xs
xsm
sm
md
lg

รีเซ็ต ‘ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน’ กันใหม่จาก ‘ซัมมิตไบเดน-สี’ ที่ซานฟรานซิสโก?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ของสหรัฐฯ จัดการประชุมซัมมิตกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่คฤหาสน์และอุทยานทางประวัติศาสตร์ในเขตเมืองวู้ดไซด์ นอกนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ ในวันพุธ (15 พ.ย.) ที่ผ่านมา
No serious effort to reset US-China relations at San Francisco summit
BY M. K. BHADRAKUMAR
18/11/2023

ถ้าหากปักกิ่งวาดหวังที่จะหวนกลับไปสู่ “จิตวิญญาณแห่งบาหลี” วอชิงตันก็ไม่ได้แม้กระทั่งยอมรับว่าได้เคยมีสิ่งที่ว่านี้ สหรัฐฯ ดูเหมือนไม่ได้มีความทรงจำใดๆ ทั้งสิ้นว่าไบเดนได้เคยให้คำมั่นสัญญาใดๆ เกี่ยวกับ “5 ไม่” บันทึกย่อรายงานการประชุมที่ซานฟรานซิสโกของฝ่ายทำเนียบขาวก็ไม่ได้มีการอ้างอิงถึงคำมั่นสัญญาเหล่านี้เช่นเดียวกัน เห็นได้ชัดเจนว่ามีช่องว่างอย่างมีสาระสำคัญทีเดียวในความรับรู้ความเข้าใจทางยุทธศาสตร์และในความเข้าอกเข้าใจที่มีอยู่ร่วมกัน และมีเหตุผลสมควรทีเดียวที่จะตั้งข้อสงสัยว่า ได้มีการเจรจากันอย่างแท้จริงใดๆ เกิดขึ้นหรือในระหว่าง 4 ชั่วโมงของการสนทนากัน

สัญญาณที่ส่งออกมาจากการประชุมซัมมิตระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อวันพุธ (15 พ.ย.) ที่ผ่านมา ก็คือ ปีแห่งอุปสรรคและความยากลำบากในความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทางบรรยากาศแล้ว อย่างไรก็ดี ระหว่างสองฝ่ายยังคงมีความผิดแผกแตกต่างกันอย่างสาหัสร้ายแรงกันอยู่ ตลอดจนยังมีความท้าทายของการต้องนำร่องเดินทางผ่าน 2 การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีเดิมพันสูงในปี 2024 --ในไต้หวันเดือนมกราคมนี้ และในสหรัฐฯ ตอนต้นเดือนพฤศจิกายน

ทั้งวอชิงตันและปักกิ่งต่างให้ภาพของซัมมิตครั้งนี้ในทางบวก และกระตือรือร้นที่จะแสดงให้เห็นว่ามันเป็นความเคลื่อนไหวทางการทูตที่ประสบความสำเร็จ สำหรับไบเดนแล้ว มีความจำเป็นอันเร่งด่วนเหลือเกินที่จะต้องโอ่อวดคุยฟุ้งเกี่ยวกับความสำเร็จทางด้านนโยบายการต่างประเทศ ในขณะที่สงครามตัวแทนในยูเครนกำลังประสบความพ่ายแพ้ในทางปฏิบัติ และยังต้องรับมือกับสงครามใหญ่อีกศึกหนึ่งที่เพิ่งปะทุแผ่ลามอยู่ในตะวันออกกลาง สงครามนั้นถึงอย่างไรมันก็คือเครื่องบ่งชี้อย่างโต้งๆ ถึงความล้มเหลวในทางการทูต

ภายหลังการประชุมซัมมิตกับสีครั้งนี้ ไบเดนเร่งโฆษณาป่าวร้องว่า นี่เป็น “ส่วนหนึ่งของการเจรจาหารือกันอย่างสร้างสรรค์ที่สุดและบังเกิดผลที่สุดเท่าที่พวกเราได้เคยหารือกันมา... เราได้สร้างความก้าวหน้าที่สำคัญบางอย่าง ผมเชื่อว่าอย่างนั้น ...และในระยะหลายๆ เดือนข้างหน้า เราก็จะสงวนรักษาและดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตระดับสูงกับ สปจ. (สาธารณรัฐประชาชนจีน) อย่างต่อเนื่องในทั้งสองทิศทาง เพื่อให้สายการติดต่อสื่อสารยังคงเปิดกว้างเอาไว้ รวมทั้งระหว่างท่านประธานาธิบดีสีกับผมด้วย เขากับผมตกลงกันว่าพวกเราฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาติดต่อกันโดยตรงเลย แล้วเราก็จะได้ยินกันและกันในทันที” ไบเดนจบการประชุมแถลงข่าวของเขาด้วยการเรียก สี ว่าเป็นผู้เผด็จการรายหนึ่ง กระนั้นก็ยังตั้งข้อสังเกตแถมท้ายว่า “ถึงยังไง พวกเราก็ได้สร้างความก้าวหน้าขึ้นมา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2023/11/16/remarks-by-president-biden-in-a-press-conference-woodside-ca/)

