กทพ.เปิดแนวทางด่วน “ศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” 18 กม. เคาะปักเสาตอม่อข้างมอเตอร์เวย์สาย 7 ลดกระทบจราจร ด้านชาวบ้านประสานเสียงค้านชี้ผลกระทบเวนคืน ให้ทบทวนแบบย้ายเสาไปกลางมอเตอร์เวย์ ผู้ว่าฯกทพ.เผยต้องศึกษา EIA และเสนอ ครม.ยังมีอีกหลายด่าน ตั้งเป้าประมูลปี 68-70 สร้าง 3 ปี เสร็จปี 73
วันที่ 7 มีนาคม 2567 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อประชาสัมพันธ์สรุปผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม ประกอบด้วย ผลการคัดเลือกตำแหน่งทางยกระดับของโครงการ ผลการคัดเลือกรูปแบบจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดโครงการ และผลการคัดเลือกรูปแบบโครงสร้างทางพิเศษ พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน ณ ห้องประชุมอาคารสมาคมศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนหน่วยงานราชการ ประชาชน เข้าร่วมประมาณ 300 คน
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า โครงการฯ ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อรับทราบข้อมูลของโครงการ ความเป็นมา เหตุผลความจำเป็นของการพัฒนาโครงการ ตลอดจนแนวทางการศึกษาและขั้นตอนการศึกษาที่สำคัญ รวมทั้งนำเสนอแนวเส้นทางของโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน และการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม) โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โดยที่ปรึกษาได้ทำการทบทวนการศึกษาเดิมที่กรมทางหลวง (ทล.) ได้ศึกษาออกแบบไว้ และได้พิจารณาแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ ในปัจจุบันพบว่าแนวเส้นทางบนเขตทางเดิมของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ด้านทิศใต้ ฝั่งเดียวกับแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งเหตุผลที่ไม่เลือกรูปแบบก่อสร้างตรงกลางถนนมอเตอร์เวย์เพราะจะกระทบต่อการจราจร บนมอเตอร์เวย์ โดยกรณีก่อสร้างวางเสาตอม่อด้านข้างหรือช่องทางคู่ขนานมอเตอร์เวย์จะทำให้การจราจรสามารถเคลื่อนตัวได้ และมีผลกระทบเวนคืนที่ดินไม่มาก และเท่าที่จำเป็นโดยจะพยายามใช้เขตทางของกรมทางหลวงให้มากที่สุด ถ้าพื้นที่มีข้อจำกัดจำเป็นต้องเวนคืน ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 2-3 จุด บริเวณสะพานเกือกม้า และทางขึ้นลงปลายโครงการ
@ลงทุน PPP สรุปผลศึกษาขออนุมัติ EIA ปี 68 เปิดประมูลสร้าง 3 ปี คาดเสร็จปี 73
นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า รูปแบบการลงทุน กทพ.จะไม่ควักเงินก่อสร้าง จะใช้วิธีร่วมลงทุนเอกชน (PPP) ระยะเวลา 25-30 ปี กรอบวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยที่ปรึกษาจะศึกษารายละเอียดในส่วนนี้ และจะมีการจัดประชุมอีก 2 ครั้ง คือ การประชุมย่อยครั้งที่ 2 ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2567 และการประชุมรับฟังความเห็นประชาชนครั้งที่ 3 ช่วงปลายเดือน เม.ย.-ต้นเดือน พ.ค. 2567 โดยคาดว่าจะสรุปผลการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เดือน ก.ย. 2567 จากนั้นจะขออนุมัติรายงาน EIA ในปี 2568 และเสนอโครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562) และเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนในปี 2568-2570 ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ระหว่างปี 2569-2571 ก่อสร้างได้ในปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2573
