xs
xsm
sm
md
lg

สลด! คนจำนวนมากแย่งกันเกณฑ์ทหารในคองโก เหยียบกันชุลมุนตายอย่างน้อย 31 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เหตุสุดสลด ผู้คนเบียดเสียดแย่งกันเข้าประตูของสนามกีฬาแห่งหนึ่งที่ใช้เป็นสถานที่เกณฑ์ทหาร จนเกิดการเหยียบกันตายอย่างน้อย 31 ราย ในกรุงบราซาวิลล์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐคองโก จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่เมื่อวันอังคาร (21 พ.ย.)

อัยการรายหนึ่งระบุว่า ได้เปิดการสืบสวนโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ในเหตุการณ์ที่คนหนุ่มหลายพันไหลบ่ากันไปยังสนามกีฬามิเชล ดี ออร์นาโน ในค่ำคืนในจันทร์ (20 พ.ย.) ในความหวังว่าจะได้มีงานทำ หลังจากรัฐบาลประกาศรับสมัครคนอายุ 18 - 25 ปี เพื่อคัดเลือกเป็นทหาร 1,500 ตำแหน่ง 

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงกล่าวว่า เหตุเสียชีวิต เกิดขึ้นหลังจากผู้คนพยายามผลักดันกันผ่านเข้าประตู บางส่วนพยายามผลักให้ประตูเปิดออก ส่วนคนอื่นๆ พยายามกระโดดข้ามกำแพงเข้าไปภายในสนามกีฬา

รัฐบาลปรับลดยอดผู้เสียชีวิตจาก 37 ลงเหลือ 31 ราย แต่เจ้าหน้าที่ยอมรับว่าในบรรดาผู้ได้รับบาดเจ็บ 145 คนนั้น จำนวนมากมีอาการสาหัส

ชายวัย 24 ปี ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม เล่ากับเอเอฟพีว่า ผู้คนพยายามผลักดันกันเพื่อผ่านประตูเข้าไปภายใน จนเกิดการเหยียบกันตาย "มีหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บเลวร้ายมากกว่าผมอีก" ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งเผย หลังได้รับบาดเจ็บข้อเท้าเคล็ด

ส่วนผู้รอดชีวิตอีกคน ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามเช่นกันบอกว่า "มีแถวผู้คนอยู่ด้านหน้าผม จากนั้นมีคนล้มลง ผมล้มทับพวกเขา และเพื่อนคนอื่นๆ ก็ล้มทับเรา" พร้อมเผยว่าตนเองได้หมดสติไป และมารู้สึกตัวอีกทีตอนที่อยู่ในรถฉุกเฉินแล้ว

คลิปวิดีโอที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพของร่างไร้วิญญาณหลายสิบชีวิตอยู่ในห้องเก็บศพของเมือง ขณะที่อีกคลิปเป็นภาพผู้ได้รับบาดเจ็บ กำลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงบราซาวีล

กองทัพเผยแพร่ถ้อยแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ว่า การเกณฑ์ทหารจะถูกระงับไปอย่างไม่มีกำหนด

เทรซอร์ เอ็นซิลา หัวหน้ากลุ่มเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนท้องถิ่น เรียกร้องให้เปิดการสืบสวนรอบด้าน และเรียกร้องให้รัฐบาลคองโกต้องรับผิดชอบต่อการที่ไม่ยอมประเมินความเสี่ยงต่างๆ ในการเกณฑ์ทหาร

"รัฐบาลคองโกไม่มีความสามารถในการสร้างงานด้านอื่นๆ" เขากล่าว "ดังนั้นการเป็นทหารและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง จึงเป็นตำแหน่งงานหลักๆ ที่เหลืออยู่"

สาธารณรัฐคองโก ซึ่งแยกตัวออกจากมาสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ชาติเพื่อนบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่า เป็นประเทศยากจนที่มีประชากรราว 5 ล้านคน แม้จะอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็ตาม

จากข้อมูลของธนาคารโลก พบว่า มีคนหนุ่มสาวในประเทศแห่งนี้อยู่ในสถานะคนว่างงานมากถึง 42%

ทั้งนี้ สาธารณรัฐคองโก เคยเผชิญเหตุการณ์น่าเศร้าแบบเดียวกันนี้มาแล้วหลายครั้ง ในนั้นรวมถึงเหตุการณ์ผู้คนเหยียบกันชุลมุนที่งานเทศกาลดนตรีในกรุงบราซาวีล เมื่อปี 2011 มีผู้เสียชีวิต 7 คน

ก่อนหน้านั้น มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 150 ราย ในเหตุการณ์เหยียบกันตายในเมืองหลวงปี 1994 ในระหว่างที่พวกนักแสวงบุญหลบหนีพายุ เบียดเสียดแย่งกันเข้าไปยังโบสถ์แห่งหนึ่ง

(ที่มา : เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น