สำหรับบันทึกย่อรายงานการประชุมของทางฝ่ายจีน ก็จบลงด้วยข้อความสรุปที่ใช้ถ้อยคำซึ่งพิเศษผิดธรรมดา ดังนี้: “การหารือครั้งนี้เป็นไปในทางบวก ครอบคลุมรอบด้าน และสร้างสรรค์ มันเป็นการจัดวางเส้นทางสำหรับการปรับปรุงและการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และซานฟรานซิสโกควรที่จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับการทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะมีเสถียรภาพ พวกเขา [สีและไบเดน] ชี้แนะทีมงานของพวกเขาให้สร้างเสริมต่อเติมจากความเข้าใจต่างๆ ที่ได้เห็นชอบกันไว้ใน (การประชุมซัมมิตครั้งก่อนที่) บาหลี และให้ติดตามผลอย่างทันการณ์รวมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ใหม่ซึ่งตกลงกันที่ซานฟรานซิสโกนี้ ประมุขแห่งรัฐทั้งสองยังเห็นพ้องกันที่จะดำเนินการติดต่อกันอย่างเป็นประจำของพวกเขาต่อไป”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202311/t20231116_11181442.html)

บันทึกย่อรายงานการประชุมของทางฝ่ายจีน ให้ความสำคัญกับเรื่องที่ไบเดน “ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น” แก่สี ทั้งด้วยการเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา และ “ด้วยการตามไปส่งเขาถึงรถยนต์ของเขาเพื่อกล่าวอำลากัน” และบอกว่าประธานาธิบดีทั้งสองมี “การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างลงลึกและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับทัศนะในประเด็นปัญหาทางยุทธศาสตร์และครอบคลุมเหนือเรื่องอื่นๆ ซึ่งทรงความสำคัญยิ่งยวดต่อทิศทางของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และต่อประเด็นปัญหาใหญ่ๆ ที่กำลังส่งผลกระทบกระเทือนสันติภาพและการพัฒนาของโลก”

ทางด้านบันทึกย่อรายงานการประชุมของฝ่ายทำเนียบขาว พูดเอาว่า “ผู้นำทั้งสองได้มีการเจรจาหารือกันอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ในประเด็นปัญหาระดับทวิภาคีและระดับโลกอย่างหลากหลาย รวมทั้งเรื่องต่างๆ ที่มีศักยภาพจะร่วมมือกัน ตลอดจนแสดงทัศนะแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่มีความผิดแผกแตกต่างกัน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2023/11/15/readout-of-president-joe-bidens-meeting-with-president-xi-jinping-of-the-peoples-republic-of-china-2/)

ถึงแม้ยังคงมากไปเกินที่จะไปคาดหวังว่าจะสามารถผ่าทางตันในความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายกันได้ แต่การพบปะอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 4 ชั่วโมงคราวนี้ก็ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างออกมา --ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะทำงานร่วมกันเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของยาเสพติด รื้อฟื้นการติดต่อสื่อสารระหว่างทหารกับทหารขึ้นมาใหม่ ร่วมมือประสานงานกันในเรื่องความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ และขยายการแลกเปลี่ยนต่างๆ ทางด้านการศึกษา ธุรกิจ และวัฒนธรรม รวมทั้งเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างสองประเทศ อย่างที่พูดกันนั่นแหละ ได้อะไรมาบางอย่างบางเรื่องก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ทั้งนี้ไม่ได้มีการออกคำแถลงร่วมใดๆ ภายหลังการประชุมซัมมิต

