือบ 1 ปีที่แล้ว

พ.อ.วงเพ็ด แสนวงสา รองหัวหน้าสำนักงานตรวจตราและควบคุมยาเสพติด กรมใหญ่ตำรวจ รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 กองบัญชาการป้องกันความสงบ แขวงหลวงน้ำทา ได้ตรวจจับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน นว.7778 กำแพงนะคอน บรรทุกสารโซเดียมไซยาไนด์ 600 ถัง น้ำหนักรวม 30 ตันได้ ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2566 เจ้าหน้าที่ยังสามารถจับกุมรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน บก.2615 บ่อแก้ว บรรทุกกรดไฮโดรคลอริก หรือกรดเกลือ 27 ถัง น้ำหนักรวม 32 ตัน และจับกุมรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน บก.2986 บ่อแก้ว บรรทุกกรดไฮโดรคลอริก 26 ถัง น้ำหนักรวม 31 ตัน กับอีก 10 กิโลกรัมได้อีก 2 คัน จึงได้ควบคุมตัวคนขับรถทั้ง 3 คัน ไปดำเนินคดี


จากการสืบสวนสอบสวนของกองบัญชาการป้องกันความสงบ แขวงหลวงน้ำทา พบว่า สารตั้งต้นที่ถูกจับได้ทั้งหมดเป็นของบริษัทเคมีภัณฑ์ลาว ขาเข้า-ขาออก จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้นำเข้าสารเคมีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อขายต่อให้บริษัทที่มาลงทุนทำเหมืองแร่อยู่ใน สปป.ลาว แต่ต่อมา บริษัทเคมีภัณฑ์ลาว ได้ขายสารโซเดียมไซยาไนด์ต่อให้นายเซียงจุน เพื่อจะส่งข้ามแม่น้ำโขงเข้าไปในรัฐชาน และขายกรดไฮโดรคลอริกต่อให้บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีเอกสารรับรองการเคลื่อนย้ายสารเคมีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา

ทั้งสารโซเดียมไซยาไนด์ และกรดไฮโดรคลอริก ล้วนเป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตยาเสพติด โดยมีสถิติว่าสารโซเดียมไซยาไนด์ 1 กิโลกรัม สามารถใช้ผลิตเป็นยาบ้าได้ถึง 22,000 เม็ด ส่วนกรดไฮโดรคลอริก 30 ตัน สามารถใช้ผลิตเป็นยาบ้าได้มากถึง 3,960 ล้านเม็ด หรือผลิตเป็นยาไอซ์ได้ถึง 79 ตัน

คณะกรรมการตรวจตราและติดตามการทำลายสารเคมี ประกอบด้วยตัวแทนจาก 10 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตรวจตราและควบคุมยาเสพติด กรมตำรวจสกัดกั้นและต้านยาเสพติด สำนักงานกรมใหญ่ตำรวจ กองบัญชาการป้องกันความสงบ กรมอุตสาหกรรมและหัตถกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กรมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมบ่อแร่ กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กรมภาษี กระทรวงการเงิน กรมสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานีกำจัดสิ่งตกค้าง EMAC คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และบริษัทสะหวัน EMC.




กำลังโหลดความคิดเห็น