xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปกคลุม ‘รัฐบาล-กทม.’ มืดจนมองไม่เห็นทางออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ข่าวลึกปมลับ”เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 ตอน ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปกคลุม ‘รัฐบาล-กทม.’ มืดจนมองไม่เห็นทางออก



กลายเป็นวาระปัญหาประจำปีแล้วสำหรับมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 โดยทันทีฝนระลอกสุดท้ายของปีได้ผ่านไป ก็กลายเป็นฝุ่นที่เข้ามาแทน ผลกระทบจึงตกอยู่กับประชาชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ย้อนกลับไปดูนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยในวันนั้นก่อนที่จะกลายเป็นมาเป็นรัฐบาลในวันนี้ พบว่ามีความเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้พอสมควรผ่านการประกาศแนวทาง 6 ข้อ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

1.การห้ามเผาป่า 2.เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร 3.เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กทม.มาเป็นรถไฟฟ้า 5.คุมเข้มต้นกำเนิดการปล่อยมลพิษ เช่น รถยนต์เสื่อมสภาพ โรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่การก่อสร้าง 5.ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ผลิตรถไฟฟ้า

6.เสนอพระราชบัญญัติอากาศสะอาด เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว และเมื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จก็ได้แถลงเป็นนโยบายกลางที่ประชุมรัฐสภาว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ภายหลังได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคนด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งทางบวกและทางลบในภาคเกษตรกรรม ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อประเมินผลและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

แต่มาถึงวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังไม่ค่อยเห็นความเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก นอกจากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนของนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องว่าได้สั่งการลงไปแล้ว ทำให้มีคำถามตามมาอีกว่าเมื่อผู้มีอำนาจได้สั่งการลงไปแล้ว บรรดาผู้ใต้บังคับบัญชาได้นำพาหรือไม่

และถ้าฝ่ายปฏิบัติไม่ได้นำพาคำสั่งดังกล่าวไปปฏิบัติ จะมีมาตรการอย่างไรต่อไป ซึ่งก็ยังเป็นคำถามที่ไร้คำตอบอยู่

เช่นเดียวกับ การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนผ่านการจัดทำกฎหมายที่ว่าด้วยอากาศสะอาด มีความคืบหน้าไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแค่เพียงการที่คณะรัฐมนตรีรับหลักการ พร้อมกับเร่งรัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งเสนอร่างกฎหมายต่อไป เหตุใดการเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาถึงทำได้ล่าช้า ทั้งๆที่ปัญหานี้เกิดขึ้นให้เห็นทุกปี อีกทั้งรัฐบาลก็สามารถกุมเสียงข้างมากในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ไม่เพียงเท่านี้ กฎหมายในทำนองนี้เป็นเรื่องยากที่ฝ่ายค้านจะกล้ายกมือไม่สนับสนุน เพราะเป็นผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง แต่ที่ช้าและมีความคืบหน้าแค่การรับหลักการของคณะรัฐมนตรี เพราะกลัวจะไปกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนหรือไม่

ความตื่นตัวในเรื่องฝุ่น PM 2.5 ของรัฐบาลนั้นแตกต่างกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์กันอย่างลิบลับ เพราะรัฐบาลประกาศทุ่มสรรพกำลังและทรัพยากรทางงบประมาณ เพื่อเดินหน้าเรื่องซอฟต์พาวเวอร์อย่างเต็มที่ โดยหวังให้เป็นนโยบายเรือธงทางเศรษฐกิจ ทั้งๆที่พอมองไปที่งบประมาณเบื้องตันที่จะใช้ไปกับซอฟต์พาวเวอร์นั้นพบว่าให้น้ำหนักกับการจัดงานเทศกาลมากกว่า ก่อนที่จะต้องยอมทบทวนสัดส่วนการใช้งบประมาณใหม่หลังจากเจอกระแสวิจารณ์รุนแรง

ขณะเดียวกัน เมื่อมองในภาพใหญ่แล้วลองมามองในภาพเล็กอย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายก็ยังมีข้อติดขัดพอสมควร แม้ว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมาแล้วมากกว่า 1 ปี ก็ตาม เนื่องจากกรุงเทพยังคงติดอันดับเมืองทีมีค่ามลพิษจากฝุ่นลำดับต้นๆของโลก

สัญญาณที่ออกมาจากพ่อเมืองกรุงเทพมหานคร มีเพียงการขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันลดการปล่อยมลพิษ เช่น การขอให้กระทรวงพลังงาน ออกนโยบายจูงใจให้ผู้ใช้รถยนต์เก่าตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ หรือ การประกาศเตรียมให้ประชาชนทำงานที่บ้าน หากค่าฝุ่นยังพุ่งสูงต่อเนื่องเป็นเวลาเกินกว่า 2 วัน

ดังนั้น อาจถึงเวลาแล้วที่ทั้งรัฐบาลและกรุงเทพมหานครเลิกแก้ปัญหานี้แบบรายปีหรือเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง ที่พอมีฝุ่นมาทีก็ตื่นตัวกันที แต่ควรใช้อำนาจและกลไกที่มีในมือผลักดันการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม ให้สมกับคะแนนเสียงนับล้านเสียงที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้มาทำงาน เพื่อประโยชน์ชองประชาชน

--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
กำลังโหลดความคิดเห็น