นอกจากนั้นแล้ว มีปัญหาใหญ่โตที่แก้ไขกันไม่ได้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่ว่าฝ่ายไหนต่างไม่กล้าหยิบยกขึ้นมาพูดจากันอย่างเปิดเผย –นั่นคือ การที่จีนได้เริ่มนำเอาพันธบัตรคลังสหรัฐฯ ที่ถือครองเอาไว้อย่างมหาศาลออกมาขาย ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการเทขายของจีนไม่ว่าต่อตลาดการเงิน ฐานะการเงินของวอชิงตัน และเศรษฐกิจโดยรวม เป็นเรื่องที่มีการพูดกันมานานและไม่จำเป็นต้องอธิบายกันแล้ว ระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ คือผู้บริโภครายใหญ่รายหนึ่ง แต่เนื่องจากชาวอเมริกันกำลังประสบภาวะการขาดดุลทางการค้า พวกเขาจึงใช้วิธีการกู้ยืมเพื่อสนับสนุนการซื้อหาสินค้านำเข้าจากจีนต่อไป และปักกิ่งก็เดินหน้าในการปล่อยเงินกู้ดังกล่าวแบบอ้อมๆ ด้วยวิธีการเข้าไปซื้อพันธบัตรคลังสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี แบบแผนในเรื่องนี้กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง
(เรื่องจีนเทขายพันธบัตรคลังสหรัฐฯ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3235083/china-keeps-slashing-us-treasury-holdings-will-it-reverse-course-rate-hike-cycle-nears-end)

อย่างที่ปรากฏออกมาให้เห็นกัน ความต้องการซื้อพันธบัตรคลังสหรัฐฯ นั้นไม่ได้สูงอะไรเลย ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์อะไรวัดก็ตามที –อันที่จริงแล้ว หนึ่งในผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างกระตือรือร้นที่สุดก็คือธนาคารกลางสหรัฐฯ เรื่องนี้ถูกเปรียบเทียบว่าเหมือนกับคุณเป็นเจ้าของร้านเบเกอรีแห่งหนึ่ง และซื้อขนมปังที่ขายไม่หมดเกือบทั้งหมดเอาไว้เองในตอนสิ้นวันของทุกๆ วัน เพื่อไม่ให้เกิดความคิดเห็นในทางลบเกี่ยวกับยอดขายของคุณ ข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน ปรากฏตัวอยู่แถวหน้าและตรงกลางของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน คือเครื่องบ่งชี้ประการหนึ่งของเรื่องนี้

ในการประชุมซัมมิตซานฟรานซิสโก ทั้งสองฝ่ายไม่มีฝ่ายไหนเลยที่ยินยอมอ่อนข้อไม่ว่าเรื่องใดทั้งสิ้น สียืนกรานว่าไม่ว่าสหรัฐฯ จะทำยังไงก็แล้วแต่ การนำเอาไต้หวันมารวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ก็ยังคงเป็น “สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” สี เสนอ “การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่เคยนำมาใช้กันในความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับอเมริกา ที่หมายถึงต่างฝ่ายต่างเลือกวิถีดำเนินชีวิตของตนเอง ทว่าไบเดนยืนยันว่า “สหรัฐฯ กับจีนกำลังแข่งขันกันอยู่” และสหรัฐฯ “จะยืนหยัดเรื่อยไปเพื่อผลประโยชน์ของตน ค่านิยมของตน และพันธมิตรตลอดจนหุ้นส่วนของตน”

ถ้าหากปักกิ่งวาดหวังที่จะหวนกลับไปสู่ “จิตวิญญาณแห่งบาหลี” (Bali spirit) วอชิงตันก็ไม่ได้แม้กระทั่งยอมรับว่าได้เคยมีสิ่งที่ว่านี้ สหรัฐฯ ดูเหมือนไม่ได้มีความทรงจำใดๆ ทั้งสิ้นว่าไบเดนได้เคยให้คำมั่นสัญญาใดๆ เกี่ยวกับ “5 ไม่” ("five noes") ดังกล่าว บันทึกย่อรายงานการประชุมที่ซานฟรานซิสโกของฝ่ายทำเนียบขาวก็ไม่ได้มีการอ้างอิงถึงคำมั่นสัญญาเหล่านี้เช่นเดียวกัน เห็นได้ชัดเจนว่ามีช่องว่างอย่างมีสาระสำคัญทีเดียวในความรับรู้ความเข้าใจทางยุทธศาสตร์และในความเข้าอกเข้าใจที่มีอยู่ร่วมกัน และมีเหตุผลสมควรทีเดียวที่จะตั้งข้อสงสัยว่า ได้มีการเจรจากันอย่างแท้จริงใดๆ เกิดขึ้นหรือในระหว่าง 4 ชั่วโมงของการสนทนากัน
(“5 ไม่” ที่ฝ่ายจีนอ้างอิงว่าไบเดนได้ให้คำมั่นสัญญาไว้และได้กล่าวย้ำเอาไว้หลายครั้ง โดยปักกิ่งถือว่าเป็นเนื้อหาสาระของ “จิตวิญญาณแห่งบาหลี” ได้แก่ สหรัฐฯ จะไม่แสวงหาสงครามเย็นครั้งใหม่ ไม่หาทางเปลี่ยนแปลงระบบของจีน การรื้อฟื้นชุบชีวิตกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ของสหรัฐฯ ขึ้นมาใหม่ไม่ใช่เพื่อต่อต้านจีน ไม่สนับสนุน “ความเป็นเอกราชของไต้หวัน” และไม่มองหาทางสร้างความขัดแย้งกับจีน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/eng/zxxx_662805/202211/t20221115_10975747.html -ผู้แปล)