“การประชุมวันนี้เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูลผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการ ซึ่งในการประชุมครั้งต่อไปจะมีรายละเอียดเรื่องการเวนคืน และค่าลงทุน กรณีที่ประชาชนกังวล กทพ.จะดำเนินการอย่างรอบคอบและกำหนดแนวทางที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ยืนยันว่า กทพ.ไม่ได้เน้นกำไรสูงสุด แต่ก็ต้องไม่ขาดทุน ซึ่งโครงการนี้ การตัดสินใจต้องผ่านอีกหลายด่าน มีรายงาน EIA สผ.ต้องพิจารณาอนุมัติ และยังมี ครม. หากผลตอบแทนไม่ดีพอก็อาจไม่ได้ทำก็ได้ ยืนยันไม่ได้เอาประชาชนมาร่วมประชุมเพื่อให้เป็นตัวประกอบ” ผู้ว่าฯ กทพ.กล่าว
@เปิดรูปแบบ ปักเสาตอม่อด้านข้างมอเตอร์เวย์ ลดผลกระทบจราจรทางหลัก
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาได้นำเสนอแนวเส้นทางและรูปแบบโครงการ โดยจุดเริ่มต้นจะเชื่อมต่อจากจุดสิ้นสุดของทางพิเศษศรีรัช ผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ข้ามทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 บริเวณด่านทับช้าง ข้ามทางแยกต่างระดับร่มเกล้า จนกระทั่งเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ จากนั้นแนวเส้นทางหลักจะไปทางทิศตะวันออกตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ผ่าน ICD และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนจะสิ้นสุดโครงการบริเวณก่อนถึงจุดตัดถนนฉลองกรุง ทั้งนี้ ขอบเขตการศึกษาแนวเส้นทางจะครอบคลุมการศึกษาเดิม รวมระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร
และคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการเป็นทางยกระดับ วางแนวไปทางทิศใต้ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (ขวาทาง) มีจุดเริ่มต้น ต่อจากจุดสิ้นสุดของทางพิเศษศรีรัช (ส่วน D) บริเวณเกาะแบ่ง ระหว่างทางหลวงพิเศษและทางบริการของทั้ง 2 ทิศทาง ทิศทางละ 2 ช่องจราจร และจะวิ่งผ่านทางต่างระดับศรีนครินทร์ จากนั้นทางยกระดับด้านเหนือจะเบี่ยงแนวลงมารวมกับด้านทิศใต้เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ระยะทางประมาณ 10 กม. ผ่านจุดตัดทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 และจะแยกออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งละ 2 ช่องจราจรต่อทิศทางเช่นเดิม และจะวิ่งผ่านทางต่างระดับร่มเกล้า ผ่านทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ โดยบริเวณนี้โครงสร้างจะมีทางแยกออกเพื่อเชื่อมต่อทางต่างระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งขาเข้าและขาออก จากนั้นแนวเส้นทางหลักจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และลดระดับลงเป็นถนนระดับดินที่จุดสิ้นสุดโครงการ
ที่ปรึกษาให้เหตุผลว่า มอเตอร์เวย์สายนี้มีปริมาณจราจร 2.02 แสนคัน/วัน กรณีวางเสาต้องใช้พื้นที่ 2.5 เมตร ซึ่งมอเตอร์เวย์นี้ไม่มีเกาะกลาง ทำให้ต้องเสียพื้นผิวจราจร 1 เลน ดังนั้นจึงเลือกวางแนวเสาตอม่อฝั่งด้านใต้มอเตอร์เวย์ ซึ่งมีปริมาณจราจรที่ 2.7 หมื่นคัน/วัน กระทบน้อยที่สุด ส่วนฝั่งด้านเหนือมอเตอร์เวย์ มีปริมาณจราจรที่ 4.4 หมื่นคัน/วัน
