xs
xsm
sm
md
lg

มาเฟีย มสธ. 7 ปีตั้งอธิการบดีไม่ได้ หรือเพราะชนักติดหลัง “เงินลงทุน 5,500 ล้าน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดอีกปม สภา มสธ.ไม่ยอมเสนอชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ แม้จะผ่านการสรรหามาแล้ว 7 ปี ศาลปกครองสูงสุดก็ตัดสินแล้วว่ากระบวนการสรรหาถูกต้อง รัฐมนตรีกระทรวง อว.แจ้งให้เสนอชื่อแล้ว 5 ครั้ง ยังดื้อแพ่ง อ้างว่ารอให้คดีถอดถอนอธิการบดีคนเก่าสิ้นสุดก่อน ทั้งที่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร อธิการคนเดิมก็ไม่มีสิทธิกลับมาแล้ว จับตาเบื้องหลังที่ไม่ยอมให้อธิการคนใหม่เข้ามา เพราะมีกรณี สภา มสธ.นำเงินไปลงทุนในบริษัทจัดการกองทุน 5,500 ล้านบาท โดยส่อว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงปัญหาการแต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือ มสธ. ซึ่งแม้จะมีการสรรหาตั้งแต่ วันที่ 30 มีนาคม 2560 หรือเมื่อเกือบ 7 ปีแล้ว แต่ว่าที่อธิการบดีคนใหม่คือ รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ก็ยังไม่สามารถเข้าไปทำงานในตำแหน่งอธิการบดีได้ แม้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เคยสั่งตั้งแต่สมัยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ มาจนถึงปัจจุบันนี้ สั่งไป 5 ครั้งแล้ว แต่กรรมการสภามหาวิทยาลัย มสธ.ก็ยังไม่เสนอชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราส (มสธ.) อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และว่าที่อธิการบดี มสธ.
ประเด็นคือ มสธ. นั้นแต่ไหนแต่ไรมีผู้มีอิทธิพลตัวใหญ่ ที่เป็นทั้งอธิการบดี ผู้ก่อตั้งและเคยดำรงตำแหน่ง นายกสภา มสธ.มาต่อเนื่องยาวนานคือ นายวิจิตร ศรีสอ้าน ที่เสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว วันที่ 30 กันยายน 2566 ในวัย 89 ปี

แต่แม้ว่าภายหลังการจากไปของนายวิจิตร ถึงทุกวันนี้คิดเป็นเวลา 5-6 เดือนแล้ว มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี อว. จาก ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ พรรครวมพลัง มาเป็น น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี จากพรรคภูมิใจไทยแล้ว แต่ปัญหาการแต่งตั้งอธิการบดีของ มสธ.ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ยิ่งไปกว่านั้น กลับมีการสืบทอดอำนาจ ปกปิดความเน่าเฟะ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง จน มสธ. กลายเป็นดินแดนสนธยา รอวันสะสาง

นายวิจิตร ศรีสอ้าน
ความจริงแล้วปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ “สภามหาวิทยาลัย มสธ.” ที่มีการประวิงเวลาไม่ยอมเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี คนใหม่ ที่ถูกสรรหาได้มาตั้ง 7 ปีที่แล้ว

อีกทั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 ศาลปกครองสูงสุดก็พิพากษาเป็นที่สุดแล้วว่า กระบวนการสรรหาอธิการบดีและการลงมติการสรรหาอธิการบดี รวมทั้งคุณสมบัติของอธิการบดี คือ รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ นั้นชอบด้วยกฎหมายทุกประการ จึงเกิดคำถามน่าสนใจว่าแล้วทำไมสภา มสธ.จึงไม่ยอมเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่เสียที?