จากการศึกษารายละเอียดในบันทึกย่อรายงานการประชุมของทั้งสองฝ่าย –รวมทั้งรายงานข่าวของสื่อต่างๆ ในเวลาต่อมา –ให้ภาพประทับใจว่าโดยพื้นฐานแล้ว ไบเดนเหมือนกำลังยืนหาเสียงเรียกคะแนนนิยมอยู่ต่อหน้าท่านผู้ชมท่านผู้ฟังทางการเมืองภายในประเทศของเขา ขณะที่ สี พูดโดยที่สายตาจับจ้องไปยังท่านผู้ชมท่านผู้ฟังระดับโลก

ไบเดน มุ่งสาธิตถึงความพรักพร้อมของเขาที่จะยืนยันแข็งกร้าวเอากับจีน และหลีกเลี่ยงการยินยอมอ่อนข้อสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระใดๆ หรือการยินยอมอ่อนข้อแบบฝ่ายเดียวใดๆ นอกจากนั้นก็ต้องการแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์อันกว้างขวางของเขาในด้านการทูตระหว่างประเทศที่สามารถรับใช้ผลประโยชน์ต่างๆ ของอเมริกาได้อย่างสูงสุดในวันนี้ ตลอดจนปรารถนาที่จะโอ่อวดให้เห็นระดับความกระฉับกระเฉงของความคิดอ่านและสมาธิความสนใจของเขาในการยืนหยัดแบกรับความหนักหน่วงร้ายกาจของการทูตแบบส่วนบุคคลได้ จนกระทั่งไม่ต้องมาสงสัยข้องใจอะไรกันเลยแม้ว่าเขาจะอยู่ในวัย 80 ปีแล้วก็ตามที

สำหรับสีนั้น ไม่ได้มีข้อที่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับตัวเองในลักษณะเช่นนี้แต่อย่างใด เขาบินขึ้นสูง แบบเดียวกับบทกวีนกสกายลาร์กของเชลลีย์ (Shelley’s skylark) เสียงของสี เป็นเสียงแห่งเหตุผลและความร่วมมือกัน ซึ่งตัดแย้งตรงกันข้ามอย่างแรงกับวิธีการมุ่งประจันหน้าของไบเดน สีโน้มน้าวชักชวนให้วอชิงตันกับปักกิ่งต้อง “จับมือกันเพื่อเผชิญความท้าทายต่างๆ ของโลกและส่งเสริมสนับสนุนความมั่นคงและความเจริญมั่งคั่งของทั่วโลก” แทนที่จะ “ยึดติดแน่นอยู่กับความคิดจิตใจแบบใครชนะรวบเดิมพันหมดคนเดียว (zero-sum mentality)” และด้วยเหตุนั้นจึงกำลัง “ผลักไสโลกให้ไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายและความแตกแยก”