โดยกำหนดรูปแบบโครงสร้างทางพิเศษแบบคานรูปกล่องชนิดหล่อสำเร็จแบบกล่องคู่ (Double Segmental Box Girder) บริเวณจุดเริ่มต้นโครงการ (ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์) รูปแบบมีลักษณะเป็น Partial Cloverleaf Interchange ประกอบด้วย ทางขึ้น-ลง 4 ทิศทาง ได้แก่ (ทิศทางที่ 1) ทางลง Loop Ramp (สีแดง) สำหรับรถที่มาจากลาดกระบังมุ่งหน้าไปรามคำแหง เพื่อเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ (ทิศทางที่ 2) ทางขึ้น Loop Ramp (สีน้ำเงิน) สำหรับรถที่มาจากพัฒนาการมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการในทิศขาออกเมือง (ทิศทางที่ 3) ทางลง Directional Ramp (สีแดง) สำหรับรถที่มาจากลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ (ทิศทางที่ 4) ทางขึ้น Directional Ramp (สีน้ำเงิน) สำหรับรถที่มาจากรามคำแหงมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการในทิศขาออกเมือง
ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการ (ตำแหน่งทางขึ้น-ลงลาดกระบัง) เป็นรูปแบบทางขึ้น-ลง บริเวณก่อนสะพานกลับหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในปัจจุบันทั้งสองฝั่ง โดยที่ ทางขึ้น ออกแบบเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจรแยกจากทางหลักของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 อ้อมด้านข้างของสะพานกลับรถในปัจจุบัน ก่อนจะยกระดับเข้าสู่โครงการ ทางลง ออกแบบทางลงขนาด 2 ช่องจราจร อ้อมด้านข้างของสะพานกลับรถในปัจจุบันเข้าเชื่อมทางหลักของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7
@ชาวบ้านต้านชี้เวนคืนอ่วม กระทบชุมชนหนัก ร้องย้ายปักเสาไปกลางมอเตอร์เวย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนที่เข้ารับฟังข้อมูลจากที่ปรึกษาได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการอย่างมาก โดยเฉพาะการวางแนวเสาตอม่อด้านข้างมอเตอร์เวย์ เพราะจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่จะถูกเวนคืนที่ดิน ซึ่งที่ปรึกษายังระบุรายละเอียดการเวนคืนไม่ได้ ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นให้ก่อสร้างบริเวณช่วงเกาะกลางของมอเตอร์เวย์ เนื่องจากไม่มีการเวนคืน และเห็นว่ากรณีที่ปรึกษาระบุวางเสาเกาะกลางมอเตอร์เวย์จะกระทบผู้ใช้มอเตอร์เวย์จำนวน 200,000 คัน/วัน ควรใช้การออกแบบด้านวิศวกรรมจราจรให้ดีมากกว่าจะให้ชาวบ้านแบกรับการเวนคืนที่ดิน
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นให้ปรับเปลี่ยนแนว โดยระบายรถไปใช้กรุงเทพกรีฑา ที่มีถึง 8 เลน และทำสะพานข้ามแยก เจ้าคุณทหาร ร่มเกล้า และ ICD ยกระดับเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับผู้ใช้สนามบินตามวัตถุประสงค์โครงการ ซึ่งใช้เงินลงทุนน้อยกว่าทางด่วนมาก
@อธิการ สจล.แนะทบทวนใหม่ เพื่อลดผลกระทบประชาชน
ด้านนายสุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดี สจล. กล่าวว่า รูปแบบโครงการที่คัดเลือกและนำเสนอนั้นเป็นการก่อสร้างเสาตอม่อด้านข้างถนนมอเตอร์เวย์ โดยให้เหตุผลเพื่อลดผลกระทบด้านจราจรเนื่องจากต้องปิดถนนมอเตอร์เวย์บางส่วนเพื่อก่อสร้าง ทำให้การจราจรมีปัญหาติดขัด อย่างไรก็ตาม สจล.และชาวบ้านในแนวเส้นทางไม่เห็นด้วย ยังยืนยันให้ กทพ.ก่อสร้างเสาตอม่อโครงการต้องอยู่บริเวณร่องกลางถนนมอเตอร์เวย์ สาย 7 เพื่อลดผลกระทบชาวบ้านจากการถูกเวนคืนที่ดิน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงจะเดินหน้าคัดค้านโครงการต่อไป โดยจะทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ทบทวนโครงการใหม่