ทั้ง ๆ ที่ “ศาลปกครองสูงสุด” ก็พิพากษาจะเกือบปีแล้วแต่สภามหาวิทยาลัยยังคงดื้อแพ่ง และยังคงอ้างว่ามีกรณีคดีความกรณีการถอดถอนอธิการบดีรายเดิม คือ นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ยังไม่ยุติ ต้องรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษาก่อน

นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อดีตอธิการบดี มสธ.
ทั้งที่จริงแล้วใครก็รู้ว่า ข้ออ้างดังกล่าวเป็นเพียงวาทกรรมหรือการใช้ไสยศาสตร์ทางกฎหมายเท่านั้น หากพิจารณาถึงเหตุผลสำคัญที่ต้องเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี มสธ. คนใหม่โดยเร็ว คือ

ประการที่หนึ่ง ในเวลาประมาณ 7 ปีที่แล้วมีการร้องเรียนต่อศาลปกครองชั้นต้นของ มสธ. ทั้งคดีการถอดถอนอธิการบดีรายเดิม และคดีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ ปรากฎว่าศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาทั้ง 2 คดี ไปในทางเดียวกันว่า มีคำสั่งไม่รับคำขอทุเลาหรือศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทั้ง 2 คดี

จึงเท่ากับว่า การเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง/ถอดถอน สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีให้ถึงที่สุด ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของกระทรวง อว. โดยรัฐมนตรีสมัยนั้นคือ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ลงนามให้ความเห็นชอบไว้แล้ว ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เป็นทางออกให้รองรับกับหนังสือเวียน ว.101 เรื่องแนวปฏิบัติการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง/ถอดถอน ของสำนักเลขาคณะรัฐมนตรี

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์
อีกทั้งยังปรากฏว่า แนวทางดังกล่าวนี้ ได้นำไปใช้แก้ปัญหาการเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยมาแล้วหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

เหตุใดจึงไม่ใช้กับที่ มสธ.? หรือ สภา มสธ. เองที่ไม่ยอมดำเนินการ ?

ประการที่สอง ย้อนกลับไปถึงกรณีคดีการสรรหาอธิการบดี มสธ. มีข้อเท็จจริงว่า เมื่อ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเป็นที่ยุติแล้ว สรุปว่า กระบวนการสรรหาอธิการบดีชอบด้วยกฎหมาย มติของที่ประชุมชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นอธิการบดี คือ รศ.ดร.วรรณธรรม ก็ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้กรณีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่มีความชอบทุกประการสภา มสธ.จึงควรต้องเร่งดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ต่อไป โดยไม่ชักช้า ไม่ควรหาเหตุอื่น ๆ มาประวิงเวลา โดยเฉพาะที่อ้างว่า ต้องรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีการถอดถอนอธิการบดีคนเดิมก่อน

นอกจากนี้ หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การถอดถอนอธิการบดีรายเดิม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นว่าอธิการบดีรายเดิม (นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย) เป็นฝ่ายชนะ ก็มิอาจทำให้ นพ.ชัยเลิศ สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้อีกแล้ว เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีของ นพ.ชัยเลิศได้พ้นไปแล้วนานกว่า 7 ปี

ประกอบกับที่ละเว้นมิได้คือ ตามข้อบังคับการสรรหาอธิการบดี มสธ. พ.ศ.2559 ได้กำหนดว่า“เมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี หรือวาระการดำรงตำแหน่งดังกล่าวใกล้ครบกำหนด โดยเหลือเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน ให้ สภา มสธ.แต่งตั้งกรรมการสรรหา”โดยที่อธิการบดีรายเดิม ในขณะนั้นมีเวลาเหลืออยู่ก่อนหมดวาระประมาณ 180 วัน จึงทำให้กรรมการสภา มสธ.ในขณะนั้นจำเป็นต้องดำเนินการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ เพราะเหตุที่มีการว่างลงของอธิการบดีและการใกล้หมดวาระ

ดังนั้น “จึงไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เลยกับการที่สภา มสธ.ชุดปัจจุบันนี้ จะมีการประวิงเวลาไปเรื่อย ๆ เพื่ออะไร ?