จากซัมมิตครั้งนี้ทำให้เรื่องเล่าของฝ่ายตะวันตกอยู่ในอาการสับสนอลหม่านทีเดียว เนื่องจากสีไม่ได้ดูเหมือนอยู่ในฐานะที่อ่อนแอทั้งทางการเมืองและทางการทูตขณะประเทศจีนก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่กับปัญหาทางเศรษฐกิจนานา อีกสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือว่ามันไม่ใช่อย่างที่ฝ่ายตะวันตกพร่ำสาธยายเลยว่า สี ตกอยู่ในฐานะลำบากมากและต้องการการประชุมซัมมิตที่ “ประสบความสำเร็จ” ยิ่งกว่าที่ไบเดนปรารถนาเสียอีก ตรงกันข้าม ซัมมิตซานฟรานซิสโกกำลังส่งข้อความอันก้องกังวานว่าประเทศจีนได้มาถึงจุดที่กลายเป็นมหาอำนาจระดับโลกรายหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ซัมมิตคราวนี้ดูเหมือนไม่ใช่เป็นการใช้ความพยายามอย่างจริงจังเพื่อรีเซ็ตความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองกันเสียใหม่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่อยู่ในระดับเป็นตายตลอดจนความกังวลสนใจที่อยู่ในระดับแกนกลางของแต่ละฝ่าย กระนั้นมันก็ยังคงเป็นเรื่องดีที่มีการเปิดการเชื่อมติดต่อสื่อสารกันขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการบริหารจัดการความสัมพันธ์นี้ และสำหรับการสร้าง “ราวกันตก” เอาไว้รอบๆ ตลอดจนการสร้าง “พื้น” รองรับเอาไว้ข้างใต้ความสัมพันธ์นี้

ในอีกด้านหนึ่ง ปรากฏความหวังแม้จะเพียงลางๆ ขึ้นมาว่า ในประเด็นปัญหาซึ่งมีศักยภาพที่จะระเบิดตูมตามขึ้นมาได้อย่างรุนแรงที่สุด –นั่นคือเรื่องไต้หวัน- สภาวการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้เจตนา อาจส่งผลทำให้น่านน้ำที่เต็มไปด้วยคลื่นลมกลับสงบราบเรียบขึ้นมาได้ ทั้งนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเลือกตั้งในไต้หวันจะต้องแสดงบทบาทสำคัญยิ่งในความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน เนื่องจากถ้าหากพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลักทั้ง 2 พรรค อันได้แก่พรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang หรือ KMT) และพรรคประชาชนไต้หวัน (Taiwan People’s Party หรือ TPP) ที่เพิ่งประกาศการตัดสินใจในที่สุดว่าจะจับมือกัน สามารถส่งผู้สมัครร่วมของ 2 พรรคลงแข่งขันในการเลือกตั้งวันที่ 13 มกราคม 2024 นี่ย่อมจะเป็นตัวเก็งที่น่าเกรงขามซึ่งสามารถนำไปสู่ชัยชนะอย่างไม่ยากเย็น

แน่นอนทีเดียวว่า สถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญยิ่งต่อพลวัตอันละเอียดอ่อนของปัญหาไต้หวัน เมื่อพิจารณาถึงความตั้งใจอย่างชัดเจนของพรรค KMT และพรรค TPP ที่จะร่วมกันปรับปรุงยกระดับการสนทนาข้ามช่องแคบ (ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่) ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเสนอลู่ทางโอกาสบางอย่างบางประการอันสมควรแก่การต้อนรับสำหรับสายสัมพันธ์ 3 เส้า วอชิงตัน-ปักกิ่ง-ไทเป นี้

คำถามใหญ่ที่ยังเหลืออยู่ก็คือว่า ไบเดนสามารถประสบความสำเร็จหรือไม่ในการย้ำยืนยันว่า ถึงแม้เผชิญความปราชัยในสงครามยูเครน โดยที่สงครามรบกันตลอดกาลก็กำลังเพิ่งเริ่มต้นขึ้นมาอีกในตะวันออกกลาง สหรัฐฯก็ยังคงอยู่ใน “ฐานะที่มีความแข็งแกร่ง” ในการดำเนินความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับจีน หรือถ้าหากลองจัดมุมมองกันเสียใหม่ โดยมาตั้งคำถามกันในอีกแง่มุมหนึ่งว่า จีนให้ความสนใจไยดีหรือไม่เกี่ยวกับคำออดอ้อนของสหรัฐฯ ที่ร้องขอให้ถอยหลังออกมาจากความสัมพันธ์ที่พวกเขามีอยู่กับรัสเซียและอิหร่าน? แน่นอนทีเดียว เครื่องบ่งชี้ต่างๆ ล้วนส่อไปในทิศทางตรงกันข้าม

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ https://www.indianpunchline.com/no-serious-effort-to-reset-us-china-relations-at-san-francisco-summit/
กำลังโหลดความคิดเห็น