อีกทั้ง ข้อเท็จจริง ที่มิอาจปฏิเสธได้ คือ มีการว่างลงของตำแหน่งอธิการบดีเกิดขึ้นจริงจวบถึงปัจจุบัน และมีการรักษาการแทนอธิการบดี มา 6 คนแล้ว ในเวลา 7 ปี ซึ่งถ้าตำแหน่งไม่ว่างจริง จะมีรักษาการแทนกันได้อย่างไร?

สภา มสธ. แข็งข้อ อว.สั่ง 5 ครั้ง ก็ยังไม่เสนอชื่ออธิการบดีมาให้เสนอโปรดเกล้าฯ

ประการต่อมา ถึงแม้ว่า สภา มสธ. ยังคงอ้างว่า ไม่สามารถเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี ต้องรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในกรณีคดีการถอดถอนอธิการบดีรายเดิม ให้เป็นที่ยุติก่อน มีข้อโต้แย้งที่สำคัญและมีความพยายามแก้ปัญหาจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มาแล้ว ก่อนหน้าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีสรรหาอธิการบดี

โดยทาง ปลัดกระทรวง อว.ได้เคยแจ้งให้ สภา มสธ.ดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี มาแล้ว 2 ครั้ง ต่อมาภายหลังคำพิพากษาคดีสรรหา ทางสภามสธ.ได้ทำหนังสือขอหารือการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี มายังกระทรวง อว. และทางกระทรวง อว. ได้ตอบข้อหารือว่า ให้สภา มสธ.ดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯ ได้ เป็นครั้งที่ 3

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ต่อมาสมัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษฯ (ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์)ได้สั่งการเสนอแนะเรื่องการเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดี มสธ. แจ้งให้สภามหาวิทยาลัย มสธ.ว่าสามารถดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีได้ ไม่ต้องรอคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด เป็นครั้งที่ 4

และล่าสุดเมื่อ วันที่ 8 ธันวาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. (ศุภมาส อิสรภักดี)ได้มีหนังสือสั่งการเป็นครั้งที่ 5 เสนอแนะให้สภา มสธ. เร่งดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ มายังสำนักงานปลัดกระทรวง อว.เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีธรรมาภิบาล แต่สภา มสธ.ก็ยังแข็งข้อ


สรุป : สภา มสธ.รับรู้เรื่องการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีมาแล้ว 5 ครั้ง แต่ยังเพิกเฉย ไม่ดำเนินการ ยังประวิงเวลา หาเหตุต่าง ๆ มาเป็นข้ออ้าง เช่น ใช้วิธีการหารือไปสำนักงานกฤษฎีกา หรือหารือกลับมายังกระทรวง อว.ในประเด็นปัญหาเดิม ๆ กลับไปกลับมา ไม่มีท่าทีจะดำเนินการต่อไป

ล่าสุดทราบว่าทางมหาวิทยาลัยตั้งข้อหา เพื่อหาเหตุสกัด รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เป็นอธิการบดี โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ผู้บริหารรักษาการแทนอธิการบดีชุดปัจจุบันได้มีคำสั่งตั้งสอบสวนวินัยร้ายแรง รศ.ดร.วรรณธรรม กรณีการเบิกจ่ายเงินโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับ ม.สุโขทัยธรรมาธิราชที่ รศ.ดร.วรรณธรรม เป็นผู้อำนวยการโครงการ

ทั้ง ๆ ที่คำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งที่มีพิรุธ และเห็นได้ชัดว่า ผู้บริหาร มสธ. น่าจะมีพฤติการณ์กลั่นแกล้ง รศ.ดร.วรรณธรรม ให้ได้รับโทษวินัยและมีมลทินมัวหมอง อันอาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้

รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ
ที่น่าสนใจก็คือ มีเรื่องอะไรกันที่เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้เด็ดขาดที่บรรดา “มาเฟีย มสธ.” จะให้ รศ.ดร.วรรณธรรม มาดำรงตำแหน่งอธิการบดี ยาวนานถึงเกือบ 7 ปีเข้าไปแล้ว ?!?

ชนักติดหลัง สภา มสธ. กรณีเงินลงทุน 5,500 ล้าน!

เรื่องต่อไปนี้มีที่มาที่ไป และเคยตกเป็นข่าวดังมาตั้งแต่สมัย ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ยังมีชีวิตอยู่ เป็นข่าวหลายเรื่องและสภา มสธ.ยังดำเนินการต่ออย่างไม่สะทกสะท้าน เกรงกลัวกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่วันนี้จะขอนำวิเคราะห์เรื่องผลประโยชน์มหึมาที่ดูดีแต่ผิดกฎหมายมโหฬาร คือกรณี มสธ.นำเงินรายได้ไปให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 5,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา สภา มสธ.และคณะกรรมการบริหาร มีมติเห็นชอบและดำเนินการนำเงินรายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย 5,500 ล้านบาท (ห้าพันห้าร้อยล้านบาท)ไปลงทุนกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยมีการเพิ่มการลงทุนเป็นระยะ ๆ ประกอบไปด้วย

ปี 2562 จำนวน2,000 ล้านบาท

ปี 2563 จำนวน 500 ล้านบาท
ปี 2564 จำนวน1,500 ล้านบาท
ปี 2565 จำนวน1,500 ล้านบาท

รวมเป็นเงินทั้งสิ้น5,500 ล้านบาท


มสธ.ชี้แจงอ้างว่าจากการดำเนินงานดังกล่าวมหาวิทยาลัยได้รับผลตอบแทน ในระยะเวลา 4 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 226.96 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 2.44 – 4.40 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ เฉลี่ยร้อยละ 0.61 – 1.16 ต่อปี

แต่การดำเนินการดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และมีพฤติการณ์ที่จะขัดต่อระเบียบราชการ ยกตัวอย่าง

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 7 มาตรา 44 และมาตรา 47 กำหนดไว้โดยสรุปว่า“การบริหารจัดการทรัพย์สินหรือเงินของหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของหน่วยงานของรัฐ ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ โดยมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินนั้น”

ทว่า สภา มสธ.กลับออกข้อบังคับ มสธ.ว่าด้วยการบริหารเงินได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 ประกาศเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 ให้สามารถดำเนินการดังกล่าวได้


นอกจากนี้ เมื่อ วันที่ 25 ธันวาคม 2561 ยังได้มีมติอนุมัติให้ มสธ. ดำเนินการจ้างบริษัทจัดการกองทุนให้เป็นผู้นำเงินได้ของ มสธ. ไปจัดการลงทุนเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับ มสธ. และอนุมัติวงเงินการลงทุนและกรอบนโยบายการลงทุนและข้อจำกัดการลงทุน อีกด้วย

กล่าวโดยสรุปคือการที่ สภา มสธ. ตั้งแต่สมัยของ นายวิจิตร ศรีสอ้าน นำเงินรายได้ของ มสธ.ไปให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 4 แห่ง ลงทุน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,500 ล้านบาท (ไม่นับกับการที่มีการยังนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยไปลงทุนในประเภทหุ้นกู้ อีกกว่า 361 ล้านบาท) การกระทำเหล่านั้นอาจเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่มีการแจ้งข้อเท็จจริงต่าง ๆ จากกองกฎหมายและการเสนอวาระในที่ประชุม แต่ก็ละเลยเพิกเฉย

หากเรื่องนี้มีการสืบสวน และขุดคุ้ยย้อนหลังไปบรรดา สภา มสธ. รวมทั้งคณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินหรือคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินของ มสธ. ซึ่งมีเจตนาร่วมกันนำเงินรายได้ของ มสธ.ไปลงทุนโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และดำเนินการก่อนมีการประกาศใช้ข้อบังคับการเงินฯ เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 4 ราย ก็สุ่มเสี่ยงว่าอาจต้องโดนคดีความร้ายแรงในหลายข้อหา และถ้าศาลตัดสินว่าผิดก็อาจจะต้องโทษจำคุกอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กรรมการสภา มสธ. ภายหลังจากที่ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เสียชีวิตไปแล้ว ขณะนี้มีทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย

1.นายนิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ อุปนายกทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย
2.นายเขมทัตต์ พลเดช
3.น.ส.ทัศนา บุญทอง
4.นายประสาท สืบค้า
5.นายนนทพล นิ่มสมบุญ
6.นางปราณี สังขะตะวรรธน์
7.นายมานิตย์ จุมปา
8.นายยืน ภู่วรวรรณ
9.นายศิริ การเจริญดี อดีตผู้บริหารระกับสูงของธนาคารแห่ง
ประเทศไทย


“ทีนี้ท่านผู้ชมถึง “บางอ้อ” หรือยังว่า ทำไม มสธ. มหาวิทยาลัยเปิดของรัฐแห่งเดียวของประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีศิษย์เก่า และ ลูกศิษย์ลูกหา อยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง มีข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง จำนวน 2,500 คน มีนักศึกษารวมทุกชั้นปีจำนวน 60,000-80,000 คน มีผู้สำเร็จการศึกษาไปกว่า 2,500,000 คน จากจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 5,000,000 คน ทำไมถึงไม่มีการแต่งตั้งอธิการบดีตัวจริงมาเกือบ 7 ปีเต็มๆ รักษาการอยู่ทุกปี

“เอาพวกคนของสภา มสธ. มานั่งรักษาการ รักษาการ รักษาการต่อไป ไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด พวกคุณไม่อายบ้างหรือ ให้ตายสิ แต่ละคนผมรู้จักดี อาจจะไม่มาก แต่ศิริ การเจริญดี คุณไม่อายบ้างหรือ แล้วผมก็ไม่รู้ว่าการเอาไปลงทุนกองทุนฯ เป็นความคิดของคุณหรือเปล่า เพราะว่าคุณมาจากแบงก์ชาติ


“คนที่ได้รับเลือกอย่างถูกต้อง อาจจะต้องกลับเข้ามาเก็บขี้ กวาดขยะที่ซุกไว้ใต้พรม ก็ทำไม่ได้เสียที กลายเป็นปัญหาคาราคาซังที่ยืดเยื้อยาวนาน กระทบต่อทั้งคณาจารย์ บุคลากร ไปจนถึงนักศึกษา และประเทศชาติ อย่างประเมินไม่ได้

“จริงๆ แล้วเรื่องนี้ผมเล่าผ่านรายการนี้ได้ไม่หมด แต่ข้อมูลระดับ Exclusive ทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจะนำเสนอเรื่องราวผ่านช่องทาง 'SONDHI X' ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ Facebook, TikTok, แอปพลิเคชันของเราให้คอยติดตามกันต่อไป

“และผมกำลังจะบอกกับท่านสมาชิกสภามหาวิทยาลัย มสธ. ที่ผมเอ่ยชื่อไปนั้น ขณะนี้ผมตั้งทีมทนายความ และอาจจะยื่นเรื่องนี้ต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบว่าพวกคุณที่อยู่ในนี้ ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า ที่การเอาเงินของ มสธ. ไปลงทุน ก่อนหน้าการประกาศนโยบาย

“เจอกันแน่ ท่านผู้ชมเห็นด้วยกับผมไหม ใครมีข้อมูลอะไรส่งมาได้เลย น่าเสียดาย เรื่องบัดซบ อุบาทว์แบบนี้เกิดขึ้นใน มสธ. แล้วต้นเหตุก็มาจากสภามหาวิทยาลัย มสธ. นั่นเอง แต่ไม่ต้องห่วง ผมกำลังตั้งทีมอยู่ ผมจะมีทนายความชั้นหนึ่งเลย ตลอดจนผู้ที่เชี่ยวชาญ อดีตอัยการ มาดูว่าจะมีช่องทางทางกฎหมายที่ไหนบ้างที่จะฟาดฟันพวกคุณเสียที” นายสนธิกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น